คลังสำหรับ 29/04/2016

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  227/2551

จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โดยการเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าเพื่อให้พวกของจำเลยที่ดักซุ่มรออยู่ใช้อาวุธปืนยิงล่าสัตว์ป่าดังกล่าวซึ่งดำรงชีพอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า “ล่า” หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิงฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึงการไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อเพื่อการกระทำดังกล่าวด้วย ดังนั้น การเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าจึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ล่า” ตามคำนิยาม ดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบของความผิดและเป็นความผิดสำเร็จฐานล่าสัตว์ป่าตามฟ้อง มิใช่เป็นความผิดฐานพยายามล่าสัตว์ป่า

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2020/2497

ข้าหลวงประจำจังหวัดและหัวหน้าการชลประทานตาม พระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์มีอำนาจที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดที่กระทำแก่เหมืองฝายที่อยู่ในเขตอำนาจของตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1953/2494

หนองน้ำที่เป็นที่สาธารณะประโยชน์สำหรับราษฎรใช้ด้วยกันและอยู่ในหน้าที่กรมการอำเภอตรวจตรารักษาไม่ให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัวตามความในมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 นั้น นายอำเภอย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ที่ทำการบุกรุกหนองน้ำนั้นให้เลิกทำการบุกรุกได้ ถ้าผู้นั้นขัดขืน ก็ต้องมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 334 ข้อ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2494

นายอำเภอได้ประกาศและมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำนาหรือทำประโยชน์ใดรุกล้ำเข้าไปในเขตบึงแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์และหวงห้ามรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำนั้น ถือว่าเป็นคำสั่ง อันชอบด้วยกฎหมายตามความในพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 122 ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมเป็นผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 334(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1095/2477

อย่างไรเรียกว่าคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ +นายอำเภอมีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ฉะนั้น+สั่งนายอำเภอที่ห้ามมิให้+ทำนารุกล้ำเข้าไปในเขตต์ที่สาธารณจึงเป็นคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผู้ใดไม่เชื่อฟังยังขืนทำนารุกล้ำเข้าไปต้องมีผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอันชอบด้วยกฎหมาย

คำวินิจฉัยที่ 70/2557

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ ๕๑๒๐ ได้ยื่นคำขอรังวัดที่ดินดังกล่าวเพื่อดำเนินการจัดสรรแบ่งขายให้แก่สมาชิกของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากที่ดินแปลงนี้อยู่ติดกับคลองหม่อมแช่ม ซึ่งเป็นคลองสาธารณประโยชน์และอยู่ในความดูแลของผู้ถูกฟ้องคดี ภายหลังผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือคัดค้านการรังวัดที่ดิน พร้อมกับขอให้กันแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีออกห่างไปจากคลองหม่อมแช่มไม่น้อยกว่า ๕ เมตร แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการคัดค้านรังวัดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือคัดค้านการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๑๒๐ หากไม่ดำเนินการขอให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า แนวเขตที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิยึดถือ การคัดค้านการรังวัดเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๑๒๐ และยกเลิกการขอกันแนวเขตที่ดินริมคลองหม่อมแช่มของผู้ถูกฟ้องคดีได้ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่  62/2558

คดีที่เจ้าของที่ดินซึ่งติดกับลำรางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องอ้างว่า กรมที่ดินและเจ้าหน้าที่ รังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่ บริษัท น. ซึ่งเป็นเอกชน โดยรุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์ ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นลำรางสาธารณประโยชน์หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท น. เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 861/2540

สิทธิและหน้าที่ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2534มาตรา58สิทธิในการมีอากาศสะอาดบริสุทธิ์หายใจเพื่อสุขภาพพลานามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีสิทธิในการได้รับความรื่นรมย์ตามธรรมชาติสิทธิที่จะปลอดจากความเสียหายและเดือดร้อนอันเกิดจากปัญหาน้ำท่วมปัญหาการจราจรติดขัดปัญหามลพิษทางอากาศปัญหาความร้อนที่ระบายจากตึกอาคารสูงล้วนเป็นสิทธิตามปกติธรรมดาของคนทั่วไปซึ่งมีสิทธิได้รับตามกฎหมายที่กำหนดอยู่แล้วจึงไม่ใช่เป็นสิทธิที่โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องจำเลยทั้งสาม การที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอทราบข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับรายงานการประชุมและมติในการพิจารณาสถานที่ทำงานของหน่วยราชการในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองหลักรวมทั้งแบบแปลนการจัดพื้นที่การก่อสร้างอาคารและแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากจำเลยที่3แต่จำเลยที่3ไม่ให้ความร่วมมือและไม่แจ้งเหตุขัดข้องว่าเป็นข้อมูลหรือข่าวสารที่ถือว่าเป็นความลับเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติหรือเข้าข้อยกเว้นข้ออื่นที่ไม่ต้องเปิดเผยแต่อย่างใดจึงเป็นการกระทบสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ.2535มาตรา6และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯมาตรา48ทวิโจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2553

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้เบิกถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ของผู้เสียหายที่ 2 ไป อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และมาตรา 269/7 เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ได้กล่าวบรรยายว่า จำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งได้ออกให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยได้ลักไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสด ถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ไปจากวงเงินเครดิตของผู้เสียหายที่ 2 โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและธนาคาร ซ. และยังมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวด้วย ดังนั้น ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยฐานลักเงินของผู้เสียหายที่ 2 อยู่ด้วย เพียงแต่วิธีการลักเงินดังกล่าวก็โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัตินั่นเอง จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ด้วยแล้ว ซึ่งตาม ป.วิ.อ.มาตรา 43 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายที่ 2 โจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายที่ 2 ได้

คำวินิจฉัยที่  4/2557

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานครมีโครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองดาวคะนองถึงประตูระบายน้ำเดิม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของบ้านซึ่งปลูกริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยการเช่าที่ดิน ให้รื้อถอนบ้าน โดยเห็นว่าปลูกรุกล้ำแนวเขตปากคลองดาวคะนองอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งยกอุทธรณ์ ขอให้เพิกถอนหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ และการที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีเช่าที่พิพาทปลูกบ้านตามที่กล่าวอ้างหรือปลูกบ้านรุกล้ำแนวปากคลองดาวคะนองอันเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง