คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 592/2513

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -

นางทองจันทร์ นาเมืองรักษ์                        โจทก์
นายสนอง สุนทรเนตร ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน     จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 1304, 1377,
ป.วิ.พ. มาตรา 84, 177, 183
พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 117, 122

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าหนองผือเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ใช่หนองสาธารณะ ให้จำเลยที่ 2, 3 ในฐานะเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่แก้ไขแบบแจ้งการครอบครองที่นาหนองผือและหนองผือของโจทก์ให้ถูกต้อง ฯลฯ

จำเลยให้การว่า หนองผือเป็นหนองสาธารณะ ฯลฯ ฟ้องแย้งขอให้ศาลขับไล่โจทก์ออกจากหนองผือ และสั่งโจทก์ทำลายคันนา ฯลฯ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สิ่งก่อสร้างตามฟ้องแย้งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่พิพาท คำขอตามฟ้องแย้งข้ออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา

ประเด็นแรกที่โจทก์ฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดหน้าที่ให้โจทก์นำสืบก่อนไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทไม่ใช่เป็นของโจทก์เป็นที่สาธารณะและที่พิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโจทก์จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์

ประเด็นต่อไปที่โจทก์ฎีกาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้ครอบครองมาและไม่ใช่เป็นที่สาธารณะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีฟังได้ชัดว่า ที่พิพาทตามแผนที่กลางหมาย 1 เป็นหนองที่ราษฎรตำบลนาเมืองร่วมกันซื้อมาจากมารดาโจทก์ ส่วนที่หมาย 2, 3 เป็นที่นายมายกให้เป็นที่สาธารณะทำเลเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ปี 2465

เมื่อราษฎรซื้อและรับยกให้แล้ว ราษฎรเข้าครอบครองใช้ที่พิพาทเป็นประโยชน์ร่วมกันตลอดมา กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการสละเจตนาครอบครองโดยส่งมอบทรัพย์ที่ครอบครองแล้ว นับแต่มอบที่พิพาทแล้วราษฎรเป็นจำนวนร้อย ๆ ได้ร่วมกันทำทำนบกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ ขุดลอกหนอง ปลูกต้นไม้ ลงหลักปักเขตเป็นแนวเขตตลอดทำนบ โดยถือว่าเป็นที่สาธารณะที่ราษฎรได้ใช้เป็นประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้กรมพัฒนาชุมชนยังได้มอบเงินให้ทางอำเภอจัดการบูรณะซ่อมแซมปรับปรุงหนองเพื่อให้กักน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ร่วมกันได้ตลอดปี ศาลฎีกาเชื่อว่าหนองผือที่พิพาทตามแผนที่กลางหมาย 1, 2, 3 เป็นหนองและทำเลเลี้ยงสัตว์ที่ราษฎรตำบลนาเมืองใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาสิบ ๆ ปีแล้วจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 และเห็นว่าการเป็นหนองสาธารณสมบัติหรือไม่นั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องขึ้นทะเบียนไว้ เพราะจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ย่อมเป็นไปตามสภาพของที่นั้นเองว่าเป็นทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่

ส่วนปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 117, 122 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะต้องรักษาดูแลที่ดินลำน้ำอันเป็นสาธารณประโยชน์ได้ ไม่ให้ผู้ใดทำให้เสียหายหรือกีดกันเอาเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว จำเลยในฐานะนายอำเภอจึงมีอำนาจสั่งห้ามโจทก์ไม่ให้บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ตลอดจนมีอำนาจฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ได้ด้วย
พิพากษายืน

( จรัญ อิศระ - ถาวร หุตะโกวิท - ชลอ บุปผเวส )

หมายเหตุ