พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2532

พระราชบัญญัติ

ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๘)

พ.ศ. ๒๕๓๒

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

เป็นปีที่ ๔๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๓๒”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                  มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๖๔ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔  ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) ขาดคุณสมบัติหรือเข้าลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๒

(๒) ตาย

(๓) ได้รับอนุญาตให้ลาออก

(๔) หมู่บ้านที่ปกครองถูกยุบ

(๕) ไปเสียจากหมู่บ้านที่ตนปกครองเกินสามเดือน

(๖) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านนั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนร้องขอให้ออกจากตำแหน่ง

(๗) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่งเมื่อได้สอบสวนเห็นว่าบกพร่องในทางความประพฤติ หรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง

ความใน (๑) มิให้ใช้บังคับแก่มาตรา ๑๒ (๕) ในกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ลาอุปสมบท หรือบรรพชาได้ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน

ความในวรรคสอง ให้ใช้บังคับแก่กำนันด้วย”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ชาติชาย  ชุณหะวัณ

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านไว้ว่าต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวชทำให้ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งถ้าอุปสมบทหรือบรรพชา เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิอุปสมบทหรือบรรพชาได้ เช่นเดียวกับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ สมควรกำหนดให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิลาอุปสมบท หรือบรรพชาได้เป็นเวลาติดต่อกันไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

สุกัญญา/ผู้จัดทำ

๗ ธันวาคม ๒๕๕๓

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๑๑๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๒