กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520

กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๓)

ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล

พ.ศ. ๒๕๒๐[๑]

                  

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติน้ำบาดาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยคำแนะนำของคณะกรรมการน้ำบาดาลออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “ข้อ ๒  ภายใต้บังคับข้อ ๗ ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครปฐม ให้กำหนดอัตราค่าใช้น้ำบาดาล ดังนี้

(๑) ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ อัตราลูกบาศก์เมตรละสี่บาท

(๒) ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ อัตราลูกบาศก์เมตรละสี่บาทห้าสิบสตางค์

(๓) ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ อัตรา ลูกบาศก์เมตรละห้าบาท

(๔) ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ อัตรา ลูกบาศก์เมตรละห้าบาทห้าสิบสตางค์

(๕) ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ อัตราลูกบาศก์เมตรละหกบาท

(๖) ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ อัตราลูกบาศก์เมตรละหกบาทห้าสิบสตางค์

(๗) ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ อัตราลูกบาศก์เมตรและเจ็ดบาท

(๘) ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ อัตราลูกบาศก์เมตรละเจ็ดบาทห้าสิบสตางค์

(๙) ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ อัตราลูกบาศก์เมตรละเจ็ดบาทเจ็ดสิบห้าสตางค์

(๑๐) ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ อัตราลูกบาศก์เมตรละแปดบาท

(๑๑) ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ อัตราลูกบาศก์เมตรละแปดบาทยี่สิบห้าสตางค์

(๑๒) ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นไป อัตราลูกบาศก์เมตรละแปดบาทห้าสิบสตางค์

ในเขตท้องที่จังหวัดอื่นนอกจากวรรคหนึ่ง ให้กำหนดอัตราค่าใช้น้ำบาดาลลูกบาศก์เมตรละสามบาทห้าสิบสตางค์”

 ข้อ ๒  ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ ๗ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “ข้อ ๗  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลมิได้ชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ สำหรับงวดใด ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลสำหรับงวดนั้นในอัตราเป็นจำนวนเท่าของอัตราค่าใช้น้ำบาดาล ตามข้อ ๒ หรือในอัตราเท่ากับอัตราสูงสุดของค่าน้ำประปาในท้องที่หรือในจังหวัดที่บ่อน้ำบาดาลตั้งอยู่แล้วแต่กรณี สุดแต่อัตราใดจะต่ำกว่า  ทั้งนี้ โดยคำนวณตามปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ในงวดที่ค้างชำระหรือมิได้ชำระภายในกำหนดเวลา ดังนี้

(๑) ในอัตราหนึ่งจุดหนึ่งเท่า กรณีชำระค่าใช้น้ำบาดาลภายในสามสิบวัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๖

(๒) ในอัตราหนึ่งจุดสองเท่า กรณีชำระค่าใช้น้ำบาดาลเกินกว่าสามสิบวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๖

(๓) ในอัตราหนึ่งจุดสามเท่า กรณีชำระค่าใช้น้ำบาดาลเกินกว่าหกสิบวันแต่ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๖

(๔) ในอัตราสองเท่า กรณีชำระค่าใช้น้ำบาดาลเกินกว่าเก้าสิบวัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๖”

ข้อ ๓  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นไป

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

สุวัจน์  ลิปตพัลลภ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครปฐม มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณที่เกินกว่าปริมาณน้ำที่ไหลซึมลงสู่ชั้นน้ำบาดาล ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีการทรุดตัวของแผ่นดิน การแพร่กระจายของน้ำเค็มเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาลตลอดจนทำให้ระดับน้ำบาดาลลดลง ดังนั้น เพื่อให้มีการใช้น้ำบาดาลอย่างอนุรักษ์และจูงใจให้มีการใช้น้ำผิวดินทดแทนจึงสมควรเพิ่มอัตราค่าใช้น้ำบาดาลในเขตท้องที่ดังกล่าวให้เหมาะสม และปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกเก็บ ในกรณีที่มิได้ชำระตามระยะเวลาที่กำหนดในเขตน้ำบาดาลทุกเขตเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

นันทพล/ปรับปรุง

๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

ปริญสินีย์/ปรับปรุง

๒๒ เมษายน ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๗๒ ก/หน้า ๑/๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๓