พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 (Update ณ วันที่ 12/05/2522)

พระราชบัญญัติ

แร่

พ.ศ. ๒๕๑๐

________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

เป็นปีที่ ๒๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยแร่

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พระพุทธศักราช ๒๔๖๑

(๒) ประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ให้ใช้พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ คุ้มครองไปถึงเพชรพลอยต่าง ๆ

(๓) พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๔

(๔) พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙

(๕) พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๗๙

(๖) พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๔๘๓

(๗) พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๓

(๘) พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๔

(๙) พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๕

(๑๐) พระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการเก็บค่าภาคหลวงแร่ พุทธศักราช ๒๔๘๖

(๑๑) พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๐๖

(๑๒) พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๐๙

บรรดาบทกฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

หมวด ๑

บททั่วไป

________

มาตรา ๔[๒]  ในพระราชบัญญัตินี้

                “แร่” หมายความว่า ทรัพยากรธรณีที่เป็นอนินทรียวัตถุมีส่วนประกอบทางเคมีกับลักษณะทางฟิสิกส์แน่นอน หรือเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย ไม่ว่าจะต้องถลุงหรือหลอมก่อนใช้หรือไม่ และหมายความรวมตลอดถึงถ่านหิน หินน้ำมัน หินอ่อน โลหะและตะกรันที่ได้จากโลหกรรมหินซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทราย ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรมทั้งนี้ไม่รวมถึงน้ำ เกลือสินเธาว์ ลูกรัง หิน ดินหรือทราย

“สำรวจแร่” หมายความว่า การเจาะหรือขุด หรือกระทำด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหลายวิธี เพื่อให้รู้ว่าในพื้นที่มีแร่อยู่หรือไม่เพียงใด

“ทำเหมือง” หมายความว่า การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี แต่ไม่รวมถึงการขุดหาแร่รายย่อยหรือการร่อนแร่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ขุดหาแร่รายย่อย” หมายความว่า การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่โดยใช้แรงคนแต่ละคนตามชนิดของแร่ ภายในท้องที่และวิธีการขุดหาแร่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ร่อนแร่” หมายความว่า การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่โดยใช้แรงคนแต่ละคนตามชนิดของแร่ ภายในท้องที่และวิธีการร่อนแร่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“แต่งแร่” หมายความว่า การกระทำอย่างใด ๆ เพื่อทำแร่ให้สะอาด หรือเพื่อให้แร่ที่ปนกันอยู่ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปแยกออกจากกัน และหมายความรวมตลอดถึงบดแร่ หรือคัดขนาดแร่

“ซื้อแร่” หมายความว่า การรับโอนแร่ด้วยประการใดจากบุคคลอื่นนอกจากการตกทอดทางมรดก

“ขายแร่” หมายความว่า การโอนแร่ด้วยประการใดไปยังบุคคลอื่น

                “โลหกรรม” หมายความว่า การถลุงแร่หรือการทำแร่ให้เป็นโลหะด้วยวิธีอื่นใด และหมายความรวมตลอดถึงการทำโลหะให้บริสุทธิ์ การผสมโลหะ การผลิตโลหะสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปชนิดต่าง ๆ โดยวิธีหลอม หล่อ รีด หรือวิธีอื่นใด

“เขตเหมืองแร่” หมายความว่า เขตพื้นที่ซึ่งกำหนดในประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร

“เขตแต่งแร่” หมายความว่า เขตพื้นที่ซึ่งระบุในใบอนุญาตแต่งแร่

“เขตโลหกรรม” หมายความว่า เขตพื้นที่ซึ่งระบุในใบอนุญาตประกอบโลหกรรม

“สถานที่เก็บแร่” หมายความว่า สถานที่ซึ่งระบุในใบอนุญาตเก็บแร่

“สถานที่พักแร่” หมายความว่า สถานที่ซึ่งระบุในใบอนุญาตขนแร่ให้นำแร่ไปเก็บพักไว้ได้

“อาชญาบัตรสำรวจแร่” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อสำรวจแร่ภายในท้องที่ซึ่งระบุในหนังสือสำคัญนั้น

“อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อผูกขาดสำรวจแร่ภายในเขตที่กำหนดในหนังสือสำคัญนั้น

“อาชญาบัตรพิเศษ” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อผูกขาดสำรวจแร่เป็นกรณีพิเศษภายในเขตที่กำหนดในหนังสือสำคัญนั้น

“ประทานบัตรชั่วคราว” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อทำเหมืองก่อนได้รับประทานบัตรภายในเขตที่กำหนดในหนังสือสำคัญนั้น

“ประทานบัตร” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อทำเหมืองภายในเขตที่กำหนดในหนังสือสำคัญนั้น

                “ที่ว่าง” หมายความว่า ที่ซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน และมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมิใช่ที่ดินในเขตที่มีการคุ้มครองหรือสงวนไว้ตามกฎหมาย

“มูลดินทราย” หมายความรวมถึง เปลือกดิน ทราย กรวด หรือหินที่เกิดจากการทำเหมือง

“ตะกรัน” หมายความว่า สารประกอบหรือสารพลอยได้อื่นใดที่เกิดจากการประกอบโลหกรรม

                “ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่” หมายความว่า ทรัพยากรธรณีอำเภอหรือทรัพยากรธรณีจังหวัด แล้วแต่กรณี ถ้าในจังหวัดใดไม่มีทรัพยากรธรณีจังหวัดให้หมายความว่าอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่และเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕  การจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดหรือสำนักงานทรัพยากรธรณีอำเภอโดยจะให้มีเขตอำนาจตลอดเขตใด ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง

               ในการกำหนดเขตอำนาจของสำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัด จะกำหนดให้ตำบล หรืออำเภอใดรวมอยู่ในเขตอำนาจของสำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดหนึ่ง ก็ให้กระทำได้โดยมิต้องคำนึงว่าตำบลหรืออำเภอนั้นอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกันหรือไม่

สำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดแต่ละเขต ให้มีทรัพยากรธรณีจังหวัดคนหนึ่งเป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา

                ในกรณีที่สำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดหนึ่งมีเขตอำนาจในจังหวัดอื่นรวมอยู่ด้วย ก็ให้ถือว่าทรัพยากรธรณีจังหวัดผู้ควบคุมบังคับบัญชาท้องที่ในจังหวัดอื่นที่มีเขตอำนาจนั้น เป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดในจังหวัดอื่นนั้นด้วย

ในการกำหนดเขตอำนาจของสำนักงานทรัพยากรธรณีอำเภอ จะกำหนดให้อำเภอหนึ่งหรือหลายอำเภอหรือตำบลใดในอำเภออื่น รวมอยู่ในเขตอำนาจของสำนักงานทรัพยากรธรณีอำเภอนั้นก็ได้

                สำนักงานทรัพยากรธรณีอำเภอแต่ละเขต ให้มีทรัพยากรธรณีอำเภอคนหนึ่งเป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา และจะกำหนดให้ทรัพยากรธรณีอำเภอนั้นอยู่ในบังคับบัญชาของทรัพยากรธรณีจังหวัดใดหรืออยู่ในบังคับบัญชาของอธิบดีก็ได้

มาตรา ๖[๓]  คำขอตามพระราชบัญญัตินี้ให้ทำตามแบบพิมพ์ที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด

                คุณสมบัติของผู้ขอ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรและใบอนุญาต ตลอดจนการต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตร ใบอนุญาตแต่งแร่และใบอนุญาตประกอบโลหกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

                ผู้ยื่นคำขอต้องเสียค่าคำขอและวางค่าธรรมเนียมล่วงหน้าพร้อมกับการยื่นคำขอ และต้องออกค่าใช้จ่ายหรือวางเงินล่วงหน้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดดำเนินการและการออกหรือต่ออายุอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ด้วย ถ้าได้มีการสั่งยกคำขอหรือไม่ได้รับอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตด้วยประการใด ค่าใช้จ่ายสำหรับกิจการที่ยังไม่ได้ดำเนินการนั้น ให้คืนให้แก่ผู้ยื่นคำขอ แต่ถ้าดำเนินการไปแล้วเป็นบางส่วนให้คืนให้เฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ

                ค่าธรรมเนียมล่วงหน้าที่ผู้ยื่นคำขอวางไว้ ถ้าได้มีการสั่งยกหรือถอนคำขอนั้น ผู้ยื่นคำขอต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับกิจการที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระในอัตราหนึ่งในสี่ของเงินที่วางไว้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการสั่งยกคำขอโดยมิใช่ความผิดของผู้ยื่นคำขอหรือผู้ยื่นคำขอตาย

                มาตรา ๖ ทวิ[๔]  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ การทดลองการศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใด ๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้

ภายในเขตที่กำหนดตามวรรคหนึ่งผู้ใดจะยื่นคำขออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรให้ยื่นคำขอได้เป็นกรณีพิเศษโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อหมดความจำเป็นที่จะใช้เขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ดังกล่าวตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๖ ตรี[๕]  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่กรมทรัพยากรธรณีในการกระทำเพื่อประโยชน์แก่การสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่

               มาตรา ๖  จัตวา[๖] เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้น แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย

                มาตรา ๗[๗]  ถ้าอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย ให้ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่ทราบการสูญหายหรือการถูกทำลาย

                มาตรา ๘[๘]  ถ้าผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร หรือผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะตั้งผู้ใดไว้เพื่อติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่แทนตน ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาตต้องทำหนังสือมอบอำนาจและจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

การทำหนังสือมอบอำนาจและการจดทะเบียนให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่อธิบดีกำหนด

                มาตรา ๙[๙]  ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะติดต่อส่งหนังสือหรือคำสั่งแก่ผู้ยื่นคำขอ ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาต ถ้าไม่พบตัวบุคคลดังกล่าว หรือไม่มีผู้ใดยอมรับแทน ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งข้อความในหนังสือหรือคำสั่งนั้นแล้ว ในเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้

(๑) ส่งหนังสือหรือคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือ

(๒) ปิดหนังสือหรือคำสั่งไว้ในที่เห็นได้ง่าย ณ สำนักงาน ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลดังกล่าว โดยมีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นพยานในการนั้น

               มาตรา ๙ ทวิ[๑๐]  เมื่อปรากฏในภายหลังว่าได้ออกอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ อธิบดีหรือรัฐมนตรีผู้ออกอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาต แล้วแต่กรณี มีอำนาจเรียกอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตดังกล่าวมาแก้ไขให้ถูกต้อง หรือเพิกถอนอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราวประทานบัตรหรือใบอนุญาตนั้นเสียได้

               ในกรณีที่มีการแก้ไขหรือเพิกถอนอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามความในวรรคหนึ่ง ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาตจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากการแก้ไขหรือเพิกถอนอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตนั้นไม่ได้

               มาตรา ๙ ตรี[๑๑]  ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในเขตอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรใดเพื่อประโยชน์แก่การอันเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่นของรัฐ ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจเรียกอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรนั้นมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้

ในกรณีที่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรตามวรรคหนึ่ง ผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ มิได้

                มาตรา ๑๐[๑๒]  ในกรณีที่ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ได้กระทำโดยตัวแทนหรือลูกจ้างซึ่งได้กระทำเพราะเหตุเป็นตัวแทนหรือลูกจ้าง หรือกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาต ไม่ว่าตัวแทนหรือลูกจ้างนั้นจะได้เป็นตัวแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจและจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ ให้ถือว่าผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาต เป็นตัวการในการกระทำความผิดนั้น

                มาตรา ๑๑[๑๓]  ในการสำรวจแร่หรือทำเหมือง ถ้าได้พบโบราณวัตถุ ซากดึกดำบรรพ์ หรือแร่พิเศษอันมีคุณค่าเกี่ยวกับการศึกษาในทางธรณีวิทยา นอกจากจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บได้ซึ่งวัตถุนั้นแล้ว ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว หรือผู้ถือประทานบัตรจะต้องแจ้งการพบนั้นต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่โดยพลัน

               มาตรา ๑๒[๑๔]  ในเขตอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ เขตอาชญาบัตรพิเศษหรือเขตเหมืองแร่ หรือในเขตที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย หรือในเขตที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้กำหนดเขตเพื่อการดังกล่าวแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร หรือผู้รับใบอนุญาตเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพพื้นที่หรือทรัพยากรในเขตนั้น เว้นแต่ผู้นั้นมีสิทธิทำเช่นนั้นได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

                มาตรา ๑๓[๑๕]  การฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ นอกจากเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายอื่นแล้ว ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาต แล้วแต่กรณี

                 มาตรา ๑๔  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำหลักหมายเขตเหมืองแร่หรือหมุดหลักฐานการแผนที่ตามพระราชบัญญัตินี้ลงไว้ในที่ใด ห้ามมิให้ผู้ใดทำลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอน หรือทำให้หลุด ซึ่งหลักหมายเขตเหมืองแร่หรือหมุดหลักฐานการแผนที่นั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

                 มาตรา ๑๕  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา และในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดอาญา ให้ถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

              มาตรา ๑๕ ทวิ[๑๖]  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรืออายัดบรรดาแร่ที่มีไว้เนื่องในการกระทำความผิด และเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้ใช้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีได้จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิดหรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่

                ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ตามวรรคหนึ่ง ถ้าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือศาลไม่พิพากษาให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมทรัพยากรธรณี

                ถ้าทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินค่าของทรัพย์สิน  รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายจะจัดการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นก่อนถึงกำหนดตามวรรคสองก็ได้ ได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใดให้ยึดไว้แทนทรัพย์สินนั้น

การขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

                มาตรา ๑๕ ตรี[๑๗]  ในกรณีทรัพย์สินที่ยึดไว้ตามมาตรา ๑๕ ทวิ วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นของผู้กระทำความผิด หรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติรัฐมนตรีคืนทรัพย์สินหรือเงิน แล้วแต่กรณี ให้แก่เจ้าของ ก่อนถึงกำหนดตามมาตรา ๑๕ ทวิ วรรคหนึ่ง ได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อทรัพย์สินนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีที่เป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นถูกยึด หรือ

(๒) เมื่อผู้กระทำความผิดหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดได้ทรัพย์สินนั้นมาจากผู้เป็นเจ้าของโดยการกระทำความผิดทางอาญา

มาตรา ๑๖  พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ

มาตรา ๑๗[๑๘]  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวง

(๑) กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้

(๒) กำหนดแบบพิมพ์อาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรและใบอนุญาต

(๓) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตรการอนุรักษ์แร่ และการทำเหมือง

(๓ ทวิ)[๑๙] กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองและเลิกรับช่วงการทำเหมือง

(๔) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการซื้อแร่ การขายแร่ การเก็บแร่ การครอบครองแร่และการขนแร่

(๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการแต่งแร่ การประกอบโลหกรรม และการนำแร่เข้าหรือการส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักร

(๖) กำหนดวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอก

(๗) กำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๒

คณะกรรมการ

________

               มาตรา ๑๘[๒๐]  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมป่าไม้ หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมดังกล่าวมอบหมาย และบุคคลอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการกอง กองสัมปทาน กรมทรัพยากรธรณี เป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา ๑๙[๒๑]  ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และความเห็นแก่รัฐมนตรีในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) การออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราวและประทานบัตร ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่เขตหวงห้ามของทางราชการ

(๒) การต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษ และประทานบัตร

(๓) การอนุญาตให้โอนประทานบัตร

(๔) การสั่งเพิกถอนอาชญาบัตร และประทานบัตร

(๕) เรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา ๒๐  กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

มาตรา ๒๑[๒๒]  กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) รัฐมนตรีให้ออก

(๔) เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่คดีที่เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้

กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามวรรคสองอยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งตนแทน

มาตรา ๒๒  การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม

ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

มาตรา ๒๓  การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก

กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๒๔  ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ถ้าคณะกรรมการเห็นสมควรจะแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อให้ทำการใด ๆ ตามที่มอบหมาย หรือจะเชิญบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็น ก็ให้กระทำได้

ให้นำมาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

 

หมวด ๓

การสำรวจแร่และการผูกขาดสำรวจแร่

________

มาตรา ๒๕[๒๓]  ห้ามมิให้ผู้ใดสำรวจแร่ในที่ใด ไม่ว่าที่ซึ่งสำรวจแร่นั้นจะเป็นสิทธิของบุคคลใดหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ หรืออาชญาบัตรพิเศษ

                มาตรา ๒๖[๒๔]  นอกจากค่าธรรมเนียมการออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ ผู้ถืออาชญาบัตรนั้นต้องเสียค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ซึ่งได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษอีกต่างหาก และต้องชำระล่วงหน้า

การชำระค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ล่วงหน้าอาจได้รับผ่อนผันให้ชำระเป็นงวดโดยมีประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๗[๒๕]  อาชญาบัตรสำรวจแร่ อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ ให้ใช้ได้เฉพาะตัวผู้ถืออาชญาบัตรและให้คุ้มถึงลูกจ้างของผู้ถืออาชญาบัตรด้วย

มาตรา ๒๘[๒๖]  ผู้ใดประสงค์จะขออาชญาบัตรสำรวจแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เป็นผู้ออกอาชญาบัตรสำรวจแร่

อาชญาบัตรสำรวจแร่ให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันออก

ผู้ถืออาชญาบัตรสำรวจแร่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรสำรวจแร่

มาตรา ๒๙[๒๗]  ผู้ใดประสงค์จะขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

คำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่แต่ละคำขอจะขอได้ไม่เกินสองพันห้าร้อยไร่ เว้นแต่คำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ในทะเล

รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่

อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันออก

ผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่

                 มาตรา ๓๐[๒๘]  การออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ในทะเล รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจกำหนดเนื้อที่ให้แก่ผู้ขอแต่ละบุคคล ได้ไม่เกินห้าแสนไร่และกำหนดอายุอาชญาบัตรได้ไม่เกินสองปีนับแต่วันออก

               มาตรา ๓๑[๒๙]  ผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ต้องลงมือสำรวจแร่ภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ และต้องยื่นรายงานผลการดำเนินงาน และการสำรวจที่กระทำไปในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ตามแบบที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นกำหนดนั้น และต้องยื่นรายงานผลการดำเนินงานและการสำรวจที่ได้กระทำไปภายหลังนั้น ภายในสามสิบวันก่อนอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่สิ้นอายุ

รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจสั่งเพิกถอนอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่เสียได้ เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่

มาตรา ๓๒[๓๐]  อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ให้สิ้นสุดลงก่อนอายุที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรนั้น ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตาย

(๒) เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ซึ่งเป็นนิติบุคคลสิ้นสภาพนิติบุคคล

(๓) เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ขาดคุณสมบัติ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๖ วรรคสอง

(๔) เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ไม่รายงานผลการดำเนินงานและการสำรวจที่กระทำไปในรอบหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นกำหนดนั้น

(๕) เมื่อรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีคำสั่งเพิกถอนอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่นั้น นับแต่วันรับแจ้งคำสั่งเพิกถอน

มาตรา ๓๓[๓๑]  ผู้ใดประสงค์จะขออาชญาบัตรพิเศษ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

               ผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษต้องกำหนดข้อผูกพันสำหรับการสำรวจ โดยระบุปริมาณเงินที่จะใช้จ่ายเพื่อการสำรวจสำหรับแต่ละปีตลอดอายุของอาชญาบัตรพิเศษ และผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษจะเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดด้วยก็ได้ และให้ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐดังกล่าวมีผลผูกพันผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต่อไปด้วย เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษนั้นได้รับประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองแร่ในเขตเนื้อที่ที่ตนได้รับอาชญาบัตรพิเศษนั้นด้วย[๓๒]

คำขออาชญาบัตรพิเศษแต่ละคำขอจะขอได้ไม่เกินหนึ่งหมื่นไร่

รัฐมนตรีเป็นผู้ออกอาชญาบัตรพิเศษ

อาชญาบัตรพิเศษให้มีอายุไม่เกินสามปีนับแต่วันออก

ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อผูกพันสำหรับการสำรวจของแต่ละปีที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรพิเศษ

                มาตรา ๓๔[๓๓]  เมื่อได้รับคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ หรืออาชญาบัตรพิเศษแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้กำหนดเขตพื้นที่อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ การกำหนดเขตพื้นที่ดังกล่าว จะกระทำโดยการรังวัดหรือวิธีอื่นก็ได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่มีการกำหนดเขตโดยการรังวัด ให้ผู้ยื่นคำขอหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้นำรังวัดตามวัน เวลา และสถานที่ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดเป็นหนังสือ

อธิบดีมีอำนาจสั่งยกคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรือคำขออาชญาบัตรพิเศษเสียได้ เมื่อผู้ยื่นคำขอ

(๑) ขาดนัดในการนำรังวัดตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๒) ละเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งในการดำเนินการตามความจำเป็นเพื่อออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ หรือ

(๓) กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติบทหนึ่งบทใดในหมวด ๓ หรือหมวด ๔ หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำเช่นว่านั้น

มาตรา ๓๕[๓๔]  อาชญาบัตรพิเศษจะออกทับเขตเนื้อที่ซึ่งมีผู้ได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรอยู่แล้วมิได้

                ถ้ามีเขตเนื้อที่ซึ่งมีผู้ได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรอยู่แล้วในเขตคำขอ การออกอาชญาบัตรพิเศษจะกระทำได้โดยกันเขตเนื้อที่ซึ่งมีผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรอยู่แล้วในเขตคำขอนั้นออก

               มาตรา ๓๖[๓๕]  เมื่อสิ้นรอบปีข้อผูกพันใด ถ้าผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษยังปฏิบัติตามข้อผูกพันตามมาตรา ๓๓ สำหรับการสำรวจในรอบปีนั้นไม่ครบถ้วน ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต้องจ่ายเงินเท่ากับจำนวนที่ยังมิได้ใช้จ่ายเพื่อการสำรวจในรอบปีข้อผูกพันนั้นให้แก่กรมทรัพยากรธรณีภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นรอบปีข้อผูกพันดังกล่าว

ในการสำรวจถ้าผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษได้ใช้จ่ายในรอบปีข้อผูกพันใดเกินข้อผูกพันที่กำหนดไว้สำหรับรอบปีข้อผูกพันนั้น ให้มีสิทธิหักปริมาณเงินส่วนที่เกินออกจากข้อผูกพันสำหรับการสำรวจในรอบปีข้อผูกพันปีต่อไปได้

                มาตรา ๓๗[๓๖]  ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษซึ่งได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการสำรวจเงื่อนไขและข้อผูกพันสำหรับการสำรวจตามที่กำหนดในอาชญาบัตรพิเศษทุกประการแล้ว จะขอต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษก็ได้ โดยยื่นคำขอก่อนอาชญาบัตรพิเศษสิ้นอายุไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน รัฐมนตรีจะต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษให้อีกก็ได้เป็นเวลาไม่เกินสองปีภายใต้ข้อกำหนด ข้อผูกพันและเงื่อนไขตามที่รัฐมนตรีกำหนด

ในการขอต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษ ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษอาจขอคืนพื้นที่บางส่วนที่ไม่ประสงค์จะสำรวจก็ได้

มาตรา ๓๘[๓๗]  (ยกเลิก)

มาตรา ๓๙[๓๘]  (ยกเลิก)

                มาตรา ๔๐[๓๙]  ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต้องลงมือสำรวจแร่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับอาชญาบัตรพิเศษ และต้องรายงานผลการดำเนินงานและการสำรวจให้กรมทรัพยากรธรณีทราบทุกรอบระยะเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันได้รับอาชญาบัตรพิเศษนั้น

มาตรา ๔๑[๔๐]  รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนอาชญาบัตรพิเศษนั้นเสียได้ เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ วรรคหก หรือมาตรา ๔๐

มาตรา ๔๒[๔๑]  ถ้าผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่เหล็กไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๑ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่เหล็กนั้นเสียได้

หมวด ๔

การทำเหมือง

________

มาตรา ๔๓[๔๒]  ห้ามมิให้ผู้ใดทำเหมืองในที่ใดไม่ว่าที่ซึ่งทำเหมืองนั้นจะเป็นสิทธิของบุคคลใดหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร

               มาตรา ๔๔[๔๓]  ผู้ใดประสงค์จะขอประทานบัตร ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่พร้อมด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าพบแร่หรือมีแร่ชนิดที่ประสงค์จะเปิดการทำเหมืองอยู่ในเขตคำขอนั้น และผู้ยื่นคำขอจะเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐในกรณีที่ได้รับประทานบัตรตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดด้วยก็ได้

คำขอประทานบัตรแต่ละคำขอจะขอได้เขตหนึ่งไม่เกินสามร้อยไร่ เว้นแต่คำขอประทานบัตรทำเหมืองในทะเล

                มาตรา ๔๕[๔๔]  ในการออกประทานบัตรทำเหมืองในทะเล รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดเขตเหมืองแร่ให้แก่ผู้ขอไม่เกินรายละห้าหมื่นไร่ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดเขตเหมืองแร่ให้ผู้ขอเกินห้าหมื่นไร่

ในการออกประทานบัตรตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เป็นพิเศษตามที่เห็นสมควรให้ผู้ถือประทานบัตรปฏิบัติก็ได้

                มาตรา ๔๖[๔๕]  ในเขตเนื้อที่ซึ่งได้มีผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ ผู้อื่นจะยื่นคำขอประทานบัตรมิได้ เว้นแต่ผู้อื่นนั้นเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา ๔๗[๔๖]  เมื่อได้รับคำขอประทานบัตรแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้กำหนดเขตพื้นที่ประทานบัตร การกำหนดเขตพื้นที่ดังกล่าวจะกระทำโดยการรังวัดหรือวิธีอื่นก็ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่มีการกำหนดเขตโดยการรังวัด ให้ผู้ยื่นคำขอหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้นำรังวัดตามวัน เวลา และสถานที่ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดเป็นหนังสือ

อธิบดีมีอำนาจสั่งยกคำขอประทานบัตรเสียได้เมื่อผู้ยื่นคำขอ

(๑) ขาดนัดในการนำรังวัดตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๒) ละเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งในการดำเนินการตามความจำเป็นเพื่อออกประทานบัตร

(๓) กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติบทหนึ่งบทใดในหมวด ๓ หรือหมวด ๔ หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำเช่นว่านั้น หรือ

(๔) เมื่อปรากฏว่าแร่ชนิดที่ประสงค์จะเปิดการทำเหมืองในเขตคำขอมีไม่เพียงพอที่จะเปิดการทำเหมืองได้

                มาตรา ๔๘  เพื่อประโยชน์แก่การรังวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานของพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในที่ดินของผู้มีสิทธิในที่ดินหรือผู้ครอบครองในเวลากลางวันได้ แต่จะต้องแจ้งให้ผู้มีสิทธิในที่ดินหรือผู้ครอบครองทราบเสียก่อนและให้ผู้มีสิทธิในที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นอำนวยความสะดวกตามควรแก่กรณี

ในกรณีต้องสร้างหมุดหลักฐานการแผนที่ในที่ของผู้ใด พนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานของพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสร้างหมุดหลักฐานลงได้ตามความจำเป็น

                 ในการรังวัด เมื่อมีความจำเป็นและโดยสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานของพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะขุดดินตัดต้นไม้ หรือรานกิ่งไม้ หรือกระทำการอย่างอื่นแก่สิ่งที่กีดขวางต่อการรังวัดได้เท่าที่จำเป็น  ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการที่จะให้เจ้าของได้รับความเสียหายน้อยที่สุด

               มาตรา ๔๙[๔๗]  เมื่อได้กำหนดเขตแล้ว ให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ประกาศการขอประทานบัตรของผู้ยื่นคำขอ โดยปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ ที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ และที่ทำการกำนันแห่งท้องที่ซึ่งขอประทานบัตรแห่งละหนึ่งฉบับ เมื่อไม่มีผู้โต้แย้งภายในยี่สิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่จะได้ดำเนินการสำหรับคำขอนั้นต่อไป

มาตรา ๕๐  ถ้าที่ซึ่งขอประทานบัตรเป็นที่อันมิใช่ที่ว่าง หรือมีที่อันมิใช่ที่ว่างรวมอยู่ในเขต ผู้ยื่นคำขอต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่พอใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ผู้ขอจะมีสิทธิทำเหมืองในเขตที่นั้นได้

ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอนำหนังสืออนุญาตของผู้มีสิทธิในที่นั้นมาแสดงว่า ผู้ขอจะมีสิทธิทำเหมืองได้ หนังสือนั้นต้องมีคำรับรองของนายอำเภอประจำท้องที่ประกอบด้วย

มาตรา ๕๑[๔๘]  เมื่อได้กำหนดเขตแล้ว ถ้าผู้ยื่นคำขอประทานบัตรประสงค์จะลงมือทำเหมืองก่อนได้รับประทานบัตร ให้ยื่นคำขอรับประทานบัตรชั่วคราวต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกประทานบัตรชั่วคราว

ประทานบัตรชั่วคราวให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันออก ในกรณีที่มีคำสั่งยกคำขอประทานบัตรตามมาตรา ๔๗ วรรคสาม ให้ประทานบัตรชั่วคราวสิ้นอายุนับแต่วันสั่งยกคำขอนั้น

ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้เช่นเดียวกับผู้ถือประทานบัตร

                การโอนประทานบัตรชั่วคราวจะกระทำมิได้ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถก็ให้ทายาทหรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี เป็นผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวต่อไป และให้นำมาตรา ๘๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อมีการออกประทานบัตร ก็ให้ออกประทานบัตรให้แก่ทายาท หรือให้แก่ผู้อนุบาลถือไว้แทนผู้ยื่นคำขอ

               มาตรา ๕๒  หลักหมายเขตเหมืองแร่ หรือหมุดหลักฐานการแผนที่ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำไว้ในการรังวัดกำหนดเขตการทำเหมืองนั้น ถ้ามีการสูญหาย ผู้ถือประทานบัตรมีหน้าที่ต้องรับผิดสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นในการที่จะต้องมีการรังวัดทำหลักหมายเขตเหมืองแร่หรือหมุดหลักฐานการแผนที่ใหม่

มาตรา ๕๓[๔๙]  รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราวได้ในกรณีที่มีเหตุที่จะเพิกถอนประทานบัตรตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้น

เมื่อรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายได้สั่งเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราวรายใดแล้ว ให้คำขอประทานบัตรรายนั้นเป็นอันตกไป

มาตรา ๕๔  รัฐมนตรีเป็นผู้ออกประทานบัตร

ประทานบัตรให้มีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีนับแต่วันออก และในกรณีที่ผู้ขอประทานบัตรได้รับประทานบัตรชั่วคราวอยู่ก่อนแล้ว ให้นับอายุประทานบัตรเริ่มต้นแต่วันออกประทานบัตรชั่วคราวฉบับแรก[๕๐]

ในกรณีที่อายุของประทานบัตรชั่วคราวรายใดที่ได้ออกให้แล้วรวมกันมากกว่ากำหนดอายุของประทานบัตรที่จะออกให้ ก็ให้งดการออกประทานบัตรรายนั้น[๕๑]

                ประทานบัตรใดได้กำหนดอายุไว้ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี เมื่อผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอต่ออายุก่อนครบกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ รัฐมนตรีจะต่ออายุประทานบัตรให้อีกก็ได้ แต่เมื่อรวมกำหนดเวลาทั้งหมดต้องไม่เกินยี่สิบห้าปี

                เมื่อผู้ถือประทานบัตรได้ยื่นคำขอต่ออายุตามความในวรรคสี่แล้ว แม้ประทานบัตรจะสิ้นอายุแล้ว ก็ให้ผู้นั้นทำเหมืองต่อไปได้เสมือนเป็นผู้ถือประทานบัตร  ทั้งนี้ ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประทานบัตรสิ้นอายุ แต่ถ้าทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ได้มีหนังสือแจ้งการปฏิเสธของรัฐมนตรีไม่ต่ออายุประทานบัตรให้ในระหว่างเวลานั้น ก็ให้ถือว่าสิทธิในการทำเหมืองของผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันรับแจ้งนั้น

                มาตรา ๕๕[๕๒]  นอกจากค่าธรรมเนียมการออกประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร ให้ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวหรือผู้ถือประทานบัตร เสียค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ในการทำเหมืองทุกปีตามจำนวนเนื้อที่ตลอดเขตเหมืองแร่ โดยต้องชำระล่วงหน้าแต่ละปี และต้องเสียเงินบำรุงพิเศษในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของค่าภาคหลวงแร่ที่ผลิตได้จากประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร ให้กรมทรัพยากรธรณีเก็บรักษาเงินบำรุงพิเศษดังกล่าวไว้เพื่อจัดสรรสำหรับใช้จ่ายในการพื้นฟูพื้นที่ที่ได้ใช้ทำเหมืองแล้ว การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และการใช้จ่ายในการบำรุงท้องถิ่นในจังหวัดที่มีการทำเหมือง

อัตราการเสียเงินบำรุงพิเศษ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการเรียกเก็บเงินบำรุงพิเศษ รวมตลอดทั้งการจัดสรรเงินบำรุงพิเศษ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๕๖  สิทธิตามประทานบัตรไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

               มาตรา ๕๗  ผู้ถือประทานบัตรจะต้องทำเหมืองตามวิธีการทำเหมือง แผนผัง โครงการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการออกประทานบัตร และถ้าจะมีการเพิ่มเติมชนิดของแร่ที่จะทำเหมืองหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมือง แผนผัง โครงการและเงื่อนไขดังกล่าว ผู้ถือประทานบัตรจะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีก่อนจึงจะทำได้

                มาตรา ๕๘[๕๓]  การเตรียมการเพื่อการทำเหมือง เช่น การปลูกสร้างอาคาร ขุดทางน้ำ ทำทำนบหรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในเขตเหมืองแร่เพื่อประโยชน์แก่การทำเหมืองรวมถึงการก่อสร้างหรือติดตั้งเครื่องทุ่นแรง ให้ถือว่าเป็นการทำเหมือง

                มาตรา ๕๙  การปลูกสร้างอาคารเกี่ยวกับการทำเหมือง การจัดตั้งสถานที่เพื่อการแต่งแร่หรือการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายจะกระทำนอกเขตเหมืองแร่มิได้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่  และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น

ผู้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ในการนั้นเสมือนหนึ่งการใช้เนื้อที่ในการทำเหมือง

มาตรา ๖๐  ผู้ถือประทานบัตรต้องทำเหมืองโดยมีคนงานในการทำเหมือง และเวลาทำการดังนี้

               (๑) ต้องมีคนงานทำการทุก ๆ ระยะเวลาสิบสองเดือน เมื่อเฉลี่ยเป็นรายเดือนแล้ว ไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งคนต่อเนื้อที่สองไร่ เศษของสองไร่ให้นับเป็นสองไร่ แต่สำหรับกรณีที่การทำเหมืองใช้เครื่องกลทุ่นแรง ให้คำนวณกำลังของเครื่องกลทุ่นแรงนั้นแทนคนงานที่ต้องมีตามเนื้อที่นั้นได้โดยอัตราหนึ่งแรงม้าต่อแปดคน

(๒) ต้องมีเวลาทำการรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันในทุก ๆ ระยะเวลาสิบสองเดือน

ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรคนเดียวมีประทานบัตรหลายฉบับ สำหรับประทานบัตรที่มีเขตติดต่อกัน ให้ถือเป็นเหมืองเดียวกันในการมีคนงานทำการและเวลาทำการดังเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้น

                ผู้ถือประทานบัตรหลายคนที่มีเขตเหมืองแร่ติดต่อกันอาจร่วมโครงการทำเหมืองเป็นเหมืองเดียวกันได้ โดยยื่นคำขอและรับใบอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ ในการนี้ให้ใช้เกณฑ์มีคนงานทำการและเวลาทำการเสมือนเป็นเหมืองเดียวกันดังกล่าวข้างต้น

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ถือประทานบัตรในระยะเวลาหนึ่งปีแรกนับแต่วันได้รับประทานบัตร หากได้รับการยกเว้นตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง[๕๔]

               มาตรา ๖๑[๕๕]  ถ้าผู้ถือประทานบัตรไม่สามารถทำเหมืองตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๐ เนื่องจากมีเหตุขัดข้องอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ก็ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตหยุดการทำเหมืองตลอดทั้งเขตหรือบางส่วนของเขตเหมืองแร่ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่จะออกใบอนุญาตหยุดการทำเหมืองให้ผู้ถือประทานบัตรได้คราวละไม่เกินหนึ่งปี

               มาตรา ๖๒  ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองใกล้ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะภายในระยะห้าสิบเมตร เว้นแต่ประทานบัตรกำหนดไว้ให้ทำได้ หรือได้รับใบอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น

               มาตรา ๖๓  ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรปิดกั้น ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดให้เป็นการเสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น

                มาตรา ๖๔  ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรทดน้ำหรือชักน้ำจากทางน้ำสาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ภายในหรือภายนอกเขตเหมืองแร่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น

คำขอรับใบอนุญาตทดน้ำหรือชักน้ำจากทางน้ำสาธารณะ ให้แสดงแผนที่และวิธีการที่จะทดน้ำหรือชักน้ำโดยละเอียด

                มาตรา ๖๕  ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่มีอำนาจออกใบอนุญาตให้ผู้ถือประทานบัตรในเขตเหมืองแร่รายหนึ่งทำทางไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางถ่ายน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายผ่านเขตเหมืองแร่ของผู้ถือประทานบัตรรายอื่นได้ แต่ถ้าได้ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นเพราะการนั้น ผู้ถือประทานบัตรซึ่งได้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน

                มาตรา ๖๖  ในกรณีจำเป็นรัฐมนตรีมีอำนาจออกใบอนุญาตให้ผู้ถือประทานบัตรในเขตเหมืองแร่รายหนึ่งปล่อยน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายเพื่อเก็บขังในเขตเหมืองแร่ของผู้ถือประทานบัตรรายอื่นได้ เมื่อเขตที่จะเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนั้นเป็นที่ซึ่งขุดเอาแร่แล้ว หรือเป็นที่ซึ่งไม่มีแร่พอทำเหมือง แต่ถ้าได้ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นเพราะการนั้น ผู้ถือประทานบัตรซึ่งได้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน

ผู้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่แทนผู้ถือประทานบัตรรายที่ถูกใช้เนื้อที่สำหรับเนื้อที่ที่ใช้เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนั้น

มาตรา ๖๗  ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรปล่อยน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย อันเกิดจากการทำเหมืองออกนอกเขตเหมืองแร่ เว้นแต่น้ำนั้นจะมีความขุ่นข้นหรือมูลดินทรายไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีจำเป็น รัฐมนตรีมีอำนาจออกใบอนุญาตยกเว้นการบังคับตามวรรคหนึ่งได้ โดยกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นสมควร

              มาตรา ๖๘  น้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายที่ผู้ถือประทานบัตรปล่อยออกนอกเขตเหมืองแร่ แม้ได้ปฏิบัติตามมาตรา ๖๗ แล้วก็ดี ผู้ถือประทานบัตรจะต้องจัดการป้องกันมิให้น้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนั้นไปทำให้ทางน้ำสาธารณะตื้นเขินหรือเสื่อมประโยชน์แก่การใช้ทางน้ำนั้น

               ในกรณีจำเป็นรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดทางน้ำสาธารณะ เพื่อให้ผู้ถือประทานบัตรรายหนึ่งหรือหลายรายใช้เป็นที่สำหรับปล่อยถ่ายน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย โดยกำหนดให้ผู้ถือประทานบัตรเสียค่าตอบแทนเพื่อคุ้มค่าบำรุงรักษาและชดใช้ความเสียหาย และกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๖๙  ในการทำเหมืองหรือแต่งแร่ ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรกระทำหรือละเว้นกระทำการใดอันน่าจะเป็นเหตุให้แร่ที่มีพิษหรือสิ่งอื่นที่มีพิษก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน

                มาตรา ๗๐  พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเขตเหมืองแร่เพื่อตรวจการทำเหมืองได้ทุกเวลา ให้ผู้ครอบครองเขตเหมืองแร่นั้นอำนวยความสะดวกตามควรแก่กรณี และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้ถือประทานบัตรให้จัดการป้องกันอันตรายอันอาจเกิดจากการทำเหมืองหรือแต่งแร่ได้

                มาตรา ๗๑  ในกรณีที่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เห็นว่าการทำเหมืองหรือแต่งแร่จะเป็นอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน ให้มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้ถือประทานบัตรให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขวิธีการทำเหมืองหรือแต่งแร่ตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายนั้นได้ และมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้หยุดการทำเหมืองหรือแต่งแร่เสียทั้งสิ้น หรือส่วนหนึ่งส่วนใดได้ตามที่เห็นสมควร

                มาตรา ๗๒  บรรดาขุม หลุม หรือปล่อง ที่ไม่ได้ใช้ในการทำเหมืองแล้ว ให้ผู้ถือประทานบัตรจัดการถมหรือทำที่ดินให้เป็นตามเดิมเสียทุกแห่ง ไม่ว่าประทานบัตรนั้นจะสิ้นอายุแล้วหรือไม่ เว้นแต่ประทานบัตรได้กำหนดเป็นอย่างอื่น หรือทรัพยากรธรณีประจำท้องที่จะได้สั่งเป็นหนังสือกำหนดเป็นอย่างอื่นด้วยความเห็นชอบของอธิบดี

ในกรณีที่มิได้มีการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ถือประทานบัตรนั้นจัดการถมหรือทำที่ดินให้เป็นตามเดิม ผู้ถือประทานบัตรต้องปฏิบัติให้เสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว

มาตรา ๗๓  ผู้ถือประทานบัตรมีสิทธิในเขตเหมืองแร่ เฉพาะแต่

(๑) ทำเหมืองและขายแร่ที่ระบุในประทานบัตร ส่วนแร่อื่นซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำเหมืองนั้น ผู้ถือประทานบัตรจะขายได้ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี

(๒) ปลูกสร้างอาคารหรือกระทำการอื่นเกี่ยวกับการทำเหมือง รวมทั้งการแต่งแร่หรือการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย

(๓) ใช้ที่ดินในเขตเหมืองแร่ ที่ขุดเอาแร่แล้วหรือที่มีแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดการทำเหมือง เพื่อเกษตรกรรมในระหว่างอายุประทานบัตร แต่ทั้งนี้เมื่อสิ้นอายุประทานบัตรแล้วมิให้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง

(๔) นำคดีขึ้นสู่ศาลในกรณีที่มีผู้โต้แย้งหรือขัดขวางสิทธิในการทำเหมือง

มาตรา ๗๔  ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรนำหรือยอมให้ผู้อื่นนำมูลแร่ตลอดจนมูลดินทราย ออกจากเขตเหมืองแร่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น

มาตรา ๗๕[๕๖]  ประทานบัตรให้ใช้ได้เฉพาะตัวผู้ถือประทานบัตรและให้คุ้มถึงลูกจ้างของผู้ถือประทานบัตรด้วย

มาตรา ๗๖  ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองไม่ว่าเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของเขตเหมืองแร่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตรับช่วงการทำเหมืองและเลิกรับช่วงการทำเหมือง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง[๕๗]

                มาตรา ๗๗  เมื่อผู้ถือประทานบัตรประสงค์จะให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ระบุบุคคลผู้จะรับช่วงการทำเหมืองในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ภายในอายุของประทานบัตรและส่วนของเขตเหมืองแร่ที่จะให้รับช่วงการทำเหมือง

               รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้มีการรับช่วงการทำเหมืองได้ตามที่จะพิจารณาเห็นสมควร และในการนี้จะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในใบอนุญาตนั้นก็ได้ ผู้ถือประทานบัตรที่ได้ให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองดังกล่าวในวรรคหนึ่ง คงมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมาย และให้ผู้รับช่วงการทำเหมืองนั้นมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายเสมือนเป็นผู้ถือประทานบัตรด้วย

               มาตรา ๗๘  ผู้ถือประทานบัตรผู้ใดประสงค์จะโอนประทานบัตรให้แก่ผู้อื่น ให้ผู้ถือประทานบัตรและผู้จะรับโอนยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เพื่อเสนอตามลำดับไปยังรัฐมนตรี เมื่อรัฐมนตรีได้สั่งอนุญาตให้โอนได้ และเมื่อผู้ถือประทานบัตรได้ชำระหนี้สินตามพระราชบัญญัตินี้ที่ค้างชำระแก่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่แล้ว จึงจะทำการโอนประทานบัตรนั้นได้

มาตรา ๗๙  ในการโอนประทานบัตร ให้ผู้ถือประทานบัตรและผู้จะรับโอนหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ นำประทานบัตรและเอกสารเกี่ยวกับการทำเหมืองมาจดทะเบียนการโอนต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

มาตรา ๘๐  ในการโอนประทานบัตร นอกจากจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอโอนและค่าธรรมเนียมการโอนแล้ว ผู้โอนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในค่าตอบแทนการโอนสิทธิทำเหมืองที่ตนพึงได้รับอีกด้วย

ค่าธรรมเนียมในค่าตอบแทนการโอนสิทธิทำเหมือง ให้เรียกเก็บเฉพาะแต่ในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิทำเหมืองตามประทานบัตร โดยไม่รวมถึงค่าตอบแทนการโอนทรัพย์สินอื่น

                ในกรณีที่ผู้โอนแจ้งว่าไม่มีค่าตอบแทนการโอนสิทธิทำเหมือง หรือในกรณีที่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เห็นว่าค่าตอบแทนการโอนสิทธิทำเหมืองที่แจ้งต่ำกว่าที่ควร ให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ประเมินค่าสิทธิทำเหมืองที่จะโอนตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดและให้นำจำนวนเงินค่าสิทธิทำเหมืองตามที่ประเมินนั้นมาคำนวณเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในค่าตอบแทนการโอนสิทธิทำเหมืองตามที่ประเมินนั้น

การโอนประทานบัตรอันเป็นการให้โดยเสน่หาแก่บิดามารดา สามี ภริยา หรือผู้สืบสันดานของผู้โอนเอง ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในค่าตอบแทนการโอนสิทธิทำเหมือง

               มาตรา ๘๑  ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรตาย ให้ทายาทยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เพื่อรับโอนประทานบัตรโดยการตกทอดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันผู้ถือประทานบัตรตาย มิฉะนั้นให้ถือว่าประทานบัตรนั้นสิ้นอายุเมื่อครบเก้าสิบวันนั้น

การโอนประทานบัตรโดยการตกทอด ผู้รับโอนไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในค่าตอบแทนการโอนสิทธิทำเหมือง

                ในกรณีที่ทายาทของผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอรับโอนประทานบัตรโดยการตกทอดภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำเหมืองต่อไปได้เสมือนเป็นผู้ถือประทานบัตร แต่ถ้ารัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าทายาทนั้นไม่สมควรจะเป็นผู้รับโอนประทานบัตร รัฐมนตรีจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้รับโอนก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าประทานบัตรนั้นสิ้นอายุนับแต่วันรับแจ้งคำสั่งนั้นจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ให้นำความในสามวรรคก่อนมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาลโดยอนุโลม

มาตรา ๘๒  ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย ประทานบัตรนั้นเป็นอันสิ้นอายุ

มาตรา ๘๓  ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรเป็นนิติบุคคลและสภาพนิติบุคคลสิ้นสุดลง ประทานบัตรนั้นเป็นอันสิ้นอายุ

                มาตรา ๘๔  ผู้ถือประทานบัตรอาจเวนคืนประทานบัตรได้โดยยื่นคำขอและมอบประทานบัตรต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ ในกรณีเช่นนี้ให้ประทานบัตรนั้นสิ้นอายุเมื่อครบกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ได้รับคำขอเวนคืนประทานบัตรนั้น เว้นแต่ผู้ถือประทานบัตรกับทรัพยากรธรณีประจำท้องที่จะตกลงกันให้สิ้นอายุในระยะเวลาน้อยกว่านั้น

มาตรา ๘๕  ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ไม่อาจติดต่อถึงได้ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรนั้นเสียได้

มาตรา ๘๖  ผู้ถือประทานบัตรใดไม่ชำระหนี้อันพึงต้องชำระตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือให้ชำระแล้ว และไม่ชำระภายในเก้าสิบวันนับแต่วันรับคำบอกกล่าว รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรนั้นเสียได้

มาตรา ๘๗  ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรใด ประทานบัตรนั้นเป็นอันสิ้นอายุนับแต่วันรับแจ้งคำสั่งนั้นจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

มาตรา ๘๘  เมื่อประทานบัตรใดสิ้นอายุ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเว้นแต่ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอต่ออายุและยังมิได้มีการปฏิเสธของรัฐมนตรีตามมาตรา ๕๔

หมวด ๕

การขุดหาแร่รายย่อยและการร่อนแร่

________

มาตรา ๘๙  ห้ามมิให้ผู้ใดขุดหาแร่รายย่อยหรือร่อนแร่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย หรือใบอนุญาตร่อนแร่

มาตรา ๙๐  ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อยหรือใบอนุญาตร่อนแร่ ให้ยื่นคำขอต่อนายอำเภอท้องที่ แล้วให้นายอำเภอท้องที่ส่งเรื่องไปให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายพิจารณาออกใบอนุญาต

ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อยหรือใบอนุญาตร่อนแร่ และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในใบอนุญาตก็ได้

ใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย หรือใบอนุญาตร่อนแร่ ให้มีอายุเพียงวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปีที่ออก

มาตรา ๙๑  หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อยหรือใบอนุญาตร่อนแร่ การพักใช้ใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง

หมวด ๖

การซื้อแร่ การขายแร่และการเก็บแร่

________

มาตรา ๙๒[๕๘]  ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อแร่เพื่อประกอบธุรกิจ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตซื้อแร่จากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่

(๑) การซื้อแร่จากผู้รับใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย

(๒) การซื้อโลหะที่ได้จากโลหกรรม

(๓) การซื้อแร่ตามชนิดและสภาพของแร่ที่แต่งจนสามารถนำไปผสมกับวัตถุอื่น หรือนำไปประกอบกิจการสำเร็จรูปได้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๙๓  ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตซื้อแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ที่ผู้ขอจะตั้งสถานที่ซื้อแร่

ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตซื้อแร่ ในการนี้ให้กำหนดสถานที่ซื้อแร่ และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในใบอนุญาตซื้อแร่ก็ได้

ใบอนุญาตซื้อแร่ให้มีอายุเพียงวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปีที่ออก

มาตรา ๙๔  ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ซื้อแร่ในที่อื่นนอกสถานที่ที่ระบุในใบอนุญาตซื้อแร่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตซื้อแร่นอกสถานที่จากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

ถ้าผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่นอกสถานที่ผู้ใดประสงค์จะให้ผู้อื่นรับซื้อแร่นอกสถานที่ให้แก่ตน จะต้องระบุชื่อผู้รับซื้อแร่นั้นเพื่อขอรับใบอนุญาตซื้อแร่นอกสถานที่ด้วย

การขอและการออกใบอนุญาตซื้อแร่นอกสถานที่ ให้นำมาตรา ๙๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ใบอนุญาตซื้อแร่นอกสถานที่ให้สิ้นอายุพร้อมกับใบอนุญาตซื้อแร่

               มาตรา ๙๕  ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ต้องแสดงใบอนุญาตนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานที่ที่ระบุในใบอนุญาตซื้อแร่ และในกรณีที่ได้รับใบอนุญาตซื้อแร่นอกสถานที่ต้องแสดงรายชื่อผู้ที่ระบุให้รับซื้อแร่นอกสถานที่ให้แก่ตนถ้ามี ไว้ในที่ที่แสดงใบอนุญาตซื้อแร่ด้วย

ผู้ซื้อแร่นอกสถานที่ที่ระบุในใบอนุญาตซื้อแร่ต้องมีใบอนุญาตซื้อแร่นอกสถานที่ติดตัวไปด้วยในขณะที่ซื้อแร่

มาตรา ๙๖  ใบอนุญาตซื้อแร่จะโอนกันมิได้

                มาตรา ๙๗  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ตาย ถ้าทายาทหรือผู้จัดการมรดกประสงค์จะซื้อแร่ต่อไปตามใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอซื้อแร่ตามใบอนุญาตของผู้ตายภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันผู้รับใบอนุญาตตาย พร้อมกับแสดงสิทธิในการรับมรดกหรือจัดการมรดกนั้น ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอซื้อแร่ต่อไปตามใบอนุญาตนั้นได้

               ในกรณีที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกได้ยื่นคำขอซื้อแร่ตามใบอนุญาตของผู้ตายภายในกำหนดดังกล่าวในวรรคหนึ่งก็ให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกนั้นซื้อแร่ต่อไปได้จนกว่าทรัพยากรธรณีประจำท้องที่สั่งไม่อนุญาต ถ้าไม่มีทายาทหรือผู้จัดการมรดกยื่นคำขอซื้อแร่ตามใบอนุญาตของผู้ตายภายในกำหนดดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ใบอนุญาตซื้อแร่นั้นเป็นอันสิ้นอายุ นับแต่วันครบกำหนดสามสิบวันจากวันที่ผู้รับใบอนุญาตตาย

ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ให้นำความในสองวรรคก่อนมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาลโดยอนุโลม

ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย ใบอนุญาตซื้อแร่นั้นเป็นอันสิ้นอายุ

ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่เป็นนิติบุคคลและสภาพนิติบุคคลสิ้นสุดลงใบอนุญาตซื้อแร่นั้นเป็นอันสิ้นอายุ

มาตรา ๙๘  ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ หรือผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่นอกสถานที่ซื้อแร่ เว้นแต่ผู้ขายแร่จะได้

               (๑)[๕๙] มอบเอกสารตามแบบพิมพ์ของกรมทรัพยากรธรณีให้เพื่อแสดงว่าแร่ที่ขายนั้นเป็นแร่ที่ได้มาโดยประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรเลขที่เท่าใด และมีลายมือชื่อของผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวหรือของผู้ถือประทานบัตรนั้น หรือของตัวแทนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ในเอกสารนั้น

(๒) มอบเอกสารตามแบบพิมพ์ของกรมทรัพยากรธรณีให้เพื่อแสดงว่า แร่ที่ขายนั้นเป็นแร่ของผู้ขายแร่ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ที่ได้มาโดยใบอนุญาตเลขที่เท่าใด และมีลายมือชื่อของผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ หรือของตัวแทนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ในเอกสารนั้น

(๓) มอบเอกสารแสดงว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากอธิบดีในกรณีพิเศษเฉพาะครั้งที่ขายนั้น หรือ

(๔) แสดงใบอนุญาตร่อนแร่ และแสดงได้ว่าแร่ที่ขายนั้นเป็นแร่ที่ได้มาโดยไม่เกินปริมาณตามใบอนุญาตนั้น

เอกสารที่ผู้ขายแร่มอบให้ตาม (๑) (๒) หรือ (๓) นั้น ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ต้องเก็บไว้เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ตลอดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันซื้อแร่

เอกสารที่ผู้ขายแร่แสดงตาม (๔) ให้ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่บันทึกการซื้อแร่นั้นลงไว้ในรายการขายแร่ในใบอนุญาตร่อนแร่แล้วคืนใบอนุญาตนั้นให้ผู้รับใบอนุญาตร่อนแร่ไปทันที

มาตรา ๙๙  ห้ามมิให้ผู้ใดขายแร่ เว้นแต่ผู้นั้นเป็น

                (๑)[๖๐] ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว หรือผู้ถือประทานบัตรหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าวซึ่งได้จดทะเบียนไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ ขายแร่ที่ได้มาจากการทำเหมืองตามประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรนั้น

(๒) ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ หรือตัวแทนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

(๓) ผู้รับใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย หรือเป็นเจ้าของแร่ซึ่งแร่นั้นได้มาจากผู้รับใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย

(๔) ผู้รับใบอนุญาตร่อนแร่

(๕) ผู้รับอนุญาตจากอธิบดีในกรณีพิเศษเฉพาะครั้งที่ขายนั้น หรือ

(๖) ผู้ขายโลหะที่ได้จากโลหกรรม

               มาตรา ๑๐๐  ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิขายแร่ตามมาตรา ๙๙ ขายแร่แก่บุคคลใดนอกจากผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่หรือผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่นอกสถานที่ เว้นแต่เป็นแร่ที่ได้มาจากการขุดแร่รายย่อยหรือเป็นโลหะที่ได้จากโลหกรรมหรือเป็นแร่ที่ส่งขายนอกราชอาณาจักรโดยตรง

มาตรา ๑๐๑  ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บแร่ในทางธุรกิจ ณ ที่ใด ๆ เว้นแต่จะเก็บในสถานที่ซึ่งผู้เก็บได้รับอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่จากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ หรือเป็นแร่ที่มีไว้ในครอบครองได้ตามมาตรา ๑๐๕

มาตรา ๑๐๒  ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในใบอนุญาตก็ได้

ใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ให้มีอายุเพียงวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปีที่ออก

                มาตรา ๑๐๓  อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้ตามความในหมวดนี้เมื่อปรากฏว่าได้มีการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต หรือมีเหตุอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน

คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้แจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาต และให้ถือว่าใบอนุญาตนั้นเป็นอันสิ้นอายุนับแต่วันรับแจ้งคำสั่งนั้น

ผู้รับใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนต่อรัฐมนตรี โดยยื่นต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับแจ้งคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

ผู้ใดถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว จะขอรับใบอนุญาตอีกไม่ได้ จนกว่าจะพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถูกเพิกถอนใบอนุญาต

                มาตรา ๑๐๓ ทวิ[๖๑]  เมื่อรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรจะประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้แร่ชนิดใดในปริมาณเท่าใดเป็นแร่ที่จะให้ผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือผู้เก็บได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ได้ แต่ต้องเป็นแร่ที่ได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ครบถ้วนตามมาตรา ๑๐๔ แล้ว

หมวด ๗

การชำระค่าภาคหลวงแร่ การมีแร่ไว้ในครอบครอง และการขนแร่

________

               มาตรา ๑๐๔[๖๒]  ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ผู้ครอบครองแร่อื่นที่ได้จากการแต่งแร่ หรือผู้ประกอบโลหกรรม ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ที่กำหนดไว้ในประทานบัตร รวมทั้งแร่อื่นที่เป็นผลพลอยได้จากการทำเหมือง ให้ครบถ้วนตามปริมาณแร่ก่อนที่จะขนแร่ออกจากเขตเหมืองแร่

(๒) ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ได้ซื้อแร่จากผู้รับใบอนุญาตร่อนแร่ ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ที่ซื้อในเดือนที่แล้วมาภายในวันที่ห้าของเดือนถัดจากเดือนที่ซื้อ

               (๓) ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร หรือผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ที่ซื้อแร่จากผู้รับใบอนุญาตร่อนแร่ ขนแร่ไปยังเขตแต่งแร่หรือเขตโลหกรรมของตนเองหรือเขตแต่งแร่ หรือเขตโลหกรรมของบุคคลอื่นซึ่งอธิบดีให้ความเห็นชอบแล้ว บุคคลดังกล่าวจะขอผัดการชำระค่าภาคหลวงแร่ไว้ก่อนจนกว่าจะแต่งแร่หรือประกอบโลหกรรมนั้นแล้วเสร็จก็ได้ แต่ต้องวางเงินประกันหรือจัดให้ธนาคารซึ่งอธิบดีเห็นชอบเป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าภาคหลวงแร่ไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ตามที่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่กำหนด

(๔) ในกรณีที่นำแร่มาแต่งและได้แร่อย่างอื่นด้วย ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ที่แต่งได้พร้อมกับการขออนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองตามมาตรา ๑๐๕

                (๕) ในกรณีที่ตะกรันมีแร่ชนิดอื่นที่ยังมิได้ชำระค่าภาคหลวงแร่มาก่อนเจือปนอยู่เกินปริมาณที่อธิบดีกำหนด ผู้ประกอบโลหกรรมต้องชำระค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ที่เจือปนตามปริมาณที่คำนวณได้ให้ครบถ้วนก่อนที่จะขนตะกรันนั้นออกจากเขตโลหกรรม

                ในกรณีที่มีการซื้อขายแร่ที่ตกเป็นของแผ่นดิน  หากปรากฏว่าแร่นั้นเป็นแร่ที่ยังมิได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ ผู้ซื้อต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ดังกล่าวพร้อมกับการขออนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองตามมาตรา ๑๐๕

มาตรา ๑๐๕[๖๓]  ห้ามมิให้ผู้ใดมีแร่ไว้ในครอบครองแต่ละชนิดเกินสองกิโลกรัมเว้นแต่

(๑) เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครอง หรือเป็นแร่ที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๑๐๓ ทวิ

(๒) เป็นแร่ที่ได้มาจากการสำรวจแร่เพื่อนำไปวิเคราะห์หรือวิจัยไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตร

(๓) เป็นแร่ที่ได้มาจากการทำเหมืองในเขตเหมืองแร่ที่เก็บแร่นั้นไว้

(๔) เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตขนแร่ให้ขนมาเก็บในสถานที่เก็บแร่ตามใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่

(๕) เป็นแร่ที่อยู่ในระหว่างขนแร่ตามใบอนุญาตขนแร่ หรือเป็นแร่ที่อยู่ในสถานที่พักแร่ตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตขนแร่

(๖) เป็นแร่ในสถานที่ซื้อแร่ ซึ่งแร่นั้นได้มาตามเอกสารที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๘

(๗) เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตขนแร่ให้ขนมาแต่งแร่หรือประกอบโลหกรรมในเขตแต่งแร่หรือเขตโลหกรรมนั้น

(๘) เป็นแร่ที่ได้มาตามใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย หรือใบอนุญาตร่อนแร่หรือได้มาตาม (๓) วรรคสอง ของมาตรา ๙๒

(๙) เป็นแร่ที่มีไว้ในครอบครองเพื่อการศึกษาหรือวิจัยของสถาบันวิจัยเอกชนที่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี ส่วนราชการ องค์การของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา

(๑๐) เป็นแร่ที่อธิบดีอนุญาตเป็นหนังสือให้มีไว้ในครอบครองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย หรือ

(๑๑) เป็นแร่ในสภาพวัตถุสำเร็จรูปที่เป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ ปฏิมากร หรือผลผลิตจากกรรมวิธีของโลหกรรมหรืออุตสาหกรรม

มาตรา ๑๐๖  ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครอง ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครอง ในการนี้ให้กำหนดสถานที่ที่จะมีแร่นั้นไว้ในครอบครอง และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในใบอนุญาตนั้นก็ได้

                ผู้รับใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองจะมีแร่ไว้ในครอบครองได้แต่เฉพาะในสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองนั้นเท่านั้น ในกรณีนี้ผู้รับใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองไม่ต้องรับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ แต่ต้องได้รับใบอนุญาตขนแร่เมื่อจะขนแร่ออกจากสถานที่นั้น

ใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองให้มีอายุเพียงวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปีที่ออก

มาตรา ๑๐๗  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองตาย ให้ถือว่าผู้มีแร่นั้นไว้ในครอบครองเป็นผู้รับใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองตามใบอนุญาตนั้นต่อไปจนกว่าใบอนุญาตสิ้นอายุ

มาตรา ๑๐๘[๖๔]  ห้ามมิให้ผู้ใดขนแร่ในที่ใด เว้นแต่

(๑) เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตขนแร่ หรือเป็นแร่ที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๑๐๓ ทวิ

(๒) เป็นแร่ที่ได้รับมาจากการสำรวจแร่เพื่อนำไปวิเคราะห์หรือวิจัยไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตร

(๓) เป็นการขนแร่ในเขตเหมืองแร่ เขตแต่งแร่ เขตโลหกรรม ภายในสถานที่ซื้อแร่ตามใบอนุญาตซื้อแร่ สถานที่เก็บแร่หรือสถานที่พักแร่

(๔) ในกรณีขนแร่ของผู้รับใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย หรือผู้รับใบอนุญาตร่อนแร่ หรือผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่นอกสถานที่

(๕) เป็นแร่ของเจ้าของแร่ ซึ่งแร่นั้นได้มาตาม (๑) หรือ (๓) วรรคสอง ของมาตรา ๙๒

(๖) เป็นแร่ที่ขนแต่ละชนิดไม่เกินสองกิโลกรัม

(๗) เป็นแร่เพื่อการศึกษาหรือวิจัยของสถานวิจัยของเอกชนที่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี ส่วนราชการ องค์การของรัฐหรือสถาบันการศึกษา

(๘) เป็นแร่ในสภาพวัตถุสำเร็จรูปที่เป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ ปฏิมากรหรือผลผลิตจากกรรมวิธีของอุตสาหกรรม

(๙) เป็นแร่ที่อธิบดีอนุญาตเป็นหนังสือให้ขนเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย หรือ

(๑๐) เป็นโลหะที่ได้จากโลหกรรม นอกจากเป็นการขนออกจากเขตโลหกรรม

มาตรา ๑๐๙  ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตขนแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่และต้องแสดงหลักฐานว่า แร่ที่ขอรับใบอนุญาตขนแร่นั้นได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ หรือได้วางเงินประกันการชำระค่าภาคหลวงแร่ครบถ้วนแล้ว

ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตขนแร่และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในใบอนุญาตนั้นก็ได้

มาตรา ๑๑๐[๖๕]  ผู้รับใบอนุญาตขนแร่จะขนแร่จากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งตามที่กำหนดในใบอนุญาตได้แต่ละคราวตามปริมาณที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

การขนแร่เกินใบอนุญาตสำหรับแร่ชนิดใดจะกระทำได้เพียงใดและมีปริมาณเท่าใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การขนแร่เกินใบอนุญาตตามวรรคสอง ให้ถือว่าแร่นั้นเป็นแร่ที่ขนตามที่ได้รับอนุญาตให้ขนแร่ แต่ผู้รับใบอนุญาตขนแร่ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ สำหรับแร่ในปริมาณที่เกินนั้น

การขนแร่เกินใบอนุญาตที่มิได้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นนั้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

               มาตรา ๑๑๑  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑๒ ผู้รับใบอนุญาตขนแร่จะขนแร่ได้แต่เฉพาะตามชนิดและสภาพที่ระบุในใบอนุญาต ถ้ามีแร่ชนิดอื่นเจือปนกับแร่ที่ขนอันมิใช่เป็นแร่ที่มีเจือปนอยู่ตามธรรมชาติ ให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นนั้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

               มาตรา ๑๑๒  ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตขนแร่ขนแร่ที่มีแร่ชนิดอื่นเจือปนอยู่ตามธรรมชาติถ้าแร่ที่เจือปนนั้นเป็นแร่ที่ได้กำหนดชนิดและปริมาณการเจือปนไว้ในกฎกระทรวง เว้นแต่ในใบอนุญาตจะได้ระบุชนิดของแร่ที่เจือปนนั้นไว้ และผู้รับใบอนุญาตขนแร่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย

ในกรณีขนแร่ที่มีแร่ชนิดอื่นเจือปนอยู่โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นนั้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

                มาตรา ๑๑๓  ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรคนเดียวมีประทานบัตรหลายฉบับที่มีเขตติดต่อกัน หรือในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรหลายคนโดยเขตเหมืองแร่เหล่านั้นติดต่อกัน และได้รับอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ให้ร่วมโครงการทำเหมืองเดียวกันแล้ว เพื่อประโยชน์ตามความในหมวดนี้ ให้ถือว่าเขตเหมืองแร่เหล่านั้นเป็นเขตเดียวกัน

มาตรา ๑๑๓ ทวิ[๖๖]  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่หรือสถานที่แห่งใดอันมีเขตกำหนดเป็นด่านตรวจแร่ได้

หมวด ๘

การแต่งแร่

________

มาตรา ๑๑๔[๖๗]  ห้ามมิให้ผู้ใดแต่งแร่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ หรือเป็นผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว หรือผู้ถือประทานบัตรซึ่งแต่งแร่ภายในเขตเหมืองแร่

ให้นำมาตรา ๑๑๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๑๕[๖๘]  ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตแต่งแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตแต่งแร่และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ในใบอนุญาตก็ได้

ใบอนุญาตแต่งแร่ให้มีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาตแต่ไม่เกินสามปีนับแต่วันออก และจะต่ออายุก็ได้ครั้งละไม่เกินสามปีนับแต่วันต่อ

ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตแต่งแร่นั้น

มาตรา ๑๑๖  ในการแต่งแร่ ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่กระทำหรือละเว้นกระทำการใด อันน่าจะเป็นเหตุให้แร่ที่มีพิษหรือสิ่งอื่นที่มีพิษก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืชหรือทรัพย์สิน

               มาตรา ๑๑๗  พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเขตแต่งแร่เพื่อตรวจการแต่งแร่ได้ทุกเวลา ให้ผู้ครอบครองเขตแต่งแร่นั้นอำนวยความสะดวกตามควรแก่กรณี และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ให้จัดการป้องกันอันตรายอันอาจเกิดจากการแต่งแร่ได้

               มาตรา ๑๑๘  ในกรณีที่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เห็นว่าการแต่งแร่จะเป็นอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืชหรือทรัพย์สิน ให้มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขวิธีการแต่งแร่ตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายนั้นได้ และมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือหรือให้หยุดการแต่งแร่เสียทั้งสิ้นหรือส่วนหนึ่งส่วนใดได้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๑๑๙  อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตแต่งแร่ เมื่อปรากฏว่าได้มีการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต หรือมีเหตุอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน

คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้แจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาต และให้ถือว่าใบอนุญาตนั้นเป็นอันสิ้นอายุนับแต่วันรับแจ้งคำสั่งนั้น

ผู้รับใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนต่อรัฐมนตรี โดยยื่นต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับแจ้งคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

ผู้ใดถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว จะขอรับใบอนุญาตอีกไม่ได้ จนกว่าจะพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถูกเพิกถอนใบอนุญาต

หมวด ๙

การประกอบโลหกรรม

________

มาตรา ๑๒๐  การประกอบโลหกรรมแร่ชนิดใดปริมาณการผลิตขนาดใดและโดยกรรมวิธีใด จะให้อยู่ในความควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง

มาตรา ๑๒๑  ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบโลหกรรมที่อยู่ในความควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ประกอบโลหกรรมที่กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวง

มาตรา ๑๒๒  ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

อธิบดีเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบโลหกรรม และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในใบอนุญาตก็ได้

ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้มีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาต แต่ไม่เกินยี่สิบห้าปีนับแต่วันออก และจะต่ออายุก็ได้แต่ต้องกำหนดเวลาไม่เกินยี่สิบห้าปีนับแต่วันต่อ

มาตรา ๑๒๓  ในการประกอบโลหกรรม ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรมกระทำหรือละเว้นกระทำการใดอันน่าจะเป็นเหตุให้แร่ที่มีพิษหรือสิ่งอื่นที่มีพิษก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืชหรือทรัพย์สิน

             มาตรา ๑๒๔  พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเขตโลหกรรมเพื่อตรวจการประกอบโลหกรรมได้ทุกเวลา ให้ผู้ครอบครองเขตโลหกรรมนั้นอำนวยความสะดวกตามควรแก่กรณี และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้จัดการป้องกันอันตราย อันอาจเกิดจากการประกอบโลหกรรมได้

              มาตรา ๑๒๕  ในกรณีที่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เห็นว่าการประกอบโลหกรรมจะเป็นอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืชหรือทรัพย์สิน ให้มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขวิธีการประกอบโลหกรรมตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายนั้นได้ และมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้หยุดการประกอบโลหกรรมเสียทั้งสิ้นหรือส่วนหนึ่งส่วนใดได้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๑๒๖  อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเมื่อปรากฏว่าได้มีการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือเงื่อนไขในใบอนุญาตหรือมีเหตุอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน

คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้แจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาต และให้ถือว่าใบอนุญาตนั้นเป็นอันสิ้นอายุนับแต่วันรับแจ้งคำสั่งนั้น

ผู้รับใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนต่อรัฐมนตรี โดยยื่นต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับแจ้งคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

               ในกรณีที่ได้มีการอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต่อรัฐมนตรี ผู้อุทธรณ์อาจร้องขออนุญาตต่อรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการประกอบโลหกรรมตามใบอนุญาตนั้นไปพลางก่อนในระหว่างรอคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีได้ คำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการประกอบโลหกรรมไปพลางก่อนนั้น รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

หมวด ๑๐

การคืนค่าภาคหลวงแร่

________

               มาตรา ๑๒๗  แร่ที่ได้ชำระค่าภาคหลวงแร่แล้ว เมื่อผู้ใช้แร่นั้นพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจรัฐมนตรีได้ว่า แร่นั้นได้นำไปใช้ภายในประเทศเพื่ออุตสาหกรรมอันมิใช่โลหกรรม หรือแร่นั้นได้นำไปใช้ภายในประเทศเพื่อพลังงาน รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คืนค่าภาคหลวงแร่ให้แก่ผู้ใช้นั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้ใดประสงค์จะรับคืนค่าภาคหลวงแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ที่ใช้แร่นั้น

หมวด ๑๑

การนำแร่เข้าหรือการส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักร

________

มาตรา ๑๒๘  การนำเข้าหรือการส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งแร่ชนิดใดในสภาพอย่างใด ปริมาณเท่าใด จะให้อยู่ในความควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง

มาตรา ๑๒๙  ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งแร่ที่อยู่ในความควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตนำแร่เข้าในราชอาณาจักร หรือใบอนุญาตส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักร

มาตรา ๑๓๐  ผู้ใดประสงค์จะนำเข้าหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งแร่ที่อยู่ในความควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตนำแร่เข้าในราชอาณาจักรหรือใบอนุญาตส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักร และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในใบอนุญาตก็ได้

เงื่อนไขตามวรรคสองจะกำหนดให้รวมถึงวิธีการซื้อขายและการใช้แร่ที่จะนำเข้าหรือจะส่งออกนอกราชอาณาจักรด้วยก็ได้

                 มาตรา ๑๓๑  เมื่อมีเหตุอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนำแร่เข้าในราชอาณาจักรหรือใบอนุญาตส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักรเมื่อใดก็ได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๑๒

บทกำหนดโทษ

________

มาตรา ๑๓๒  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา ๑๓๓  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๓ ทวิ[๖๙]  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๑๗ (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา ๑๓๓ ตรี[๗๐]  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๔[๗๑]  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่งหรือมาตรา ๔๐ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๒๘ วรรคสี่ หรือมาตรา ๓๓ วรรคหก ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา ๑๓๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๓๖  ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๔๘ มาตรา ๗๐ มาตรา ๑๑๗ หรือมาตรา ๑๒๔ ถ้าการกระทำนั้นไม่ถึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา ๑๓๗  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗๑ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรนั้นเสียได้

              มาตรา ๑๓๘[๗๒]  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๔ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๕๙ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ หรือมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรนั้นเสียได้

มาตรา ๑๓๘ ทวิ[๗๓]  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรนั้นเสียได้

มาตรา ๑๓๙  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗๒วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายในการทำที่ดินนั้นให้เป็นตามเดิม

มาตรา ๑๔๐  ผู้ถือประทานบัตรผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรนั้นเสียได้

มาตรา ๑๔๑  ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับช่วงการทำเหมือง ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๗๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา ๑๔๒  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๙ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๙๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา ๑๔๓  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๙ หรือมาตรา ๑๐๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๔๔  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๙๓ หรือมาตรา ๑๐๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา ๑๔๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา ๑๔๖  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา ๑๔๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๘ หรือมาตรา ๑๐๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

               มาตรา ๑๔๘[๗๔]  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๕ หรือมาตรา ๑๐๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงห้าเท่าของมูลค่าแร่ตามราคาที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในวันกระทำความผิด และรัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตร หรือใบอนุญาตนั้นเสียได้เมื่อปรากฏว่า

(๑) มีแร่จากที่อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตในเขตเหมืองแร่ เขตแต่งแร่ เขตโลหกรรม สถานที่เก็บแร่ หรือสถานที่ซื้อแร่หรือ

(๒) ขนแร่จากเขตเหมืองแร่ เขตแต่งแร่ เขตโลหกรรม สถานที่เก็บแร่ หรือสถานที่ซื้อแร่ ออกไปนอกเขตหรือสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตขนแร่

มาตรา ๑๔๘ ทวิ[๗๕]  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๖ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๑๐๖ หรือมาตรา ๑๐๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

มาตรา ๑๔๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๔ หรือมาตรา ๑๒๑ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๑๑๕ หรือมาตรา ๑๒๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา ๑๕๐  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๖ หรือมาตรา ๑๒๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา ๑๕๑  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๑๘ หรือมาตรา ๑๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา ๑๕๒[๗๖]  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับตั้งแต่ห้าเท่าถึงสิบเท่าของมูลค่าแร่ตามราคาที่กำหนด โดยกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในวันกระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ

                เมื่อปรากฏว่าแร่ที่ส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นแร่จากประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตร สถานที่ซื้อแร่ สถานที่เก็บแร่ เขตแต่งแร่ หรือเขตโลหกรรมใด ซึ่งผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาต แล้วแต่กรณี นั้นเป็นผู้กระทำความผิด ผู้สนับสนุนหรือผู้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด รัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตนั้นเสียได้

                บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร และอำนาจพนักงานศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าด้วยการตรวจ การยึดและการริบของ การจับกุมผู้กระทำความผิด การแสดงเท็จและการฟ้องร้อง ให้นำมาใช้บังคับแก่การนำเข้าหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งแร่ที่อยู่ในความควบคุมตามมาตรา ๑๒๙ ด้วย

มาตรา ๑๕๒ ทวิ[๗๗]  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๑๓๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

               มาตรา ๑๕๒ ตรี[๗๘]  ในกรณีที่ปรากฏว่าแร่ขาดหายไปจากบัญชีแสดงการขุดแร่ได้ของผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว หรือผู้ถือประทานบัตร หรือบัญชีแสดงแร่คงเหลือของผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ผู้รับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ ผู้รับใบอนุญาตให้มีแร่ไว้ในครอบครอง ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม โดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการขาดหายของแร่นั้นมิใช่เกิดจากความผิดของตน ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร หรือผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ผู้รับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ ผู้รับใบอนุญาตให้มีแร่ไว้ในครอบครอง ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของมูลค่าแร่ที่ขาดหายไปตามราคาที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในวันกระทำความผิด และรัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตร หรือใบอนุญาตนั้นเสียได้

มาตรา ๑๕๓[๗๙]  การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบได้

มาตรา ๑๕๓ ทวิ[๘๐]  ในกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔๘ หรือมาตรา ๑๕๒ ตรี ให้อธิบดีมีอำนาจทำการเปรียบเทียบให้ผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับได้ไม่น้อยกว่าขั้นต่ำของค่าปรับที่กฎหมายกำหนด และเมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับแล้ว ให้คดีเป็นอันระงับ

                มาตรา ๑๕๔[๘๑]  บรรดาแร่ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มา ได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๓๓ มาตรา ๑๓๓ ตรี มาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๓๘ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๗ มาตรา ๑๔๘ มาตรา ๑๔๘ ทวิ มาตรา ๑๕๒ หรือมาตรา ๑๕๒ ทวิ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด

                มาตรา ๑๕๕[๘๒]  ในกรณีความผิดตามมาตรา ๑๓๓ ตรี มาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๗ มาตรา ๑๔๘ มาตรา ๑๔๘ ทวิ มาตรา ๑๕๒ มาตรา ๑๕๒ ทวิ หรือมาตรา ๑๕๒ ตรี ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับ และเงินรางวัลแก่ผู้จับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด ในอัตราร้อยละห้าสิบจากจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งริบ แต่ในกรณีที่มิได้ริบของกลางหรือของกลางไม่อาจจำหน่ายได้ ให้หักจ่ายร้อยละห้าสิบจากเงินค่าปรับ ส่วนรายที่ไม่มีผู้นำจับให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลร้อยละสามสิบ

ในกรณีที่คดีเป็นอันระงับโดยการเปรียบเทียบปรับ ให้อธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบเป็นผู้สั่งจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลตามวรรคหนึ่ง

                ในกรณีที่ยึดของกลางที่ต้องสงสัยในการกระทำความผิดได้โดยไม่ปรากฏตัวเจ้าของ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายประกาศหาตัวเจ้าของมีกำหนด สามสิบวัน หากไม่มีเจ้าของมาแสดงตัวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ของกลางนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้อธิบดีสั่งจำหน่ายของกลางนั้นแล้วหักค่าขายจ่ายเป็นเงินสินบนและเงินรางวัลตามวรรคหนึ่ง

การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลตามวรรคหนึ่ง ให้แบ่งจ่ายแก่ฝ่ายผู้นำจับและฝ่ายผู้จับฝ่ายละเท่า ๆ กัน ถ้าผู้นำจับหรือผู้จับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหลายคน ให้จ่ายเงินสินบนหรือเงินรางวัลแก่บุคคลในฝ่ายนั้นคนละเท่า ๆ กัน

หมวด ๑๓

บทเฉพาะกาล

________

มาตรา ๑๕๖  บทบัญญัติในมาตรา ๘๙ เฉพาะกรณีขุดหาแร่รายย่อย มาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๕ และมาตรา ๑๑๔ มิให้ใช้บังคับจนกว่าจะพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๑๕๗  ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ได้ออกตามกฎหมายว่าด้วยการทำเหมืองแร่และใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๕๘  ในระหว่างที่ยังมิได้ตรากฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมออกใช้บังคับให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเกี่ยวกับปิโตรเลียมไปพลางก่อนโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๙  ผู้ใดประสงค์จะขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจปิโตรเลียม ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี พร้อมกับแผนที่แสดงเขตที่จะขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจปิโตรเลียม

มาตรา ๑๖๐  ผู้ใดประสงค์จะขอประทานบัตรทำเหมืองปิโตรเลียม ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี พร้อมกับแผนที่แสดงเขตที่จะขอประทานบัตร

              มาตรา ๑๖๑  รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่ อายุ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและการเรียกผลประโยชน์ตอบแทนที่จะให้แก่รัฐในการออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจปิโตรเลียม และการออกประทานบัตรทำเหมืองปิโตรเลียมแตกต่างไปจากบทแห่งพระราชบัญญัตินี้เป็นพิเศษได้

มาตรา ๑๖๒  ผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจปิโตรเลียม ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามมาตรา ๒๖

ผู้รับใบอนุญาตทำเหมืองปิโตรเลียมชั่วคราวหรือผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองปิโตรเลียม ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามมาตรา ๕๕

               มาตรา ๑๖๓  บรรดาประทานบัตร อาชญาบัตร หรือใบอนุญาต ที่ได้ออกให้ตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกตามมาตรา ๓ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นประทานบัตร อาชญาบัตร หรือใบอนุญาตออกตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะสิ้นอายุ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ถนอม  กิตติขจร

นายกรัฐมนตรี

[เอกสารแนบท้าย]

บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม[๘๓] [ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยขณะนี้มีกฎหมายแร่อยู่หลายฉบับ สมควรนำมารวมไว้ในที่เดียวกันและปรับปรุงเสียใหม่ โดยให้รัฐมีอำนาจควบคุมการตรวจ การผลิต การรักษาแหล่งแร่ การจำหน่ายแร่ และการโลหกรรม และในเวลาเดียวกันก็อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการทำเหมือง ตลอดถึงการให้ความคุ้มครองแก่กรรมกรและสวัสดิภาพของประชาชนให้เหมาะสมแก่กาลสมัย

 

พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖[๘๔]

 

มาตรา ๔๒  บรรดาคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีอำนาจออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ให้แก่ผู้ยื่นคำขอตามจำนวนเนื้อที่ที่ระบุไว้ในคำขอนั้นได้

                มาตรา ๔๓  บรรดาอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ที่มิใช่แร่เหล็กหรือใบอนุญาตทำเหมืองชั่วคราวที่ได้ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรือประทานบัตรชั่วคราวที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะสิ้นอายุ แม้ว่าเนื้อที่ตามอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ที่มิใช่แร่เหล็กนั้นจะเกินกว่าเนื้อที่สำหรับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่บนบกหรือในทะเลดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ก็ตาม

                ให้อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่เหล็กที่ได้ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุโดยให้นำมาตรา ๓๓ วรรคหก และมาตรา ๔๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ถือว่าเป็นอาชญาบัตรพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้

               ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ได้ออกตามกฎหมายว่าด้วยแร่และใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นเหตุให้ไม่อาจเร่งรัดและส่งเสริมการสำรวจแร่และการผลิตทรัพยากรธรณีอันมีค่าให้ได้ผลและอำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ และประกอบกับทั้งค่าธรรมเนียมบางรายการยังไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยแร่ให้รัดกุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

 

พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒[๘๕]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ ยังไม่เหมาะสมและไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่ และการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บยังต่ำ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขกฎหมายว่าด้วยแร่ให้รัดกุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พรพิมล/แก้ไข

๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๔/ตอนที่ ๑๒๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๐

[๒] มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๓] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๔] มาตรา ๖ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๕] มาตรา ๖ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๖] มาตรา ๖ จัตวา เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๗] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๘] มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๙] มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๑๐] มาตรา ๙ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๑๑] มาตรา ๙ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๑๒] มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๑๓] มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๑๔] มาตรา ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๑๕] มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๑๖] มาตรา ๑๕ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๑๗] มาตรา ๑๕ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๑๘] มาตรา ๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๑๙] มาตรา ๑๗ (๓ ทวิ) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๒๐] มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๒๑] มาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๒๒] มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๒๓] มาตรา ๒๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๒๔] มาตรา ๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๒๕] มาตรา ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๒๖] มาตรา ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๒๗] มาตรา ๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๒๘] มาตรา ๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๒๙] มาตรา ๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๓๐] มาตรา ๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๓๑] มาตรา ๓๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๓๒] มาตรา ๓๓ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๓๓] มาตรา ๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๓๔] มาตรา ๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๓๕] มาตรา ๓๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๓๖] มาตรา ๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๓๗] มาตรา ๓๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๓๘] มาตรา ๓๙ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๓๙] มาตรา ๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๔๐] มาตรา ๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๔๑] มาตรา ๔๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๔๒] มาตรา ๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๔๓] มาตรา ๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๔๔] มาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๔๕] มาตรา ๔๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๔๖] มาตรา ๔๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๔๗] มาตรา ๔๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๔๘] มาตรา ๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๔๙] มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๕๐] มาตรา ๕๔ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๕๑] มาตรา ๕๔ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๕๒] มาตรา ๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๕๓] มาตรา ๕๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๕๔] มาตรา ๖๐ วรรคสี่ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๕๕] มาตรา ๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๕๖] มาตรา ๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๕๗] มาตรา ๗๖ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๕๘] มาตรา ๙๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๕๙] มาตรา ๙๘ วรรคหนึ่ง (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๖๐] มาตรา ๙๙ วรรคหนึ่ง (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๖๑] มาตรา ๑๐๓ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๖๒] มาตรา ๑๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๖๓] มาตรา ๑๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๖๔] มาตรา ๑๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๖๕] มาตรา ๑๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๖๖] มาตรา ๑๑๓ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๖๗] มาตรา ๑๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๖๘] มาตรา ๑๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๖๙] มาตรา ๑๓๓ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๗๐] มาตรา ๑๓๓ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๗๑] มาตรา ๑๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๗๒] มาตรา ๑๓๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๗๓] มาตรา ๑๓๘ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๗๔] มาตรา ๑๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๗๕] มาตรา ๑๔๘ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๗๖] มาตรา ๑๕๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๗๗] มาตรา ๑๕๒ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๗๘] มาตรา ๑๕๒ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๗๙] มาตรา ๑๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

[๘๐] มาตรา ๑๕๓ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๘๑] มาตรา ๑๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๘๒] มาตรา ๑๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๘๓] บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

[๘๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๐/ตอนที่ ๙๕/หน้า ๒๖๕/๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๖

[๘๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๗๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒