คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2542

 

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -

กระทรวงการคลัง กับพวก                         ผู้ร้อง
บริษัท อุตสาหกรรม น้ำตาล ชลบุรี จำกัด         ผู้คัดค้าน

ป.พ.พ. มาตรา 1304
ป.วิ.พ. มาตรา 183, 188(4), 240

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังผู้ร้องที่ 1 โดยเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทานของกรมชลประทานผู้ร้องที่ 2

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 10881,10883 ถึง 10886, 10889 ถึง 10890, 10892 ถึง 10894, 10897, 10899 ถึง 10901 และ 10904 ถึง 10905 ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึงจังหวัดชลบุรี รวม 16 โฉนด เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ 1โดยเป็นที่ราชพัสดุประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์การชลประทานของผู้ร้องที่ 2

ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอ
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสอง ประการแรกว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ ปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้คัดค้านช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งและซื้อที่ดินพิพาทเพื่อใช้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านบึงเมื่อก่อสร้างเสร็จบรรดาผู้ใช้น้ำได้ขออนุญาตใช้น้ำและเสียค่าใช้จ่ายแก่ผู้ร้องที่ 2 ต่อมา พ.ศ. 2509 มีประกาศให้อ่างเก็บน้ำบ้านบึงเป็นทางน้ำชลประทานประเภท 4ตามสำเนาประกาศเอกสารหมาย ร.24 และผู้คัดค้านได้แสดงเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องที่ 2 ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทาน ส่วนผู้คัดค้านก็ยื่นคำคัดค้านยอมรับว่าเคยเสนอจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องที่ 2 แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ร้องที่ 2 ต้องสำรองน้ำให้เพียงพอจ่ายแก่โรงงานของผู้คัดค้านเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาล แต่ผู้ร้องที่ 2 มิได้สนองตอบเงื่อนไข ทั้งเมื่อมีการขายหุ้นของผู้คัดค้านแก่เอกชน ผู้ร้องที่ 1 ก็ประเมินราคาที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน เป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้าน เห็นว่า เมื่อคำร้องขอบรรยายว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าเป็นที่ดินของผู้คัดค้าน ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ จึงเป็นประเด็นโดยตรงในคดี อีกทั้งในการพิจารณาว่าประเด็นแห่งคดีมีอย่างไรบ้าง ต้องพิจารณาข้ออ้างและข้อเถียงทั้งจากคำฟ้องและคำให้การ มิใช่พิจารณาเพียงว่ามีการเริ่มต้นคดีด้วยการทำเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งในคดีนี้แม้ผู้ร้องทั้งสองจะเริ่มต้นคดีโดยทำเป็นคำร้องขอ มีลักษณะเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทแต่เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ก็ต้องดำเนินคดีต่อไปอย่างคดีมีข้อพิพาทอีกประการหนึ่งแม้ตามคำร้องขอจะบรรยายว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นการกล่าวถึงลักษณะของที่ดินส่วนข้อที่ว่าผู้ร้องที่ 2 ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องที่ 1 ก็เพื่อแสดงว่าผู้ร้องที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาอย่างไรอีกด้วย จึงไม่ขัดแย้งกัน ประกอบกับในคดีแพ่งแม้คู่ความจะมิได้อ้างหรืออ้างบทกฎหมายไม่ถูกต้องศาลก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ และในคดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท ฉะนั้น คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องทั้งสองฟังขึ้น

ปัญหาประการที่สองมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีในประเด็นว่าผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อนชอบหรือไม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240บัญญัติว่า "ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวงในสำนวนความซึ่งศาลชั้นต้นส่งขึ้นมา" เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ประกอบกับศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านมาจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพียงพอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีไปได้โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและเอกสารต่าง ๆในสำนวน กรณีไม่มีความจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีในประเด็นนี้ก่อนดังผู้ร้องทั้งสองอ้าง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและผู้ร้องที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ ได้ความจากทางนำสืบของผู้ร้องทั้งสองว่าในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านบึงผู้คัดค้านช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งและซื้อที่ดินพิพาทให้ใช้ในการก่อสร้างอีกส่วนหนึ่งรวมกับคูคลอง ลำห้วยต่าง ๆซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่เดิม เมื่อก่อสร้างเสร็จผู้ร้องที่ 2 เข้าดูแลบำรุงรักษา โดยบรรดาผู้ใช้น้ำซึ่งมีทั้งส่วนราชการ โรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรและเอกชนทั่วไปต้องขออนุญาตและเสียค่าใช้จ่ายแก่ผู้ร้องที่ 2 ต่อมา พ.ศ. 2509 กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติประกาศให้อ่างเก็บน้ำบ้านบึงเป็นทางน้ำชลประทานประเภท 4 ตามสำเนาประกาศเอกสารหมาย ร.24 ต่อมา พ.ศ. 2516 ผู้ร้องที่ 2 แจ้งให้ผู้คัดค้านโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องที่ 1 ตามสำเนาเอกสารหมาย ร.28 ซึ่งผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งตอบว่ายินดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องที่ 2 แต่ขอให้ผู้ร้องที่ 2 สำรองน้ำแก่โรงงานของผู้คัดค้านให้เพียงพอสำหรับใช้ผลิตน้ำตาลในแต่ละฤดูกาลตามสำเนาเอกสารหมาย ร.29 ซึ่งผู้คัดค้านก็นำสืบรับว่าได้จัดซื้อที่ดินพิพาทเพื่อใช้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านบึงและยอมรับด้วยว่าได้มีหนังสือแจ้งตอบผู้ร้องที่ 2 ตามเอกสารหมาย ร.29 แต่ผู้ร้องที่ 2 มิได้สนองตอบเงื่อนไขของผู้คัดค้านและเมื่อผู้คัดค้านจะโอนขายหุ้นแก่เอกชน ผู้ร้องที่ 1 ก็ประเมินราคาที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านเป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้าน เห็นว่า ผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทมาให้ผู้ร้องที่ 2 ใช้ร่วมกับคูคลองและลำห้วยซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่เดิมเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจการของผู้คัดค้านและเพื่อประโยชน์ของราษฎรในบริเวณนั้นเมื่อก่อสร้างเสร็จบรรดาผู้ใช้น้ำก็ขออนุญาตใช้น้ำและมีประกาศของทางราชการให้อ่างเก็บน้ำดังกล่าวเป็นทางน้ำชลประทานประเภท 4ตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 4โดยเป็นทางน้ำอันเป็นอุปกรณ์ของกรมชลประทาน และบทนิยามคำว่าการชลประทาน หมายความว่า "กิจการที่กรมชลประทานจัดทำขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำ" และผู้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าวมีทั้งส่วนราชการ โรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกร และเอกชนทั่วไปจึงมีลักษณะเป็นการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ประกอบกับการที่ผู้คัดค้านแจ้งแก่ผู้ร้องที่ 2 ว่า ยินดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นการยืนยันเจตนาว่าจะให้ใช้ที่ดินพิพาทเพื่อสาธารณประโยชน์ ถือได้ว่าผู้คัดค้านมีเจตนาสละที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การแสดงเจตนาย่อมมีผลทันที ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยกเงื่อนไขที่ตนมีต่อผู้ร้องที่ 2 ขึ้นอ้างเพื่อลบล้างสภาพของที่ดินซึ่งตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกทั้งทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 การที่ผู้ร้องที่ 1ประเมินราคาที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านจึงขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และไม่มีผลกระทบถึงที่ดินพิพาทซึ่งตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสมบูรณ์แล้ว ข้ออ้างของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ 1 ฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องทั้งสองนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องทั้งสองฟังขึ้น"

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( อรพินท์ เศรษฐมานิต - สมชัย สายเชื้อ - ธรรมนูญ โชคชัยพิทักษ์ )

หมายเหตุ