พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503

พระราชบัญญัติ

ป่าไม้ (ฉบับที่ ๔)

พ.ศ. ๒๕๐๓

                  

ในพระปรมาภิไธย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สังวาลย์

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในข้อ ๑ และข้อ ๔ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๑

                  มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความใน (๔) ของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๔) “ไม้แปรรูป” หมายความว่า ไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว แต่ไม่รวมถึงไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้าง หรืออยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ ทั้งนี้ตลอดเวลาที่อยู่ในสภาพเช่นนั้น

ไม้ที่เคยอยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเป็นเครื่องใช้มาแล้ว และผู้ครอบครองพิสูจน์ได้ว่าได้เคยมีสภาพเช่นนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี มิให้ถือว่าเป็นไม้แปรรูป”

มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗  ไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใด เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้อื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดอัตราค่าภาคหลวงโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังต่อไปนี้

                   สำหรับไม้หวงห้ามประเภท ก. เฉพาะไม้สักหรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ให้กำหนดตามชนิดขนาดและปริมาตรของไม้เป็นท้องที่หรือเป็นราย ๆ ไป แต่ไม่เกินกว่าลูกบาศก์เมตรละหนึ่งร้อยบาท

สำหรับไม้หวงห้ามอื่น ให้กำหนดตามชนิดและปริมาตรของไม้เป็นท้องที่ ๆ ไป แต่ไม่เกินกว่าลูกบาศก์เมตรละสี่สิบบาท

สำหรับไม้ฟืนหรือไม้เผาถ่านที่ทำจากไม้หวงห้าม ให้กำหนดได้ไม่เกินกว่าลูกบาศก์เมตรละห้าบาท ถ้าได้เผาเป็นถ่านแล้ว ให้เก็บในอัตราสองเท่าค่าภาคหลวงของไม้ฟืนหรือไม้เผาถ่าน

                  สำหรับไม้หรือถ่านที่นิยมซื้อขายกันตามมาตรฐานอื่นนอกจากเป็นลูกบาศก์เมตร จะกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแตกต่างจากที่บัญญัติไว้นี้ก็ได้ แต่อย่างสูงต้องไม่เกินร้อยละสิบแห่งราคาตลาดในราชอาณาจักร ซึ่งเฉลี่ยจากราคาไม้หรือถ่านอย่างนั้น ๆ”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกส่วนที่ ๓ ว่าด้วยการยกเว้นค่าภาคหลวง มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

มาตรา ๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

                  “มาตรา ๓๙ ทวิ  ผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ หรือผู้รับอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูป อาจออกหนังสือกำกับไม้แปรรูปเพื่อให้บุคคลใดนำไม้แปรรูปเคลื่อนที่จากสถานที่ที่ได้รับอนุญาตของตนไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งได้ เมื่ออธิบดีกรมป่าไม้ได้สั่งอนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด หนังสือกำกับไม้แปรรูปให้ใช้แบบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด และให้ถือเสมือนหนึ่งเป็นใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๓๙”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “มาตรา ๔๐  ผู้ใดนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่เข้าเขตด่านป่าไม้ ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้นโดยแสดงใบเบิกทางกำกับไม้หรือของป่า หรือหนังสือกำกับไม้แปรรูปที่นำมานั้น แล้วแต่กรณี ภายในกำหนดห้าวันนับแต่วันที่เข้าเขตด่าน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและอนุญาตเป็นหนังสือให้ผ่านด่านได้แล้ว จึงให้นำไม้หรือของป่านั้นไปได้

การอนุญาตนั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยมิชักช้า”

มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๑  ผู้รับอนุญาตตามความในหมวดนี้ จะมีไม้ไว้ในครอบครองในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตของตนได้แต่เฉพาะไม้อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

                  (๑) ไม้ที่ได้ชำระค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าเสร็จสิ้นแล้ว หรือถ้าเป็นไม้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการแปรรูปได้ก่อนชำระค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า โดยมีหนังสืออนุญาตของอธิบดีกรมป่าไม้ และมีรอยตราอนุญาตประทับไว้แล้ว

(๒) ไม้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าภาคหลวง และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับตราแสดงว่าเป็นไม้ที่ทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงไว้แล้ว

(๓) ไม้ที่ได้รับซื้อจากทางราชการป่าไม้ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับตรารัฐบาลขายไว้แล้ว

(๔) ไม้แปรรูปของผู้รับอนุญาตตามความในหมวดนี้ และมีหนังสือกำกับไม้แปรรูปของผู้รับอนุญาต หรือใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไว้เป็นหลักฐาน”

มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๕๔  ห้ามมิให้บุคคลใดทำการแผ้วถางป่า หรือทำการก่นสร้างป่า หรือเผาป่า หรือทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือโดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๖๙  ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวง หรือรอยตรารัฐบาลขาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น

(๑) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ

(๒) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร

ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท”

มาตรา ๑๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗๑  ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๔ วรรคสอง หรือมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท”

มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗๒  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ มาตรา ๔๑ มาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๑๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

“มาตรา ๗๒ ทวิ  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น

(๑) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ

(๒) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินห้าต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้ที่ครอบครองเกินหนึ่งลูกบาศก์เมตร

ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท”

มาตรา ๑๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗๒ ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

“มาตรา ๗๒ ตรี  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินกว่าห้าสิบไร่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

                   ในกรณีที่มีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองป่าที่ตนได้กระทำความผิด ศาลมีอำนาจที่จะสั่งในคำพิพากษาให้บุคคลนั้นออกไปจากป่านั้นได้ด้วย”

มาตรา ๑๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗๓  ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๓๑ มาตรา ๔๓ วรรคสอง หรือมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าการกระทำความผิดนั้นเกี่ยวกับ

(๑) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ

(๒) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร

ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท”

มาตรา ๑๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

                 “มาตรา ๗๔ ทวิ  บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๖๙ ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่”

                มาตรา ๑๙  บทบัญญัติมาตรา ๕ และมาตรา ๗ ไม่กระทบกระทั่งบรรดาใบอนุญาตการทำไม้ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้ตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  ทั้งนี้ จนกว่าใบอนุญาตนั้น ๆ จะสิ้นอายุ

                 มาตรา ๒๐  ในระหว่างเวลาที่ยังมิได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดอัตราค่าภาคหลวงตามความในมาตรา ๙ การเสียค่าภาคหลวงให้เป็นไปตามอัตราที่รัฐมนตรีได้กำหนดไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

                  มาตรา ๒๑  ในระหว่างเวลาที่ยังมิได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามอื่น นอกจากไม้สักและไม้ยางตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๕ ไม้อื่นนอกจากไม้สักและไม้ยางจะเป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๒๒  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ส.  ธนะรัชต์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ บางมาตรา มีข้อความไม่รัดกุมเหมาะสมกับกาลสมัย โดยเฉพาะบทกำหนดโทษ กำหนดไว้ต่ำมากไม่ทำให้ผู้กระทำผิดเกรงกลัว หรือเข็ดหลาบ เป็นช่องทางให้มีการลักลอบตัดฟันไม้ทำลายป่า รวมทั้งลักลอบทำการแผ้วถางป่ามากขึ้น เพราะไม้หรือของป่าทุกชนิดมีราคาสูงขึ้น จึงเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเป็นการป้องกันการทำลายป่าไม้ อันเป็นทรัพยากรของชาติ ให้มีสภาพอันจะอำนวยประโยชน์แก่รัฐและประชาชนด้วยดีสืบไป

สุรินทร์/แก้ไข

๘ มกราคม ๒๕๔๕

ปัญญา/แก้ไข

๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๒

อุดมการณ์/ปรับปรุง

๑๘ มกราคม ๒๕๕๖

วิชพงษ์/ตรวจ

๒๕ มกราคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๗/ตอนที่ ๖๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑/๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๓