ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๖

ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย

ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

พ.ศ. ๒๕๔๖

                       

                       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ และพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๖”

ข้อ ๒[๑]  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไป

ข้อ ๓  บรรดาประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ ๔  ให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจตีความ วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

หมวด ๑

การขออนุญาต

                       

                      ข้อ ๕  บุคคลใดมีความจำเป็นและประสงค์จะขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ตามแบบ ป.ส.๒๐ (สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ) หรือแบบ ป.ส.๒๑ (สำหรับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลทั่วไป) แล้วแต่กรณี ท้ายระเบียบนี้ พร้อมด้วยหลักฐานต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ และให้จัดทำคำชี้แจงเกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องขออนุญาตประกอบคำขอด้วย

ในกรณีที่เป็นการขออนุญาตเพื่อสร้างวัดหรือสำนักสงฆ์ ต้องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้ขออนุญาต โดยผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ลงนามในคำขออนุญาต

                          ในกรณีผู้ขออนุญาตเป็นนิติบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจนิติบุคคลนั้นต้องจดทะเบียนในประเทศไทยและผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของนิติบุคคลนั้น ต้องมีสัญชาติไทยเกินสองในสามของจำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนและต้องถือหุ้นเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ในกรณีผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะแล้ว

                         ข้อ ๖  เมื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดได้รับคำขออนุญาตตามข้อ ๕ แล้ว ให้จัดทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเบื้องต้นเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ภายใน ๗ วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำขอ

หมวด ๒

หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสภาพป่า

                       

                        ข้อ ๗  เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับรายงานตาม ข้อ ๖ แล้วให้สั่งเจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ตั้งแต่ระดับ ๕ ขึ้นไป ออกไปทำการตรวจสภาพป่า พร้อมทั้งส่งเรื่องราวคำขอให้สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ เพื่อสั่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่ระดับ ๕ ขึ้นไป ออกไปร่วมตรวจสภาพป่าภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับรายงานตามข้อ ๖

                       ในกรณีที่เป็นการขออนุญาตเพื่อการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ หรือในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน ๓๕ องศา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการตรวจสอบประทานบัตรเหมืองแร่ออกไปทำการตรวจสภาพป่า พร้อมทั้งส่งเรื่องราว คำขอให้สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่สั่งเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับ ๗ ขึ้นไป หรือเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการตรวจสอบประทานบัตรเหมืองแร่ออกไปร่วมตรวจสอบภายใน ๑๕ วันนับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับรายงานตามข้อ ๖ และให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวรายงานผลเพิ่มเติมตามหัวข้อรายงานการสำรวจพื้นที่ขอประทานบัตรทับพื้นที่ป่าไม้ที่กำหนดไว้ในรายงานตามแบบ ป.ส.๒๒ ท้ายระเบียบนี้ด้วย

                      ให้คณะเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองรายงานผลการตรวจสภาพป่า พร้อมทั้งให้ความเห็นประกอบการพิจารณาสภาพป่าต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แล้วแต่กรณี ตามแบบ ป.ส.๒๒ ท้ายระเบียบนี้ ภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ตรวจสภาพป่าเสร็จ

                       เมื่อได้รับรายงานตามแบบ ป.ส.๒๒ แล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์พิจารณาและจัดทำความเห็นเสนออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานตามแบบ ป.ส.๒๒ ในกรณีที่เป็นการขออนุญาตเพื่อการทำเหมืองแร่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งสำเนาเอกสารเรื่องราวทั้งหมดที่รายงานอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชให้พนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ด้วย

ข้อ ๘  พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) ไม่เป็นพื้นที่ป่าซึ่งใช้ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการป่าไม้

(๒) ไม่ขัดกับมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ มาตรการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนและมาตรการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้แล้ว หรือผู้ขออนุญาตจะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดไว้

(๓) ไม่เป็นบริเวณที่มีทิวทัศน์สวยงามอันควรรักษาไว้

(๔) ไม่เป็นบริเวณที่ควรรักษาไว้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

(๕) ไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่

(๖) ต้องมีไม้ขนาดความโตวัดโดยรอบลำต้นตรงที่สูง ๑๓๐ เซนติเมตร ตั้งแต่ ๕๐ - ๑๐๐ เซนติเมตร ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ ๘ ตัน หรือมีไม้ขนาดความโตเกิน ๑๐๐ เซนติเมตรขึ้นไป ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ ๒ ต้น

(๗) ต้องมีลักษณะขนาด อาณาเขต และเนื้อที่ เหมาะสมกับกิจการตามวัตถุประสงค์ที่ขอและแผนการใช้พื้นที่ตามโครงการประกอบคำขอ

(๘) ไม่ขัดกับหลักในการพิจารณาอนุญาตในกรณีต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๓ ของระเบียบนี้

หมวด ๓

การอนุญาต

                       

ข้อ ๙  การอนุญาตเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ และให้พิจารณาอนุญาตในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) การอนุญาตเพื่อการทำเหมืองแร่ ให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่การใช้พื้นที่ตามวัตถุประสงค์และโครงการที่เสนอพร้อมคำขออนุญาต แต่ละคำขอไม่เกิน ๓๐๐ ไร่ และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสิบปี

(๒) การอนุญาตเพื่อการสร้างทางขนแร่ออกจากเขตพื้นที่ประทานบัตร ให้มีความกว้างของทางได้ไม่เกินหกเมตร และต้องสร้างทางกับบำรุงรักษาทางตามมาตรการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกำหนด โดยมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสิบปี

                         (๓) การอนุญาตเพื่อกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองแร่ ได้แก่ ที่เททิ้งมูลดิน ทราย ที่พักคนงาน ที่กองเก็บแร่ ที่ตั้งโรงโม่แร่หรือแต่งแร่รวมทั้งที่เก็บเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเหมืองแร่และอื่นๆ ให้พิจารณาในพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นหนังสือจากพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ และจะอนุญาตให้ตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่กิจการที่ขออนุญาต และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสิบปี

                         ในกรณีที่มีการโอนประทานบัตรหรือรับช่วงการทำเหมืองแร่ ผู้รับโอนประทานบัตรหรือรับช่วงการทำเหมืองแร่จะต้องยื่นคำขออนุญาตและได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามระเบียบนี้ก่อน จึงจะเข้าทำเหมืองแร่ต่อไปได้

                         ข้อ ๑๐  การอนุญาตเพื่อทำการ ขุด เก็บ ซึ่งกรวด ทราย ลูกรัง หรือดินที่มิใช่การทำเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ และอยู่ห่างจากทางหลวงไม่น้อยกว่า ๕๐๐ เมตร จากจุดกึ่งกลางของทางในระยะที่ใกล้ที่สุดโดยวัดในแนวระดับ รวมทั้งต้องไม่เป็นบริเวณพระราชฐาน วัดหรือสถานที่ที่ใช้เพื่อการประกอบศาสนกิจ โบราณสถานตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ โดยให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่แต่ละคำขอไม่เกิน ๑๐ ไร่ และมีกำหนดระยะเวลาคราวละห้าปี

การดำเนินการตามวรรคก่อน ผู้รับอนุญาตจะต้องยื่นคำขออนุญาตเก็บหาของป่าภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ อีกด้วย

                         ข้อ ๑๑  การอนุญาตเพื่อการอยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ โดยให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่แต่ละคำขอตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่กิจการที่ขออนุญาต หากขออนุญาตในจำนวนพื้นที่เกิน ๒๐ ไร่ ให้พิจารณาโครงการที่เสนอพร้อมคำขอ ซึ่งต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์, ระยะเวลาเริ่มงาน เป้าหมายของโครงการ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงทุน รวมทั้งการใช้แรงงานเกษตรในท้องถิ่นนั้นๆ และท้องที่ใกล้เคียงไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐ ของแรงงานเกษตรที่ใช้ทั้งหมด โดยจัดให้ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้รับจ้างใช้แรงงานเกษตรเป็นอันดับแรกด้วยและมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่น้อยกว่าห้าปีแต่ไม่เกินสามสิบปี

                        ข้อ ๑๒  การอนุญาตเพื่อจัดสวนรุกขชาติ หรือวนอุทยาน หรือเพื่อการเพาะเลี้ยงหรือขยายพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ โดยให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามโครงการที่เสนอพร้อมคำขออนุญาตแต่ละคำขอไม่เกิน ๑,๐๐๐ ไร่ และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่เกินสามสิบปี

                       ข้อ ๑๓  การอนุญาตเพื่อสร้างวัดหรือสำนักสงฆ์ พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ โดยให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่แต่ละคำขอไม่น้อยกว่า ๖ ไร่ แต่ไม่เกิน ๑๕ ไร่ ตามความจำเป็นและเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นและมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่เกินสามสิบปี

                       ข้อ ๑๔  การอนุญาตให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเข้าทำประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ โดยให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่แต่ละคำขอตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่กิจการนั้น และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่เกินสามสิบปี

                      ข้อ ๑๕  การอนุญาตกรณีอื่นๆ พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ และในกรณีที่จำเป็นต้องใช้หลักวิชาสาขาหนึ่งสาขาใดโดยเฉพาะ ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้วย โดยให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่แต่ละคำขอตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่กิจการนั้นๆ และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่เกินสามสิบปี

                     ข้อ ๑๖  กรณีโครงการที่มีวัตถุประสงค์อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวมในด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งมีความจำเป็นและไม่อาจหลีกเลี่ยงไปใช้พื้นที่อื่นได้ และพื้นที่นั้นไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะอนุญาตได้ตามข้อ ๘ ให้พิจารณาอนุญาตเฉพาะกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายอนุมัติหรืออนุญาต โดยยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดข้อห้ามไว้เดิม

ข้อ ๑๗  การอนุญาตให้ใช้หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามแบบ ป.ส.๒๓ ท้ายระเบียบนี้

                 ข้อ ๑๘  เงื่อนไขที่แนบท้ายหนังสืออนุญาตตามแบบ ป.ส.๒๓ ให้ใช้ตามแบบที่กำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้ ในกรณีที่ผู้อนุญาตเห็นสมควรจะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับอนุญาตปฏิบัติเพิ่มเติมอีกก็ได้ ทั้งนี้ ให้ระบุไว้ในเงื่อนไขที่แนบท้ายหนังสืออนุญาตด้วย

หมวด ๔

การขออนุญาตในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเดิมสิ้นอายุการอนุญาต

การเปลี่ยนตัวผู้รับอนุญาต, การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์

                       

                   ข้อ ๑๙  การขออนุญาตในหมวดนี้ ผู้รับอนุญาตหรือผู้ขออนุญาตต้องยื่นคำขออนุญาตตามข้อ ๕ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่สั่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการตรวจสภาพพื้นที่ให้ได้ข้อมูลปัจจุบันพร้อมกับตรวจสอบการดำเนินงานของผู้รับอนุญาตว่า ได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ แล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่พิจารณาและจัดทำความเห็นเสนออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

                  ข้อ ๒๐  การขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามข้อ ๑๙ กรณีหนังสืออนุญาตเดิมสิ้นอายุ ให้ผู้อนุญาตออกหนังสืออนุญาตตามแบบ ป.ส.๒๓ โดยให้อนุญาตไม่เกินอายุการอนุญาตเดิม

ในกรณีการขออนุญาตเพื่อการทำเหมืองแร่ตามข้อ ๑๙ ให้กำหนดอายุหนังสืออนุญาตตามอายุประทานบัตรนั้นแต่ไม่เกินสิบปี

ในกรณีที่ไม่สามารถอนุญาตให้ผู้ขอเข้าทำประโยชน์ได้ในหมวดนี้ด้วยเหตุใดๆ ก็ดี ให้ผู้อนุญาตแจ้งเหตุผลให้ผู้ขอทราบโดยไม่ชักช้า

หมวด ๕

ใบแทนหนังสืออนุญาต

                       

                   ข้อ ๒๑  ในกรณีที่หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติสูญหายหรือเสียหาย ผู้รับอนุญาตต้องนำหลักฐานการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนมายื่นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อให้ตรวจสอบก่อนนำเสนอผู้อนุญาตเป็นผู้พิจารณา

                   ข้อ ๒๒  การอนุญาตให้ออกใบแทนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ผู้อนุญาตออกใบแทนหนังสืออนุญาตตามแบบหนังสืออนุญาตเดิม แต่ให้เขียนหรือประทับคำว่า “ใบแทน” ด้วยอักษรสีแดงไว้ตอนบนหนังสืออนุญาตนั้น โดยมีข้อความและเงื่อนไขถูกต้องตรงกับหนังสืออนุญาตเดิมทุกประการ และให้หมายเหตุไว้ในใบแทนหนังสืออนุญาตด้วยว่า เป็นใบแทนหนังสืออนุญาตเล่มที่ ฉบับที่ ลงวันที่ เดือน และปี พ.ศ. ใด แล้วให้ผู้อนุญาตลงลายมือชื่อ ตำแหน่ง และวัน เดือน ปีที่ออกใบแทนไว้เป็นสำคัญและประทับตราประจำตำแหน่งด้วย (หากมี)

หมวด ๖

เบ็ดเตล็ด

                       

               ข้อ ๒๓  ค่าธรรมเนียมแบบพิมพ์คำขอ ค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ค่าภาคหลวง และค่าบำรุงป่าให้เรียกเก็บตามอัตราที่กำหนดไว้โดยกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ และฉบับที่แก้ไข

               ข้อ ๒๔  เมื่อมีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามระเบียบนี้แล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่พิจารณาสั่งเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตอย่างสม่ำเสมอ และให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกไปดำเนินการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตอีกทางหนึ่งอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง

ข้อ ๒๕  ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตถึงแก่ความตาย หากทายาทหรือผู้จัดการมรดกประสงค์จะดำเนินการต่อไป ให้ยื่นคำขออนุญาต ตามข้อ ๕ โดยมิชักช้า

                 ข้อ ๒๖  ผู้ที่ได้รับอนุญาตตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้ถือว่ายังคงได้รับอนุญาต และให้ถือปฏิบัติตามระเบียบนี้ต่อไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

สมชัย  เพียรสถาพร

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

[ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]

สุภาพร/พิมพ์

๑ ตุลาคม ๒๕๔๖

มัตติกา/แก้ไข

๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

อรรถชัย/สุมลรัตน์/ตรวจ

๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

A+B

[๑] รก.๒๕๔๖/พ๖๐ง/๑๕/๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๖