พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519

พระราชบัญญัติ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒)

พ.ศ. ๒๕๑๙

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

เป็นปีที่ ๓๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๗  ให้กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้สี่พันล้านบาท แบ่งเป็นสี่สิบล้านหุ้น มีมูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลัง เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร แต่หุ้นที่สถาบันการเงินหรือบุคคลอื่นถือนั้น เมื่อรวมกันแล้วจะต้องมีมูลค่าไม่เกินร้อยละสิบของทุนเรือนหุ้นที่ได้ชำระแล้ว

ในระยะเริ่มแรก หุ้นของธนาคารให้ประกอบด้วย

(๑) หุ้นที่กระทรวงการคลังและหุ้นที่สหกรณ์เป็นผู้ถือตามมาตรา ๕ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการสหกรณ์ พุทธศักราช ๒๔๘๖ พ.ศ. ๒๕๐๙

(๒) หุ้นที่กระทรวงการคลังซื้อในระยะเริ่มแรกสองแสนหุ้น

ให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นเพิ่มเติมอีกเป็นคราว ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด”

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๐  ให้ธนาคารมีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๙ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) ให้กู้เงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร

(๒) ค้ำประกันเงินกู้ที่บุคคลดังกล่าวใน (๑) กู้จากสถาบันการเงินอื่น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร

(๓) จัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของธนาคาร

                 (๔) จัดให้ได้มา ถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิ์ ครอบครอง เช่าหรือให้เช่า เช่าซื้อหรือให้เช่าซื้อ โอนหรือรับโอนสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ จำนองหรือรับจำนอง จำนำหรือรับจำนำ ขายหรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่นใด ซึ่งสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์

(๕) รับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันมีกำหนด

(๖) ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด รวมทั้งเก็บเงินตามตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมือดังกล่าว

(๗) มีบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารอื่นเท่าที่จำเป็นแก่การดำเนินธุรกิจของธนาคาร

(๘) ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล เช่นพันธบัตรหรือตั๋วเงินคลังตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

(๙) เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการให้กู้เงินหรือการค้ำประกันเงินกู้ และค่าบริการอื่น ๆ

(๑๐) จัดให้มีการสงเคราะห์ตามสมควรแก่ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว

(๑๑) กระทำกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร”

มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๔  ให้มีคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ และมีรองประธานกรรมการและกรรมการอื่นไม่เกินแปดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้ผู้จัดการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

                กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอย่างน้อยต้องมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรีหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมาจากส่วนราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเกษตรหนึ่งคน และเกี่ยวกับการสหกรณ์หนึ่งคน และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยหนึ่งคน

รองประธานกรรมการ หรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ผู้ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระจะแต่งตั้งให้เป็นรองประธานกรรมการ หรือกรรมการอีกก็ได้”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๖  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๔ รองประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕

                 เมื่อรองประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นรองประธานกรรมการหรือกรรมการแทน ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนนี้ให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๗  ให้มีการประชุมใหญ่สามัญของผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้ง ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ของแต่ละปี เพื่อกิจการดังต่อไปนี้

(๑) พิจารณาอนุมัติงบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน

(๒) พิจารณาอนุมัติการจัดสรรกำไรสุทธิ ในปีหนึ่ง ๆ ของธนาคารตามที่คณะกรรมการเสนอ

(๓) พิจารณารายงานกิจการประจำปีของธนาคาร

(๔) พิจารณาตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี

(๕) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ”

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๓  ในการจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินงานของธนาคาร ให้ธนาคารมีอำนาจ

(๑) กู้ยืมเงินตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

(๒) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

(๓) ขายหรือขายลดช่วงตั๋วเงินแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ตามข้อบังคับของธนาคาร

(๔) รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือบุคคลอื่น”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๓๙  ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ ๓๑ มีนาคมของแต่ละปีให้คณะกรรมการเสนองบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน ซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณา และให้คณะกรรมการเสนอรายงานกิจการประจำปีของธนาคารต่อที่ประชุมใหญ่พร้อมกันด้วย

                มาตรา ๔๐  ให้ธนาคารเสนอรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่แล้ว ต่อคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ของแต่ละปี รายงานนั้นให้กล่าวถึงผลงานของธนาคารในปีที่ล่วงมาแล้ว คำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของธนาคารและแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไป”

มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๓  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความได้”

               มาตรา ๑๑  ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการ ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรี รองประธานกรรมการและกรรมการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รวมทั้งผู้จัดการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่

               มาตรา ๑๒  ความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการเรียกประชุมใหญ่สามัญ การเสนองบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน ต่อที่ประชุมใหญ่ และการเสนอรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องกระทำภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันหรือหนึ่งร้อยห้าสิบวัน แล้วแต่กรณี นับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีรอบปีบัญชีซึ่งมีระยะเวลาระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๐ขึ้นอีกรอบหนึ่ง

มาตรา ๑๓  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ธานินทร์  กรัยวิเชียร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจการเกษตรของประเทศได้เปลี่ยนแปลงตลอดมา สมควรปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อสามารถให้ความร่วมมือกับทางราชการในการพัฒนาการเกษตรของประเทศได้โดยกว้างขวาง ทั้งในด้านการส่งเสริมอาชีพ การจัดหาที่ดินเพื่อการเกษตร การจำหน่ายผลิตผล และอื่น ๆ ในการนี้สมควรเพิ่มทุนของธนาคารขึ้นเพื่อให้สนองความต้องการของเกษตรกรในเรื่องสินเชื่อการเกษตรได้โดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

ดวงใจ/แก้ไข

๒๙ ต.ค. ๔๔

ปัญญา/ตรวจ

๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๕๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๙