เขื่อนและฝาย

 

เขื่อนระบายน้ำ

เป็นอาคารทดน้ำ หรือเขื่อนทดน้ำที่ต้นน้ำของโครงการชลประทานอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งสร้างขวางลำน้ำ สำหรับทดน้ำที่ไหลมา ให้มีระดับสูง จนสามารถส่งเข้าคลองส่งน้ำได้ตามปริมาณที่ต้องการในฤดูกาลเพาะปลูก เช่นเดียวกับฝาย แต่เขื่อนระบายน้ำ จะระบายน้ำผ่านเขื่อนไปได้ตามปริมาณที่กำหนด โดยไม่ยอมให้น้ำไหลล้นข้ามเหมือนฝาย และเมื่อเวลาน้ำหลากมาเต็มที่ในฤดูฝน เขื่อนระบายน้ำนี้ยังสามารถระบายน้ำให้ผ่านไปได้ทันที

อาคารของเขื่อนระบายน้ำมีลักษณะเป็นช่องๆ สำหรับให้น้ำไหลผ่านไปได้ โดยตลอดความยาวของเขื่อน แบ่งด้วยตอม่อเขื่อนระบายน้ำแต่ละแห่ง จะมีจำนวนกี่ช่อง และกว้างช่องละเท่าไรนั้น ย่อมแล้วแต่ปริมาณน้ำสูงสุดที่มีมาในลำน้ำ ซึ่งจะต้องไหลผ่านไปได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ล้นข้ามเขื่อน และไม่ทำให้ระดับน้ำด้านหน้าของเขื่อน ท่วมพื้นที่สองฝั่งลำน้ำมากเกินไป

ที่ช่องระบายน้ำของเขื่อนทุกช่องจะมีบานประตูเปิดไว้ระหว่างตอม่อ บานประตูทุกบานสามารถยกขึ้น และหย่อนลงได้ทุกระดับ ตามต้องการ เมื่อไม่ต้องการให้น้ำไหลผ่านเขื่อน ก็หย่อนบานประตูลงปิดสนิทที่พื้นธรณีของเขื่อนได้ และเมื่อต้องการระบายน้ำผ่านเขื่อน ก็ยกบานประตูขึ้นจากพื้นธรณีเขื่อนให้น้ำไหลลอดบานประตูไป น้ำจะไหลผ่านได้น้อย ถ้ายกบานประตูขึ้นเล็กน้อย ในกรณีที่มีน้ำไหลมามาก และต้องการระบายน้ำผ่านเขื่อนเต็มที่ ก็สามารถยกบานประตูบานให้สูงขึ้นพ้นระดับน้ำได้ บานประตูของเขื่อนระบายน้ำ ส่วนมากทำด้วยเหล็กมีรูปร่างต่างๆ กัน เช่น บานรูปสี่เหลี่ยมตั้งตรง และบานสี่เหลี่ยมรูปโค้ง
เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท
เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท
เขื่อนระบายน้ำทุกแห่งจะต้องสร้างให้มีลักษณะที่มั่นคง และถาวร การที่จะสร้างให้ใช้งานได้เพียงชั่วคราว โดยใช้วัสดุก่อสร้างอะไรก็ได้นั้น ไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องสร้างเขื่อนระบายน้ำ ด้วยวัสดุที่มีความคงทนถาวรเป็นหลัก เช่น คอนกรีตเสริมเหล็ก อีกทั้งจะต้องมีการออกแบบโดยใช้หลักวิชาการอย่างถูกต้อง และมีวิธีการก่อสร้างที่ประณีตมากด้วย

แม้ว่าเขื่อนระบายน้ำมีลักษณะไม่ทึบตันเหมือนฝาย แต่ ตัวเขื่อนก็ต้องมีน้ำหนักรวมมากพอที่จะต้านแรงดันของน้ำ อันเกิดจากความสูงของน้ำที่ถูกทดอัดไว้ ไม่ให้เขื่อนล้มและเลื่อน ถอยไป โดยแรงดันของน้ำที่กระทำกับเขื่อน มาจากแรงดันของน้ำที่กระทำกับบานประตูแล้วบานประตูถ่ายแรงทั้งหมดให้แก่ ตอม่อสองด้าน โดยที่ตอม่อจะถูกสร้างให้ยึดแน่นกับพื้นล่างของเขื่อน ซึ่งวางบนฐานรากเต็มลำน้ำ ดังนั้น ตอม่อทุกต้น และพื้นล่างของเขื่อน จึงต้องมีความหนาและขนาดให้ได้น้ำหนักรวมกัน มากพอที่จะต้านแรงดันของน้ำดังกล่าวนั้นได้

เขื่อนระบายน้ำสามารถสร้างให้ทดน้ำได้สูง และทดน้ำได้ ทุกระดับตามต้องการ นอกจากนี้ ในเวลาน้ำหลากมามากเต็มที่ เขื่อนระบายน้ำยังสามารถระบายน้ำให้ผ่านไปได้ทันทีในปริมาณ ที่มากกว่าฝาย เมื่อเทียบกับฝายที่มีความยาวสำหรับให้น้ำเท่ากัน เขื่อนระบายน้ำส่วนใหญ่จึงมีราคาแพง แต่ก็มีความ เหมาะสมดีสำหรับทุกสภาพภูมิประเทศ โดยเฉพาะลำน้ำใน บริเวณทุ่งราบ เช่น ทุ่งราบภาคกลาง เป็นต้น

ในกรณีเมื่อยกบานประตูทุกบานขึ้นพ้นระดับน้ำ เพื่อระบาย น้ำจำนวนมากที่สุดของลำน้ำให้ผ่านไป ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อน ความกว้างของช่องระบายน้ำรวมกันทั้งหมด และความสูงของ ระดับน้ำด้านหน้าเขื่อนถึงธรณีของเขื่อนที่รับบานประตู จะมีความสัมพันธ์กันตามสูตรการไหลของน้ำข้ามสันฝายดังที่กล่าว มาแล้ว

 

ที่มา:http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=7&chap=7&page=t7-7-infodetail09.html


พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456
    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำได้ใช้อาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำนั้นประกอบธุรกิจ สมควรแก้ไขอัตราโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวต้องชำระค่าตอบแทนเป็นรายปีตามวิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยได้พัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นเป็นผลให้มีการนำเคมีภัณฑ์และสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากกว่าที่เป็นมาในอดีต หากไม่มีการควบคุมการนำเข้ามาโดยทางเรือให้เหมาะสมแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างกว้างขวางแก่บุคคล สัตว์ สิ่งของ และสิ่งแวดล้อม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของกรมเจ้าท่าในการควบคุมการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ และเนื่องจากอัตราโทษสำหรับผู้กระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยยังไม่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  2. พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511
    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

  3. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารสามารถออกกฎกระทรวงกำหนดให้เรื่องที่เป็นรายละเอียดทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดได้ เพื่อใช้เป็นข้อปฏิบัติในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามมาตรฐานสากลซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามพัฒนาการของเทคโนโลยีเกี่ยวกับการก่อสร้าง เพิ่มเติมบทบัญญัติที่กำหนดให้เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการสำหรับอาคารบางชนิดหรือประเภทต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้รับการชดใช้ค่าเสียหายในเบื้องต้นในกรณีที่บุคคลนั้นได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินจากอาคารนั้น ปรับปรุงกระบวนการเกี่ยวกับการแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ให้มีความเหมาะสมกับการพัฒนาบุคลากรและองค์กรวิชาชีพด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม อันเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น และปรับปรุงบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้