พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522

พระราชบัญญัติ

แร่ (ฉบับที่ ๓)

พ.ศ. ๒๕๒๒

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยแร่

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๖ ทวิ  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ การทดลองการศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใด ๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้

                 ภายในเขตที่กำหนดตามวรรคหนึ่งผู้ใดจะยื่นคำขออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรให้ยื่นคำขอได้เป็นกรณีพิเศษโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อหมดความจำเป็นที่จะใช้เขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษา”

มาตรา ๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

                “มาตรา ๖ จัตวา  เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้น แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย”

มาตรา ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๙ ตรี แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

               “มาตรา ๙ ตรี  ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในเขตอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรใดเพื่อประโยชน์แก่การอันเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่นของรัฐ ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจเรียกอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรนั้นมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้

ในกรณีที่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรตามวรรคหนึ่ง ผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ มิได้”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๒  ในเขตอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ เขตอาชญาบัตรพิเศษหรือเขตเหมืองแร่ หรือในเขตที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย หรือในเขตที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้กำหนดเขตเพื่อการดังกล่าวแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร หรือผู้รับใบอนุญาตเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพพื้นที่หรือทรัพยากรในเขตนั้น เว้นแต่ผู้นั้นมีสิทธิทำเช่นนั้นได้โดยชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา ๗  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

                “มาตรา ๑๕ ทวิ  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรืออายัดบรรดาแร่ที่มีไว้เนื่องในการกระทำความผิด และเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้ใช้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีได้จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิดหรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่

               ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ตามวรรคหนึ่ง ถ้าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือศาลไม่พิพากษาให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมทรัพยากรธรณี

              ถ้าทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินค่าของทรัพย์สิน รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายจะจัดการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นก่อนถึงกำหนดตามวรรคสองก็ได้ ได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใดให้ยึดไว้แทนทรัพย์สินนั้น

การขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด”

มาตรา ๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

               “มาตรา ๑๕ ตรี  ในกรณีทรัพย์สินที่ยึดไว้ตามมาตรา ๑๕ ทวิ วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นของผู้กระทำความผิด หรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติรัฐมนตรีคืนทรัพย์สินหรือเงิน แล้วแต่กรณี ให้แก่เจ้าของ ก่อนถึงกำหนดตามมาตรา ๑๕ ทวิ วรรคหนึ่ง ได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อทรัพย์สินนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีที่เป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นถูกยึด หรือ

(๒) เมื่อผู้กระทำความผิดหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดได้ทรัพย์สินนั้นมาจากผู้เป็นเจ้าของโดยการกระทำความผิดทางอาญา”

มาตรา ๙  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓ ทวิ) ของมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

“(๓ ทวิ) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองและเลิกรับช่วงการทำเหมือง”

มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๙  ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และความเห็นแก่รัฐมนตรีในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) การออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราวและประทานบัตร ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่เขตหวงห้ามของทางราชการ

(๒) การต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษ และประทานบัตร

(๓) การอนุญาตให้โอนประทานบัตร

(๔) การสั่งเพิกถอนอาชญาบัตร และประทานบัตร

(๕) เรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย”

มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “ผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษต้องกำหนดข้อผูกพันสำหรับการสำรวจ โดยระบุปริมาณเงินที่จะใช้จ่ายเพื่อการสำรวจสำหรับแต่ละปีตลอดอายุของอาชญาบัตรพิเศษ และผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษจะเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดด้วยก็ได้ และให้ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐดังกล่าวมีผลผูกพันผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต่อไปด้วย เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษนั้นได้รับประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองแร่ในเขตเนื้อที่ที่ตนได้รับอาชญาบัตรพิเศษนั้นด้วย”

มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๔๔  ผู้ใดประสงค์จะขอประทานบัตร ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่พร้อมด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าพบแร่หรือมีแร่ชนิดที่ประสงค์จะเปิดการทำเหมืองอยู่ในเขตคำขอนั้น และผู้ยื่นคำขอจะเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐในกรณีที่ได้รับประทานบัตรตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดด้วยก็ได้

คำขอประทานบัตรแต่ละคำขอจะขอได้เขตหนึ่งไม่เกินสามร้อยไร่ เว้นแต่คำขอประทานบัตรทำเหมืองในทะเล”

มาตรา ๑๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๔๕  ในการออกประทานบัตรทำเหมืองในทะเล รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดเขตเหมืองแร่ให้แก่ผู้ขอไม่เกินรายละห้าหมื่นไร่ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดเขตเหมืองแร่ให้ผู้ขอเกินห้าหมื่นไร่

ในการออกประทานบัตรตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เป็นพิเศษตามที่เห็นสมควรให้ผู้ถือประทานบัตรปฏิบัติก็ได้”

มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๕๕  นอกจากค่าธรรมเนียมการออกประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร ให้ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวหรือผู้ถือประทานบัตร เสียค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ในการทำเหมืองทุกปีตามจำนวนเนื้อที่ตลอดเขตเหมืองแร่ โดยต้องชำระล่วงหน้าแต่ละปี และต้องเสียเงินบำรุงพิเศษในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของค่าภาคหลวงแร่ที่ผลิตได้จากประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร ให้กรมทรัพยากรธรณีเก็บรักษาเงินบำรุงพิเศษดังกล่าวไว้เพื่อจัดสรรสำหรับใช้จ่ายในการพื้นฟูพื้นที่ที่ได้ใช้ทำเหมืองแล้ว การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และการใช้จ่ายในการบำรุงท้องถิ่นในจังหวัดที่มีการทำเหมือง

อัตราการเสียเงินบำรุงพิเศษ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการเรียกเก็บเงินบำรุงพิเศษ รวมตลอดทั้งการจัดสรรเงินบำรุงพิเศษ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา ๑๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตรับช่วงการทำเหมืองและเลิกรับช่วงการทำเหมือง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา ๑๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๐๓ ทวิ  เมื่อรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรจะประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้แร่ชนิดใดในปริมาณเท่าใดเป็นแร่ที่จะให้ผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือผู้เก็บได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ได้ แต่ต้องเป็นแร่ที่ได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ครบถ้วนตามมาตรา ๑๐๔ แล้ว”

มาตรา ๑๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๐๔  ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ผู้ครอบครองแร่อื่นที่ได้จากการแต่งแร่ หรือผู้ประกอบโลหกรรม ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ที่กำหนดไว้ในประทานบัตร รวมทั้งแร่อื่นที่เป็นผลพลอยได้จากการทำเหมือง ให้ครบถ้วนตามปริมาณแร่ก่อนที่จะขนแร่ออกจากเขตเหมืองแร่

(๒) ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ได้ซื้อแร่จากผู้รับใบอนุญาตร่อนแร่ ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ที่ซื้อในเดือนที่แล้วมาภายในวันที่ห้าของเดือนถัดจากเดือนที่ซื้อ

               (๓) ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร หรือผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ที่ซื้อแร่จากผู้รับใบอนุญาตร่อนแร่ ขนแร่ไปยังเขตแต่งแร่หรือเขตโลหกรรมของตนเองหรือเขตแต่งแร่ หรือเขตโลหกรรมของบุคคลอื่นซึ่งอธิบดีให้ความเห็นชอบแล้ว บุคคลดังกล่าวจะขอผัดการชำระค่าภาคหลวงแร่ไว้ก่อนจนกว่าจะแต่งแร่หรือประกอบโลหกรรมนั้นแล้วเสร็จก็ได้ แต่ต้องวางเงินประกันหรือจัดให้ธนาคารซึ่งอธิบดีเห็นชอบเป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าภาคหลวงแร่ไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ตามที่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่กำหนด

(๔) ในกรณีที่นำแร่มาแต่งและได้แร่อย่างอื่นด้วย ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ สำหรับแร่ที่แต่งได้พร้อมกับการขออนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองตามมาตรา ๑๐๕

                (๕) ในกรณีที่ตะกรันมีแร่ชนิดอื่นที่ยังมิได้ชำระค่าภาคหลวงแร่มาก่อนเจือปนอยู่เกินปริมาณที่อธิบดีกำหนด ผู้ประกอบโลหกรรมต้องชำระค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ที่เจือปนตามปริมาณที่คำนวณได้ให้ครบถ้วนก่อนที่จะขนตะกรันนั้นออกจากเขตโลหกรรม

                ในกรณีที่มีการซื้อขายแร่ที่ตกเป็นของแผ่นดิน หากปรากฏว่าแร่นั้นเป็นแร่ที่ยังมิได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ ผู้ซื้อต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ดังกล่าวพร้อมกับการขออนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองตามมาตรา ๑๐๕”

มาตรา ๑๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๐๕  ห้ามมิให้ผู้ใดมีแร่ไว้ในครอบครองแต่ละชนิดเกินสองกิโลกรัม เว้นแต่

(๑) เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครอง หรือเป็นแร่ที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๑๐๓ ทวิ

(๒) เป็นแร่ที่ได้มาจากการสำรวจแร่เพื่อนำไปวิเคราะห์หรือวิจัยไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตร

(๓) เป็นแร่ที่ได้มาจากการทำเหมืองในเขตเหมืองแร่ที่เก็บแร่นั้นไว้

(๔) เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตขนแร่ให้ขนมาเก็บในสถานที่เก็บแร่ตามใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่

(๕) เป็นแร่ที่อยู่ในระหว่างขนแร่ตามใบอนุญาตขนแร่ หรือเป็นแร่ที่อยู่ในสถานที่พักแร่ตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตขนแร่

(๖) เป็นแร่ในสถานที่ซื้อแร่ ซึ่งแร่นั้นได้มาตามเอกสารที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๘

(๗) เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตขนแร่ให้ขนมาแต่งแร่หรือประกอบโลหกรรมในเขตแต่งแร่หรือเขตโลหกรรมนั้น

(๘) เป็นแร่ที่ได้มาตามใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย หรือใบอนุญาตร่อนแร่หรือได้มาตาม (๓) วรรคสอง ของมาตรา ๙๒

(๙) เป็นแร่ที่มีไว้ในครอบครองเพื่อการศึกษาหรือวิจัยของสถาบันวิจัยเอกชนที่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี ส่วนราชการ องค์การของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา

(๑๐) เป็นแร่ที่อธิบดีอนุญาตเป็นหนังสือให้มีไว้ในครอบครองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย หรือ

(๑๑) เป็นแร่ในสภาพวัตถุสำเร็จรูปที่เป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ ปฏิมากร หรือผลผลิตจากกรรมวิธีของโลหกรรมหรืออุตสาหกรรม”

มาตรา ๑๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๐ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๑๐  ผู้รับใบอนุญาตขนแร่จะขนแร่จากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งตามที่กำหนดในใบอนุญาตได้แต่ละคราวตามปริมาณที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

การขนแร่เกินใบอนุญาตสำหรับแร่ชนิดใดจะกระทำได้เพียงใดและมีปริมาณเท่าใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การขนแร่เกินใบอนุญาตตามวรรคสอง ให้ถือว่าแร่นั้นเป็นแร่ที่ขนตามที่ได้รับอนุญาตให้ขนแร่ แต่ผู้รับใบอนุญาตขนแร่ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ สำหรับแร่ในปริมาณที่เกินนั้น

การขนแร่เกินใบอนุญาตที่มิได้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นนั้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต”

มาตรา ๒๐  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“มาตรา ๑๑๓ ทวิ  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่หรือสถานที่แห่งใดอันมีเขตกำหนดเป็นด่านตรวจแร่ได้”

มาตรา ๒๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๘ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๘  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๕ หรือมาตรา ๑๐๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงห้าเท่าของมูลค่าแร่ตามราคาที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในวันกระทำความผิด และรัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตร หรือใบอนุญาตนั้นเสียได้เมื่อปรากฏว่า

(๑) มีแร่จากที่อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตในเขตเหมืองแร่ เขตแต่งแร่ เขตโลหกรรม สถานที่เก็บแร่ หรือสถานที่ซื้อแร่ หรือ

(๒) ขนแร่จากเขตเหมืองแร่ เขตแต่งแร่ เขตโลหกรรม สถานที่เก็บแร่ หรือสถานที่ซื้อแร่ ออกไปนอกเขตหรือสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตขนแร่”

มาตรา ๒๒  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“มาตรา ๑๔๘ ทวิ  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๖ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๑๐๖ หรือมาตรา ๑๐๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”

มาตรา ๒๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๒ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๕๒  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับตั้งแต่ห้าเท่าถึงสิบเท่าของมูลค่าแร่ตามราคาที่กำหนด โดยกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในวันกระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ

                 เมื่อปรากฏว่าแร่ที่ส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นแร่จากประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตร สถานที่ซื้อแร่ สถานที่เก็บแร่ เขตแต่งแร่ หรือเขตโลหกรรมใด ซึ่งผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาต แล้วแต่กรณี นั้นเป็นผู้กระทำความผิด ผู้สนับสนุนหรือผู้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด รัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตนั้นเสียได้

                 บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร และอำนาจพนักงานศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าด้วยการตรวจ การยึดและการริบของ การจับกุมผู้กระทำความผิด การแสดงเท็จและการฟ้องร้อง ให้นำมาใช้บังคับแก่การนำเข้าหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งแร่ที่อยู่ในความควบคุมตามมาตรา ๑๒๙ ด้วย”

มาตรา ๒๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“มาตรา ๑๕๒ ทวิ  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๑๓๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”

มาตรา ๒๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕๒ ตรี แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

                “มาตรา ๑๕๒ ตรี  ในกรณีที่ปรากฏว่าแร่ขาดหายไปจากบัญชีแสดงการขุดแร่ได้ของผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว หรือผู้ถือประทานบัตร หรือบัญชีแสดงแร่คงเหลือของผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ผู้รับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ ผู้รับใบอนุญาตให้มีแร่ไว้ในครอบครอง ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม โดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการขาดหายของแร่นั้นมิใช่เกิดจากความผิดของตน ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร หรือผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ผู้รับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ ผู้รับใบอนุญาตให้มีแร่ไว้ในครอบครอง ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของมูลค่าแร่ที่ขาดหายไปตามราคาที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในวันกระทำความผิด และรัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตร หรือใบอนุญาตนั้นเสียได้”

มาตรา ๒๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“มาตรา ๑๕๓ ทวิ  ในกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔๘ หรือมาตรา ๑๕๒ ตรี ให้อธิบดีมีอำนาจทำการเปรียบเทียบให้ผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับได้ไม่น้อยกว่าขั้นต่ำของค่าปรับที่กฎหมายกำหนด และเมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับแล้ว ให้คดีเป็นอันระงับ”

มาตรา ๒๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๕๔  บรรดาแร่ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มา ได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๓๓ มาตรา ๑๓๓ ตรี มาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๓๘ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๗ มาตรา ๑๔๘ มาตรา ๑๔๘ ทวิ มาตรา ๑๕๒ หรือมาตรา ๑๕๒ ทวิ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด”

มาตรา ๒๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๕๕  ในกรณีความผิดตามมาตรา ๑๓๓ ตรี มาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๗ มาตรา ๑๔๘ มาตรา ๑๔๘ ทวิ มาตรา ๑๕๒ มาตรา ๑๕๒ ทวิ หรือมาตรา ๑๕๒ ตรี ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับ และเงินรางวัลแก่ผู้จับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด ในอัตราร้อยละห้าสิบจากจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งริบ แต่ในกรณีที่มิได้ริบของกลางหรือของกลางไม่อาจจำหน่ายได้ ให้หักจ่ายร้อยละห้าสิบจากเงินค่าปรับ ส่วนรายที่ไม่มีผู้นำจับให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลร้อยละสามสิบ

ในกรณีที่คดีเป็นอันระงับโดยการเปรียบเทียบปรับ ให้อธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบเป็นผู้สั่งจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลตามวรรคหนึ่ง

                ในกรณีที่ยึดของกลางที่ต้องสงสัยในการกระทำความผิดได้โดยไม่ปรากฏตัวเจ้าของ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายประกาศหาตัวเจ้าของมีกำหนด สามสิบวัน หากไม่มีเจ้าของมาแสดงตัวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ของกลางนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้อธิบดีสั่งจำหน่ายของกลางนั้นแล้วหักค่าขายจ่ายเป็นเงินสินบนและเงินรางวัลตามวรรคหนึ่ง

                การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลตามวรรคหนึ่ง ให้แบ่งจ่ายแก่ฝ่ายผู้นำจับและฝ่ายผู้จับฝ่ายละเท่า ๆ กัน ถ้าผู้นำจับหรือผู้จับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหลายคน ให้จ่ายเงินสินบนหรือเงินรางวัลแก่บุคคลในฝ่ายนั้นคนละเท่า ๆ กัน”

              มาตรา ๒๙  ให้ยกเลิกบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้บัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส.  โหตระกิตย์

รองนายกรัฐมนตรี

บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม

เลข

ลำดับ

รายการ

อัตราค่าธรรมเนียม

๑๐

๑๑

๑๒

๑๓

๑๔

๑๕

๑๖

๑๗

๑๘

๑๙

๒๐

๒๑

๒๒

๒๓

ค่าคำขอ                                                      ฉบับละ

ค่าอาชญาบัตรสำรวจแร่                                      ฉบับละ

ค่าอาชญาบัตรผูกขาด

สำรวจแร่                                                     ฉบับละ

ค่าอาชญาบัตรพิเศษหรือ

ค่าต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษ                                  ฉบับละ

ค่าประทานบัตรชั่วคราว                                     ฉบับละ

ค่าประทานบัตรหรือค่าต่อ

อายุประทานบัตร                                            แปลงละ

ค่าใบอนุญาตหรือค่าต่ออายุ

ใบอนุญาต                                                    ฉบับละ

ค่าใช้เนื้อที่

(ก) ตามอาชญาบัตรผูกขาด

สำรวจแร่หรืออาชญาบัตร

พิเศษทุก ๑ ไร่ หรือเศษ

ของ ๑ ไร่                                                     ปีละ

(ข) ตามประทานบัตรหรือ

ตามประทานบัตรชั่วคราว

ทุก ๑ ไร่ หรือเศษ

ของ ๑ ไร่                                                    ปีละ

ค่ารังวัด ตามความยาวของระยะ

ที่รังวัดทุก ๔๐ เมตร หรือเศษ

ของ ๔๐ เมตร

ค่าเขียนหรือจำลองแผนที่ ๕๐

ตารางเซนติเมตรแรก หรือต่ำกว่า

แต่ละแปลง

ทุก ๕๐ ตารางเซนติเมตรต่อไป

หรือเศษของ ๕๐ ตารางเซนติเมตร

ค่าไต่สวน                                                     เรื่องละ

ค่าหลักหมายเขตเหมืองแร่                                    หลักละ

ค่าโอนประทานบัตร                                         แปลงละ

ค่าธรรมเนียมในค่าตอบแทน

การโอนสิทธิทำเหมืองตาม

ประทานบัตร                                                  ร้อยละ

ค่าตรวจสอบ ทดลอง หรือวิเคราะห์

ทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างหนึ่ง ๆ

แร่ หรือธาตุ หรือรายการละ

ค่าคัดสำเนาหรือถ่ายเอกสาร                                  หน้าละ

ค่ารับรองสำเนาเอกสาร                                      ฉบับละ

ค่าตรวจสอบเอกสารหลักฐาน                                เรื่องละ

ค่ากรอกแบบพิมพ์คำขอเมื่อผู้

ประสงค์ยื่นคำขอต้องการ                                    ฉบับละ

ค่าใบแทนอาชญาบัตร ประทาน

บัตรชั่วคราว ประทานบัตร

หรือใบอนุญาต                                                ฉบับละ

ค่าจดทะเบียนหนังสือมอบอำนาจ                            ฉบับละ

ค่าธรรมเนียมหยุดการทำเหมือง

ทุก ๑ ไร่ หรือเศษของ ๑ ไร่                                     ปีละ

ค่าธรรมเนียมการทดน้ำหรือชักน้ำ

คำนวณตามปริมาณน้ำที่ใช้ทุก

๑ ลูกบาศก์เมตร หรือเศษของ

๑ ลูกบาศก์เมตร ต่อ ๑ นาที                                     ปีละ

๒๐ บาท

๑๐๐ บาท

๕๐๐ บาท

๑,๐๐๐ บาท

๑,๐๐๐ บาท

๑,๐๐๐ บาท

๑,๐๐๐ บาท

๖ บาท

๒๐ บาท

๒๐ บาท

๒๐ บาท

๕ บาท

แต่ไม่เกินฉบับละ ๒๐๐ บาท

๑๐๐ บาท

๑๐๐ บาท

๕๐๐ บาท

๔ บาท

๑,๐๐๐ บาท

๑๐ บาท

๕๐ บาท

๑๐๐ บาท

๕ บาท

๒๐๐ บาท

๑๐๐ บาท

๒๐ บาท

๑๐๐ บาท

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ ยังไม่เหมาะสมและไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่ และการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บยังต่ำ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขกฎหมายว่าด้วยแร่ให้รัดกุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พรพิมล/แก้ไข

๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

ฐิติพร/ปรับปรุง

๑๖ มกราคม ๒๕๕๖

พจนา/ตรวจ

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๗๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒