พระราชบัญญัติรักษาคลอง ร.ศ.121

พระราชบัญญัติ

รักษาคลอง ศก ๑๒๑[๑]

                  

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า การเพาะปลูกก็ดี การค้าขายไปมาก็ดี ในพระราชอาณาเขตนี้ ทางน้ำลำคลองเป็นสำคัญ และในเวลานี้คลองก็มีอยู่แล้วเป็นอันมากแต่ชำรุดตื้นเขินไปเสียโดยมาก เหตุเพราะยังมิได้จัดการรักษาให้พอเพียง ทรงพระราชดำริจะบำรุงและรักษาคลองเก่าที่มีอยู่แล้ว และที่จะขุดขึ้นใหม่ให้เรียบร้อยถาวร เพื่อให้เป็นประโยชน์และสะดวกแก่ธุระของราษฎรยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้ดังนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่าพระราชบัญญัติรักษาคลอง รัตนโกสินทร ศก ๑๒๑

 

มาตรา ๒[๒]  เมื่อจะใช้พระราชบัญญัตินี้สำหรับคลองใดจะได้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา

 

มาตรา ๓  เมื่อได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในคลองใดแล้ว ให้ยกเลิกพระราชกำหนดกฎหมายเดิมที่ขัดกับพระราชบัญญัตินี้เสีย มิให้ใช้ในคลองนั้นสืบไป

 

มาตรา ๔  ให้เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการมีอำนาจที่จะตั้งเจ้าพนักงานสำหรับรักษาคลองตามพระราชบัญญัตินี้ได้

 

มาตรา ๕  ถ้าเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเห็นว่าคลองใดสมควรจะมีถนนหลวงริมคลองเพื่อให้มหาชนสัญจรไปมา หรือเพื่อเป็นทางโยงเรือได้โดยสะดวกฝั่งละเท่าใด ให้เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการมีอำนาจที่จะยกเว้นที่ริมคลองนั้นแต่ฝั่งเดียวก็ดี หรือทั้ง ๒ ฝั่งก็ดี ไว้เป็นถนนหลวงได้ตามเห็นสมควร จะกำหนดเนื้อที่ยืนขึ้นไปเท่าใด ถ้าและที่ที่ต้องการตามความในมาตรานี้เป็นที่มีเจ้าของถือกรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว ก็ให้เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการมีอำนาจที่จะจัดซื้อที่นั้นได้อย่างซื้อที่ทำการหลวง เช่น ที่ทำการรถไฟ เป็นต้น

 

มาตรา ๖  ถ้าหากว่าสามารถจะทำได้อย่างอื่นแล้ว ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเอาหยากเยื่อ ฝุ่นฝอยหรือสิ่งโสโครกเททิ้งในคลอง และห้ามมิให้เททิ้งสิ่งของดังกล่าวมาแล้วลงในทางน้ำลำคู ซึ่งเลื่อนไหลมาลงคลองได้ ถ้าผู้ใดกระทำผิดต่อมาตรานี้ ให้ปรับผู้นั้นไม่เกิน ๒๐ บาท หรือจำคุกไม่เกินเดือนหนึ่ง หรือทั้งปรับและจำทั้งสองสถาน

 

มาตรา ๗  การที่จะพาสัตว์พาหนะ คือ ช้าง, ม้า, โค, กระบือ, ข้ามคลองนั้น ให้ขึ้นลงได้ที่ท่าซึ่งกำหนดไว้ให้เป็นที่สำหรับข้ามสัตว์พาหนะ ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดพาสัตว์พาหนะขึ้นลงในคลองนอกจากท่าข้ามเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดกระทำผิดต่อมาตรานี้ ผู้นั้นมีโทษ ให้ปรับผู้นั้นรายตัวสัตว์พาหนะ เป็นเงินไม่เกินตัวละ ๑๐ บาท

 

มาตรา ๘  ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดละเลยปล่อยให้สัตว์พาหนะมาทำแปลงในถนนหลวง ให้ปรับผู้นั้น ๆ รายตัวสัตว์ เป็นเงินไม่เกินตัวละ ๑ บาท

 

มาตรา ๙  ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำให้คลองและฝั่งคลอง หรือถนนหลวงเสียไปด้วยประการใด ๆ ถ้าผู้ใดกระทำผิดต่อมาตรานี้ ให้ปรับผู้นั้นไม่เกิน ๒๐ บาท หรือจำคุกไม่เกินเดือนหนึ่ง หรือทั้งปรับและจำด้วยทั้งสองสถาน และต้องทำสิ่งซึ่งเสียหายให้คืนดีด้วยอีกโสด ๑

 

มาตรา ๑๐  ถ้าคลองใดได้จัดการซ่อมแซมและรักษาให้เป็นการสะดวกแก่การไปมาของมหาชนแล้ว ให้เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการมีอำนาจที่จะตั้งกฎข้อบังคับกำหนดพิกัดอัตราเก็บค่ารักษาคลองนั้น ๆ จากเรือแพที่อาศัยไปมาในคลองนั้นได้ตามเห็นสมควร และให้มีอำนาจที่จะเลิกหรือจะเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตรานั้นเมื่อใดอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร

 

มาตรา ๑๑  ให้เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการมีอำนาจที่จะตั้งกฎข้อบังคับในการที่จะทำสะพานข้ามคลอง หรือสะพานท่าน้ำในคลอง และกำหนดขนาดแพที่จะล่องในคลอง และกำหนดให้จอดเรือแพในลำคลอง เพื่ออย่าให้กีดขวางแก่การไปมาของมหาชนได้

 

มาตรา ๑๒  ให้เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ มีอำนาจที่จะตั้งกฎข้อบังคับสำหรับรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

บรรดากฎ ข้อบังคับเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งขึ้นประกอบกับพระราชบัญญัตินี้ เมื่อได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้ได้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๓[๓]  ให้เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการและเสนาบดีกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าหน้าที่รักษาและจัดการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

 

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๔ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๑ เป็นวันที่ ๑๒๓๙๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

 

ประกาศเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรักษาคลอง ร.ศ. ๑๒๑[๔]

 

พระราชบัญญัติรักษาคลอง (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๓[๕]

 

 

ภคินี/แก้ไข

๒๒/๒/๒๕๔๕

วศิน/แก้ไข

๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

คณิตา/ปรับปรุง

๒๘ มกราคม ๒๕๕๖

วิชพงษ์/ตรวจ

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

กองกฎหมายไทย

๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘

 

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๙/ตอนที่ -/หน้า ๕๘๑/๑๙ ตุลาคม ๑๒๑

[๒] มาตรา ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรักษาคลอง (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๓

[๓] มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรักษาคลอง ร.ศ. ๑๒๑

[๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๐/-/หน้า ๔๙๗/๒๙ มีนาคม ๒๔๕๖

[๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘/-/หน้า ๓๔/๓ มกราคม ๒๔๘๔

 


กฎหมายลูก >>