คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 861/2540

 

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น

หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -

 

นาย พนัส ทัศนียานนท์ กับพวก     โจทก์
โจทก์ร่วม                                    โจทก์
พันเอก สัณห์ หาอุปละ กับพวก      โจทก์
นายกรัฐมนตรี กับพวก                  จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 420

ป.วิ.พ. มาตรา 55

พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 48 ทวิ, 58

พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 6

 

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลไทยและเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยตำแหน่ง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชาติและผู้มีอำนาจหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และเป็นรองประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชาติและเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลังคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไว้เมื่อวันที่29 สิงหาคม 2532 ให้สงวนพื้นที่ลุ่ม บึง สระ และแหล่งน้ำซึ่งมีอยู่ในพื้นที่ตามฟ้องไว้สำหรับเป็นพื้นที่รองรับน้ำและเก็บกักน้ำฝนเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ในบริเวณซอยพหลโยธิน 7 และบริเวณพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดต่อต่อเนื่องใกล้เคียง ซึ่งเป็นชุมชนที่โจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตามฟ้อง อันเป็นพื้นที่โล่งและเป็นพื้นที่สีเขียว ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2535 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จำเลยที่ 3 และกรมประชาสัมพันธ์ก่อสร้างอาคารที่ทำการซึ่งเป็นอาคารสูงเกินกว่าสิบชั้นขึ้นไปหลายหลังในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งจะทำให้สภาพอากาศในพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณชุมชนใกล้เคียงเสื่อมเสียและด้อยคุณภาพลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหามลพิษที่จะเกิดขึ้นติดตามมา จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการโต้แย้งและละเมิดสิทธิสาธารณะของโจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณชุมชนใกล้เคียง พื้นที่ตามฟ้องเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ สลับกับหนองน้ำขนาดเล็ก มีบึงน้ำขนาดใหญ่ คุณภาพน้ำในบึงยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้ามีน้ำขัง ระดับน้ำจะเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล มีพืชน้ำชนิดต่าง ๆ กระจายอยู่เป็นหย่อม ๆมีพันธุ์ไม้พื้นเมืองและพันธุ์ไม้ต่างประเทศ ต้นไม้ขนาดใหญ่และไม้พุ่มขนาดเล็กขึ้นคละกันไป ทั้งยังมีสัตว์ป่าบางชนิดสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก สัตว์น้ำ นกและแมลงมากมาย แตกต่างจากพื้นที่อื่นโดยทั่วไปในกรุงเทพมหานครควรแก่การอนุรักษ์ ประกาศกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามนัยมาตรา 43 และ 44 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อสงวนไว้สำหรับการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน2535 จึงเป็นการโต้แย้งและละเมิดสิทธิสาธารณะของโจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนพลเมืองทุกคน จะก่อให้เกิดการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศเสียง ฝุ่น ควัน อันมีสาเหตุจากยานพาหนะและการก่อสร้างอาคารที่ทำการจากความร้อนที่ระบายออกจากตึกสูงและเครื่องปรับอากาศของอาคารที่ทำการ จึงเป็นการจงใจทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนในบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงขอให้พิจารณาระงับการก่อสร้างอาคารที่ทำการของจำเลยที่ 3 และของหน่วยงานอื่น ๆของทางราชการดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้ขอทราบข้อมูลและข่าวสารโดยละเอียดเกี่ยวกับแบบแปลนแผนผังและการจัดพื้นที่สำหรับการก่อสร้างอาคารที่ทำการของจำเลยที่ 3 และหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้องดังกล่าว แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับรายละเอียดของแบบแปลนแผนผังการก่อสร้างอาคารที่ทำการและการจัดพื้นที่แก่โจทก์ทั้งเจ็ดเท่าที่ควรและจำเลยที่ 3 ก็มิได้พิจารณาระงับการก่อสร้างอาคารที่ทำการของตนตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนขอแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 รวมทั้งประชาชนที่เกี่ยวข้องยังได้มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาดำเนินการเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนดให้พื้นที่ตามฟ้องเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 43 และ 44 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แต่ปรากฏสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและจำเลยที่ 2 มิได้พิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ตามที่โจทก์ที่ 1 ร้องขอและมิได้ให้ข้อมูลและข่าวสารในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้โจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนอย่างเพียงพอแต่อย่างใดซึ่งเป็นการปฏิเสธสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและข่าวสารของโจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนที่จะพึงมีตามมาตรา 6(1) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โจทก์ที่ 1ขอให้จำเลยที่ 1 พิจารณาทบทวนและดำเนินการให้มีการเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2535 และพิจารณานำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศกำหนดพื้นที่ตามฟ้องเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แต่จำเลยที่ 1มิได้พิจารณานำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่อย่างใด จึงเป็นการกระทำและละเว้นการกระทำอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายและเสียหายแก่คุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีอยู่ในพื้นที่ตามฟ้อง ตามนัยมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และเป็นการโต้แย้งขัดขวางสิทธิสาธารณะของโจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษขอให้ศาลพิพากษา ข้อ 1 เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่10 กันยายน 2535 หรือบังคับให้จำเลยที่ 1 นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาเพิกถอนมติดังกล่าว ข้อ 2บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนดให้พื้นที่ตามฟ้องเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 43 และ 44 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยมีข้อห้ามหรือข้อกำหนดให้ระงับการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 3รวมทั้งของหน่วยราชการอื่นที่อาจจะมีต่อไปภายหน้า ข้อ 3 บังคับจำเลยที่ 3 ให้หยุดและระงับการดำเนินการในการขุด กลบ ถมปรับสภาพพื้นที่ตามฟ้องและระงับการก่อสร้างอาคารที่ทำการของจำเลยที่ 3 และข้อ 4 บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้แจ้งข้อมูลและข่าวสารต่าง ๆ ในรายละเอียดแก่โจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนคือ 4.1 รายงานการประชุมและมติคณะกรรมการพิจารณาสถานที่ทำงานของหน่วยราชการในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองหลักของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนี้ 4.2รายละเอียดเกี่ยวกับแบบแปลนแผนผัง การจัดพื้นที่และแผนงานที่ดำเนินการอันเนื่องจากการก่อสร้างอาคารที่ทำการของจำเลยที่ 3รวมทั้งแผนงานเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งที่เป็นปัญหาการจราจร การรักษาสภาพแวดล้อมการป้องกันและควบคุมมลพิษ การกำจัดของเสียและขยะมูลฝอยการป้องกันน้ำท่วม การพังทลายของชั้นดิน เป็นต้น

ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า พื้นที่ตามฟ้องยังไม่มีกฎกระทรวงกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 มาตรา 43 และตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 โจทก์ที่ 1ยอมรับข้อเท็จจริงว่าพื้นที่ตามฟ้องอยู่ในความดูแลรับผิดชอบและเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน รัฐก็อาจเปลี่ยนสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะได้ ดังนั้นมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 กันยายน 2535 จึงมิได้ขัดหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่มีเหตุต้องบังคับตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 และข้อ 3สำหรับคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ข้อเท็จจริงตามฟ้องปรากฏว่าสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมภายใต้การกำกับดูแลและบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่นำคำร้องเรียนของโจทก์ที่ 1 เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณากำหนดพื้นที่ตามฟ้องเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ต้องเสนอคำร้องเรียนของโจทก์ที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่และจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชอบหรือไม่ เป็นปัญหาที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยตำแหน่งมีอำนาจกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแต่เมื่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้เสนอคำร้องเรียนของโจทก์ที่ 1 ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดแต่อย่างใด ส่วนคำขอท้ายฟ้องข้อ 2ตอนท้ายเรื่องรายละเอียดในการนำเสนอคำร้องเรียนของโจทก์ที่ 1ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอให้ศาลบังคับด้วยนั้น เป็นความเห็นของฝ่ายบริหารประกอบการนำเสนอศาลไม่บังคับให้ ส่วนคำขอท้ายฟ้องข้อ 4 แม้โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างสิทธิได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารจากทางราชการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 6(1)แต่ไม่ปรากฏว่า พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นว่าด้วยการนั้นบัญญัติไว้ว่ารัฐมีหน้าที่ต่อสิทธิดังกล่าวอย่างไร นอกจากนั้นตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 4.1 และ 4.2 รายงานการประชุมและมติคณะกรรมการพิจารณาสถานที่ทำงานของหน่วยราชการในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองหลักของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนี้กับรายละเอียดต่าง ๆ มิได้อยู่ในความหมายของข้อมูลและข่าวสารที่ทางราชการต้องเปิดเผย พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คงรับฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 2 เฉพาะคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ตอนต้นและข้อ 5

 

โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหายยิ่งกว่าประชาชนทั่วไปอย่างไรเมื่อใด เพียงใด สภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งเจ็ดจึงถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมไม่มีหน้าที่จะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คงปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น เมื่ออำนาจดังกล่าวเป็นของคณะกรรมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 43แต่ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดข้อ 4 ที่ขอให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียวเมื่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมไม่มีอำนาจพิจารณากำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมจึงไม่มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามที่โจทก์ที่ 1 ร้องขอแต่เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 จะต้องเสนอไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยตรง เพราะอำนาจในการพิจารณาเป็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดังกล่าว จึงไม่ปรากฏเป็นข้อโต้แย้งก่อนฟ้องคดีว่าสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเพิกเฉยเสียไม่ดำเนินการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาด้วยเหตุดังกล่าวโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55

ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้ายื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคำฟ้องของโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้าศาลชั้นต้นอนุญาต

ในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้ายื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

คดีในส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้รับฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 4 ไว้พิจารณา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

 

โจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาแรกต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้ามีสิทธิฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้ตอนที่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้ายื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยที่ 1กับที่ 3 ไปแล้ว ต่อมาระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นโจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้ายื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2คดีถึงที่สุดไปแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้รับฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดไว้พิจารณา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้กระทบสิทธิโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้าแต่อย่างใด โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้าจึงไม่มีสิทธิฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้า ปัญหาต่อไปเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดก่อน โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาข้อแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2535 เพราะไม่ปรากฏว่ามติดังกล่าวขัดต่อกฎหมายใดนั้นเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง "สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการกำจัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย"ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพื้นที่ตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้าฟ้องยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 43 อีกทั้งโจทก์ทั้งเจ็ดก็ยอมรับว่าพื้นที่ตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มิใช่เป็นที่สาธารณะ ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งเจ็ดมีความประสงค์จะให้ทางราชการกำหนดพื้นที่ตามฟ้องเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องการให้มีการปลูกสร้างอาคารใด ๆลงบนพื้นที่รวมทั้งต้องการให้กำหนดมาตรการจำกัดการใช้พื้นที่ดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยละเมิดสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินเป็นคำขอที่ไม่อาจบังคับให้ได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพื้นที่ใดจะกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะพิจารณาเห็นสมควร โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และพื้นที่ตามฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2537 วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2537 ข้อ 5.3 ว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ที่จะประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 43 และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2535 หรือบังคับจำเลยที่ 1เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเพิกถอนมติหรือขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 หยุดหรือระงับการก่อสร้างอาคารตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่ามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2535 ขัดกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่29 สิงหาคม 2532 นั้น เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่10 กันยายน 2535 เป็นการอนุมัติให้ทำการก่อสร้างอาคารแทนอาคารเดิมที่ถูกเพลิงไหม้จนใช้การไม่ได้ โดยไม่ปรากฏว่ามติดังกล่าวขัดต่อกฎหมายใดตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดกล่าวอ้างในฎีกา คณะรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจลงมติดังกล่าวได้โดยชอบ อนึ่ง แม้จะปรากฏว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมจะเคยมีหนังสือด่วนที่สุดที่ ว.0805/6724 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2536ให้ข้อคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรีประกอบการพิจารณาในเรื่องการใช้ที่ดินในความครอบครอบของกรมประชาสัมพันธ์ว่าควรสงวนพื้นที่บางส่วนไว้เป็นพื้นที่สีเขียว และบางส่วนไว้สำหรับเป็นพื้นที่ริมน้ำแต่ก็ปรากฏว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้ถอนเรื่องคืนไปในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2536 โดยเสนอว่าขณะนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปและคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติอนุมัติให้ถอนเรื่องไปได้ตามเสนอ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาตามข้อเสนอดังกล่าวแต่อย่างใด

โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาข้อต่อไปว่า การกระทำและละเว้นการกระทำของจำเลยทั้งสามตามคำฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการโต้แย้งและละเมิดสิทธิและหน้าที่สาธารณะโดยมิชอบ ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้วนั้น เห็นว่า สิทธิต่าง ๆ ตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดกล่าวอ้างมาในฎีกา เช่น สิทธิและหน้าที่ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534มาตรา 58 สิทธิในการมีอากาศสะอาดบริสุทธิ์หายในเพื่อสุขภาพพลานามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี สิทธิในการได้รับความรื่นรมย์ตามธรรมชาติของพื้นที่ตามฟ้อง สิทธิที่จะปลอดจากความเสียหายและเดือดร้อนอันเกิดจากปัญหาน้ำท่วมชุมชนในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ตามฟ้องและสิทธิที่จะปลอดจากเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเกิดจากปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาความร้อนที่ระบายจากตึกอาคารสูงล้วนเป็นสิทธิตามปกติธรรมดาของคนทั่วไปซึ่งมีสิทธิได้รับตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้วจึงไม่ใช่เป็นสิทธิที่โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้

ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ควรรับฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2ที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ให้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนดให้พื้นที่ตามฟ้องเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1มีฐานะเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยตำแหน่งตามระเบียบราชการจะต้องมีหน่วยงานพิจารณากลั่นกรองเรื่องราวและเสนอความเห็นตามลำดับขั้นตอน สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่โดยตรงที่จะเสนอเรื่องราวต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอยู่แล้วเมื่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้เสนอคำร้องเรียนของโจทก์ที่ 1 ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและจำเลยที่ 1เพื่อพิจารณา จำเลยที่ 1 จึงยังมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดแต่อย่างใด

ต่อไปวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อแรกว่าคดีของโจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้าเกี่ยวกับจำเลยที่ 2ถึงที่สุดไปแล้ว ทั้งอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดก็ไม่มีความประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รับฟ้องจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าสำหรับคดีระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้รับฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2ตอนต้นและข้อ 5 ไว้พิจารณาแล้ว ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ต่อไป ในระหว่างพิจารณาคดีโจทก์ที่ 1ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้ายื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาในวันนัดชี้สองสถานโจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้ายื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 โดยไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไปทั้งยังได้ระบุไว้ท้ายคำร้องขอถอนฟ้องด้วย ว่าการถอนฟ้องนี้เป็นการฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3ซึ่งคดีกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ดังนั้น คดีของโจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้าในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รับฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้าในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 4 ไว้พิจารณาทั้งตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ด ฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม2537 หน้า 16 ตอนท้ายที่อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นปรากฏว่า โจทก์ทั้งเจ็ดได้ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับและยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 รวมทั้งยกคำขอบังคับท้ายฟ้องข้อ 1 ข้อ 2 ตอนต้นข้อ 3 และข้อ 4 เสีย และมีคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด รวมทั้งคำขอบังคับท้ายฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป และบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งเจ็ดด้วย ซึ่งเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้มีคำขอหรือมีความประสงค์ที่จะขอให้ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำสั่งของศาลชั้นต้นให้รับฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 4 ไว้พิจารณา จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยมาตรา 246เมื่อคดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดไปตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้วและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวแก่จำเลยที่ 2 ไม่ชอบจึงมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาที่ 2

ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อต่อไปมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้นให้รับฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 4 ชอบหรือไม่ เห็นว่า สิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดในการรับทราบข้อมูลและข่าวสารจะมีเพียงใด จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 หรือตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า สิทธิดังกล่าวนั้นมีข้อจำกัดอย่างไรและจะส่งข้อมูลและข่าวสารอย่างไร เพื่อร่วมกันส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศชาติ เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 มาตรา 6 เพื่อประโยชน์ในการร่วมกันส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชาติ บุคคลอาจมีสิทธิและหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) การได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารจากทางราชการในเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเว้นแต่"ประกอบเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ "(1) ส่งเสริมประชาชนและองค์การเอกชนให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม" ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2534 มาตรา 48 ทวิ "บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารจากหน่วยราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพื่อการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการหรือพนักงานของรัฐในเมื่อการนั้นมีหรืออาจจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของตน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" คดีนี้ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดได้ขอทราบข้อมูลและข่าวสารตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 4จากจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ไม่ให้ความร่วมมือและไม่แจ้งเหตุขัดข้องว่าเป็นข้อมูลหรือข่าวสารที่ถือว่าเป็นความลับเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติหรือเข้าข้อยกเว้นข้ออื่นที่ไม่ต้องเปิดเผยแต่อย่างใดจึงเป็นการกระทบสิทธิโจทก์ทั้งเจ็ดแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเป็นบางส่วน"

พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบเก้าและฎีกาของจำเลยที่ 2และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้รับฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

( จำลอง สุขศิริ - สุทธิ นิชโรจน์ - สมบัติ เดียวอิศเรศ )

 

หมายเหตุ

มีข้อสังเกตบางประการ ดังนี้

1. สิทธิในการได้รับทราบข้อมูลและข่าวสาร (Right toInformation) ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยแทบทุกฉบับรวมทั้งฉบับ ส.ส.ร. ก็ประกันสิทธิดังกล่าวไว้ โดยบัญญัติไว้อย่างกว้าง ๆ โดยจะเขียนรายละเอียดไว้ในกฎหมายต่าง ๆ เช่น สิทธิในการรับทราบข้อมูลและข่าวสารในด้านสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 บัญญัติไว้ในมาตรา 6(1)ว่าบุคคลอาจมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารจากทางราชการในเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เว้นแต่ข้อมูลหรือข่าวสารที่ทางราชการถือว่าเป็นความลับเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือเป็นความลับเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในทรัพย์สิน หรือสิทธิในทางการค้าหรือกิจการของบุคคลใดที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

การที่โจทก์ทั้งเจ็ดในคดีนี้ขอทราบข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับรายงานการประชุมและมติในการพิจารณาสถานที่ทำงานของหน่วยราชการในเขตกรุงเทพมหานคร และเมืองหลักรวมทั้งแบบแปลนการจัดการพื้นที่การก่อสร้างอาคารและแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ไม่ให้ความร่วมมือและไม่แจ้งเหตุขัดข้องว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่ถือว่าเป็นความลับเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติหรือเข้าข้อยกเว้นอื่นที่ไม่ต้องเปิดเผยแต่อย่างใดจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิ ที่ศาลรับฟังโจทก์ทั้งเจ็ดในประเด็นขอทราบข้อมูลและข่าวสารจึงชอบแล้วถือได้ว่าศาลเป็นองค์การที่มีส่วนร่วมจรรโลงระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญองค์กรหนึ่ง

2. ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environment) นับวันเริ่มทวีความสำคัญและประชาชนเริ่มตระหนักในพิษภัยดังกล่าว แม้แต่องค์กรการค้าโลก (WTO) ก็พยายามผนวกเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมแต่ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มประเทศโลกที่สามเนื่องจากยังไม่พร้อมกระนั้นก็ตามประชาชนในประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มตระหนักถึงพิษภัยและเพิ่มการสนใจมากขึ้น ทำให้เกิดประเด็นข้อโต้เถียงถึงการก่อสร้างโครงการใหญ่ ๆ ในประเทศไทย เช่น กรณีการสร้างแก่งเสือเต้นที่จังหวัดแพร่หรือการวางท่อก๊าซของ ป.ต.ท.ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น เป็นเหตุให้ยังดำเนินการก่อสร้างไม่ได้จนบัดนี้ หัวหอกในการคัดค้านคือกลุ่มองค์กรเอกชนหรือ N.G.O.

3. กฎหมายรับรองฐานะเป็นหัวหอกของกลุ่มองค์กรเอกชนดังกล่าวโดยใน พ.ร.บ. ส่งเสริมฯ มาตรา 7 ระบุให้องค์กรเอกชนซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายหรือกฎหมายต่างประเทศ มีสิทธิขอจดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ และเมื่อจดทะเบียนแล้ว องค์กรเอกชนดังกล่าวมีสิทธิขอความช่วยเหลือหรือขอรับการสนับสนุนจากทางราชการในเรื่องสิ่งแวดล้อมตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษอันเกิดจากการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษตลอดจนเป็นผู้แทนในคดีที่มีการเรียกร้องค่าทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับอันตรายตามมาตรา 8 โดยอาจอาศัยเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมที่ตั้งขึ้นตามมาตรา 22

การที่กฎหมายบัญญัติให้องค์กรเอกชนที่จดทะเบียนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายตลอดจนให้เป็นผู้แทนคดีแก่ประชาชนผู้ได้รับอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษ แสดงให้เห็นถึงการตระหนักในความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมว่ามิใช่เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทุกคนโดยส่วนรวมองค์กรเอกชน เช่น มูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อมประเทศไทยในคดีนี้รวมทั้งองค์กรเอกชนอื่น ๆ คงจะได้ทำหน้าที่พิทักษ์สิ่งแวดล้อมในฐานะเป็นสมบัติของมนุษยชาติได้สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

4. คำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ด ประการสำคัญในคดีนี้ คือ ขอให้จำเลยทั้งสามระงับการก่อสร้างอาคารกรมสรรพากร เพราะจะทำให้กระทบระบบนิเวศน์ในเขตที่โจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนในบริเวณชุมชนใกล้เคียงอยู่อาศัย อาจก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญจากปัญหาการจราจรติดขัด การเกิดมลพิษทางอากาศ เสียง ฝุ่น ควันอันมีสาเหตุจากยานพาหนะและการก่อสร้างอาคารที่ทำการเป็นการละเมิดสิทธิและหน้าที่สาธารณะของโจทก์ทั้งเจ็ด ซึ่งศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดในข้อนี้ไว้พิจารณาโดยให้เหตุผลว่า สิทธิและหน้าที่ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิในการมีอากาศบริสุทธิ์หายใจเพื่อสุขภาพพลานามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีสิทธิในการได้รับความรื่นรมย์ตามธรรมชาติของพื้นที่ตามฟ้องสิทธิที่จะปลอดจากความเสียหายและเดือดร้อนอันเกิดจากปัญหาน้ำท่วมชุมชนในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ตามฟ้อง และสิทธิที่จะปลอดจากเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเกิดจากปัญหาจราจรติดขัดปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศ ปัญหาความเดือดร้อนจากตึกอาคารสูงเป็นสิทธิตามปกติธรรมดาของคนทั่วไปไม่ใช่เป็นสิทธิที่โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ

เป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัญหาเรื่องเดือดร้อนรำคาญจากการจราจรติดขัด ปัญหาน้ำท่วม และความร้อนจากตึกสูงเป็นปัญหาที่ประชาชนในเมืองต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ซึ่งรัฐก็ดำเนินการแก้ไขไม่ว่าเรื่องรถไฟลอยฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน หรือการจัดตั้งเครื่องฟอกอากาศในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศมาก ๆ สิทธิสาธารณะต่าง ๆตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดเรียกมานั้นน่าคิดว่าหากโจทก์ทั้งเจ็ดพิสูจน์ได้ว่าได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ ศาลจะบังคับให้หรือไม่เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1510/2528 วินิจฉัยว่า การสร้างกำแพงทึบสูงถึง 2.70 เมตร เมื่อคำนึงถึงสภาพและตำแหน่งที่ตั้งอยู่ของบ้านโจทก์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในย่านชุมชนกลางเมืองประกอบแล้วการปลูกสร้างกำแพงทึบสูงเกินสมควรเป็นเหตุให้ปิดบังแสงสว่างและทางลมที่จะเข้าไปในห้องชั้นล่างของโจทก์เป็นบางส่วนย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ข้างเคียง หรืออย่างน้อยก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญเกินกว่าที่ควรคาดคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นตามปกติ

สำหรับคดีที่หมายเหตุนี้หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้บริเวณที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมฯมาตรา 43, 44 แต่จำเลยทั้งสามยังขืนจัดให้มีการก่อสร้างตึกสูงในบริเวณดังกล่าว ศาลอาจรับฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดไว้พิจารณาโดยถือว่าเมื่อคำนึงถึงตำแหน่งและที่ตั้งของบ้านโจทก์ทั้งเจ็ดแล้วเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ

 

สาโรจน์ เกษมถาวรศิลป์