พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙

พระราชบัญญัติ

เทศบาล (ฉบับที่ ๓)

พ.ศ. ๒๔๙๙

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐

ในปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเทศบาล

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๘  การจัดตั้งเทศบาลภายหลังวันที่พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ ใช้บังคับ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติและวิทยฐานะตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ให้เป็นสมาชิกแห่งสภาเทศบาลนั้นในฐานะเป็นผู้เริ่มการ และให้นำบทบัญญัติ ว่าด้วยสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรีมาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่สภาเทศบาลได้มีการประชุมกันครั้งแรก ให้สภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๕

ท้องถิ่นใดที่มีสภาพเป็นสุขาภิบาลอยู่แล้ว หากต่อมาได้มีการจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาล ก็ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕ โดยไม่ต้องมีการแต่งตั้งสมาชิกเป็นผู้เริ่มการตามวรรคแรก”

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๒  ภายใต้บังคับมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ การเปลี่ยนชื่อเทศบาล หรือการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

                  ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในท้องถิ่นที่ได้เปลี่ยนแปลงเขตเป็นเทศบาลตามความในวรรคก่อน หมดอำนาจหน้าที่เฉพาะในเขตที่ได้เปลี่ยนแปลงนั้น นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลใช้บังคับเป็นต้นไป”

มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕  สภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามกฎหมาย ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๙  สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑) ถึงคราวออกตามวาระ หรือยุบสภาเทศบาล

(๒) ตาย

(๓) ลาออก โดยยื่นใบลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

(๔) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล

(๕) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สอบสวนแล้วสั่งให้ออกโดยเห็นว่าไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลนั้น

                 (๖) สภาเทศบาลวินิจฉัยให้ออก โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่เทศบาล มติในข้อนี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่ง ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่สภาเทศบาลลงมติหรือ

                 (๗) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ออกโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่ง หรือเสื่อมเสียแก่เทศบาลหรือราชการ ฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือไม่มาประชุมสภาเทศบาลสามครั้งติด ๆ กันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

                  การวินิจฉัยชี้ขาดตาม (๔) ให้ศาลแขวง หรือในกรณีที่ไม่มีศาลแขวงให้ศาลจังหวัด วินิจฉัยตามวิธีพิจารณาสำหรับศาลนั้น ๆ แต่การชี้ขาดของศาลดังกล่าวย่อมไม่กระทบกระทั่งการที่สมาชิกนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ในสภาก่อนที่มีการชี้ขาด”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๕  เทศมนตรีทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อ

                 (๑) สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลชุดที่คณะเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่สิ้นสุดลงทั้งนี้ให้คณะเทศมนตรีที่ออกนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินกิจการในหน้าที่ของคณะเทศมนตรีต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

(๒) สภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณประจำปี

(๓) ความเป็นเทศมนตรีของนายกเทศมนตรีสิ้นสุดลงหรือเทศมนตรีต้องออกทั้งคณะ หรือ

(๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้เทศมนตรีทั้งคณะออกจากตำแหน่ง

                 ในกรณี (๒) (๓) และ (๔) นี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควร เท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกให้เป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราวเพื่อดำเนินกิจการของเทศบาลไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งคณะเทศมนตรีขึ้นใหม่ การแต่งตั้งคณะเทศมนตรีขึ้นใหม่จะต้องดำเนินการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะเทศมนตรีต้องออกจากตำแหน่ง”

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๖  นอกจากที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๕ แล้วความเป็นเทศมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ

(๑) สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๙

(๒) ลาออก โดยยื่นใบลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

                  (๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สอบสวนแล้วสั่งให้ออกโดยเห็นว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับเทศบาลหรือในกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาล ทั้งนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม หรือ

(๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ออกตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๗๓”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๔๗  คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีผู้ใดซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งให้ออกจากตำแหน่งไม่มีสิทธิที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีหรือเทศมนตรีอีกตลอดวาระของสภาเทศบาลนั้น”

                มาตรา ๑๐  สมาชิกสภาเทศบาลประเภทที่สองแห่งเทศบาลที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไปจนถึงคราวออกตามวาระ และถ้าตำแหน่งว่างลงเพราะเหตุอื่นก่อนถึงคราวออกตามวาระจะแต่งตั้งสมาชิกขึ้นแทนต่อไป ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้

มาตรา ๑๑  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป.  พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากสมควรที่จะยกเลิกสมาชิกสภาเทศบาลประเภทที่สอง เพื่อให้มีแต่สมาชิกสภาเทศบาลซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งแต่ประเภทเดียว กับแก้ไขเพิ่มเติมไม่ต้องให้มีการแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติ และวิทยฐานะเป็นสมาชิกสภาเทศบาลในฐานะเป็นผู้เริ่มการสำหรับท้องถิ่นที่เป็นสุขาภิบาลอยู่ก่อนแล้วจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาล เพราะท้องถิ่นที่เป็นสุขาภิบาลอยู่ก่อนแล้วนั้นได้มีการปฏิบัติหน้าที่ของท้องถิ่นต่อเนื่องกันมาโดยมีกรรมการเลือกตั้งจากราษฎรเข้าสมทบเป็นกรรมการสุขาภิบาลอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้มีสมาชิกสภาเทศบาลในฐานะเป็นผู้เริ่มการอีก นอกจากนี้การเปลี่ยนชื่อเทศบาลยังไม่มีบทบัญญัติระบุไว้ชัดแจ้งว่าจะกระทำได้โดยวิธีใดเพื่อไม่ให้มีปัญหาจึงสมควรจะได้มีบทบัญญัติไว้เสียให้ชัดว่า การเปลี่ยนชื่อเทศบาลให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา  จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ บางมาตรา

วศิน/ผู้จัดทำ

๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑

สุกัญญา/ผู้จัดทำ

๑๔ มีนาคม ๒๕๕๔

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๔/ตอนที่ ๑๑/หน้า ๓๔๕/๒๙ มกราคม ๒๕๐๐