คำวินิจฉัยที่ 23/2558

 

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -

 

ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยธนาพร กลการ            โจทก์
เทศบาลเมืองบางบัวทอง ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน    จำเลย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496
พ.ร.ฎ.จัดตั้งเทศบาลเมืองบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พ.ศ.2480
ป.พ.พ.

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๓/๒๕๕๘
วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลจังหวัดนนทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ

ศาลจังหวัดนนทบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี

เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยธนาพร กลการ โจทก์ ยื่นฟ้อง เทศบาลเมืองบางบัวทอง ที่ ๑ นายอาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๒๖๓๑/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ จำเลยทั้งสองได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับความเสียหายจากอุทกภัย รวม ๕๙ คัน แต่ในขณะนั้นอู่ซ่อมรถยนต์ของโจทก์ถูกน้ำท่วมเช่นกัน โจทก์ได้เช่าที่ดินของบุคคลภายนอกเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการซ่อมรถยนต์ดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา ๓ เดือน เป็นเงิน ๒๑๐,๐๐๐ บาท โจทก์ได้ว่าจ้างนายนันท์ เทศแก้ว เป็นผู้ดำเนินการเคลื่อนย้ายรถยนต์รวม ๕๙ คัน มาไว้ยังพื้นที่ดังกล่าว และดำเนินการซ่อมรถยนต์ทั้ง ๕๙ คัน รวมเป็นเงินค่าซ่อมและบำรุงรักษาทั้งสิ้น จำนวน ๗,๔๖๙,๒๐๙.๙๐ บาท โจทก์ส่งมอบรถยนต์คันแรกให้แก่จำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ และส่งมอบรถยนต์คันสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ จำเลยทั้งสองได้ชำระค่าซ่อมและค่าบำรุงรักษาให้แก่โจทก์บางส่วนรวมเป็นเงิน ๓๕๖,๖๑๔.๗๐ บาท คงเหลือยอดหนี้ค้างชำระเป็นเงิน ๗,๑๑๒,๕๖๘.๒๐ บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าที่ดิน ค่าซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย เพียงแต่ให้โจทก์ประมาณราคาค่าซ่อมเพื่อจะได้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีการพิเศษตามระเบียบต่อไป การที่โจทก์มิได้แจ้งประมาณราคา แต่กลับซ่อมรถยนต์จนแล้วเสร็จ จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองยังไม่เกิดขึ้น จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าที่ดินที่จำเลยทั้งสองมิได้เป็นคู่สัญญาหรือมีนิติสัมพันธ์ใดๆ อีกทั้งที่ดินที่โจทก์เช่าดังกล่าวเป็นการเช่าสถานที่สำหรับใช้ทำงานของโจทก์ให้สำเร็จ เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างต้องเป็นผู้จัดหา จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด การที่จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์ดังกล่าว เป็นการจ่ายตามสัญญาและข้อตกลงที่จำเลยทั้งสองได้ทำกับโจทก์ให้ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ที่ชำรุดเสียหายจากกรณีอื่นๆ มิใช่สาเหตุเนื่องจากถูกน้ำท่วมตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญาจ้างซ่อมรถยนต์จำนวน ๕๙ คัน เป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีลักษณะเป็นการจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคจึงเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเพื่อเรียกให้ชำระค่าซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ที่จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการ โดยอ้างว่าเป็นความรับผิดตามสัญญาจ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๗ แม้จำเลยที่ ๑ จะมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่กรณีพิพาทในคดีนี้เป็นเรื่องพิพาทกันตามสัญญาจ้างทำของ ไม่เข้าลักษณะของสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค อันเป็นความหมายของสัญญาทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ดังนั้น กรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโต้แย้งตามสัญญาจ้างทำของดังกล่าว จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาจ้างซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง คือ จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุแห่งสัญญาเพื่อซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีไว้ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๔๖ ประกอบด้วย รถกระบะ รถเก็บขยะ รถเก็บขนขยะ(รถอุโมงค์) รถเก็บขนขยะ(รถกระโปรง) รถเก็บขนขยะ(รถดั๊ม) รถสุขาเคลื่อนที่ รถดูดสิ่งปฏิกูล รถลอกท่อระบายน้ำ รถกระบะตรวจงาน รถตักหน้าขุดหลัง รถฉีดพ่นยากันยุง รถตู้พยาบาล รถกระบะหางเหยี่ยว รถบรรทุกดั๊ม รถเทลเลอร์ รถบรรทุกน้ำ รถกระเช้า รถดั๊ม รถบรรทุกไดน่า รถแทร็คเตอร์ รถดับเพลิง รถบรรทุกน้ำ(ดับเพลิง) รถกู้ภัย รถปิ๊กอัพกู้ภัย(กระบะตรวจการ) รถปิ๊กอัพสองตอน(กระบะ) รถกระบะดั๊มเทศกิจ และรถตู้ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ ให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม จึงเป็นสัญญาเพื่อให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สำคัญหรือจำเป็นเพื่อใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะในหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ให้บรรลุผลมีสภาพใช้งานได้ สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองสั่งให้โจทก์ซ่อมรถยนต์จำนวน ๕๙ คัน ดังกล่าว โดยโจทก์ได้ซ่อมและส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย

ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง

คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ได้ว่าจ้างโจทก์ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับความเสียหายจากอุทกภัย รวม ๕๙ คัน แต่ในขณะนั้นอู่ซ่อมรถยนต์ของโจทก์ถูกน้ำท่วม โจทก์จึงได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของบุคคลภายนอกเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการซ่อมรถยนต์ โจทก์ซ่อมและส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ ๑ ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์บางส่วน ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าที่ดิน ค่าซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่เคยว่าจ้างโจทก์ให้ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ เพียงแต่ให้โจทก์ประมาณราคาค่าซ่อม การที่โจทก์ซ่อมรถยนต์จนแล้วเสร็จ จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ ทั้งการที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าที่ดินที่จำเลยทั้งสองมิได้เป็นคู่สัญญาหรือมีนิติสัมพันธ์ใดๆ ทั้งเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างต้องเป็นผู้จัดหาที่ดินที่ทำการซ่อมรถ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด ส่วนการที่จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไปนั้น เป็นการชำระตามสัญญาที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ที่ชำรุดเสียหายจากกรณีอื่นๆ มิใช่สาเหตุเนื่องจากถูกน้ำท่วมตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง

เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติให้ สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะมีฐานะเป็นเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พุทธศักราช ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ โดยมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งใช้บังคับในขณะทำสัญญา กำหนดให้จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ป้องกันและระงับโรคติดต่อ และให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง แต่เมื่อพิจารณาข้ออ้างของโจทก์อันเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เป็นการเรียกร้องค่าจ้างและค่าใช้จ่ายอื่นอันเกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ว่าจ้างโจทก์ให้ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ แม้รถยนต์ทั้ง ๕๙ คัน จะเป็นทรัพย์สินของราชการซึ่งจำเลยที่ ๑ อาจนำไปใช้เพื่อจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ แต่เมื่อลักษณะข้อตกลงที่โจทก์อ้างตามฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงการจ้างซ่อมรถยนต์ ไม่ปรากฏว่าวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นการจัดให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเอกชนเข้าดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำบริการสาธารณะ ข้อตกลงตามฟ้องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเพียงการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน ในลักษณะของสัญญาจ้างทำของ ซึ่งเป็นเพียงสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น คดีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยธนาพร กลการ โจทก์ เทศบาลเมืองบางบัวทอง ที่ ๑ นายอาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์

(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)

ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม

(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)

รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม

(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)

หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร

(นายจิระ บุญพจนสุนทร)

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

( - - )

หมายเหตุ

เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4)