พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

พระราชบัญญัติ

สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

พ.ศ. ๒๕๓๕

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕

เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓

(๒) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๘ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

 

มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้

“สัตว์ป่า” หมายความว่า สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก แมลงหรือแมง ซึ่งโดยสภาพธรรมชาติย่อมเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในป่าหรือในน้ำ และให้หมายความรวมถึงไข่ของสัตว์ป่าเหล่านั้นทุกชนิดด้วย แต่ไม่หมายความรวมถึงสัตว์พาหนะที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะแล้ว และสัตว์พาหนะที่ได้มาจากการสืบพันธุ์ของสัตว์พาหนะดังกล่าว

“สัตว์ป่าสงวน” หมายความว่า สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และตามที่จะกำหนด โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

“สัตว์ป่าคุ้มครอง” หมายความว่า สัตว์ป่าตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

“ล่า” หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึง การไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อเพื่อการกระทำดังกล่าวด้วย

“ซากของสัตว์ป่า” หมายความว่า ร่างกายหรือส่วนของร่างของสัตว์ป่าที่ตายแล้วหรือเนื้อของสัตว์ป่า ไม่ว่าจะได้ปิ้ง ย่าง รม ตากแห้ง หมัก หรือทำอย่างอื่นเพื่อไม่ให้เน่าเปื่อย และไม่ว่าจะชำแหละ แยกออก หรืออยู่ในร่างของสัตว์ป่านั้นและหมายความรวมถึง เขา หนัง กระดูก ฟัน งา ขนาย นอ ขน เกล็ด เล็บ กระดอง เปลือก หรือส่วนต่างๆ ของสัตว์ป่าที่แยกออกจากร่างของสัตว์ป่าไม่ว่าจะยังมีชีวิตหรือตายแล้ว

“ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า”[๒] ให้หมายความรวมถึงอนุพันธ์หรือสิ่งอื่นใดที่ได้มาจากสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่า ที่สามารถตรวจสอบหรือจำแนกได้โดยเอกสารกำกับ หรือบรรจุภัณฑ์ หรือเครื่องหมาย หรือฉลาก หรืออื่น ๆ ว่าเป็นของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

“เพาะพันธุ์” หมายความว่า ขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่นำมาเลี้ยงไว้โดยวิธีผสมพันธุ์สัตว์ป่า และหมายความรวมถึงขยายพันธุ์สัตว์ป่าโดยวิธีผสมเทียมหรือการย้ายฝากตัวอ่อนด้วย

“ค้า” หมายความว่า ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และหมายความรวมถึงมีหรือแสดงไว้เพื่อขายด้วย

“นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

“ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

“นำผ่าน” หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักร

“ด่านตรวจสัตว์ป่า” หมายความว่า ด่านตรวจสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่า

“สวนสัตว์สาธารณะ” หมายความว่า สถานที่หรือบริเวณซึ่งรวบรวมสัตว์ป่าไว้เพื่อประโยชน์แก่การพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษา การค้นคว้าหรือวิจัยของประชาชน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ป่า

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช*หรืออธิบดีกรมประมงเฉพาะที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำ

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม*รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

บททั่วไป

                  

มาตรา ๖  การกำหนดให้สัตว์ป่าชนิดใดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองให้กระทำโดยกฎกระทรวง และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

กฎกระทรวงที่ออกตามวรรคหนึ่งจะใช้บังคับตั้งแต่วันใด ให้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนั้น แต่จะกำหนดให้ใช้บังคับก่อนหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษามิได้

 

มาตรา ๗  ผู้ใดล่าสัตว์ป่าโดยฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ด้วยความจำเป็นและภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

(๑) เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากอันตราย หรือเพื่อสงวนหรือรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น

(๒) การล่านั้นได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ และ

(๓) ในกรณีที่สัตว์ที่ถูกล่านั้นเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง มิได้นำสัตว์ป่าที่ถูกล่าหรือซากของสัตว์ป่าที่ถูกล่านั้นเคลื่อนที่ และได้แจ้งเหตุที่ได้ล่าสัตว์ป่าไปแล้วนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบโดยไม่ชักช้า

ให้สัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าที่ถูกล่าตามวรรคหนึ่งตกเป็นของแผ่นดิน และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช*หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี นำไปดำเนินการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

มาตรา ๘  การพิจารณาคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้มีอำนาจอนุญาตจะต้องดำเนินการพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาคำขอให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับคำขออนุญาต และถ้ามิได้แจ้งผลการพิจารณาคำขอให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้มีอำนาจอนุญาตมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอและต้องออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคำขอนั้น

เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะได้กำหนดอายุใบอนุญาตไว้เป็นอย่างอื่น ใบอนุญาตหรือใบรับรองที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ถ้าผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตให้ยื่นคำขอเสียก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตแล้วจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่าผู้มีอำนาจอนุญาตจะสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้

การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาตหรือใบรับรอง การออกใบแทนใบอนุญาตหรือใบรับรองตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

หมวด ๒

คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ

                  

มาตรา ๙  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ” ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม* เป็นประธาน ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม* ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินสิบเอ็ดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช*เป็นกรรมการและเลขานุการ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากผู้แทนของสมาคมหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับแต่งตั้ง

 

มาตรา ๑๐  กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

 

มาตรา ๑๑  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๐ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก

(๔) ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ

(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้ว

 

มาตรา ๑๒  การประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก

กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

มาตรา ๑๓  การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม

 

มาตรา ๑๔  คณะกรรมการจะตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้

 

มาตรา ๑๕  คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ความเห็นชอบในการกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา ๓๓ การกำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่าและการกำหนดชนิดหรือประเภทของสัตว์ป่าที่จะห้ามล่าในเขตนั้นตามมาตรา ๔๒

(๒) ควบคุมให้การเป็นไปตามมาตรา ๓๕

(๓) กำหนดกิจการอันพึงกระทำเพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

(๔) ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงและระเบียบ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

(๕) กำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ และติดตามการปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

(๖) ปฏิบัติการอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ

หมวด ๓

การล่า การเพาะพันธุ์ การครอบครอง และการค้าซึ่งสัตว์ป่า

ซากของสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า

                  

 

มาตรา ๑๖  ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๒๖

 

มาตรา ๑๗  ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ มีอำนาจกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ โดยกำหนดเป็นกฎกระทรวง

 

มาตรา ๑๘  ห้ามมิให้ผู้ใดเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองเว้นแต่

(๑) เป็นการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ โดยได้รับใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์จากอธิบดี

(๒) เป็นการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ ซึ่งได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้เพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองเพื่อประโยชน์แก่กิจการสวนสัตว์สาธารณะของตน

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เพาะพันธุ์สัตว์ตามวรรคหนึ่ง และการได้มาซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อการเพาะพันธุ์ของผู้รับใบอนุญาตตาม (๑) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

ใบอนุญาตตาม (๑) และ (๒) ให้สิ้นอายุลงเมื่อผู้รับใบอนุญาตได้แจ้งการเลิกการดำเนินการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่ได้รับอนุญาตต่ออธิบดีตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๑๙  ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว และโดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่

(๑) การครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ (๑) ที่มีไว้เพื่อการเพาะพันธุ์หรือได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว

(๒) การครอบครองสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะของผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ และได้จัดแสดงไว้ในสวนสัตว์สาธารณะที่ได้รับอนุญาต

ให้จัดตั้งขึ้น

 

มาตรา ๒๐  ห้ามมิให้ผู้ใดค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว เว้นแต่เป็นการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว  ทั้งนี้ โดยได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๑  ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นตามกฎหมาย ว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่นและผู้ที่อาศัยอำนาจของผู้รับอนุญาตดังกล่าว แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๒๒  ห้ามมิให้ผู้ใดยิงสัตว์ป่าในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตก และพระอาทิตย์ขึ้น

หมวด ๔

การนำเข้า ส่งออก นำผ่าน นำเคลื่อนที่ซึ่งสัตว์ป่า และด่านตรวจสัตว์ป่า

                  

 

มาตรา ๒๓[๓]  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี

ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว เว้นแต่เป็นการนำเข้าหรือส่งออก ซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ (๑) หรือได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายตามความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า และโดยได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี

การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๔[๔]  การนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่ต้องมีใบอนุญาตหรือใบรับรองให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ตามความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าต้องได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองจากอธิบดี

การขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๕[๕]  การนำสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้าของผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๐ ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี และต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่า โดยแสดงใบอนุญาตให้นำสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและอนุญาตแล้วจึงให้นำเคลื่อนที่ต่อไปได้

การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๖  บทบัญญัติมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑  และมาตรา ๒๓ มิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการสำรวจ การศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครองสัตว์ป่า การเพาะพันธุ์ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ซึ่งกระทำโดยทางราชการ และโดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และต้องปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ในกรณีที่การกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำเพื่อกิจการเพาะพันธุ์ของผู้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ การเรียกเก็บและการชำระค่าใช้จ่าย ค่าบริการ หรือค่าตอบแทน และราคาสัตว์ป่า ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

มาตรา ๒๗  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจตั้งด่านตรวจสัตว์ป่าและกำหนดเขตของด่านโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๒๘[๖]  ผู้ใดนำสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ หรือนำสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าวเคลื่อนที่เพื่อการนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่าน ผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่า โดยแสดงใบอนุญาตให้นำเข้า ให้ส่งออก หรือให้นำผ่าน แล้วแต่กรณี เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและอนุญาตแล้วจึงให้นำเคลื่อนที่ต่อไปได้

หมวด ๕

สวนสัตว์สาธารณะ

                  

 

มาตรา ๒๙  ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี

ใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้สิ้นอายุลงเมื่อผู้รับใบอนุญาตแจ้งการเลิกการดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๓๒

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในการดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

 

มาตรา ๓๐  เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ก่อนเปิดดำเนินการ ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่มีไว้ในครอบครอง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบและจดแจ้งไว้ในทะเบียน

ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของตน อยู่หรือแสดงไว้ภายในบริเวณสวนสัตว์สาธารณะที่จัดตั้งขึ้นและต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้าทุกครั้งที่สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่อยู่ในครอบครองเพิ่มจำนวนขึ้นหรือลดจำนวนลง

การแจ้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๓๑  ในกรณีที่ปรากฏว่า บริเวณที่ตั้งของสวนสัตว์สาธารณะหรือสถานที่เลี้ยงสัตว์มีสภาพขัดต่อหลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือข้อกำหนดที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามมาตรา ๒๙ หรือเกิดมีสภาพอันอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชนที่เข้าไปในสวนสัตว์สาธารณะหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความทุกข์ทรมานแก่สัตว์ป่าที่อยู่ในสวนสัตว์สาธารณะ ให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสภาพเช่นว่านั้นให้หมดไปได้

ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการตามคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดในคำสั่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าปรับปรุงแก้ไขโดยเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้รับใบอนุญาต

 

มาตรา ๓๒  ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ ประสงค์จะเลิกดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดีทราบล่วงหน้า และให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการจำหน่ายสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่มีอยู่ในครอบครองให้แก่ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ รายอื่นหรือจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ (๑) ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งการบอกเลิกไปยังอธิบดี

เมื่อสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามวรรคหนึ่ง ยังมีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวเหลืออยู่เท่าใด ให้สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน โดยผู้รับใบอนุญาตต้องส่งมอบสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช*หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการต่อไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

หมวด ๖

บริเวณและสถานที่ห้ามล่าสัตว์ป่า

                  

 

มาตรา ๓๓  เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัยเพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่า ก็ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย บริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า”

ที่ดินที่กำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น ต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง

 

มาตรา ๓๔  การขยายหรือการเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และในกรณีที่มิใช่เป็นการเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งหมด ให้มีแผนที่แสดงเขตที่เปลี่ยนแปลงไปแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย

 

มาตรา ๓๕  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีหลักเขตและป้าย หรือเครื่องหมายอื่นแสดงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ตามสมควร เพื่อให้ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

 

มาตรา ๓๖  ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองหรือมิใช่ หรือเก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า เว้นแต่จะกระทำเพื่อการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

มาตรา ๓๗  นอกจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานอื่นใดซึ่งต้องเข้าไปปฏิบัติการตามหน้าที่ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๓๘  ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินหรือปลูก หรือก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือตัด โค่น แผ้วถาง เผา หรือทำลายต้นไม้หรือพฤกษชาติอื่น หรือขุดหาแร่ ดิน หิน หรือเลี้ยงสัตว์ หรือปล่อยสัตว์หรือสัตว์ป่า หรือเปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย หนอง บึง ท่วมท้น เหือดแห้ง เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครอง ดูแล รักษาหรือบำรุงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อการเพาะพันธุ์ การศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้การศึกษาหรือการพักอาศัย หรืออำนวยความปลอดภัย หรือให้ความรู้แก่ประชาชน ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช*หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้ ทั้งนี้ ตาม ระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

มาตรา ๓๙  การจัดการกับไม้หรือพฤกษชาติอื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตัด โค่น หรือแผ้วถาง ตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

มาตรา ๔๐  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งประจำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีอำนาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืองดเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

 

มาตรา ๔๑  ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองหรือมิใช่ หรือเก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า ในบริเวณวัดหรือในบริเวณสถานที่ที่จัดไว้เพื่อประชาชนใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

 

มาตรา ๔๒  บริเวณสถานที่ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันแห่งใด รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะกำหนดให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าชนิดหรือประเภทใดก็ได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่าชนิดหรือประเภทใดแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ล่าสัตว์ป่าชนิดหรือประเภทนั้น

(๒) เก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่าซึ่งห้ามมิให้ล่านั้น

(๓) ยึดถือครอบครองที่ดิน หรือตัด โค่น แผ้วถาง เผา ทำลายต้นไม้ หรือพฤกษชาติอื่น หรือขุดหาแร่ ดิน หิน หรือเลี้ยงสัตว์ หรือเปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย หนอง บึง ท่วมท้น เหือดแห้ง เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี หรือเมื่ออธิบดีได้ประกาศอนุญาตไว้เป็นคราวๆ ในเขตห้ามล่าแห่งหนึ่งแห่งใดโดยเฉพาะ

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานอื่นใดมีความจำเป็นต้องปฏิบัติการตามกฎหมาย หรือปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานนั้นต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

หมวด ๗

พนักงานเจ้าหน้าที่

                  

 

มาตรา ๔๓  เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตผู้ใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ข้อกำหนด หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ได้ไม่เกินเก้าสิบวัน หรือถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเสียก็ได้

ในกรณีที่เพิกถอนใบอนุญาต ถ้าผู้รับใบอนุญาตที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวไว้ในครอบครอง ให้ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจำหน่ายสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่มีไว้ในครอบครองภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ถ้าพ้นกำหนดนั้นแล้วยังมิได้จำหน่ายหรือจำหน่ายไปบางส่วน ให้สัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าที่ยังมิได้จำหน่ายหรือเหลือจำหน่ายนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช*หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี นำไปดำเนินการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

มาตรา ๔๔  ในกรณีที่บุคคลใดประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ นอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการโดยปกติ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และจะต้องเสียค่าเบี้ยเลี้ยงให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ไปปฏิบัติงานเท่าอัตราของทางราชการ และต้องจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายจริง

การยื่นคำขอและการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๔๕  ในการจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

มาตรา ๔๖  ถ้าเห็นเป็นการสมควรให้ประชาชนชำระค่าบริการหรือค่าตอบแทนเนื่องในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้บริการหรือให้ความสะดวกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อธิบดีมีอำนาจกำหนดอัตราและวางระเบียบเกี่ยวกับการเก็บค่าบริการหรือค่าตอบแทนดังกล่าวได้ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

เงินที่เก็บได้ตามวรรคหนึ่ง และเงินที่มีผู้บริจาคเพื่อบำรุงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรใดๆ และให้ใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

หมวด ๘

บทกำหนดโทษ

                  

มาตรา ๔๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่งหรือมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๔๘  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๓ วรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๔๙  ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๙ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๕๐  ผู้ใดทำการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๕๑  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษจำคุก    ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๕๒  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  ห้าพันบาท

 

มาตรา ๕๓  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๕๔  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๔๒ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๘ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้นได้ยึดถือ ครอบครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ตนได้กระทำผิด ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำความผิดออกไปจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้นได้

การจัดการกับไม้หรือพฤกษชาติอื่นที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ได้ตัด โค่น หรือแผ้วถางลงไว้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ แต่ระเบียบดังกล่าวจะกำหนดให้จำหน่ายให้บุคคลอื่นใดที่มิใช่ส่วนราชการมิได้

 

มาตรา ๕๕[๗]  ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าอันได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๕๖  ผู้ใดกระทำให้หลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่น ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีตามพระราชบัญญัตินี้เคลื่อนที่ ลบเลือน เสียหาย หรือไร้ประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๕๗  บรรดาอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เนื่องในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ วรรคสอง ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่

 

มาตรา ๕๘  บรรดาสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว หรือรังของสัตว์ป่าที่บุคคลได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลสั่งริบเสียทั้งสิ้น

บรรดาสิ่งที่ศาลสั่งริบ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช*หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี นำไปดำเนินการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

มาตรา ๕๙  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมด้วย

 

มาตรา ๖๐  บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอธิบดีมอบหมายโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษามีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ และเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

บทเฉพาะกาล

                  

 

มาตรา ๖๑[๘]  เมื่อได้มีกฎกระทรวงตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง ใช้บังคับ การดำเนินการแก่สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดเพิ่มเติมขึ้น ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวที่มีอยู่ในความครอบครองของบุคคลใดก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ ให้เป็นไปดังนี้

(๑) กรณีสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองแจ้งชนิดและจำนวนสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้ว หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไป ให้จำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ หรือจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ยังมีสัตว์ป่าคุ้มครองเหลืออยู่เท่าใด ให้สัตว์ป่าคุ้มครองนั้นตกเป็นของแผ่นดินและให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ในกรณีที่สัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งประสงค์จะเพาะพันธุ์สัตว์นั้น ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้

หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไป ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้นั้นว่าอยู่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัยแก่สัตว์นั้นเพียงใด หากเห็นว่าสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัย ให้อธิบดีอนุญาตให้ผู้นั้นครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้ โดยออกใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวให้ไว้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยใบอนุญาตดังกล่าวให้มีอายุเพียงเท่าอายุของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น และผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และเมื่อสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นโดยการสืบพันธุ์ หรือตาย ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ

(๒) กรณีซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแจ้งชนิดและจำนวนของซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียน และให้ผู้นั้นครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

กรณีที่เป็นซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีไว้เพื่อการค้าให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแจ้งชนิดและจำนวนของซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดแจ้งชนิดและจำนวนของซากสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นไว้แล้ว ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อการค้า ดำเนินการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้เสร็จสิ้นภายในสามปีโดยต้องออกหนังสือกำกับการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองให้แก่ผู้ซื้อทุกครั้งที่มีการจำหน่าย เว้นแต่เป็นการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อนำไปบริโภคหากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ยังคงมีซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเหลืออยู่ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแจ้งชนิดและจำนวนของซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่เหลือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดสามปีเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียน และให้ผู้นั้นครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้ แต่ไม่สามารถทำการค้าซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นได้ เว้นแต่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

(๓) กรณีสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแจ้งชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียน และหากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถนำพยานเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ว่าได้สัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ให้นำหลักเกณฑ์ตาม (๑) และ (๒) มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ ให้สัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่านั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่านั้นให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

แบบและวิธีการแจ้งตาม (๑) (๒) และ (๓) แบบหนังสือกำกับการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง แบบหนังสือกำกับการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ การนำพยานเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การออกใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ ชั่วคราว และใบรับรองการครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๖๒  ให้ถือว่าสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๑ และสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๒ ที่กำหนดขึ้นตามกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๖๓  ให้บรรดาบริเวณที่ดินที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอยู่แล้วตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี

 

มาตรา ๖๔  บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ และยังใช้บังคับอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๖๕  ให้การอนุญาตให้ล่าสัตว์ป่าสงวน ใบอนุญาตล่าสัตว์ป่าคุ้มครองทุกประเภท ใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง และใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ได้ออกให้แก่บุคคลใดไว้แล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นอันสิ้นอายุนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๖๖  ผู้ใดมีสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในความครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าได้นำสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว มามอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ และให้สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน และเมื่อได้จดแจ้งชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าที่รับมอบไว้แล้ว อธิบดีอาจมอบสัตว์ป่าดังกล่าวให้อยู่ในความดูแลของผู้นั้นต่อไปได้ตามที่เห็นสมควร  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสัตว์นั้นเป็นสำคัญ

ผู้ใดมีซากสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในความครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นแจ้งชนิดและจำนวนซากของสัตว์ป่าดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดแจ้งรายการไว้แล้ว ก็ให้ผู้นั้นครอบครองซากของสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองต่อไปได้ แต่จะจำหน่าย จ่าย โอนให้แก่ผู้อื่นมิได้ เว้นแต่โดยการตกทอดทางมรดก

 

มาตรา ๖๗  ให้ผู้มีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในความครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งไว้แล้ว ให้ปฏิบัติต่อไปดังนี้

(๑) สำหรับสัตว์ป่าสงวน ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองจำหน่ายสัตว์ป่าสงวนให้แก่ผู้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะที่ได้ยื่นคำขออนุญาตไว้แล้วตามมาตรา ๖๙ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ยังมีสัตว์ป่าสงวนเหลืออยู่ในความครอบครองอีกเท่าใด ให้สัตว์ป่าสงวนนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบสัตว์ป่าสงวนนั้นให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช*หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

(๒) สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้นำมาตรา ๖๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

(๓) สำหรับซากของสัตว์ป่าสงวน ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองครอบครองซากของสัตว์ป่าสงวนนั้นต่อไปได้ แต่จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้แก่ผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี หรือโดยการตกทอดทางมรดก

(๔) สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของผู้รับใบอนุญาตให้ค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๖๘ ให้ผู้นั้นค้าสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ซึ่งได้มาจากการเพาะพันธุ์ต่อไปได้ สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองอันมิใช่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ที่มีไว้ในความครอบครองเพื่อค้าให้ผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในสองปีนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว มีสัตว์ป่าคุ้มครองอันมิใช่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์เหลืออยู่เท่าใด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งมอบแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช*หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

(๕) สำหรับซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของผู้รับใบอนุญาตให้ค้าซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๐๓ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สำรวจและจดแจ้งชนิดและจำนวนซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวมีอยู่ในความครอบครองไว้แล้ว ให้อธิบดีออกใบอนุญาตค้าซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวให้แก่ผู้นั้น ผู้รับใบอนุญาตค้าซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว จะต้องจำหน่ายซากของสัตว์ป่าที่มีอยู่ในความครอบครองให้เสร็จสิ้นภายในสามปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตให้ค้าซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว และต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับชนิดและจำนวนซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ขายไปในแต่ละเดือนเสนอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด และเมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวมีซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเหลืออยู่เท่าใดให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งมอบแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช*หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ  ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์และผู้นั้นได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ค้าซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๖๘ ไว้แล้ว

แบบและวิธีการแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๖๘  ผู้ใดดำเนินกิจการเพาะพันธุ์ ดำเนินกิจการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์อยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าอธิบดีจะมีคำสั่งไม่อนุญาต

ในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งไม่อนุญาตคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๔๓ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๖๙  ผู้ใดจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อได้รับคำขออนุญาตแล้ว และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าบริเวณและสถานที่ประกอบกิจการเป็นไปโดยถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๐ วรรคสอง และวรรคสาม และมาตรา ๓๑ และได้จดแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ไว้แล้ว ให้อธิบดีออกใบอนุญาตจัดตั้งและ

ดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะให้แก่ผู้นั้น

 

มาตรา ๗๐  คำขออนุญาตใดๆ ที่ได้ยื่นไว้ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอธิบดี ให้ถือว่าคำขอนั้นสิ้นสุดลงเว้นแต่เป็นคำขออนุญาตดำเนินกิจการอันอาจอนุญาตได้ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีพิจารณาคำขออนุญาตนั้นต่อไป

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์  ปันยารชุน

นายกรัฐมนตรี

 

อัตราค่าธรรมเนียม

                  

 

๑. ใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์                                   ฉบับละ    ๑,๐๐๐ บาท

๒. ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง

ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่า

คุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์                       ฉบับละ       ๕๐๐ บาท

๓. ใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจาก

การเพาะพันธุ์                                            ฉบับละ    ๑,๐๐๐ บาท

๔. ใบอนุญาตให้ค้าซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจาก

การเพาะพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของ

สัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์                ฉบับละ    ๑,๐๐๐ บาท

๕.[๙] ใบอนุญาตให้นำเข้าหรือให้ส่งออกซึ่งสัตว์ป่า

คุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์

ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการ

เพาะพันธุ์ หรือที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายตาม

ความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสัตว์ป่า

ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของ

สัตว์ป่าตามมาตรา ๒๓                                   ฉบับละ    ๕,๐๐๐ บาท

๖.[๑๐] ใบอนุญาตให้นำเข้า ให้ส่งออก ซึ่งสัตว์ป่า

ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก

ซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ตามมาตรา ๒๓                                          ฉบับละ    ๕,๐๐๐ บาท

๗.[๑๑] ใบอนุญาตให้นำผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่า

คุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่า

คุ้มครอง ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าสงวน

หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง

ตามมาตรา ๒๓                                          ฉบับละ    ๕,๐๐๐ บาท

๘. ใบอนุญาตให้นำสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของ

สัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้า                     ฉบับละ       ๑๐๐ บาท

๙.[๑๒] ใบรับรองให้นำเข้า ให้ส่งออก หรือให้นำผ่าน

ซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์

ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าตามมาตรา ๒๔                        ฉบับละ    ๕,๐๐๐ บาท

๑๐. ใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์

สาธารณะ                                              ฉบับละ  ๑๐,๐๐๐ บาท

๑๑. ใบแทนใบอนุญาตหรือใบรับรอง                       ฉบับละ       ๑๐๐ บาท

๑๒. การต่ออายุใบอนุญาต                                  ครั้งละ        ๕๐๐ บาท

 

บัญชีสัตว์ป่าสงวน

                  

 

๑. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร Pseudochelidon sirintarae

๒. แรด Rhinoceros sondaicus

๓. กระซู่ Didermocerus sumatraensis

๔. กูปรีหรือโคไพร Bos sauveli

๕. ควายป่า Bubalus bubalis

๖. ละองหรือละมั่ง Cervus eldi

๗. สมันหรือเนื้อสมัน Cervus schomburgki

๘. เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ Capricornis sumatraensis

๙. กวางผา Naemorhedus griseus

๑๐. นกแต้วแล้วท้องดำ Pitta gurneyi

๑๑. นกกระเรียน Grus antigone

๑๒. แมวลายหินอ่อน Pardofelis marmorata

๑๓. สมเสร็จ Tapirus indicus

๑๔. เก้งหม้อ Muntiacus feai

๑๕. พะยูนหรือหมูน้ำ Dugong dugon

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ในกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถทำให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลสมดังวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ประกอบกับจำเป็นจะต้องเร่งรัดการขยายพันธุ์สัตว์ป่าและให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าควบคู่กันไป และเนื่องจากปัจจุบันได้มีความตกลงระหว่างประเทศในการที่จะร่วมมือกันเพื่อสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของท้องถิ่นอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก ดังนั้น เพื่อปรับปรุงให้มาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕[๑๓]

 

มาตรา ๑๐๖  ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้แก้ไขคำว่า “กรมป่าไม้” เป็น “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” คำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” และคำว่า “ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เป็น “ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกา นี้

 

พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๖[๑๔]

 

มาตรา ๓  ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย หากมาแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไป ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้นั้นว่าอยู่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัยแก่สัตว์นั้นเพียงใด หากเห็นว่าสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัยให้อธิบดีอนุญาตให้ผู้นั้นครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้โดยออกใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวให้ไว้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ใบอนุญาตดังกล่าวให้มีอายุเพียงเท่าอายุสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และเมื่อสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นตายหรือเพิ่มจำนวนขึ้นโดยการสืบพันธุ์ ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเพิ่มจำนวนหรือตาย

หากผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไป หรือเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบตามวรรคสองแล้วเห็นว่าสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นไม่อาจได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัยได้ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือวันที่ได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากอธิบดีแล้วแต่กรณี และเมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ยังมีสัตว์ป่าคุ้มครองเหลืออยู่เท่าใดให้สัตว์ป่าคุ้มครองนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

แบบและวิธีการแจ้งและการออกใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวให้เป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๖๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕

 

มาตรา ๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันมีผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจำนวนมากที่ไม่ได้นำสัตว์ป่าคุ้มครองมามอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๖ หรือไม่ได้แจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าคุ้มครองตามมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมดูแลให้ผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองได้ สมควรกำหนดให้ผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแจ้งการครอบครองและขออนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องรับโทษ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗[๑๕]

 

มาตรา ๑๐  ใบอนุญาต ใบรับรอง หรือการอนุญาตใด ๆ ที่ได้ให้ไว้ตามมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และยังมีผลใช้บังคับในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าใบอนุญาต ใบรับรอง หรือการอนุญาตนั้นเป็นใบอนุญาตใบรับรอง หรือการอนุญาตที่ได้ออกให้ตามมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๑  ใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ ที่ออกให้ตามความในมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวและใบรับรองการครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ออกให้ตามมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้มีผลใช้บังคับได้ต่อไป โดยกรณีของใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ และใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวให้มีผลใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาต

 

มาตรา ๑๒  บรรดาคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต คำขอใบรับรอง หรือการแจ้งที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ดำเนินการกับคำขอหรือการแจ้งดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๓  บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ และข้อกำหนดที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๑๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน และซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นด้วย  ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES)) รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษในความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ ให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าอันได้มาโดยการกระทำความผิด และแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ครอบคลุมถึงการนำเข้าส่งออก หรือนำผ่าน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

 

สัญชัย/ผู้จัดทำ

๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

วิชพงษ์/เพิ่มเติม

๘ มกราคม ๒๕๕๘

 

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๕/หน้า ๑/๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

[๒] มาตรา ๔ นิยามคำว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า” เพิ่มโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗

[๓] มาตรา ๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗

[๔] มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗

[๕] มาตรา ๒๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗

[๖] มาตรา ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗

[๗] มาตรา ๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗

[๘] มาตรา ๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗

[๙] อัตราค่าธรรมเนียม ๕. แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗

[๑๐] อัตราค่าธรรมเนียม ๖. แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗

[๑๑] อัตราค่าธรรมเนียม ๗. แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗

[๑๒] อัตราค่าธรรมเนียม ๙. แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗

[๑๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙/ตอนที่ ๑๐๒ ก/หน้า ๖๖/๘ ตุลาคม ๒๕๔๕

[๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๔๑ ก/หน้า ๑/๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖

[๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๘๙ ก/หน้า ๔/๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗

 

 


กฎหมายลูก >>