คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2540

 

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -
พนักงานอัยการ จังหวัด ตรัง     โจทก์
นาย สุรชัย ชินพิทักษ์วัฒ นา     จำเลย
ป.อ. มาตรา 59

พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 28, 45

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยก่อเหตุรำคาญโดยประกอบกิจการเลี้ยงสุกรมีจำนวนเกินสมควรถึง 300 กว่าตัว ในบริเวณเขตชุมชนพักอาศัยของประชาชนและถ่ายเทมูลสัตว์และน้ำเสียลงในคลองน้ำเจ็ดอันเป็นคลองสาธารณะโดยไม่มีการควบคุมบำบัดอย่างเพียงพอเป็นเหตุให้เกิดกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง น้ำในคลองน้ำเจ็ดเน่าเสียจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2535 เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยระงับเหตุรำคาญ และวันที่ 28 สิงหาคม2535 เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยหยุดดำเนินกิจการ จำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว แต่ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2535 ถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันตลอดมา จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยไม่ปรับปรุงแก้ไขวิธีการเพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นและบำบัดน้ำเสียอย่างเพียงพอและถูกต้อง ไม่หยุดประกอบกิจการเลี้ยงสัตว์หรือย้ายสถานที่ประกอบกิจการเลี้ยงสัตว์ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น และจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยดำเนินกิจการเลี้ยงสัตว์ในระหว่างที่มีคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้หยุดดำเนินกิจการเลี้ยงสัตว์หรือย้ายสถานที่ประกอบกิจการโดยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2535 จนถึงวันฟ้องโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร เหตุเกิดที่ตำบลทับเที่ยงอำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535 มาตรา 25, 28, 45, 74, 80 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 และปรับจำเลยตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2535 จนถึงวันฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25, 28, 45, 74, 80 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับเหตุรำคาญ จำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาท ฐานะดำเนินกิจการในระหว่างที่มีคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้หยุดดำเนินกิจการจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคือตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2535ถึงวันฟ้อง รวมจำคุก 7 เดือน ปรับ 12,000 บาท และปรับวันละ500 บาท ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2535 จนถึงวันฟ้องเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อปี 2529 มีผู้ร้องเรียนต่อนายเธียรนายกเทศมนตรีเมืองตรังว่าสถานที่เลี้ยงสุกรของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองตรังส่งกลิ่นเหม็นและปล่อยน้ำเสียลงคลองน้ำเจ็ด ต่อมาวันที่27 กรกฎาคม 2535 นายเธียรมีหนังสือให้จำเลยหยุดดำเนินกิจการหรือย้ายสถานที่เลี้ยงสุกรภายใน 15 วันนับแต่ได้รับหนังสือดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.1 และเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2535 นายเธียรมีหนังสืออีกฉบับหนึ่งถึงจำเลยสั่งให้หยุดหรือย้ายกิจการเลี้ยงสุกรภายใน 15 วัน ตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2536นายเธียรมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์ต่อนายอำเภอเมืองตรังตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 และเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2536จำเลยได้ทำความตกลงกับนางวิไลผู้ร้องเรียนต่อนายอำเภอเมืองตรังอีกผู้หนึ่งว่า จำเลยยอมย้ายสถานที่ประกอบกิจการไปภายใน 6 เดือนและก่อนถึงเวลาดังกล่าวจำเลยจะเลี้ยงสุกรมิให้มีกลิ่นเหม็นและจะไม่ปล่อยมูลสุกรและน้ำเสียทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่นตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2537 นายประดิษฐ์นายอำเภอเมืองตรังมีหนังสือสั่งจำเลยให้แก้ไขเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นและย้ายสถานที่เลี้ยงสุกรตามเอกสารหมาย จ.7 ครั้นวันที่25 พฤษภาคม 2537 นายประดิษฐ์มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความตามเอกสารหมาย จ.9 พนักงานสอบสวนรับแจ้งความไว้ตามเอกสารหมาย ล.2ต่อมาจำเลยทำหนังสือให้นางวิไลและชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงลงชื่อรับรองว่าสถานที่เลี้ยงสุกรของจำเลยไม่ได้ส่งกลิ่นหรือรบกวนชาวบ้านตามเอกสารหมาย ล.1

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535มาตรา 28 วรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ระงับเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นในสถานที่นั้น มาตรา 45 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ผู้ดำเนินกิจการนั้นแก้ไขหรือปรับปรุงให้ถูกต้องถ้าการดำเนินกิจการนั้นจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนจะสั่งให้ผู้นั้นหยุดดำเนินกิจการไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะเป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าปราศจากอันตรายแล้วก็ได้ และต้องทำเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ดำเนินกิจการซึ่งจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งทราบ ปัญหาว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวโดยชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่า นายเธียรเบิกความยืนยันว่า จำเลยรับทราบคำสั่งของนายเธียรตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 แล้วไม่ปฏิบัติตามนั้นพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยรับทราบคำสั่งของนายเธียรโดยวิธีใดและเมื่อใด คงมีแต่คำเบิกความลอย ๆ ของนายเธียรเท่านั้นและที่นายเธียรเบิกความว่าจำเลยลงชื่อรับทราบคำสั่งในเอกสารหมาย จ.2 ก็ไม่ปรากฏว่าในเอกสารหมาย จ.2 มีลายมือชื่อของจำเลยลงไว้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยรับทราบคำสั่งของนายเธียรตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 แล้ว และที่โจทก์อ้างว่าตามเอกสารหมาย จ.1 (ที่ถูกเป็นเอกสารหมาย ล.1) จำเลยยอมรับว่าจำเลยได้ดำเนินการแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญตามคำสั่งของสำนักงานเทศบาลเมืองตรังแล้ว แสดงว่าจำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วนั้น เห็นว่า ในเอกสารหมาย ล.1 ไม่ได้ระบุว่าจำเลยทราบคำสั่งของสำนักงานเทศบาลเมืองตรังเมื่อใด จำเลยเบิกความว่า จำเลยทำเอกสารหมาย ล.1 ขึ้นหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาให้ทราบ 1 วัน นางวิไลพยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยนำเอกสารหมาย ล.1 มาให้พยานลงชื่อหลังจากพยานรับหมายเรียกของศาลชั้นต้นให้มาเป็นพยานในคดีนี้ น่าเชื่อว่าจำเลยทำเอกสารหมาย ล.1ขึ้นหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาให้ทราบแล้ว ดังนั้นที่จำเลยระบุในเอกสารหมาย ล.1 ว่า จำเลยยอมรับว่าจำเลยได้ดำเนินการแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญตามคำสั่งของสำนักงานเทศบาลเมืองตรังแล้ว อาจเป็นการทราบคำสั่งดังกล่าวจากเจ้าพนักงานตำรวจผู้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบก็ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยชอบ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง

พิพากษายืน

( อำนวย เต้พันธ์ - อร่าม หุตางกูร - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ )

หมายเหตุ