ระเบียบกรมทรัพยากรน้ำบาดาลว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาตและการแก้ไขใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล พ.ศ. 2550

ระเบียบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต

การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต

และการแก้ไขใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล

พ.ศ. ๒๕๕๐[๑]

                  

                 โดยที่พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล การออกใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล การต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล การโอนใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล การออกใบแทนใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล และการแก้ไขใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ซึ่งในทางปฏิบัติพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ประจำเขตน้ำบาดาล จะได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีให้เป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ประจำเขตน้ำบาดาล และการบริการประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง และสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๐ ทวิ วรรคสอง มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม และคำแนะนำของคณะกรรมการน้ำบาดาล ตามมาตรา ๑๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล  จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

                ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการแก้ไขใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๕๐”

ข้อ ๒  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นไป

ข้อ ๓  ให้ยกเลิกระเบียบกรมทรัพยากรธรณี ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโอนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๔๐

ข้อ ๔  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือแนวทางปฏิบัติอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ ๕  ในระเบียบนี้

                  “คำขอ” หมายความว่า คำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล คำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล คำขอโอนใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล คำขอรับใบแทนใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล และคำขอแก้ไขใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล

“กิจการน้ำบาดาล” หมายความว่า การเจาะน้ำบาดาล การใช้น้ำบาดาล หรือการระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล

“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล หรือใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล

“ผู้ออกใบอนุญาต” หมายความว่า อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการน้ำบาดาล

“พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งอธิบดีแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“กฎกระทรวง” หมายความว่า กฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาลพ.ศ. ๒๕๒๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

                  “น้ำผิวดิน” หมายความว่า น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่หรือแหล่งน้ำที่รัฐจัดสร้างขึ้น เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ทั้งนี้ ต้องมีปริมาณน้ำต่อเนื่องตลอดปี หรือน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค หรือการประปานครหลวงที่ไม่ได้ใช้น้ำบาดาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำประปา

“คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการกลั่นกรองคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล

ข้อ ๖  ให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

หมวด ๑

ว่าด้วยการดำเนินการคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล

                  

                 ข้อ ๗  ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่กำหนด ต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ในเขตน้ำบาดาลนั้น

ข้อ ๘  เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่พิจารณาตรวจสอบคำขอ ดังนี้

(๑) การกรอกข้อความในคำขอถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่

(๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล และมีเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน

(๓) สำเนาเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในคำขอ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาต หรือผู้รับมอบอำนาจ ลงนามรับรองสำเนาให้ถูกต้องครบถ้วน

                  (๔) ผู้ขอรับใบอนุญาต จะต้องไม่มีหนี้ค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลค้างชำระก่อนยื่นคำขอรับใบอนุญาต หากปรากฏว่า ผู้รับใบอนุญาตยังไม่ได้ชำระค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลที่ค้างชำระดังกล่าว ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการเรียกชำระให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๕) เมื่อตรวจสอบคำขอและคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตแล้ว หากถูกต้องครบถ้วน ให้ผู้ยื่นคำขอลงวันที่ เดือน ปี ที่ยื่นลงในคำขอ

(๖) เมื่อดำเนินการตาม (๑) ถึง (๕) แล้ว ให้รับคำขอ โดยปฏิบัติ ดังนี้

ก. ลงรับคำขอในทะเบียนรับหนังสือทั่วไป

ข. ให้ผู้ยื่นคำขอชำระค่าธรรมเนียมคำขอตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง และออกใบเสร็จรับเงิน

                   เมื่อดำเนินการครบถ้วนแล้ว ให้เสนอคำขอนั้น ต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ เพื่อรับจดทะเบียนคำขอไว้ดำเนินการ โดยการดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่รับคำขอ จนถึงการจดทะเบียนรับคำขอ ต้องให้แล้วเสร็จภายใน ๑ วันทำการ

                    ข้อ ๙  กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ชำระค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลที่ค้างชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ ถือเป็นเงื่อนไขการไม่ออกใบอนุญาตได้

                    ข้อ ๑๐  การออกใบอนุญาต ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่จัดทำใบอนุญาตจำนวน ๓ ฉบับ คือ ฉบับผู้ถือใบอนุญาต ฉบับพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ และฉบับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วลงลายมือชื่อผู้ออกใบอนุญาต พร้อมประทับตราชื่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไว้เป็นสำคัญ

                    เมื่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการตามวรรคแรกแล้วเสร็จ ให้แจ้งผู้ขอรับใบอนุญาตทราบเป็นหนังสือโดยไม่ชักช้า เพื่อให้มารับใบอนุญาต และชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง และแจ้งหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำบาดาล ตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ให้ทราบด้วย

                     สำหรับใบอนุญาตฉบับพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ให้เก็บไว้ที่ที่ทำการเขตน้ำบาดาลส่วนฉบับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้ส่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อจัดเก็บไว้เป็นหลักฐาน และจัดทำรายงานสรุปและรายงานรายละเอียดส่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลทุกเดือน ตามแบบที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กำหนด

                     ข้อ ๑๑  การพิจารณาคำขอรับใบอนุญาต ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาดำเนินการออกใบอนุญาต หรือไม่ออกใบอนุญาต ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

ส่วนที่ ๑

การออกใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลและใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล

                  

ข้อ ๑๒  การพิจารณาออกใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(๑) การตรวจสอบสถานที่

                  (๑.๑) ให้ตรวจสอบสถานที่ทุกคำขอ โดยแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๒ วันทำการ นับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ โดยต้องมีข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับสภาพแหล่งน้ำผิวดิน สภาพบ่อน้ำบาดาล สภาพสถานที่ และปริมาณน้ำที่ต้องการรวมทั้งการชำระค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล

                   (๑.๒) การตรวจสอบสถานที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพแหล่งน้ำผิวดินสภาพบ่อน้ำบาดาล สภาพสถานที่ และปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ โดยแยกออกเป็น ๔ ส่วน คือ ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค ใช้ในกระบวนการผลิต ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และใช้เพื่อการเกษตรกรรม

 (๒) การพิจารณาคำขอ

                  (๒.๑) การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ยึดหลักวิชาการ คือ ไม่เกินปริมาณน้ำบาดาลที่ยอมรับได้ (Safe Yield ๑.๒๕ ล้าน ลบ.ม./วัน) และไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สิน หรือสุขภาพของประชาชน

(๒.๒) ภายใต้บังคับข้อ (๒.๑) ในท้องที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำผิวดิน อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาลได้

(๒.๓) ภายใต้บังคับข้อ (๒.๑) ในท้องที่ที่มีแหล่งน้ำผิวดิน มีหลักเกณฑ์ดังนี้

                   ก. ประเภทธุรกิจ (อุตสาหกรรมหรือการค้า) อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาลโดยอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลตามสัดส่วนการใช้น้ำของประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบตามหลักเกณฑ์ท้ายระเบียบนี้  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน (Conjunctive use)

                   ข. ประเภทอุปโภคบริโภค หรืออุปโภค ไม่อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาล เว้นแต่ไม่สามารถเชื่อมต่อระบบแหล่งน้ำผิวดินได้ อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาล และผ่อนผันให้ใช้น้ำบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไปพลางก่อนจนกว่าจะสามารถเชื่อมต่อระบบแหล่งน้ำผิวดินได้ สำหรับสถานพยาบาล สถานทูต และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งใช้น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาลได้ โดยอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมตามหลักการบริหารจัดการการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน (Conjunctive use)

                  ค. ประเภทเกษตรกรรม อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาลได้ โดยอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินตามสัดส่วนที่เหมาะสม  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน (Conjunctive use)

(๓) การกำหนดขนาดบ่อและประสิทธิภาพของบ่อน้ำบาดาลที่จะอนุญาต

(๓.๑) กำหนดให้บ่อน้ำบาดาลขนาดใดขนาดหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เครื่องสูบน้ำชนิดใดสามารถผลิตจ่ายน้ำได้ในอัตราที่กำหนด

(๓.๒) กำหนดให้ระยะเวลาการทำงานโดยเฉลี่ยของเครื่องสูบน้ำที่ใช้ประจำบ่อไม่เกินวันละ ๑๖ ชั่วโมง ไม่ว่าเครื่องสูบนั้นจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติหรือไม่

(๓.๓) กำหนดให้

บ่อน้ำบาดาล

สามารถสูบจ่ายน้ำได้สูงสุด

(มม.)

(นิ้ว)

(ม3/วัน)

๕๐

๓๒

๗๕

๘๐

๑๐๐

๒๔๐

๑๒๕

๔๐๐

๑๕๐

๘๐๐

๒๐๐

๑,๒๘๐

๒๕๐

๑๐

๑,๙๒๐

๓๐๐

๑๒

๓,๒๐๐

๓๕๐

๑๔

๓,๒๐๐

(๔) การออกใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล

                  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาดำเนินการออก หรือไม่ออกใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล สำหรับบ่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อกรุบ่อตอนบนสุดน้อยกว่า ๑๕๐ มิลลิเมตร ตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๑๒ (๑) (๒) และ (๓) ให้เสร็จสิ้นภายใน ๒ วันทำการ นับแต่วันที่ตรวจสอบสถานที่แล้วเสร็จ ส่วนบ่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อกรุบ่อตอนบนสุด ตั้งแต่ ๑๕๐ มิลลิเมตรขึ้นไป ให้ส่งคำขอรับใบอนุญาต พร้อมเอกสารหลักฐาน ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ตรวจสอบสถานที่แล้วเสร็จ  ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

เมื่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการ ภายใน ๒๐ วันทำการ

                 เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอแล้ว มีมติเห็นควรอนุญาต หรือเห็นควรไม่อนุญาตให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ส่งคำขอพร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการต่อไป ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่คณะอนุกรรมการประชุมแล้วเสร็จ และพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ต้องดำเนินการออกใบอนุญาตให้แล้วเสร็จ หรือแจ้งไม่อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะอนุกรรมการ

ข้อ ๑๓  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่พิจารณาออกรหัสหมายเลขในใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลตามหลักเกณฑ์ท้ายระเบียบนี้

ข้อ ๑๔  การพิจารณาออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(๑) การตรวจสอบสถานที่

                  (๑.๑) ให้ตรวจสอบสถานที่ทุกคำขอ โดยแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๒ วันทำการ นับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ  ทั้งนี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์ เกี่ยวกับสภาพแหล่งน้ำผิวดิน สภาพบ่อน้ำบาดาล สภาพสถานที่ และปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ รวมทั้งการชำระค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ตลอดจนผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำบาดาล

                   (๑.๒) การตรวจสอบสถานที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพแหล่งน้ำผิวดินสภาพบ่อน้ำบาดาล สภาพสถานที่ และปริมาณน้ำที่ต้องการโดยแยกออกเป็น ๔ ส่วน คือ ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค ใช้ในกระบวนการผลิต ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และใช้เพื่อการเกษตรกรรม

 (๒) การพิจารณาคำขอ

                   (๒.๑) การอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ยึดหลักวิชาการ คือ ไม่เกินปริมาณน้ำบาดาลที่ยอมรับได้ (Safe Yield ๑.๒๕ ล้าน ลบ.ม./วัน) และไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สิน หรือสุขภาพของประชาชน

(๒.๒) ภายใต้บังคับข้อ (๒.๑) ในท้องที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำผิวดิน อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลได้

(๒.๓) ภายใต้บังคับข้อ (๒.๑) ในท้องที่ที่มีแหล่งน้ำผิวดินมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

                   ก. ประเภทธุรกิจ (อุตสาหกรรมหรือการค้า) อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลโดยอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลตามสัดส่วนการใช้น้ำของประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบตามหลักเกณฑ์ท้ายระเบียบนี้  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน (Conjunctive use)

                    ข. ประเภทอุปโภคบริโภค หรืออุปโภค ไม่อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล เว้นแต่ไม่สามารถเชื่อมต่อระบบแหล่งน้ำผิวดินได้ อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล และผ่อนผันให้ใช้น้ำบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไปพลางก่อนจนกว่าจะสามารถเชื่อมต่อระบบแหล่งน้ำผิวดินได้ เว้นแต่จะเก็บบ่อน้ำบาดาลไว้เป็นบ่อสำรอง ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖

                    ค. ประเภทเกษตรกรรม อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลได้ โดยอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินตามสัดส่วนที่เหมาะสม  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน (Conjunctive use)

                   ข้อ ๑๕  ในเขตท้องที่ที่สามารถเชื่อมต่อระบบแหล่งน้ำผิวดินได้แล้ว ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลเป็นบ่อสำรอง โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลเป็นบ่อสำรอง ดังนี้

(๑) สถานที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำในยามฉุกเฉิน หรือกรณีเร่งด่วน เช่น โรงพยาบาล สถานพยาบาล ทั้งของรัฐและเอกชน

(๒) สถานที่เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และสังคม เช่น สถานศึกษา หรือศาสนสถาน

                 (๓) สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ หรือมีความสำคัญของประเทศ เช่น ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือสถานที่สำคัญทางทหาร เป็นต้น

(๔) สถานที่ที่เป็นอาคารสูงหลายชั้น ไม่มีที่สำหรับสร้างถังเก็บน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ

(๕) สถานที่ที่ขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลเพื่อเป็นบ่อสำรอง กรณีเกิดอัคคีภัย

(๖) สถานที่อื่น ๆ ที่คณะกรรมการน้ำบาดาลพิจารณาแล้วเห็นว่า สมควรให้เก็บบ่อน้ำบาดาลไว้เป็นบ่อสำรองได้

(๗) สภาพบ่อน้ำบาดาล และคุณภาพน้ำบาดาลที่ใช้เป็นบ่อสำรองต้องใช้การได้ดี และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(๘) บ่อน้ำบาดาลที่จะใช้เป็นบ่อสำรองกรณีเกิดอัคคีภัย ต้องมีระบบไฟฟ้าสำรอง

ข้อ ๑๖  การออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลเป็นบ่อสำรอง ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้

(๑) ต้องติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำประจำบ่อน้ำบาดาล เพื่อให้ทราบปริมาณการใช้น้ำที่แท้จริง ซึ่งในอนาคตจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นระบบโทรมาตรต่อไป

(๒) ต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับบ่อน้ำบาดาล แยกออกจากการใช้ไฟฟ้าทั่วไป

                  (๓) การใช้น้ำจากบ่อน้ำบาดาลสำรอง ต้องใช้ในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน หรือกรณีฉุกเฉินและต้องแจ้งให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ทราบทันทีทุกครั้ง โดยแจ้งทางโทรศัพท์หรือโทรสารหลังจากนั้นให้แจ้งรายละเอียดการใช้น้ำตามเอกสารที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนด และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ด้วย

                  (๔) ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตให้เก็บบ่อน้ำบาดาลไว้เป็นบ่อสำรอง ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ในการเข้าตรวจสอบสภาพบ่อน้ำบาดาลตามสมควรแก่กรณี

                  (๕) หากผู้ประกอบกิจการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติข้างต้น ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ ถือเป็นสาเหตุการไม่อนุญาตให้เก็บบ่อน้ำบาดาลไว้เป็นบ่อสำรอง และให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการอุดกลบบ่อน้ำบาดาลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

                 ข้อ ๑๗  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่กำหนดประเภทการใช้น้ำบาดาลตามหลักการใช้น้ำเป็นหลักว่า ถูกนำไปใช้เพื่ออะไร และในลักษณะใด ตามคำจำกัดความที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนด  ทั้งนี้ หากกฎกระทรวงกำหนดประเภทการใช้น้ำบาดาล ที่ออกตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ มีผลบังคับใช้แล้ว ก็ให้กำหนดประเภทการใช้น้ำบาดาลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ข้อ ๑๘  การออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล

                  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาดำเนินการออกหรือไม่ออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลที่ขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลไม่เกินกว่าวันละ ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร ตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ ให้เสร็จสิ้นภายใน ๒ วันทำการ นับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ หรือภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ตรวจสอบสถานที่แล้วเสร็จ ส่วนคำขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลเกินกว่าวันละ ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ให้ส่งคำขอรับใบอนุญาต พร้อมเอกสารหลักฐานให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ตรวจสอบสถานที่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณา ก่อนดำเนินการต่อไป

เมื่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการ ภายใน ๒๐ วันทำการ

                 เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอแล้ว มีมติเห็นควรอนุญาต หรือเห็นควรไม่อนุญาตให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการส่งคำขอพร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการต่อไป ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่คณะอนุกรรมการประชุมแล้วเสร็จและพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ต้องดำเนินการออกใบอนุญาตให้แล้วเสร็จ หรือแจ้งไม่อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะอนุกรรมการ

ข้อ ๑๙  การพิจารณากำหนดปริมาณน้ำบาดาลในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ให้พิจารณาตามสถานที่ใช้น้ำบาดาล ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(๑) เคหะสถาน ครัวเรือนละไม่เกิน ๓ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (หากจำนวนครัวเรือนมีมากกว่า ๖ คน ให้เพิ่มเฉพาะที่เกินกว่า ๖ คน อีกคนละไม่เกิน ๒๕๐ ลิตรต่อวัน)

(๒) อพาร์ตเมนต์ ตึกแถว หรือเรือนแถว ให้ใช้น้ำ หน่วยหรือห้องละไม่เกิน ๒ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

(๓) หอพักให้ใช้น้ำห้องละไม่เกิน ๑ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

(๔) โรงแรม ให้ใช้น้ำห้องละไม่เกิน ๑ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

(๕) โรงเรียน (ซึ่งไม่ได้รับนักเรียนประจำ) ให้ใช้น้ำคนละไม่เกิน ๕๐ ลิตรต่อวัน

(๖) วัด หรือศาสนสถาน ให้ใช้น้ำบาดาลตามความเหมาะสม

(๗) สถานที่ราชการหรือสำนักงานเอกชน ให้ใช้น้ำคนละไม่เกิน ๑๕๐ ลิตรต่อวัน

(๘) โรงพยาบาล ให้ใช้น้ำบาดาลตามความเหมาะสม

(๙) เขตนิคมอุตสาหกรรม คิดปริมาณน้ำ ๗ - ๑๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อไร่

(๑๐) Boiler คิดการสูญเสียการใช้น้ำประมาณ ๘๐ - ๑๐๐%

(๑๑) Cooling Tower, Air chiller คิดสูญเสียการใช้น้ำประมาณ ๐.๕ - ๕%

(๑๒) หน่วยคอนกรีตผสมเสร็จให้ใช้น้ำในการผสมปูนประมาณ ๑๗๐ ลิตรต่อคอนกรีต ๑ ลูกบาศก์เมตร

(๑๓) โรงน้ำแข็ง น้ำแข็งซอง ความจุ ๑๘๐ ลิตรต่อซอง น้ำแข็งหลอด ๑ ตัน = ๑ ลูกบาศก์เมตร

                  (๑๔) สถานีบริการน้ำมัน การล้างอัดฉีด ประเมินการใช้น้ำไม่เกิน ๒ ลูกบาศก์เมตรต่อคันต่อวัน จำนวนผู้ใช้บริการห้องน้ำ ร้านค้า ร้านอาหาร ประเมินการใช้น้ำไม่เกิน ๕๐ ลิตรต่อคนต่อวัน

(๑๕) รดต้นไม้ สนามหญ้า ในสนามกอล์ฟ ประเมินการใช้น้ำไม่เกินวันละ ๕ – ๗ ลูกบาศก์เมตรต่อ ๑ ไร่

(๑๖) ฟาร์ม

(๑๖.๑) เลี้ยงไก่ ให้ใช้น้ำตัวละไม่เกิน ๑๕๐ - ๒๕๐ ซีซีต่อวัน

(๑๖.๒) เลี้ยงเป็ด ให้ใช้น้ำตัวละไม่เกิน ๒๕๐ - ๓๕๐ ซีซีต่อวัน

(๑๖.๓) เลี้ยงหมู ให้ใช้น้ำตัวละไม่เกิน ๕๐ - ๗๐ ลิตรต่อวัน

(๑๗) การใช้น้ำบาดาลนอกจากที่กล่าวข้างต้น ให้พิจารณาจากข้อเท็จจริงตามความจำเป็นและเหมาะสม

ข้อ ๒๐  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาออกรหัสหมายเลขในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ตามหลักเกณฑ์ท้ายระเบียบนี้

ส่วนที่ ๒

การออกใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลและใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล นอกเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล

                  

ข้อ ๒๑  การพิจารณาออกใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

   (๑) การตรวจสอบสถานที่

                   (๑.๑) กรณีขอรับใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อกรุบ่อตอนบนสุด ไม่เกินกว่า ๑๕๐ มิลลิเมตร และมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีแหล่งน้ำผิวดิน ไม่ต้องตรวจสอบสถานที่ และให้ดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ ๒๑ (๔)

                  (๑.๒) กรณีขอรับใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อกรุบ่อตอนบนสุด เกินกว่า ๑๕๐ มิลลิเมตร ต้องตรวจสอบสถานที่ทุกคำขอ โดยแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๒ วันทำการ นับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ โดยต้องมีข้อมูลที่สมบูรณ์ เกี่ยวกับสภาพแหล่งน้ำผิวดิน สภาพบ่อน้ำบาดาล สภาพสถานที่ และปริมาณน้ำที่ต้องการใช้รวมทั้งการชำระค่าใช้น้ำบาดาล

                 (๑.๓) การตรวจสอบสถานที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพแหล่งน้ำผิวดิน สภาพบ่อน้ำบาดาล สภาพสถานที่ และปริมาณน้ำที่ต้องการ โดยแยกออกเป็น ๔ ส่วน คือ ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค ใช้ในกระบวนการผลิต ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และใช้เพื่อการเกษตรกรรม

(๒) การพิจารณาคำขอ

                  (๒.๑) การอนุญาตให้ยึดหลักวิชาการ คือ ไม่เกินปริมาณน้ำบาดาลที่ยอมรับได้ (Safe Yield) และไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สิน หรือสุขภาพของประชาชน

(๒.๒) ภายใต้บังคับข้อ (๒.๑) ในท้องที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำผิวดิน อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาลได้

(๒.๓) ภายใต้บังคับข้อ (๒.๑) ในท้องที่ที่มีแหล่งน้ำผิวดิน มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

                    ก. ประเภทธุรกิจ (อุตสาหกรรมหรือการค้า) อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาล โดยอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลตามสัดส่วนการใช้น้ำของประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน (Conjunctive use)

                   ข. ประเภทธุรกิจ (บริการ) ประเภทอุปโภคบริโภค หรืออุปโภค และประเภทเกษตรกรรม อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาล และอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินตามสัดส่วนที่เหมาะสม  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน (Conjunctive use)

(๓) การกำหนดขนาดบ่อและประสิทธิภาพของบ่อน้ำบาดาลที่จะอนุญาต

ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๑๒ (๓)

(๔) การออกใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล

                  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาดำเนินการออก หรือไม่ออกใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล สำหรับบ่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อกรุบ่อตอนบนสุดน้อยกว่า ๒๐๐ มิลลิเมตรตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๒๑ (๑) (๒) และ (๓) ให้เสร็จสิ้นภายใน ๒ วันทำการ นับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ หรือภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ตรวจสอบสถานที่แล้วเสร็จ ส่วนบ่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อกรุบ่อตอนบนสุด ตั้งแต่ ๒๐๐ มิลลิเมตรขึ้นไป ให้ส่งคำขอรับใบอนุญาตพร้อมเอกสารหลักฐานให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ตรวจสอบสถานที่แล้วเสร็จ  ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณา ก่อนดำเนินการต่อไป

เมื่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการ ภายใน ๒๐ วันทำการ

                 เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอแล้ว มีมติเห็นควรอนุญาต หรือเห็นควรไม่อนุญาตให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการส่งคำขอพร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการต่อไป ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่คณะอนุกรรมการประชุมแล้วเสร็จและพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ต้องดำเนินการออกใบอนุญาตให้แล้วเสร็จ หรือแจ้งไม่อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะอนุกรรมการ

ข้อ ๒๒  การพิจารณาออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(๑) การตรวจสอบสถานที่

                  (๑.๑) ให้ตรวจสอบสถานที่ทุกคำขอ โดยแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๒ วันทำการ นับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ  ทั้งนี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์ เกี่ยวกับสภาพแหล่งน้ำผิวดิน สภาพบ่อน้ำบาดาล สภาพสถานที่ และปริมาณน้ำที่ต้องการใช้รวมทั้งการชำระค่าใช้น้ำบาดาล ตลอดจนผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำบาดาล

                   (๑.๒) การตรวจสอบสถานที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพแหล่งน้ำผิวดิน สภาพบ่อน้ำบาดาล สภาพสถานที่ และปริมาณน้ำที่ต้องการ โดยแยกออกเป็น ๔ ส่วน คือ ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค ใช้ในกระบวนการผลิต ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และใช้เพื่อการเกษตรกรรม

(๒) การพิจารณาคำขอ

                   (๒.๑) การอนุญาตให้ยึดหลักวิชาการ คือ ไม่เกินปริมาณน้ำบาดาลที่ยอมรับได้ (Safe Yield) และไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สิน หรือสุขภาพของประชาชน

(๒.๒) ภายใต้บังคับข้อ (๒.๑) ในท้องที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำผิวดิน อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลได้

                  (๒.๓) ภายใต้บังคับข้อ (๒.๑) ในท้องที่ที่มีแหล่งน้ำผิวดิน อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลได้โดยอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินตามสัดส่วนที่เหมาะสม  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน (Conjunctive use)

                  ข้อ ๒๓  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ กำหนดประเภทการใช้น้ำบาดาลตามหลักการใช้น้ำเป็นหลักว่า ถูกนำไปใช้เพื่ออะไร และในลักษณะใด ตามคำจำกัดความที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนด  ทั้งนี้ หากกฎกระทรวงกำหนดประเภทการใช้น้ำบาดาลที่ออกตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ มีผลบังคับใช้แล้ว ก็ให้กำหนดประเภทการใช้น้ำบาดาลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ข้อ ๒๔  การออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล

                 ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาดำเนินการออก หรือไม่ออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลที่ขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลไม่เกินกว่าวันละ ๘๐๐ ลูกบาศก์เมตร ตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๒๒ ให้เสร็จสิ้นภายใน ๒ วันทำการ นับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ หรือภายใน ๑ วันทำการนับแต่วันที่ตรวจสอบสถานที่แล้วเสร็จ ส่วนคำ ขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลเกินกว่าวันละ ๘๐๐ ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ให้ส่งคำขอรับใบอนุญาตให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการนับแต่วันที่ตรวจสอบสถานที่แล้วเสร็จ  ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณา ก่อนดำเนินการต่อไป

เมื่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการ ภายใน ๒๐ วันทำการ

                 เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอแล้ว มีมติเห็นควรอนุญาต หรือเห็นควรไม่อนุญาต ให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการส่งคำขอพร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการต่อไป ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่คณะอนุกรรมการประชุมแล้วเสร็จและพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ต้องดำเนินการออกใบอนุญาตให้แล้วเสร็จ หรือแจ้งไม่อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะอนุกรรมการ

ข้อ ๒๕  การพิจารณากำหนดปริมาณน้ำบาดาลในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ให้พิจารณาตามสถานที่ใช้น้ำบาดาลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๑๙

ข้อ ๒๖  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาออกรหัสหมายเลขในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลตามหลักเกณฑ์ท้ายระเบียบนี้

ส่วนที่ ๓

การออกใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล

                  

ข้อ ๒๗  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(๑) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานที่ และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๒ วันทำการนับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ

                  (๒) ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่รวบรวมเอกสารส่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันตรวจสอบสถานที่แล้วเสร็จ  ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

เมื่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ได้รับคำขอรับใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาลแล้วให้ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการ ภายใน ๒๐ วันทำการ

                 เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอแล้ว มีมติเห็นควรอนุญาต หรือเห็นควรไม่อนุญาต ให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการส่งคำขอพร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการต่อไป ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่คณะอนุกรรมการประชุมแล้วเสร็จ และพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ต้องดำเนินการออกใบอนุญาต หรือแจ้งไม่อนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะอนุกรรมการ

               ข้อ ๒๘  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาออกรหัสหมายเลขในใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล ตามหลักเกณฑ์ท้ายระเบียบนี้ และให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการตามกำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาลตามประกาศของรัฐมนตรี ที่ออกตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

ส่วนที่ ๔

การกำหนดอายุใบอนุญาต

                  

                   ข้อ ๒๙  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ ออกใบอนุญาตตามแบบท้ายกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยกำหนดอายุใบอนุญาตไม่เกินกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

(๑) ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาตไม่เกิน ๑ ปี

(๒) ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล

(๒.๑) ในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาตไม่เกิน ๓ ปี

(๒.๒) นอกเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาตไม่เกิน ๕ ปี

(๓) ใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาตไม่เกิน ๕ ปี

หมวด ๒

ว่าด้วยการดำเนินการคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล

                  

                  ข้อ ๓๐  ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กำหนดท้ายกฎกระทรวง ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ พร้อมด้วยใบอนุญาต หรือใบแทน แล้วแต่กรณี ต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ที่กิจการน้ำบาดาลนั้นอยู่ในเขตอำนาจ ก่อนที่ใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน

ข้อ ๓๑  เมื่อได้รับคำขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่พิจารณาตรวจสอบคำขอ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ ๘

                  ข้อ ๓๒  ให้ผู้ยื่นคำขอชำระค่าธรรมเนียมคำขอต่ออายุใบอนุญาต ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ พร้อมกับการยื่นคำขอ

                  ข้อ ๓๓  ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาต จะต้องไม่มีหนี้ค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลค้างชำระ หากปรากฏว่า ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาต ยังไม่ได้ชำระค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลที่ค้างชำระดังกล่าว ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการเรียกชำระให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

                  กรณีที่ ผู้รับใบอนุญาตไม่ชำระค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลที่ค้างชำระตามวรรคหนึ่งภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ถือเป็นสาเหตุการไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตได้

                  กรณีที่มีการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ในระหว่างที่ยังไม่ถึงงวดที่ต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลหรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ให้ถือว่ามีหนี้ค้างชำระจนถึงงวดสุดท้ายก่อนยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต

ข้อ ๓๔  การตรวจสอบหรือไม่ตรวจสอบสถานที่ ต้องพิจารณาและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๑๔ และข้อ ๒๒

                  ข้อ ๓๕  การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ให้พิมพ์ หรือประทับข้อความด้วยอักษรสีดำหรือสีน้ำเงินตามแบบท้ายระเบียบนี้ ไว้ท้ายหรือด้านหลังใบอนุญาต หรือใบแทนใบอนุญาต และให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ผู้อนุญาตลงลายมือชื่อผู้ออกใบอนุญาต พร้อมประทับตราชื่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไว้เป็นสำคัญ

                  เมื่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตแล้วเสร็จ ให้ทำหนังสือแจ้งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพร้อมเอกสารหลักฐาน เพื่อหมายเหตุในใบอนุญาตฉบับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลต่อไป

ข้อ ๓๖  ให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ณ วันที่รับใบอนุญาต

                  ข้อ ๓๗  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาต ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตไม่ทันตามเวลาที่กำหนดในข้อ ๓๐ หรือใบอนุญาตได้สิ้นอายุแล้ว หากประสงค์จะประกอบกิจการน้ำบาดาลต่อไป ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตใหม่ ตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ในเขตน้ำบาดาลนั้น และเมื่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาอนุญาต ให้จัดทำใบอนุญาต โดยกำหนดอายุใบอนุญาตตามกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

(๑) ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาต ๑ ปี

(๒) ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล

(๒.๑) ในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาต ๑ ปี

(๒.๒) นอกเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาต ๒ ปี

(๓) ใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาต ๓ ปี

ข้อ ๓๘  การต่ออายุใบอนุญาต ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาต่ออายุใบอนุญาต โดยกำหนดอายุใบอนุญาตตามกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

(๑) ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาต ครั้งละ ๑ ปี

(๒) ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล

(๒.๑) ในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาต ครั้งละ ๑ ปี

(๒.๒) นอกเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาต ครั้งละ ๒ ปี

(๓) ใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล กำหนดอายุใบอนุญาต ครั้งละ ๓ ปี

หมวด ๓

ว่าด้วยการโอนใบอนุญาต

                  

                  ข้อ ๓๙  ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะขอโอนใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบนี้ พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ในเขตน้ำบาดาลนั้น

ข้อ ๔๐  ให้ผู้ยื่นคำขอชำระค่าธรรมเนียมคำขอ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ พร้อมกับการยื่นคำขอ

                 ข้อ ๔๑  ผู้รับใบอนุญาตที่ขอโอนใบอนุญาต จะต้องไม่มีหนี้ค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลค้างชำระ หากปรากฏว่า ผู้ขอโอนใบอนุญาตยังไม่ได้ชำระค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลที่ค้างชำระดังกล่าว ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการเรียกชำระให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

                 กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ชำระค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลที่ค้างชำระ ตามวรรคหนึ่งภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ถือเป็นสาเหตุการไม่อนุญาตให้โอนใบอนุญาตได้

กรณีที่มีการขอโอนใบอนุญาตในระหว่างที่ยังไม่ถึงงวดที่ต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาล หรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ให้ถือว่ามีหนี้ค้างชำระจนถึงวันยื่นคำขอโอน

ข้อ ๔๒  เมื่อรับคำขอโอนใบอนุญาตแล้ว ให้พิจารณาคำขอให้เสร็จสิ้นภายใน ๑ วันทำการ

การนับระยะเวลาดังกล่าวไม่รวมระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่คืนคำขอ เพื่อให้ผู้ยื่นคำขอไปดำเนินการให้ถูกต้องสมบูรณ์ก่อน หรือผู้รับใบอนุญาตยังมิได้ปฏิบัติตามข้อ ๔๐ และข้อ ๔๑

                 ข้อ ๔๓  การอนุญาตให้โอนใบอนุญาต ให้เจ้าหน้าที่เขียน หรือประทับข้อความด้วยอักษรสีแดงในด้านหน้าหรือด้านหลังใบอนุญาต โดยมีข้อความตามแบบท้ายระเบียบนี้ และให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ลงนามอนุญาตให้โอน พร้อมประทับตราชื่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไว้เป็นสำคัญ

                  เมื่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่พิจารณาอนุญาตให้โอนใบอนุญาต ให้แจ้งผู้ยื่นคำขอทราบพร้อมส่งมอบใบอนุญาตฉบับผู้ถือใบอนุญาตให้ผู้รับโอนใบอนุญาต เมื่อผู้รับโอนใบอนุญาต ชำระค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาต ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ แล้ว และทำหนังสือแจ้งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพร้อมเอกสารหลักฐาน ภายใน ๑ วันทำการ เพื่อหมายเหตุในใบอนุญาตฉบับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลต่อไป

หมวด ๔

ว่าด้วยการออกใบแทนใบอนุญาต

                  

                 ข้อ ๔๔  ในกรณีใบอนุญาตสูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ในเขตน้ำบาดาลนั้น ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบการสูญหายหรือถูกทำลายดังกล่าว ตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบนี้

                 ในกรณีที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับใบแทนภายใน ๓๐ วันดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการบันทึกคำให้การของผู้กล่าวหา และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ตามแบบที่กำหนด ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเปรียบเทียบคดีการประชุม และวิธีพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีเสียก่อน

                 ข้อ ๔๕  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกถ้อยคำผู้ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตว่าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลายจริง ตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบนี้ และในกรณีใบอนุญาตถูกทำลายในสาระสำคัญให้แสดงใบอนุญาตที่ถูกทำลายประกอบด้วย

                 ข้อ ๔๖  เมื่อรับคำขอรับใบแทนใบอนุญาตแล้ว ให้ผู้ขอรับใบแทน ชำระค่าธรรมเนียมคำขอค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมค่าคัดสำเนา หรือค่าถ่ายเอกสารตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้พิจารณาออกใบแทนใบอนุญาตให้เสร็จสิ้นภายใน ๑ วันทำการ

การนับระยะเวลาดังกล่าว ไม่รวมระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่คืนคำขอ เพื่อให้ผู้ยื่นคำขอไปดำเนินการให้ถูกต้องสมบูรณ์ก่อน

                ข้อ ๔๗  การออกใบแทนใบอนุญาต ให้ทำสำเนาภาพถ่ายหรือคัดสำเนาจากคู่ฉบับที่เก็บไว้ที่ทำการเขตน้ำบาดาล แล้วเขียนหรือประทับด้วยอักษรสีแดงเหนือครุฑ คำว่า “ใบแทน” และเขียนหรือประทับข้อความด้วยอักษรสีแดงไว้ในด้านหน้าหรือด้านหลังใบแทนใบอนุญาตโดยมีข้อความว่า “ใบแทนนี้ให้ใช้แทนต้นฉบับที่สูญหาย หรือถูกทำลาย” และให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ลงนามพร้อมประทับตราชื่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไว้เป็นสำคัญ

หมวด ๕

ว่าด้วยการดำเนินการคำขอแก้ไขใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล

                  

                  ข้อ ๔๘  ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับใบอนุญาตที่มิใช่การโอนใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ รวมทั้งสถานที่ประกอบกิจการน้ำบาดาล เพื่อให้ตรงตามข้อเท็จจริงตามหลักฐานทางเขตการปกครอง ตลอดจนการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบนี้ต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ประจำเขตน้ำบาดาลนั้น

ในกรณียื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ผู้ยื่นคำขอต้องแสดงรายละเอียดตามที่กำหนดไว้ในแบบคำขอและส่งเอกสารหลักฐานพร้อมคำขอ

ข้อ ๔๙  ให้ผู้ยื่นคำขอชำระค่าธรรมเนียมคำขอ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ พร้อมกับการยื่นคำขอ

ข้อ ๕๐  ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาคำขอแก้ไขใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(๑) ในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล

                  (๑.๑) ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาดำเนินการอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้แก้ไขใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลสำหรับบ่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อกรุบ่อตอนบนสุดน้อยกว่า ๑๕๐ มิลลิเมตร ส่วนคำขอแก้ไขใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลที่ขอแก้ไขขนาดบ่อให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อกรุบ่อตอนบนสุด ตั้งแต่ ๑๕๐ มิลลิเมตรขึ้นไป ให้ส่งคำขอแก้ไขใบอนุญาตให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ  ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณา ก่อนดำเนินการต่อไป

เมื่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ได้รับคำขอแก้ไขใบอนุญาตแล้วให้ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการ ภายใน ๒๐ วันทำการ

                  เมื่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาลพิจารณาคำขอแล้ว มีมติเห็นควรอนุญาต หรือเห็นควรไม่อนุญาต ให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ส่งคำขอพร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการต่อไป ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่คณะอนุกรรมการประชุมแล้วเสร็จ และพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ต้องดำเนินการแก้ไขใบอนุญาต หรือแจ้งไม่อนุญาตให้แล้วเสร็จ ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะอนุกรรมการ

                  (๑.๒) ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาดำเนินการอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้แก้ไขใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลที่ขอแก้ไขปริมาณการใช้น้ำบาดาลในใบอนุญาตรวมแล้วไม่เกินกว่าวันละ ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร ส่วนคำขอแก้ไขใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ที่ขอแก้ไขปริมาณการใช้น้ำบาดาลให้มีจำนวนเกินกว่าวันละ ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป หรือที่ขอแก้ไขปริมาณการใช้น้ำบาดาลจากเดิมที่มากกว่าวันละ ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร ให้มีจำนวนน้อยกว่าวันละ ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร ให้ส่งคำขอแก้ไขใบอนุญาตพร้อมเอกสารหลักฐาน ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ  ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณา ก่อนดำเนินการต่อไป

เมื่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ได้รับคำขอแก้ไขใบอนุญาตแล้ว ให้ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการ ภายใน ๒๐ วันทำการ

                  เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอแล้ว มีมติเห็นควรอนุญาต หรือเห็นควรไม่อนุญาตให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ส่งคำขอพร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการต่อไป ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่คณะอนุกรรมการประชุมแล้วเสร็จและพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ต้องดำเนินการแก้ไขใบอนุญาต หรือแจ้งไม่อนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะอนุกรรมการ

(๒) นอกเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล

                  (๒.๑) ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาดำเนินการอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้แก้ไขใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลสำหรับบ่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อกรุบ่อตอนบนสุดน้อยกว่า ๒๐๐ มิลลิเมตร ส่วนคำขอแก้ไขใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลที่ขอแก้ไขขนาดบ่อให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อกรุบ่อตอนบนสุด ตั้งแต่ ๒๐๐ มิลลิเมตรขึ้นไป ให้ส่งคำขอแก้ไขใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลพร้อมเอกสารหลักฐาน ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ  ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณา ก่อนดำเนินการต่อไป

เมื่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ได้รับคำขอแก้ไขใบอนุญาตแล้ว ให้ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการ ภายใน ๒๐ วันทำการ

                 เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอแล้ว มีมติเห็นควรอนุญาต หรือเห็นควรไม่อนุญาตให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ส่งคำขอพร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการต่อไป ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่คณะอนุกรรมการประชุมแล้วเสร็จและพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ต้องดำเนินการแก้ไขใบอนุญาต หรือแจ้งไม่อนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะอนุกรรมการ

                  (๒.๒) ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ พิจารณาดำเนินการอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้แก้ไขใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลที่ขอแก้ไขปริมาณการใช้น้ำบาดาลในใบอนุญาตรวมแล้วไม่เกินกว่าวันละ ๘๐๐ ลูกบาศก์เมตร ส่วนคำขอแก้ไขใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ที่ขอแก้ไขปริมาณการใช้น้ำบาดาลให้มีจำนวนเกินกว่าวันละ ๘๐๐ ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป หรือที่ขอแก้ไขปริมาณการใช้น้ำบาดาลจากเดิมที่มากกว่าวันละ ๘๐๐ ลูกบาศก์เมตร ให้มีจำนวนน้อยกว่าวันละ ๘๐๐ ลูกบาศก์เมตรให้ส่งคำขอแก้ไขใบอนุญาตพร้อมเอกสารหลักฐาน ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการนับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ  ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

เมื่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ได้รับคำขอแก้ไขใบอนุญาตแล้ว ให้ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการ ภายใน ๒๐ วันทำการ

                  เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอแล้ว มีมติเห็นควรอนุญาต หรือเห็นควรไม่อนุญาตให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ส่งคำขอพร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการ ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการต่อไป ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่คณะอนุกรรมการประชุมแล้วเสร็จและพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ต้องดำเนินการแก้ไขใบอนุญาต หรือแจ้งไม่อนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะอนุกรรมการ

                  (๓) การแก้ไขใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล ให้ลงทะเบียนรับคำขอและรวบรวมเอกสารส่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันลงทะเบียนรับคำขอ  ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณา ก่อนดำเนินการแก้ไขใบอนุญาต

                 เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอแล้ว มีมติเห็นควรอนุญาต หรือเห็นควรไม่อนุญาตให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ส่งคำขอพร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ดำเนินการต่อไป ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่คณะอนุกรรมการประชุมแล้วเสร็จ และพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ต้องดำเนินการแก้ไขใบอนุญาต หรือแจ้งไม่อนุญาตให้แล้วเสร็จ ภายใน ๑ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะอนุกรรมการ

                 ข้อ ๕๑  การอนุญาตให้แก้ไขใบอนุญาต ให้พิมพ์ หรือประทับข้อความด้วยอักษรสีดำหรือสีน้ำเงินตามแบบท้ายระเบียบนี้ ไว้ท้ายหรือด้านหลังใบอนุญาต หรือใบแทนใบอนุญาต และให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ลงลายมือชื่อ พร้อมประทับตราชื่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไว้เป็นสำคัญ

                  เมื่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แก้ไขใบอนุญาตให้ทำหนังสือแจ้งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพร้อมเอกสารหลักฐาน ภายใน ๑ วันทำการ เพื่อหมายเหตุในใบอนุญาตฉบับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลต่อไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐

สมคิด  บัวเพ็ง

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

[เอกสารแนบท้าย]

๑. หลักเกณฑ์การออกรหัสหมายเลขใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล

๒. หลักเกณฑ์การออกรหัสหมายเลขบ่อน้ำบาดาล (กรณีขอรับใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล)

๓. หลักเกณฑ์การออกรหัสหมายเลขใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล

๔. หลักเกณฑ์การออกรหัสหมายเลขใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล

๕. แบบการพิมพ์หรือประทับข้อความที่ใบอนุญาต (การต่ออายุใบอนุญาต)

๖. คำขอโอนใบอนุญาต (แบบ นบ./๑๕)

๗. แบบการเขียนหรือประทับข้อความที่ใบอนุญาต (การโอนใบอนุญาต)

๘. คำขอรับใบแทน (แบบ นบ./๑๖)

๙. บันทึกถ้อยคำ (แบบ นบ./๑๗)

๑๐. แบบการเขียนหรือประทับข้อความ (การออกใบแทนใบอนุญาต)

๑๑. คำขอแก้ไขใบอนุญาต (แบบ นบ./๒๐)

๑๒. แบบการเขียนหรือประทับข้อความที่ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล (แก้ไขประเภทการเจาะน้ำบาดาล)

๑๓. แบบการเขียนหรือประทับข้อความที่ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล (แก้ไขชนิดของเครื่องเจาะ)

๑๔. แบบการเขียนหรือประทับข้อความที่ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล (แก้ไขความลึกของบ่อน้ำบาดาล)

๑๕. แบบการเขียนหรือประทับข้อความที่ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล (แก้ไขขนาดบ่อน้ำบาดาล)

๑๖. แบบการเขียนหรือประทับข้อความที่ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล (แก้ไขประเภทการใช้น้ำบาดาล)

๑๗. แบบการเขียนหรือประทับข้อความที่ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล (แก้ไขปริมาณการสูบใช้น้ำบาดาล)

๑๘. แบบการเขียนหรือประทับข้อความที่ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล (แก้ไขชนิดเครื่องสูบ หรือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อดูด หรือความลึกของท่อดูด)

๑๙. แบบการเขียนหรือประทับข้อความที่ใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล (แก้ไขปริมาณน้ำหรือของเหลวอื่นที่จะระบายลงบ่อน้ำบาดาล)

๒๐. แบบการเขียนหรือประทับข้อความที่ใบอนุญาต (แก้ไขชื่อผู้รับใบอนุญาต)

๒๑. แบบการเขียนหรือประทับข้อความที่ใบอนุญาต (แก้ไขชื่อที่อยู่ตามใบอนุญาต)

๒๒. หลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลตามตารางสัดส่วนการใช้น้ำของประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

อุรารักษ์/ตรวจ

๓๐ มีนาคม ๒๕๕๒

ปริญสินีย์/ปรับปรุง

๒๖ เมษายน ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนพิเศษ ๑๘๐ ง/หน้า ๔/๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐