พระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. 2510

พระราชบัญญัติ

การประปานครหลวง

พ.ศ. ๒๕๑๐

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

เป็นปีที่ ๒๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งการประปานครหลวง

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

 

มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้

“การประปานครหลวง” หมายความว่า การประปานครหลวง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้

“ประปาเอกชน”[๒] หมายความว่า การผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาโดยเอกชน ให้แก่ผู้อยู่ในบ้านที่มีทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตั้งแต่ห้าบ้านขึ้นไป โดยมีค่าตอบแทนเป็นเงิน หรือผลประโยชน์อย่างอื่น

“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานการประปานครหลวง รวมทั้งผู้ว่าการ

“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการการประปานครหลวง

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการประปานครหลวง

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๑

การจัดตั้ง ทุน และเงินสำรอง

                  

มาตรา ๖[๓]  ให้จัดตั้งการประปาขึ้นเรียกว่า “การประปานครหลวง” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(๑) สำรวจ จัดหาแหล่งน้ำดิบ และจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบเพื่อใช้ในการประปา

(๒) ผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ และควบคุมมาตรฐานเกี่ยวกับระบบประปาเอกชนในเขตท้องที่ดังกล่าว

(๓) ดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเป็นประโยชน์แก่การประปา

 

มาตรา ๗  การผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปา และการจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบโดยการประปานครหลวง เป็นกิจการสาธารณูปโภค และให้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอันว่าด้วยการนั้น

 

มาตรา ๘  ให้การประปานครหลวงเป็นนิติบุคคล

 

มาตรา ๙  ให้การประปานครหลวงตั้งสำนักงานใหญ่ในจังหวัดพระนคร และจะตั้งสำนักงานสาขา หรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดก็ได้

 

มาตรา ๑๐  ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และความรับผิดอันเกี่ยวกับการประปาของกองประปากรุงเทพ กรมโยธาเทศบาล การประปานนทบุรีของกองประปาภูมิภาค กรมโยธาเทศบาล การประปาเทศบาลนครธนบุรีของเทศบาลนครธนบุรี และหมวดการประปาเทศบาลเมืองสมุทรปราการของเทศบาลเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ให้แก่การประปานครหลวง

ให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาประเมินราคาทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และความรับผิดของหมวดการประปาเทศบาลเมืองสมุทรปราการ และให้การประปานครหลวงตั้งงบประมาณชดใช้ตามราคาทรัพย์สินที่ประเมินได้ ถ้ามี

 

มาตรา ๑๑  ให้โอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ เงินทุนการประปา และเงินทุนหมุนเวียนจำหน่ายเครื่องอุปกรณ์ประปาของกองประปากรุงเทพ เว้นแต่จำนวนที่ได้รับในลักษณะเงินกู้ซึ่งเหลืออยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เป็นทุนประเดิมของการประปานครหลวง

นอกจากเงินงบประมาณ และเงินทุนตามวรรคหนึ่ง ให้นำทรัพย์สินที่รับโอนมาจากกองประปากรุงเทพ กรมโยธาเทศบาล การประปานนทบุรี กองประปาภูมิภาค กรมโยธาเทศบาล การประปาเทศบาลนครธนบุรี เทศบาลนครธนบุรี และหมวดการประปาเทศบาลเมืองสมุทรปราการ เทศบาลเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อได้หักหนี้สินออกแล้ว เข้าอยู่ในทุนประเดิมด้วย

 

มาตรา ๑๒  ทุนของการประปานครหลวง ประกอบด้วย

(๑) ทุนประเดิมตามมาตรา ๑๑

(๒) ทรัพย์สิน และสิทธิที่ได้รับโอนตามมาตรา ๑๐ เมื่อหักหนี้สินออกแล้ว

(๓) เงินที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินที่จ่ายให้ภายหลังเพื่อดำเนินงาน หรือขยายกิจการ

(๔) เงินช่วยเหลือที่อาจได้รับจากต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ

 

มาตรา ๑๓[๔]  ให้การประปานครหลวงมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๖ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) สร้าง ซื้อ จัดหา จำหน่าย เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม และดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของการประปานครหลวง

(๒) ซื้อ จัดหา เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง จำหน่าย หรือดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ

(๓) สำรวจและวางแผนจำหน่ายน้ำที่จะทำใหม่ หรือขยายเพิ่มเติมภายในเขตท้องที่ตามมาตรา ๖ (๒)

(๔) กำหนดอัตราราคาขายน้ำ ค่าบริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของการประปานครหลวง และจัดระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระราคาและค่าบริการ

(๕) กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบประปาเอกชนในเขตท้องที่ตามมาตรา ๖ (๒) โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(๖) จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ และรักษาทรัพย์สินของการประปานครหลวง

(๗) กู้ยืมเงินหรือลงทุน

(๘) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

(๙) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบกิจการประปา

(๑๐) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการประปานครหลวง

(๑๑) ว่าจ้างหรือรับจ้างประกอบกิจการประปา

(๑๒) ตั้งหรือรับเป็นตัวแทน ตัวแทนค้าต่าง และนายหน้าในกิจการตามวัตถุประสงค์ของการประปานครหลวง

(๑๓) ทำการค้าและให้บริการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์และเครื่องใช้เกี่ยวกับกิจการประปา

(๑๔) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการประปานครหลวง

 

มาตรา ๑๔  ทรัพย์สินของการประปานครหลวง ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

 

มาตรา ๑๕  ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และพนักงานของการประปานครหลวง เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๑๖  เงินสำรองของการประปานครหลวง ให้ประกอบด้วยเงินสำรองเผื่อขาดและเงินสำรองอื่น ๆ ตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร

 

มาตรา ๑๗  เงินสำรองจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยมติของคณะกรรมการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี

 

มาตรา ๑๘[๕]  ให้การประปานครหลวงเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

หมวด ๒

การกำกับ การควบคุม และการบริหาร

                  

 

มาตรา ๑๙  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของการประปานครหลวง เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้การประปานครหลวงชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาล หรือมติของคณะรัฐมนตรีตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้

 

มาตรา ๒๐  เรื่องที่จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีนั้น ให้รัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

 

มาตรา ๒๑[๖]  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการประปานครหลวง” ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสามคน และผู้ว่าการ เป็นกรรมการ

ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง หรือถอดถอนประธานกรรมการและกรรมการ

 

มาตรา ๒๒  ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการ และผู้ว่าการต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และต้องมีความรู้และมีความจัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการประปา วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือการบริหารธุรกิจ

 

มาตรา ๒๓  ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการ

(๑) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับการประปานครหลวง หรือในกิจการที่กระทำให้แก่การประปานครหลวง  ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น

(๒) เป็นพนักงาน นอกจากผู้ว่าการ

(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๔) เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

 

มาตรา ๒๔[๗]  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๔๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการของการประปานครหลวง อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) วางข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามมาตรา ๑๓

(๒) วางข้อบังคับการประชุม และการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ

(๓) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอนพนักงาน ระเบียบวินัย การลงโทษพนักงาน และการร้องทุกข์

(๔) วางข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานของการประปานครหลวง ถ้าข้อบังคับมีข้อความจำกัดอำนาจผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา

(๕) วางข้อบังคับว่าด้วยจำนวนอัตราตำแหน่ง และอัตราเงินเดือนของพนักงาน

(๖) วางข้อบังคับเกี่ยวกับลูกจ้าง

(๗) วางข้อบังคับว่าด้วยบำเหน็จ และกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในการประปานครหลวง และการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัว

 

มาตรา ๒๕  ให้ประธานกรรมการ และกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งสี่ปี แต่สำหรับกรรมการนั้น ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสองปีให้ออกจากตำแหน่งกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก

ประธานกรรมการ และกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้

 

มาตรา ๒๖ ประธานกรรมการ และกรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระตามมาตรา ๒๕ เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก

(๔) ขาดคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓

ในกรณีที่มีการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระ ให้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการ หรือกรรมการเข้าแทน แล้วแต่กรณี ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้ย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

 

มาตรา ๒๗  ประธานกรรมการ และกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

 

มาตรา ๒๘  ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการ

ให้ผู้ว่าการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนด

การแต่งตั้ง และการกำหนดเงินเดือนตามมาตรานี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

 

มาตรา ๒๙  ผู้ว่าการย่อมพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะกรรมการให้ออก

(๔) ขาดคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐

การให้ออกตาม (๓) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

 

มาตรา ๓๐  ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ว่าการ

(๑) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับการประปานครหลวง หรือในกิจการที่กระทำให้แก่การประปานครหลวง  ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น

(๒) เป็นข้าราชการประจำ หรือเป็นผู้มีตำแหน่งการเมือง

(๓) เป็นผู้ไม่อาจทำงานเต็มเวลาให้แก่การประปานครหลวง

(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๕) เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

 

มาตรา ๓๑  ผู้ว่าการเป็นผู้บริหารกิจการของการประปานครหลวงให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่ง และลูกจ้าง

ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบในการจัดการ และดำเนินงานของการประปานครหลวง

 

มาตรา ๓๒  ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำการในนามของการประปานครหลวง และเป็นผู้กระทำการแทนการประปานครหลวง และเพื่อการนี้ ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนของการประปานครหลวงที่ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา ๙ หรือบุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้  แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้

ในกรณีที่มีข้อบังคับซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา ๒๔ (๔) กำหนดว่านิติกรรมใด ผู้ว่าการจะทำได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน บรรดานิติกรรมที่ผู้ว่าการทำขึ้นโดยมิได้รับความเห็นชอบดังกล่าว ย่อมไม่ผูกพันการประปานครหลวง เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

 

มาตรา ๓๓  ผู้ว่าการมีอำนาจ

(๑) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลดหรือตัดเงินเดือน ตลอดจนลงโทษพนักงาน และลูกจ้าง  ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้ แต่ถ้าเป็นพนักงานชั้นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน

(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของการประปานครหลวงโดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้

 

มาตรา ๓๔  เมื่อผู้ว่าการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง และข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานของการประปานครหลวงไม่ได้กำหนดให้พนักงานตำแหน่งใดทำการแทนผู้ว่าการ หรือเมื่อตำแหน่งผู้ว่าการว่างลงและในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งผู้ว่าการ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนผู้ว่าการ หรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ แล้วแต่กรณี เป็นการชั่วคราว และให้นำมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้ผู้ทำการแทนผู้ว่าการ หรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ มีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกับผู้ว่าการ

 

มาตรา ๓๕  ประธานกรรมการ กรรมการ และพนักงาน อาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

หมวด ๓

การสร้าง และบำรุงรักษาระบบการส่ง และการจำหน่ายน้ำ

                  

มาตรา ๓๖  เพื่อประโยชน์ในการสร้าง และบำรุงรักษาระบบการส่ง และการจำหน่ายน้ำ เช่น ท่อน้ำ ประตูน้ำ โรงสูบน้ำ เครื่องวัดจำนวนน้ำ ถังพักน้ำ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พนักงานมีอำนาจที่จะใช้สอย หรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของบุคคลใด ๆ ซึ่งมิใช่โรงเรือนที่คนอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(๑) การใช้สอย หรือเข้าครอบครองนั้นเป็นการจำเป็นสำหรับการสำรวจ สร้าง หรือบำรุงรักษาระบบการส่ง และการจำหน่ายน้ำ หรือการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ระบบการส่ง และการจำหน่ายน้ำ

(๒) ได้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันที่จะใช้สอย หรือเข้าครอบครอง

ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ทรงสิทธิอื่นเนื่องจากการกระทำของพนักงานดังกล่าวในวรรคหนึ่ง บุคคลเช่นว่านั้นย่อมเรียกค่าทดแทนจากการประปานครหลวงได้ และถ้าไม่สามารถตกลงกันในจำนวนค่าทดแทน ให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย โดยให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ[๘]

 

มาตรา ๓๗  เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในระบบการส่ง และการจำหน่ายน้ำ เมื่อมิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

 

มาตรา ๓๘  ในการส่ง และการจำหน่ายน้ำ ให้การประปานครหลวงมีอำนาจเดินท่อน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์ไป ใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ๆ ในเมื่อพื้นดินนั้นไม่ใช่พื้นดินอันเป็นที่ตั้งโรงเรือน

ให้การประปานครหลวงมีอำนาจกำหนดบริเวณที่ดินที่เดินท่อน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์ โดยมีความกว้างจากท่อน้ำด้านละไม่เกินสองเมตรห้าสิบเซนติเมตร สำหรับท่อน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่แปดสิบเซนติเมตรขึ้นไป ในบริเวณที่กำหนดนี้ให้การประปานครหลวงมีอำนาจตัดฟันต้น กิ่งหรือรากของต้นไม้ หรือพืชผลอย่างใด ๆ ได้ โดยต้องจ่ายค่าทดแทนในการที่ใช้ที่ดิน และในการตัดฟัน แล้วแต่กรณี ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองด้วยจำนวนเงินอันเป็นธรรม เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าในการกระทำนั้นอยู่ด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในจำนวนเงินค่าทดแทน ให้นำมาตรา ๓๖ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

เมื่อได้มีการชดใช้ค่าทดแทนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวแล้ว หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองเต็มใจไม่รับ หรือไม่มีสิทธิรับค่าทดแทน ต่อไปในภายหน้าผู้ใดจะมาเรียกร้องค่าทดแทนอีกมิได้

ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ให้การประปานครหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้นไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

 

มาตรา ๓๙  ในบริเวณที่กำหนดตามมาตรา ๓๘ ให้การประปานครหลวงจัดทำเครื่องหมายแสดงเขตไว้ และห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือปลูกต้นไม้ขึ้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากการประปานครหลวงเป็นหนังสือ ในการอนุญาตนั้นจะอนุญาตโดยมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือต้นไม้ที่ปลูกขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการประปานครหลวง การประปานครหลวงมีอำนาจรื้อถอน หรือตัดฟันโดยไม่จำต้องชดใช้ค่าทดแทน

 

มาตรา ๔๐  ในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันความเสียหาย พนักงานอาจเข้าไปในสถานที่ของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจ ซ่อมแซม หรือแก้ไขระบบการส่ง และการจำหน่ายน้ำได้ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เมื่อได้แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบแล้ว

 

มาตรา ๔๐ ทวิ[๙]  เพื่อประโยชน์ในการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาให้เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ใดประสงค์จะดำเนินการสร้างระบบประปาเอกชน หรือขยายระบบประปาเอกชนที่มีอยู่ในเขตท้องที่ตามมาตรา ๖ (๒) จะต้องได้รับความเห็นชอบของการประปานครหลวง และจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานที่การประปานครหลวงประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓ (๔ ทวิ)*

ในกรณีที่การประปานครหลวงไม่ให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ผู้ซึ่งประสงค์จะดำเนินการสร้างระบบประปาเอกชน หรือขยายระบบประปาเอกชนที่มีอยู่ มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของการประปานครหลวงแจ้งการไม่ให้ความเห็นชอบ

ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

 

มาตรา ๔๑  ผู้ใดขัดขวางการกระทำของการประปานครหลวง หรือพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามมาตรา ๓๖ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ หรือมาตรา ๔๐ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๔๑ ทวิ[๑๐]  ผู้ใดดำเนินการตามมาตรา ๔๐ ทวิ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากการประปานครหลวง หรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานที่การประปานครหลวงประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓ (๔ ทวิ)* ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

หมวด ๔

ความสัมพันธ์กับรัฐบาล

                  

 

มาตรา ๔๒  ในการดำเนินกิจการของการประปานครหลวง ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ และประชาชน

 

มาตรา ๔๓[๑๑]  การประปานครหลวงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ได้

(๑) เพิ่มหรือลดทุน

(๒) กู้ยืมเงินเป็นจำนวนเกินสามสิบล้านบาท

(๓) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อันมีราคาเกินห้าล้านบาท

(๔) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

(๕) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

(๖) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เกินร้อยละห้าสิบ

 

มาตรา ๔๔  ให้การประปานครหลวงจัดทำงบประมาณประจำปี แยกเป็นงบลงทุน และงบทำการ สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

 

มาตรา ๔๕[๑๒]  รายได้ที่การประปานครหลวงได้รับจากการดำเนินงานให้ตกเป็นของการประปานครหลวง สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินกิจการ ค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา กองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงาน และการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัวตามมาตรา ๒๔ ประโยชน์ตอบแทนตามมาตรา ๒๗ โบนัสตามมาตรา ๓๕ เงินสำรองตามมาตรา ๑๖ และเงินลงทุนตามงบลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา ๔๔

รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่าย และค่าภาระดังกล่าวในวรรคหนึ่งแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ

ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับค่าใช้จ่าย และค่าภาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง นอกจากโบนัสตามมาตรา ๓๕ และเงินสำรองตามมาตรา ๑๖ และการประปานครหลวงไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่การประปานครหลวงเท่าจำนวนที่ขาด

 

มาตรา ๔๖  ให้คณะกรรมการทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานในปีที่ล่วงแล้วของการประปานครหลวง และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการ และแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า

หมวด ๕

การร้องทุกข์ และการสงเคราะห์

                  

มาตรา ๔๗  ให้พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้

 

มาตรา ๔๘[๑๓]  ให้การประปานครหลวงจัดให้มีกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงาน และการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานในการประปานครหลวง และครอบครัวตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

หมวด ๖

การบัญชี การสอบ และการตรวจ

                  

มาตรา ๔๙  ให้การประปานครหลวงวางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีอันถูกต้อง แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ และมีสมุดบัญชีลงรายการ

(๑) การรับและจ่ายเงิน

(๒) สินทรัพย์และหนี้สิน

ซึ่งแสดงการงานที่เป็นอยู่ตามจริง และตามที่ควรตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น ๆ

 

มาตรา ๕๐  ทุกปีให้สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรวมทั้งการเงินของการประปานครหลวง

 

มาตรา ๕๑  ผู้ตรวจสอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชี และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของการประปานครหลวง เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนของการประปานครหลวง

 

มาตรา ๕๒  ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชีของการประปานครหลวง ให้การประปานครหลวงโฆษณารายงานประจำปีของปีที่สิ้นสุดไปนั้น แสดงบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน พร้อมกับรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีตามมาตรา ๕๑

บทเฉพาะกาล

                  

มาตรา ๕๓  นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป ให้ข้าราชการ และลูกจ้างของกองประปากรุงเทพและการประปานนทบุรี กรมโยธาเทศบาล ซึ่งต้องออกจากราชการเพราะการยุบเลิกกองประปากรุงเทพและการประปานนทบุรี กรมโยธาเทศบาล และพนักงานและลูกจ้างของการประปาเทศบาลนครธนบุรี เทศบาลนครธนบุรี และหมวดการประปาเทศบาลเมืองสมุทรปราการ เทศบาลเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งต้องออกจากงานเพราะการยุบเลิกการประปาเทศบาลนครธนบุรี เทศบาลนครธนบุรี และหมวดการประปาเทศบาลเมืองสมุทรปราการ เทศบาลเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มีฐานะเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของการประปานครหลวง โดยให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง แล้วแต่กรณี รวมทั้งเงินเพิ่มเท่าที่ได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน จนกว่าผู้ว่าการจะได้บรรจุ และแต่งตั้งพนักงาน หรือลูกจ้างดังกล่าวตามมาตรา ๓๓ (๑)

สำหรับข้าราชการที่กรมโยธาเทศบาลได้สั่งให้มาปฏิบัติราชการในกองประปากรุงเทพ ถ้าประสงค์จะทำงานในการประปานครหลวง ให้กรม หรือกระทรวงเจ้าสังกัดสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ เพื่อไปปฏิบัติงานในการประปานครหลวง และให้ผู้ว่าการบรรจุ และแต่งตั้งเป็นพนักงานของการประปานครหลวง โดยให้ได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่เดิม

 

มาตรา ๕๔  ในวาระเริ่มแรกภายในสี่ปี กระทรวงมหาดไทยอาจสั่งให้ข้าราชการผู้หนึ่งผู้ใดไปปฏิบัติงานในการประปานครหลวงอีกตำแหน่งหนึ่งก็ได้

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ถนอม  กิตติขจร

นายกรัฐมนตรี

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การประปาในเขตจังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบันได้แยกดำเนินการเป็นสี่แห่ง ทำให้เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และบริการการประปาไม่ดีพอ  ฉะนั้น เพื่อเป็นการประหยัด และให้มีบริการการประปาที่ดียิ่งขึ้น จึงสมควรที่จะปรับปรุงการประปาในเขตจังหวัดดังกล่าวเสียใหม่ โดยรวมการดำเนินการการประปาทั้งสี่แห่งนี้เป็นการประปานครหลวง

 

พระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖[๑๔]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการประปานครหลวงยังมีโครงการปรับปรุงและขยายกิจการประปาอยู่อีกหลายโครงการที่จะต้องดำเนินการ สมควรให้อำนาจแก่การประปานครหลวงออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน สำหรับจัดหาทุนมาใช้ดำเนินการตามโครงการปรับปรุง และขยายกิจการประปาดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

 

พระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒[๑๕]

 

มาตรา ๑๓  ผู้ที่ได้ดำเนินการตามมาตรา ๔๐ ทวิ อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มาแจ้งต่อการประปานครหลวงภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อแจ้งแล้วให้ถือว่าผู้นั้นได้รับความเห็นชอบจากการประปานครหลวงสำหรับการดำเนินการดังกล่าว และในกรณีที่การดำเนินการของบุคคลดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่การประปานครหลวงประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓ (๔ ทวิ) ให้การประปานครหลวงมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขให้การดำเนินการของบุคคลนั้นเป็นไปตามมาตรฐานภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ตามที่การประปานครหลวงเห็นสมควร

 

มาตรา ๑๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติงานของการประปานครหลวง และในปัจจุบันเอกชนในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ได้ดำเนินการสร้างระบบการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาหรือขยายระบบดังกล่าวที่มีอยู่โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่สมควร ซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ประชาชนผู้ใช้น้ำประปานั้นได้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวให้การประปานครหลวงสามารถปฏิบัติงานได้โดยคล่องตัวในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และให้การประปานครหลวงสามารถควบคุมมาตรฐานเกี่ยวกับการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาของเอกชนในเขตท้องที่ดังกล่าวได้  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

 

พระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๐[๑๖]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ มีบทบัญญัติให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย และให้นำกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยอนุญาโตตุลาการไปแล้ว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ ให้สอดคล้องกันด้วย  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕[๑๗]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติต่าง ๆ ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุง และขยายกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเป็นประโยชน์แก่การประปา เพื่อให้การประปานครหลวงสามารถบริการประชาชนได้อย่างกว้างขวางและดำเนินการเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

 

ฐิติมา/ตรวจ

๙ มิถุนายน ๒๕๕๒

อุดมการณ์/ปรับปรุง

๑๘ มกราคม ๒๕๕๕

พจนา/ตรวจ

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

 

 

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๔/ตอนที่ ๗๕/หน้า ๖๐๑/๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๐

[๒] มาตรา ๔ นิยามคำว่า “ประปาเอกชน” เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๓] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๔] มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕

[๕] มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๖] มาตรา ๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕

[๗] มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๘] มาตรา ๓๖ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๐

[๙] มาตรา ๔๐ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

*หมายเหตุของศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง

มาตรา ๑๓ (๔ ทวิ) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
และต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๓ ทั้งมาตราโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ ทำให้มาตรา ๑๓ ปัจจุบัน ไม่มี (๔ ทวิ) แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา ๔๐ ทวิ และมาตรา ๔๑ ทวิ แต่อย่างใด  อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าความในมาตรา ๑๓ (๔ ทวิ) เดิม มีเนื้อหาสาระตรงกับความในมาตรา ๑๓ (๕) ปัจจุบัน

[๑๐] มาตรา ๔๑ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๑๑] มาตรา ๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕

[๑๒] มาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๑๓] มาตรา ๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๐/ตอนที่ ๗๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑/๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๖

[๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๕๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๕/๒๐ เมษายน ๒๕๒๒

[๑๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔/ตอนที่ ๑๖๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๔๗/๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๐

[๑๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๔/หน้า ๓๔/๙ เมษายน ๒๕๓๕

 

 


กฎหมายลูก >>