พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๔)

พ.ศ. ๒๕๓๕

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕

เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                มาตรา ๓  ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “เกษตรกร” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

              “เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพในการทำนา การทำไร่ การทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การประมง การเลี้ยงไหมและสาวไหม การทำนาเกลือ การปลูกกล้วยไม้หรือไม้ดอก การปลูกไม้สน การปลูกสวนป่า การเลี้ยงผึ้ง การเลี้ยงครั่ง การเพาะเห็ด หรืออาชีพการเกษตรอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้หมายความรวมถึงเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม”

มาตรา ๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙

“มาตรา ๗ ทวิ  ในกรณีที่ธนาคารมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนเรือนหุ้นให้ธนาคารขอเพิ่มทุนเรือนหุ้นได้อีกเป็นคราว ๆ โดยขออนุมัติคณะรัฐมนตรี

การกำหนดมูลค่าหุ้นและการขายหุ้นเพื่อเพิ่มทุนเรือนหุ้นตามวรรคหนึ่งให้นำมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๙  ธนาคารมีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อส่งเสริมอาชีพการเกษตร หรือการดำเนินงานของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือ สหกรณ์การเกษตร ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร สามารถประกอบอาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องในการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว”

                มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความใน (๖) ของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “(๖) ให้กู้เงินแก่ผู้ฝากเงินหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ผู้ฝากเงินยินยอม ภายในวงเงินที่ฝากไว้กับธนาคารโดยใช้เงินฝากเป็นประกัน รวมทั้งออกหนังสือค้ำประกันผู้ฝากเงินหรือบุคคลดังกล่าว ภายในวงเงินค้ำประกันซึ่งไม่เกินจำนวนเงินฝาก

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับในกรณีที่ผู้ฝากเงินเป็นธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์”

                มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความใน (๑๑) ของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “(๑๑) เป็นตัวแทนของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อเรียกเก็บค่าที่ดิน ค่าชดเชยการลงทุน ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือเงินประเภทอื่น ตามที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจได้มอบหมายให้ธนาคารเรียกเก็บจากบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือเป็นตัวแทนของบุคคลอื่นเพื่อดำเนินการดังกล่าวได้โดยต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร”

มาตรา ๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙

               “มาตรา ๓๔ ทวิ  ให้มีกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคาร เรียกว่า “กองทุนที่ดิน” เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านการให้กู้เงินแก่เกษตรกรเพื่อนำไปจัดหาที่ดินทำกิน พัฒนาที่ดินและประกอบอาชีพเกษตรกรรมของตนตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กองทุนที่ดินประกอบด้วย เงินที่ได้รับจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำมาฝากไว้กับธนาคาร รายได้จากการดำเนินการและเงินจากแหล่งอื่น ๆ

                 เงินจากกองทุนที่ดินให้ใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานกองทุนที่ดิน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติที่คณะกรรมการกองทุนที่ดินซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

               ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่บริหารกองทุนที่ดินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง และตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติที่คณะกรรมการกองทุนที่ดินกำหนดตามวรรคสอง และให้นำมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ผู้จัดการต้องแยกบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนที่ดินออกจากบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของธนาคาร”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์  ปันยารชุน

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ กำหนดความหมายของคำว่า เกษตรกร และวัตถุประสงค์ของธนาคารไว้ค่อนข้างจะจำกัด โดยเกษตรกรนั้นหมายความเฉพาะผู้ประกอบอาชีพการเกษตรโดยตรงและให้เกษตรกรกู้เงินได้เฉพาะเพื่อการประกอบอาชีพการเกษตรเท่านั้น อีกทั้งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรตามที่กำหนดไว้นั้นในขณะนี้มีจำนวนไม่เพียงพอทำให้ความช่วยเหลือในการประกอบอาชีพของเกษตรกรอยู่ในวงจำกัด สมควรที่จะขยายความหมายของคำว่า เกษตรกร ให้รวมถึงเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และขยายวัตถุประสงค์ของธนาคารตามพระราชบัญญัตินี้ให้กว้างขึ้นให้เกษตรกรสามารถกู้เงินไปเพื่อการประกอบอาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องในการเกษตรเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้กับครอบครัวไว้ด้วย และแก้ไขในเรื่องการเพิ่มทุนเรือนหุ้นของธนาคารเพื่อให้ธนาคารสามารถให้ความช่วยเหลือในด้านการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรได้มากขึ้น นอกจากนี้ เพื่อให้การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น สมควรให้มีกองทุนที่ดินขึ้นในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยให้ผู้จัดการธนาคารเป็นผู้บริหารกองทุนที่ดินตามระเบียบข้อบังคับ หรือมติที่คณะกรรมการกองทุนที่ดินกำหนด และแยกการดำเนินงานออกต่างหากจากการดำเนินงานตามปกติของธนาคาร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ดวงใจ/แก้ไข

๒๙ ต.ค. ๔๔

A+B (C)

ปัญญา/ตรวจ

๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๒/หน้า ๘๖/๘ เมษายน ๒๕๓๕