กฎกระทรวงเศรษฐการว่าด้วยการนำร่อง ออกตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยามแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2)

กฎกระทรวงเศรษฐการ

ว่าด้วยการนำร่อง ออกตามความในมาตรา ๔

แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยามแก้ไขเพิ่มเติม

พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๒)[๑]

                  

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการนำร่องไว้ ดังต่อไปนี้

 

หมวด ๑

การออกใบอนุญาตเป็นผู้นำร่อง

                  

ข้อ ๑  ผู้นำร่องทั่วไปภายในน่านน้ำสยามนั้น แบ่งออกเป็นชั้นและมีหน้าที่นำเรือเข้าออกภายในเขตที่กำหนดไว้ดังนี้

(๑) ผู้น้ำร่องชั้น ๑ ทำการนำเรือทุกขนาด

(๒) ผู้นำร่องชั้น ๒ ทำการนำเรือตามขนาดซึ่งหัวหน้าผู้นำร่องจะกำหนดให้

(๓) ผู้นำร่องพิเศษ ทำการนำร่องเฉพาะเรือลำที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

 

ข้อ ๒  บุคคลที่จะสมัครเป็นผู้นำร่องชั้น ๒ ตามข้อ ๑ นั้น จะต้องเป็นนายทหารเรือชั้นนายเรือเอกขึ้นไป ที่ได้เป็นผู้บังคับการเรือมาแล้วหรือนายเรือของเรือค้าต่างประเทศ และต้องมีอายุระหว่าง ๓๐ ปีกับ ๔๕ ปีบริบูรณ์

อนึ่ง การรับสมัครนั้น ถ้าสามารถจะทำได้ ย่อมให้ประโยชน์แก่นายทหารเรือแห่งราชนาวีสยามก่อนบุคคลอื่น

 

ข้อ ๓  การยื่นใบสมัครขอเป็นผู้นำร่อง ให้ยื่นต่อหัวหน้ากองตรวจท่า การนี้จะต้องมีใบตรวจของแพทย์ทหารเรือ หรือแพทย์สาธารณสุขแสดงความสมบูรณ์แห่งร่างกาย มีสายตาดี มีประกาศนียบัตรนายเรือ และประกาศนียบัตรหรือใบรับรองแสดงความรู้ประกอบด้วย ทั้งจะต้องมีใบสุทธิแสดงว่า เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เสพของเมาจนเสียมรรยาทและไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

 

ข้อ ๔  เมื่อกรมเจ้าท่าได้รับสมัครของผู้ยื่นใบสมัครไว้แล้วจะได้ให้เป็นผู้ฝึกการนำร่อง ส่วนผู้สมัครขอเป็นผู้นำร่องพิเศษนั้น ไม่อยู่ในบังคับแห่งข้อนี้

 

ข้อ ๕  หัวหน้านำร่องเป็นผู้ควบคุมดูแลผู้ฝึกการนำร่องทุกคน ทั้งจัดการมอบตัวและผลัดเปลี่ยนให้ได้ไปฝึกกับผู้นำร่องที่มีความชำนาญแล้ว ผู้นำร่องที่รับมอบตัวต้องพยายามอบรมสั่งสอนให้ผู้ฝึกนั้นได้รับความรู้ความชำนาญในการนำเรือและการรอบรู้แห่งร่องน้ำ ตลอดจนกิจการของท่าเรือ หรือถ้าพึงปฏิบัติได้ก็ให้ได้ทำการช่วยเหลือในการนำเรือจริง ๆ บ้าง

ตามปกติระยะเวลาฝึกให้กำหนด ๖ เดือนถึง ๑ ปี แล้วแต่ความสามารถของผู้ฝึก หรือแล้วแต่ความจำเป็นของกิจการนำร่อง แต่อธิบดีกรมเจ้าท่าอาจร่นกำหนดเวลาฝึกตามคำแนะนำของหัวหน้าผู้นำร่องให้สั้นเข้าก็ได้เฉพาะกรณี

 

ข้อ ๖  เมื่อผู้ฝึกการนำร่องได้ทำการฝึกครบกำหนดแล้ว ให้หัวหน้าผู้นำร่องรายงานผลการฝึก ความประพฤติ พร้อมทั้งแสดงความเห็นเป็นรายบุคคลเสนอตามลำดับชั้นถึงอธิบดีกรมเจ้าท่า ถ้าอธิบดีกรมเจ้าท่าพิจารณาเห็นว่าไม่สมควรที่จะให้เข้าสอบไล่เป็นผู้นำร่อง จะสั่งให้งดสอบไล่ผู้นั้นก็ได้

ในการสอบไล่เป็นผู้นำร่องชั้น ๒ อธิบดีกรมเจ้าท่าจะได้ตั้งกรรมการสอบไล่ขึ้นชุดหนึ่งกอร์ปด้วย

(๑) หัวหน้ากองตรวจท่า ๑

(๒) หัวหน้าผู้นำร่องหรือผู้นำร่องชั้นหนึ่ง ๑

(๓) นายเรือของเรือต่างประเทศ ๑

บุคคลในหมายเลข (๑) และ (๒) นั้น ถ้าผู้ใดเป็นผู้มีอาวุโสให้รับตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ

 

ข้อ ๗  ในการสอบไล่นั้น ให้ทำการสอบทั้งทางปฏิบัติและทางวิชาการ

การสอบทางปฏิบัติ มีการบังคับเรือภายในเขตที่คณะกรรมการสอบไล่กำหนดให้ และให้คณะกรรมการสอบไล่มอบให้ผู้นำร่องประจำเรือนั้นเป็นผู้สอบไล่ และให้คะแนนในทางปฏิบัติโดยเฉพาะขณะทำการสอบไล่ ผู้นำร่องนั้นจักต้องรับผิดชอบในการนำร่องเรือนั้น

ในการสอบไล่ทางวิชาการ ให้สอบปากเปล่าต่อหน้าคณะกรรมการ

 

ข้อ ๘  คะแนนสอบไล่ทางปฏิบัติ และทางวิชาการนั้นให้แยกประเภทกันไว้ ผู้ที่อาจนับว่าสอบไล่ได้จะต้องได้คะแนนรวมในประเภททางปฏิบัติไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ และทางวิชาการไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐

เมื่อสอบไล่ทั้งสองประเภทนั้นแล้วเป็นหน้าที่ของประธานกรรมการรายงานผลการสอบไล่เสนอต่ออธิบดีกรมเจ้าท่า ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินเด็ดขาดว่าผู้เข้าสอบไล่จะได้หรือตก

 

ข้อ ๙  ผู้สมัครสอบไล่เพื่อรับอนุญาตเป็นผู้นำร่องชั้น ๒ จะต้องสอบไล่ตามหลักสูตรต่อไปนี้

(๑) ในการเรือทั่วไป จะต้องมีความรู้ในวิชาการเรือ สามารถบังคับและนำร่องเรือขนาดไม่เกิน ๑,๕๐๐ ตันริยิสเตอร์ เข้าและออกระหว่างเขตที่กำหนดไว้ ตลอดทั้งการนำเรือออกและจอดด้วย

(๒) ในทางเดินเรือและร่องน้ำ ต้องรู้ระยะเวลาและตำบลเรือทุ่นต่าง ๆ ที่ตื้นและหัวแหลม เขตท่าเรือ เขตจอดเรือ และท่าเทียบเรือต่าง ๆ ภายในเขตท่าที่บังคับการนำร่อง

(๓) พระราชบัญญัติป้องกันเหตุเรือโดนกันฯ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม ฯ และกฎข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งกำลังใช้อยู่ อันเป็นหน้าที่ของผู้นำร่องจะต้องรู้

(๔) วิธีใช้ประมวลสัญญาณสากล และให้ใช้สัญญาณนั้นได้ด้วย

 

ข้อ ๑๐  ถ้าผู้สมัครสอบไล่ตก จะให้เวลาทำการฝึกนำร่องอีก ๑ เดือน แล้วทำการสอบไล่แก้ตัวใหม่ ถ้าสอบไล่ตกอีกเป็นครั้งที่ ๒ ก็ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าพิจารณาว่าสมควรจะให้สอบไล่อีกหรือไม่ ถ้าให้สอบไล่อีกก็ต้องไปฝึกอีก ๑ เดือน แล้วสอบไล่ใหม่ หรือมิฉะนั้นก็ให้คัดชื่อออกเสียเลย แต่ถ้าสอบไล่ตกอีกเป็นครั้งที่ ๓ ให้หมดสิทธิเป็นผู้ฝึกนำร่องอีกต่อไป ส่วนผู้ที่สอบไล่ได้นั้น ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าออกใบอนุญาตให้เป็นผู้นำร่อง

ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำร่องของรัฐบาลหรือเทศบาลนั้น จะได้คัดเลือกจากผู้ที่สอบไล่ได้แล้วตามลำดับคะแนน ในการนี้ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเสนอรายนามต่อรัฐมนตรี เพื่อประกาศแต่งตั้งต่อไป

 

ข้อ ๑๑  ลักษณะกำหนดสำหรับผู้นำร่องชั้น ๑ นั้น นอกจากความรู้ความชำนาญสำหรับผู้นำร่องชั้น ๒ แล้ว ต้องสามารถนำเรือทุกขนาด ต้องรอบรู้ถึงศิลปแห่งการแต่งเรือ การบังคับเรือในลักษณะต่าง ๆ ณ ที่คับขัน ลักษณะของน้ำขึ้นน้ำลง ตลอดฤดูต่าง ๆ และข้อบังคับการนำร่องซึ่งกำลังใช้อยู่โดยละเอียด

เมื่อมีการสอบไล่เป็นผู้นำร่องชั้น ๑ ให้นำบทบังคับในข้อ ๖ และ ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ข้อ ๑๒  ผู้นำร่องชั้น ๒ มีความประสงค์จะขอเลื่อนชั้นเป็นผู้นำร่องชั้น ๑ เมื่อใด ให้ทำรายงานเสนอขึ้นมาตามลำดับชั้น เมื่อหัวหน้าผู้นำร่องได้รับรายงานนั้นแล้วให้ขอความเห็นจากบรรดาผู้นำร่องทั้งสิ้นในเขตท่าหรือน่านน้ำเดียวกัน ถ้าส่วนข้างมากเห็นว่าผู้นั้นอยู่ในลักษณะกำหนดควรเลื่อนชั้นได้ จึงให้หัวหน้าผู้นำร่องรายงานเสนอความเห็นนั้นต่อไปจนถึงอธิบดีกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นผู้พิจารณาเด็ดขาดอีกชั้นหนึ่ง แล้วแต่ความสมควรแห่งกรณี ในการเลื่อนชั้นผู้นำร่องนี้ ให้เสนอรายนามต่อรัฐมนตรีเพื่อประกาศเลื่อนชั้นต่อไป

 

ข้อ ๑๓  ผู้สมัครสอบเป็นผู้นำร่องพิเศษนั้น จะต้องเป็นนายเรือของเรือเดินทะเลที่ชักธงสยาม และเป็นนายเรือลำนั้นมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓ ปี การสอบไล่ให้อนุโลมสอบตามชั้นและตามขนาดเรือที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

ข้อ ๑๔  ใบอนุญาตผู้นำร่อง ปรากฏตามแบบต่อท้ายกฎนี้

 

ข้อ ๑๕  ผู้ใดมีประกาศนียบัตรและใบอนุญาตสำหรับทำการนำร่องภายในน่านน้ำสยามมาแล้วก่อนประกาศใช้กฎนี้ และสมัครจะทำการนำร่องต่อไป ให้รายงานเสนอต่ออธิบดีกรมเจ้าท่า ผ่านทางหัวหน้ากองตรวจท่า ถ้าอธิบดีกรมเจ้าท่าพิจารณาเห็นเป็นการสมควรให้แพทย์ตรวจร่างกาย สายตา เสียก่อนก็ได้ หรือจะออกใบอนุญาตให้ใหม่ตามคุณวุฒิของผู้นั้น โดยไม่ต้องให้แพทย์ตรวจก็ได้ และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามข้อ ๑๖ แห่งกฎนี้

หมวด ๒

ค่าธรรมเนียมสอบไล่ผู้นำร่อง

                  

 

ข้อ ๑๖  ผู้สมัครเข้าสอบไล่เป็นผู้นำร่อง ต้องเสียค่าธรรมเนียมพร้อมกับใบยื่นสมัครตามอัตราดังต่อไปนี้

สำหรับนำร่องชั้น ๒                                              ๒๕ บาท

สำหรับนำร่องชั้น ๑ หรือนำร่องพิเศษ                           ๓๐ บาท

เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมแล้ว ถึงแม้ตนจะหมดสิทธิหรือไม่ได้ทำการสอบไล่ด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม จะไม่คืนค่าธรรมเนียมให้

 

ข้อ ๑๗  เมื่อผู้สมัครได้ทราบกำหนดวันสอบไล่แน่นอนแล้ว ต้องนำเงินคนละ ๒๐ บาทมามอบให้หัวหน้ากองตรวจท่า ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในการนั้นไว้เสียก่อนวันสอบไล่ เพื่อจ่ายเป็นรางวัลแก่กรรมการซึ่งอยู่นอกราชการ

 

ข้อ ๑๘  ผู้สมัครสอบเป็นผู้นำร่องของรัฐบาลหรือเทศบาล ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสอบไล่และเงินรางวัลสำหรับกรรมการตามข้อ ๑๖ และ ๑๗ แต่ให้เจ้าท่าเป็นผู้จ่าย

หมวด ๓

มรรยาทและหน้าที่ของผู้นำร่อง

                  

 

ข้อ ๑๙  ผู้นำร่องทุกคนจะต้องอยู่ในบังคับบัญชาและเชื่อฟังคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของหัวหน้าผู้นำร่องและผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งจะต้องประพฤติตนให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเสมอ

 

ข้อ ๒๐  อธิบดีกรมเจ้าท่ามีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้นำร่องลาพักหรือลาป่วยได้ แต่ถ้าอธิบดีกรมเจ้าท่าไม่อยู่ ก็ให้หัวหน้ากองตรวจท่าอนุญาตให้ลาได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ป่วยในเมื่อมีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้น ๑

(๒) กิจธุระส่วนตัวอันจำเป็นในเมื่อหัวหน้าผู้นำร่องรับรองว่าจะไม่เสียการงานในรอบเวรของผู้นั้น

 

ข้อ ๒๑  ผู้นำร่องคนใดได้รับอนุญาตให้ลาป่วยแล้ว จะกลับมาทำงานอีกไม่ได้จนกว่าจะมีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้น ๑ มาแสดงว่าร่างกายสมบูรณ์พอที่จะปฏิบัติการงานได้ต่อไป

 

ข้อ ๒๒  ผู้นำร่องที่กลับจากการลาจะต้องรายงานแสดงตนต่อหัวหน้าผู้นำร่องและเจ้าท่า

 

ข้อ ๒๓  ผู้นำร่องคนใดได้หยุดงานในหน้าที่ติดต่อกันมีกำหนดตั้งแต่ ๖ เดือนขึ้นไป จะกลับเข้าทำงานนำร่องอีกทันทีได้หรือไม่นั้น แล้วแต่พฤติการณ์เกี่ยวกับการนำร่องซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่าจะเป็นผู้สั่งโดยพิจารณาตามคำแนะนำของหัวหน้าผู้นำร่อง

 

ข้อ ๒๔  ผู้นำร่องทุกคนจะออกไปพ้นเขตท่าที่บังคับการนำร่องในหน้าที่ของตนตามลำพังไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากหัวหน้าผู้นำร่อง และจะต้องรายงานวันที่ออกไปจากเขตท่านั้นให้เจ้าท่าทราบไว้ด้วย

 

ข้อ ๒๕  ห้ามมิให้ผู้นำร่องประพฤติตนดังต่อไปนี้

(๑) นอนหลับในเวลานำร่อง

(๒) เมาสุราในเวลานำร่อง

(๓) ปฏิเสธที่จะนำเรือตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุชี้แจงอันสมควร

(๔) ขัดคำสั่งหรือขาดคารวะต่อผู้บังคับบัญชา

(๕) รับสินน้ำใจโดยตรงหรือโดยปริยาย

(๖) จงใจรายงานเท็จในเรื่องพฤติการณ์เกี่ยวกับการนำร่อง เช่น เรือติดตื้น เรือโดนกัน ฯลฯ

(๗) กระทำหรือสมรู้ในการฉ้อโกงใด ๆ หรือละเมิดกฎหมายอันเกี่ยวกับการท่า การศุลกากร หรือสรรพสามิต

(๘) จงใจฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับหน้าที่และมรรยาทของผู้นำร่อง

 

ข้อ ๒๖  ในกรณีที่อธิบดีกรมเจ้าท่าสั่งเพิกถอน ยึด หรือลดชั้นใบอนุญาตนำร่องใดตามบทพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) ผู้นำร่องนั้นจะต้องรีบส่งใบอนุญาตคืนให้หัวหน้ากองตรวจท่า

 

ข้อ ๒๗  ผู้นำร่องทุกคนจะต้องใฝ่ใจให้ทราบระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวด้วยหน้าที่ของตนอยู่เสมอ

 

ข้อ ๒๘  ผู้นำร่องทุกคนต้องร่วมมือกันและเข้าประจำเวรให้สม่ำเสมอกันเสมอในกิจการนำร่อง

ผู้นำร่องจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการนำร่องตามบัญชีเวรซึ่งหัวหน้าผู้นำร่องได้กำหนดไว้ และจะสับเปลี่ยนเวรกันตามลำพังไม่ได้ เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากหัวหน้าผู้นำร่องและบัญชีรายนามตามรอบเวรนั้นได้แก้แล้ว

ถ้ามีเหตุที่จะต้องใช้ผู้นำร่องไปทำการนำร่องเรือใดเป็นพิเศษ ให้หัวหน้าผู้นำร่องพิจารณาคัดเลือกผู้นำร่องไปทำการนอกเวรของผู้นั้นได้ โดยความเห็นชอบของกรมเจ้าท่าหรือเจ้าท่า

 

ข้อ ๒๙  ผู้นำร่องทุกคนจะต้องรีบเดินทางไปคอยรับเรือตามระเบียบ และรอบเวรของตน หรือตามคำสั่งซึ่งหัวหน้าผู้นำร่องจัดไว้ ถ้าป่วยไม่สามารถจะไปทำการตามหน้าที่ได้ต้องรายงานด่วนเสนอให้หัวหน้าผู้นำร่องทราบทันที

 

ข้อ ๓๐  เรือผู้นำร่องทุกลำเมื่อเวลาคอยทำการนำร่องต้องชักธงอักษร H (เอช) ตามประมวลสัญญาณสากลขึ้นไว้เป็นสำคัญ

 

ข้อ ๓๑  ผู้นำร่องทุกคน เมื่อขึ้นบนเรือลำใดเพื่อทำการนำร่อง ต้องขอทราบจากนายเรือก่อน ว่ามีวัตถุระเบิดหรือสิ่งที่น่ากลัวอันตรายอย่างใด ๆ ในเรือลำนั้นหรือไม่ ถ้าหากมีก็ให้แจ้งแก่นายเรือว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร

 

ข้อ ๓๒  เมื่อจะทำการนำร่องเรือกลไฟไปลำใด ผู้นำร่องต้องขอทราบจากนายเรือว่าเครื่องจักรของเรือลำนั้นใช้ได้เป็นปกติและถอยหลังได้คล่องแคล่วรวดเร็วดี ตัวสมออยู่พ้นน้ำพร้อมเพรียงที่จะใช้ได้ทันทีและเครื่องถือท้ายเรียบร้อยไม่มีสิ่งใดกีดขวางและใช้ได้คล่องดีเป็นปกติหรือไม่ ถ้าเรือลำนั้นมีกำลังไอน้ำไม่พอ หรือเครื่องประกอบเรือดังกล่าวแล้วไม่เรียบร้อยพอที่จะป้องกันมิให้เกิดภยันอันตรายได้แล้ว จะงดการนำเรือลำนั้นไว้จนกว่านายเรือจะจัดการให้เรียบร้อยเสียก่อนก็ได้ และถ้านายเรือขืนจะให้นำเรือในขณะนั้นจงได้ ก็ให้รายงานต่อหัวหน้ากองตรวจท่า หรือเจ้าท่า ซึ่งจะเป็นผู้วินิจฉัยและสั่งการโดยเด็ดขาด

 

ข้อ ๓๓  ผู้นำร่องทุกคน เมื่อขึ้นบนเรือลำใดเพื่อทำการนำร่อง ต้องขอทราบจากนายเรือลำนั้นเสียก่อนว่า มีไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค หรือโรคติดต่ออันตรายอย่างอื่นในเรือ หรือได้มีโรคที่น่าสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายเช่นนั้นในเรือเมื่อเวลามาตามทางนั้นหรือไม่ ถ้าหากมีหรือได้มีโรคติดต่ออันตราย หรือโรคที่น่าสงสัยเช่นนั้น ให้ผู้นำร่องแจ้งให้นายเรือแสดงสัญญาณสำหรับบอกว่ามีโรคติดต่ออันตรายขึ้นไว้ แล้วนำเรือไปทอดสมออยู่ที่สถานีป้องกันโรคติดต่ออันตราย และอยู่ที่นั่นจนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์จะอนุญาตปล่อยให้ไปได้

ถ้าเรือได้ผ่านสถานีป้องกันโรคติดต่ออันตรายเข้ามาแล้ว และเกิดโรคติดต่ออันตรายขึ้นภายหลัง ต้องแจ้งให้นายเรือแสดงสัญญาณสำหรับบอกว่ามีโรคติดต่ออันตรายขึ้นไว้ แล้วนำเรือไปทอดสมอและคอยอยู่ ณ ด่านป้องกันโรคติดต่ออันตรายจนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์จะอนุญาตปล่อยให้ไปได้

ในระหว่างเวลาที่เจ้าพนักงานแพทย์ยังไม่ได้ขึ้นไปตรวจบนเรือ ห้ามมิให้มีการไปมาติดต่อกันในระหว่างเรือที่ต้องกักด่านเช่นนั้นกับฝั่งเป็นอันขาด

 

ข้อ ๓๔  เมื่อเรือใดต้องถูกกักด่านป้องกันโรคติดต่ออันตราย ถ้าเจ้าพนักงานแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องกักผู้นำร่องเรือลำนั้นไว้ในเรือ เพราะเหตุที่ได้ขึ้นไปอยู่บนเรือที่มีโรคติดต่ออันตรายเช่นนั้น ผู้นำร่องนั้นต้องปฏิบัติตามความเห็นของแพทย์ จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ไปได้

 

ข้อ ๓๕  เมื่อเวลาออกกระทำการนำร่อง ผู้นำร่องต้องมีใบอนุญาตไว้กับตัวพร้อมทั้งกฎข้อบังคับสำหรับการนำร่องและพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยามฯ ถ้านายเรือหรือผู้ควบคุมเรือลำใดที่ตนขึ้นไปบนเรือแล้วนั้นขอดูต้องให้ดูตามประสงค์

 

ข้อ ๓๖  ผู้นำร่องทุกคนเมื่อกำลังทำการนำร่อง ในเวลากลางวันจะต้องชักธงประจำตัวขึ้นไว้ ณ ที่ซึ่งแลเห็นได้โดยชัดเจน ธงนี้ใช้อักษร H(เอช) ตามประมวลสัญญาณสากล แต่มีหมายเลขประจำตัวเป็นเลขอารบิคสีดำขนาดสูงเพียง ๓/๔ ของธง ขนาดกว้างพองามอยู่กลางธงนั้น

 

ข้อ ๓๗  ผู้นำร่องที่กระทำการนำร่องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยามฯ พระราชบัญญัติป้องกันเหตุเรือโดนกันฯ และพระราชบัญญัติอื่น ๆ ตลอดจนกฎข้อบังคับที่เกี่ยวเนื่องกัน

 

ข้อ ๓๘  เมื่อผู้นำร่องเห็นหรือทราบว่าเรือลำใดจะทำการละเมิดพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยามฯ ว่าด้วยการทิ้งอับเฉาลงในแม่น้ำเขตท่า หรือในทำเลทอดสมอจอดเรือ ผู้นำร่องนั้นต้องตักเตือนนายเรืออย่าให้ทำเช่นนั้น ถ้านายเรือไม่เชื่อฟังให้รายงานด่วนต่อเจ้าท่าในโอกาสแรก

 

ข้อ ๓๙  ผู้นำร่องจะต้องคอยระวังมิให้เรือใดทำการหยั่งน้ำภายในเขตท่าเรือหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่อง เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากผู้นำร่อง

ถ้าเป็นน่านน้ำนอกเขตที่บังคับการนำร่อง ให้ผู้นำร่องพยายามให้ได้มีการหยั่งน้ำ ณ ที่และเวลาตามต้องการ

 

ข้อ ๔๐  ผู้นำร่องที่กำลังทำการนำร่องเรือใดอยู่ จะต้องไม่ยอมให้เรืออื่นที่ไม่มีผู้นำร่องอยู่บนเรือนั้นมาจูงเรือของตน เว้นไว้แต่เรือนั้นจะมาพ่วงข้างเรือหรือเป็นเรือซึ่งฝ่ายการนำร่องจัดไว้สำหรับจูงโดยเฉพาะ หรือนายเรือลำนั้นได้รับใบอนุญาตนำร่องพิเศษ จึงจะยอมให้ทำได้

 

ข้อ ๔๑  ผู้นำร่องของเรือจูง เมื่อกำลังทำการนำร่องเรือจูงลำใดอยู่ จะต้องฟังบังคับบัญชาผู้นำร่องของเรือที่ถูกจูงนั้น ในเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยามฯ และพระราชบัญญัติอื่น ๆ ตลอดจนกฎข้อบังคับที่เกี่ยวกับการนำเรือ

 

ข้อ ๔๒  ถ้าผู้นำร่องคนใดพบหรือมีเหตุสมควรจะสงสัยว่า ทุ่นที่ทอดเป็นเครื่องหมายทุ่นหนึ่งทุ่นใดเคลื่อนจากที่ ๆ เคยทอดอยู่ตามปกติ หรือหลุดจากที่นั้นลอยอยู่ หรือเป็นอันตรายลง หรือหายไปจากที่ก็ดี หรือสังเกตเห็นโคมไฟ เครื่องหมายสำหรับการเดินเรือแห่งใดผิดปกติ หรือบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี เมื่อกลับมายังที่ทำการในคราวนั้น ผู้นำร่องคนนั้นต้องมีหนังสือแจ้งความนั้น ๆ ให้เจ้าท่าทราบภายในสิบสองชั่วโมงนับแต่เวลาที่กลับมาถึงแล้ว

 

ข้อ ๔๓  ถ้าผู้นำร่องคนใดสังเกตเห็นว่ามีสิ่งกีดขวางหรือมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในร่องน้ำใด ๆ ก็ดี หรือสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏหรือน่าสงสัยว่าได้มีขึ้นแก่ที่หมายบนบกแห่งใด ๆ ซึ่งเป็นที่เคยสังเกตสำหรับการเดินเรือก็ดี ผู้นำร่องนั้นต้องรายงานเป็นหนังสือให้เจ้าท่าทราบโดยมิชักช้า

 

ข้อ ๔๔  ผู้นำร่องที่นำเรือเข้ามาในท่าเรือใด จะต้องนำเรือไปทอดสมอหรือเทียบท่าตามคำสั่งของเจ้าพนักงานกองตรวจท่าหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของท่า

 

ข้อ ๔๕  ผู้นำร่องจะนำเรือซึ่งจะออกไปพ้นเขตน่านน้ำสยามจากท่าหรือตำบลใดได้ ต่อเมื่อเรือนั้นได้มีใบปล่อยเรือแล้ว และจะเคลื่อนเรือภายในเขตท่าที่บังคับการนำร่องได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตรวจท่า หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของท่าหรือตามระเบียบการนำร่อง

 

ข้อ ๔๖  ผู้นำร่องที่นำเรือลำใดเข้าหรือออกไปส่ง ณ ที่ใด ๆ ก็ตาม ต้องอยู่ต่อไปในเรือจนกว่าเรือลำนั้นได้ทอดสมอหรือเทียบท่าเรียบร้อยแล้ว หรือนำเรือไปพ้นเขตบังคับการนำร่องแล้ว จึงจะไปจากเรือลำนั้นได้ เว้นไว้แต่มีเหตุอันสมควรหรือได้ทำความตกลงกับนายเรือไว้โดยหลักฐานเป็นหนังสือ

 

ข้อ ๔๗  ผู้นำร่องทุกคนที่นำร่องเรือลำใด ต้องใช้ความระมัดระวังและพยายามให้มากที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้เกิดอันตราย หรือเสียหายขึ้นแก่เรือลำนั้น หรือเรือลำอื่นหรือแก่ทรัพย์สิ่งของอย่างใด ๆ และถ้ามีเหตุอันตรายเกิดในระหว่างที่ตนกำลังเป็นผู้นำร่องเรือลำใดอยู่ ผู้นำร่องนั้นต้องรายงานเป็นหนังสือแจ้งเหตุไปยังเจ้าท่าตามข้อ ๔๘ - ๔๙ แห่งกฎนี้โดยอนุโลม

 

ข้อ ๔๘  เรือลำใดสมอขาด ถ้ามีผู้นำร่องไปกับเรือ ต้องรีบรายงานเหตุการณ์นั้นต่อเจ้าท่า ในรายงานนั้นจะต้องให้นายเรือลำนั้นลงนามร่วมมาด้วย แสดงรายการดังต่อไปนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การค้นหาสมอที่หายนั้น

(๑) ที่เกิดเหตุ

(๒) ทิศเล็งของที่หมายประจำที่ต่าง ๆ ซึ่งแลเห็นได้

(๓) ลักษณะของกระแสน้ำและความลึกของน้ำขณะเกิดเหตุ

(๔) น้ำหนักของสมอและรายการอื่น ๆ ที่ควรบอก

 

ข้อ ๔๙  เรือลำใดที่กำลังอยู่ในความควบคุมของผู้นำร่อง เกยที่ตื้นโดนเรือหรือทุ่นหรือประสพอันตรายอย่างใด ๆ ก็ดี ผู้นำร่องต้องรายงานด่วนเสนอต่อเจ้าท่า ดังรายการต่อไปนี้

(๑) ที่เกิดเหตุ

(๒) ทิศเล็งของที่หมายประจำที่ต่าง ๆ ซึ่งแลเห็นได้

(๓) อัตรากินน้ำลึกของเรือขณะนั้น

(๔) ลักษณะของกระแสน้ำและท้องทะเล

(๕) ทิศและกำลังของลม

(๖) กำลังเร็วที่แล่นขณะเกิดเหตุ

(๗) เวลาที่เกิดเหตุ

(๘) พฤติการณ์ซึ่งเกิดเหตุนั้น

(๙) ความเสียหายเท่าที่ตรวจได้ในเวลานั้น

(๑๐) เวลาที่เรือนั้นเกยที่ตื้นนานเท่าใด

(๑๑) เรือหลุดออกจากที่ตื้นได้ด้วยวิธีใด

(๑๒) ปริมาณของน้ำที่ถูกผลักเท่าที่ทราบได้จากการหยั่งน้ำระหว่างเวลาที่เรือเกยตื้นนั้น

(๑๓) รายการอื่น ๆ ที่ควรบอก

(๑๔) แสดงแผนที่สังเขป ถ้าสามารถจะทำได้

ผู้นำร่องจะต้องขอให้นายเรือลำนั้นลงนามร่วมในรายงาน หรือแยกทำรายงานต่างหาก เพื่อประกอบรายงานของตนก็ได้ กฎข้อนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้นำร่องเรือจูงในกรณีที่เรือถูกจูงไม่มีผู้นำร่องด้วย

 

ข้อ ๕๐  ถ้าผู้นำร่องคนใดไม่พอใจในมรรยาทของนายเรือลำใด ก็ให้ทำรายงานเสนอจนถึงหัวหน้ากองตรวจท่าหรือเจ้าท่า

 

ข้อ ๕๑  เมื่อเสร็จสิ้นการนำร่องเรือหรือเคลื่อนเรือครั้งหนึ่งครั้งใดแล้ว ผู้นำร่องต้องให้นายเรือตรอกข้อความและลงนาในใบสำคัญตามแบบ น.๑ ต่อท้ายกฎนี้ เพื่อรับรองว่าผู้นำร่องได้นำเรือไปโดยเรียบร้อย แล้วเสนอต่อหัวหน้าผู้นำร่องในโอกาสแรกที่ตนกลับถึงที่ทำการนำร่อง ถ้าปรากฏว่าใบรับรองนั้นไม่เป็นที่พอใจ ให้หัวหน้าผู้นำร่องเสนอตามลำดับชั้น เพื่อจัดการสอบสวนหรือสั่งการต่อไปตามที่เห็นสมควร

 

หมวด ๔

เขตท่าเรือหรือน่านน้ำซึ่งบังคับให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยมีผู้นำร่อง ขนาดและชนิดของเรือที่ยกเว้นไม่ต้องบังคับใช้ผู้นำร่อง การเพิ่มหรือลดหย่อนค่าจ้างนำร่อง

                  

 

ข้อ ๕๒  เขตท่าหรือน่านน้ำซึ่งบังคับให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยมีผู้นำร่องนั้น ให้กำหนดเขตไว้ดังต่อไปนี้

(๑) ตั้งแต่เขตน้ำลึกประมาณ ๘ เมตรนอกสันดอน ซึ่งปรากฏในแผนที่สันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ใกล้กับเรือที่พักผู้นำร่อง ผ่านเขตท่าเรือกรุงเทพฯ ตลอดจนสุดเขตด้านเหนือของท่าเรือกรุงเทพฯ

(๒) เขตท่าเรือหรือน่านน้ำอื่นนอกจากที่กล่าวไว้ใน (๑) นั้นตามแต่จะได้ออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมต่อไป

 

ข้อ ๕๓  เรือที่จะกล่าวต่อไปนี้ ให้ยกเว้นไม่ต้องบังคับใช้ผู้นำร่องภายในเขตตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๕๒ คือ

(๑) เรือของรัฐบาลสยาม

(๒) เรือรบต่างประเทศ

(๓) เรือยอช์ตเอกชน

(๔) เรือจับสัตว์น้ำสยาม

(๕) เรือที่มีขนาดต่ำกว่า ๒๕๐ ตันริยิสเตอร์

บรรดาเรือที่ยกเว้นไม่ต้องบังคับให้ใช้ผู้นำร่องดังกล่าวนี้ ถ้าจะต้องการผู้นำร่องก็ได้ โดยยอมเสียค่าจ้างนำร่องตามพิกัดเช่นเดียวกับเรืออื่น ๆ หรือตกลงพิเศษเฉพาะราย

 

ข้อ ๕๔  เรือเดินทะเลที่ชักธงสยาม ซึ่งนายเรือได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำร่องพิเศษแล้วนั้นให้เสียค่าจ้างนำร่องเพียงกึ่งอัตราของพิกัดค่าจ้างนำร่องที่กำหนดไว้ในหมวด ๙ ทุกสถาน

 

ข้อ ๕๕  ในเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับให้ใช้ผู้นำร่อง ถ้าเรือใดฝ่าฝืนไม่ใช้ผู้นำร่อง เรือลำนั้นต้องเสียค่าจ้างนำร่องเป็นเงินสองเท่าอัตราแห่งพิกัดที่กำหนดไว้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการที่ไม่ใช้ผู้นำร่องนั้น เกิดขึ้นเพราะข้อหนึ่งข้อใดในกรณีต่อไปนี้ จึงให้เสียค่าจ้างนำร่องตามพิกัด คือ

(๑) ได้รับคำสั่งจากผู้นำร่องให้แล่นตามเรือลำหนึ่งลำใด ซึ่งมีผู้นำร่องอยู่แล้ว

(๒) ไม่มีผู้นำร่อง

ในกรณีแรก เป็นหน้าที่ของผู้นำร่องต้องรายงานตามลำดับชั้นจนถึงหัวหน้ากองตรวจท่า หรือเจ้าท่า ส่วนกรณีหลังเป็นหน้าที่ของนายเรือต้องชี้แจงเหตุผลให้เจ้าท่าทราบโดยด่วน ถ้าเจ้าท่าไม่พอใจในเหตุผลนั้น จะไม่ยอมผ่อนผันลดให้และคงเก็บสองเท่าก็ได้

 

ข้อ ๕๖  เรือใดซึ่งอยู่ในเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับให้ใช้ผู้นำร่อง ถ้าต้องเคลื่อนเรือให้เดินหรือนำเรือเข้าออกจากท่าเรือในเขตใด เวลาใด ซึ่งกำหนดไว้ในหมวดพิกัดค่าจ้างนำร่องของเขตท่าหรือน่านน้ำใด ว่าเป็นการนอกเวลาทำงานตามปกติแล้ว จะต้องยอมเสียค่าจ้างนำร่องนอกเวลาเพิ่มขึ้นอีกกึ่งอัตราของพิกัดค่าจ้างนำร่องตามปกติ

ความในวรรคก่อน ให้ยกเว้นไม่ต้องใช้บังคับถึงเรือซึ่งใช้ผู้นำร่องพิเศษ

 

หมวด ๕

แบบบัญชีและรายงานซึ่งเกี่ยวกับกิจการนำร่อง

                  

 

ข้อ ๕๗  เพื่อให้กิจการนำร่องภายในน่านน้ำสยาม ซึ่งอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลดำเนินไปโดยสมรรถภาพและแบบอย่างอันเดียวกัน ให้ใช้เอกสารในการนำร่องดังต่อไปนี้

(๑) บันทึกการงาน

(๒) บัญชีรายได้รายจ่าย

(๓) รายงาน

 

ข้อ ๕๘  บันทึกการงานซึ่งต้องมีไว้สำหรับที่ทำการนำร่องทุกแห่งนั้น ให้แยกทำเล่มสมุดไว้อย่างละ ๑ เล่ม ดังต่อไปนี้

(๑) สมุดรายนามผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่อง ให้แยกรายนามไว้ให้ชัดเจนในสมุดเดียวกัน โดยมีรายการ เลขที่ นาม (ถ้ามีบรรดาศักดิ์ให้ลงนามเดิมกำกับไว้ด้วย) วันเกิด วันที่ประจำการนำร่องแห่งนั้น หมายเหตุ และถ้ามีเพิ่มจำนวนหรือลดจำนวนลงเพราะเหตุใดเมื่อใด ต้องลงหมายเหตุตามความจริงไว้ให้ชัดเจน

(๒) สมุดนำร่องเรือประจำวัน ให้มีรายการแสดงวันเดือนปี ชื่อเรือ ธงชาติ จำนวนตันริยิสเตอร์ เจ้าของหรือผู้แทน นามผู้นำร่อง หมายเหตุ

(๓) สมุดนำร่องเรือประจำเดือนและประจำปี ซึ่งรวบรวมรายการจากสมุดนำร่องเรือประจำวัน เพื่อทำเป็นสถิติเก็บรักษาไว้ บัญชีประจำเดือนนั้นให้แสดงรายการแยกตามสัญชาติดังต่อไปนี้

เลขที่ รายการ (ชื่อเรือ) จำนวนตันริยิสเตอร์ เจ้าของหรือผู้แทน หมายเหตุ แล้วรวมยอดประจำเดือนไว้ให้ชัดเจนตามแบบ น.๒ ต่อท้ายกฎนี้

เมื่อสิ้นปีหนึ่ง ๆ ให้รวบรวมทำสถิติประจำปีแสดงรายการ สัญชาติ จำนวนเรือ จำนวนตันริยิสเตอร์ แล้วรวมยอดประจำปีต่อท้ายสถิติประจำเดือนที่สิ้นปีนั้นไว้ในสมุดเล่มเดียวกัน

 

ข้อ ๕๙  บัญชีรายได้รายจ่ายซึ่งต้องมีไว้สำหรับที่ทำการนำร่องทุกแห่งนั้น ให้แยกทำเป็นเล่มสมุดไว้อย่างละ ๑ เล่ม ดังต่อไปนี้

(๑) สมุดบัญชีรายได้ประจำวันการนำร่อง ให้แสดงรายการวันเดือนปี รายการ (ชื่อเรือ) จำนวนตันริยิสเตอร์ เจ้าของหรือผู้แทน ประเภทเงินรายได้ แบ่งออกเป็นรายได้ตามพิกัด รายได้เรือมีผู้นำร่องพิเศษ รายได้นอกเวลา แล้วรวมเงินและทำงบเดือนนั้นไว้ตามแบบ น.๓ ต่อท้ายกฎนี้

(๒) สมุดบัญชีรายจ่ายประจำวันการนำร่อง ให้แสดงรายการวันเดือนปี รายการ (จ่าย) ประเภทเงินรายจ่ายแบ่งออกเป็นเงินเดือนหรือเงินปันผล น้ำมันเชื้อเพลิง เบ็ดเตล็ด แล้วรวมเงินและทำงบเดือนไว้ตามแบบ น.๔ ต่อท้ายกฎนี้

(๓) สมุดรายได้รายจ่ายประจำปี ให้มีรายการแสดงยอดเงินรายได้ รายจ่ายเป็นเดือน ๆ ไปจนครบปี แล้วรวมยอดเงินงบปีหักแล้วคงเหลือเท่าใด จัดแบ่งไว้เป็นเงินสำรองและเงินปันผลอีกเท่าใด ทั้งนี้ต้องแสดงรายการให้เห็นโดยชัดเจน

 

ข้อ ๖๐  รายงานซึ่งต้องมีไว้สำหรับที่ทำการนำร่องทุกแห่ง ต้องเสนอถึงกรมเจ้าท่าเพื่อรวบรวมทำเป็นสถิตินั้น ให้ทำเป็นหนังสือนำส่งเอกสาร ดังต่อไปนี้

(๑) รายนามผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่อง ซึ่งคัดจากสมุดในข้อ ๕๘ (๑) บัญชีนี้ต้องส่งถึงกรมเจ้าท่าในวารแรกตั้งที่ทำการนำร่อง และส่งเพิ่มเติมเป็นครั้งคราวในเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายนาม

(๒) สถิตินำร่องเรือประจำเดือน  ซึ่งคัดจากสมุดในข้อ ๕๘ (๓) ตามแบบ น.๒ สถิตินี้ต้องส่งถึงกรมเจ้าท่าภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไป ถ้าที่ทำการนำร่องแห่งใดไม่สามารถจะปฏิบัติได้ตามกำหนดนี้ ให้ชี้แจงขอทำความตกลงต่อกรมเจ้าท่าเป็นพิเศษ ถ้ากรมเจ้าท่ายินยอมตกลงเป็นอย่างอื่นก็อนุญาตให้ทำได้ และถ้าเป็นเดือนสิ้นปี ให้ส่งสถิติประจำปีตามความในวรรคท้ายแห่งข้อ ๕๘ (๓) มาพร้อมกับสถิตินำร่องเรือประจำเดือนนั้นด้วย

(๓) งบรายได้รายจ่ายประจำเดือน ซึ่งคัดจากสมุดรายได้รายจ่ายในข้อ ๕๙ มีรายการแสดงตามแบบ น.๕ ต่อท้ายกฎนี้ กำหนดการส่งถึงกรมเจ้าท่าให้ปฏิบัติตามความในข้อ ๖๐ (๒) โดยอนุโลม

(๔) งบรายได้รายจ่ายประจำปี ซึ่งคัดจากสมุดในข้อ ๕๙ (๓) กำหนดการส่งถึงกรมเจ้าท่าให้ปฏิบัติตามความในข้อ ๖๐ (๒) โดยอนุโลม

 

หมวด ๖

การจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาการลงทัณฑ์แก่ผู้นำร่อง

                  

 

ข้อ ๖๑  ให้มีคณะกรรมการพิจารณาการลงทัณฑ์แก่ผู้นำร่องขึ้นคณะหนึ่ง ดั่งต่อไปนี้

(๑) นายทหารเรือประจำการ ๑

(๒) หัวหน้ากองตรวจท่า ๑

(๓) หัวหน้าผู้นำร่องหรือผู้นำร่องอาวุโส ๑

(๔) นายเรือของเรือต่างประเทศ ๑

องค์ประชุมสำหรับคณะกรรมการนี้กอปร์ด้วยกรรมการสามนาย

ข้าราชการประจำการในคณะกรรมการซึ่งกล่าวแล้วนั้น ถ้าผู้ใดเป็นผู้มีอาวุโสให้ได้รับตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ

ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้นำร่องใดบกพร่องในทางวิชาชีพ ให้คณะกรรมการนี้มีหน้าที่พิจารณาและเสนอความเห็นว่าผู้นำร่องนั้นควรได้รับทัณฑ์ตามมาตรา ๔ (๙) แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) หรือไม่ และในสถานใด พร้อมด้วยสำนวนการพิจารณาต่ออธิบดี ซึ่งจะเป็นผู้วินิจฉัยสั่งการโดยเด็ดขาด

 

ข้อ ๖๒  บุคคลใดนอกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลหรือเทศบาลจะยื่นคำร้องขอให้ตั้งกรรมการดังกล่าวแล้ว จักต้องนำเงิน ๑๐๐ บาทมามอบให้หัวหน้ากองตรวจท่ายึดไว้เป็นประกันพร้อมกับคำร้องนั้น

ในกรณีที่ผู้นำร่องซึ่งถูกกล่าวหาไม่ถูกลงทัณฑ์ ให้ริบเงินประกันนั้นเสีย แต่ถ้าผู้นำร่องซึ่งถูกกล่าวหามีความผิดถูกลงทัณฑ์ ก็ให้คืนเงินประกันแก่ผู้กล่าวหา

หมวด ๗

เขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่องโดยใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และข้อบังคับต่าง ๆ

                  

 

ข้อ ๖๓  ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ เป็นต้นไป บรรดาเรือกลไฟและเรือเดินทะเลที่เคลื่อนเดินหรือเข้าออกในเขตท่าหรือน่านน้ำตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕๒ (๑) นั้น ต้องใช้ผู้นำร่องของรัฐบาลโดยเฉพาะ เว้นไว้แต่จะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องบังคับใช้ผู้นำร่องหรืออนุญาตให้ใช้ผู้นำร่องพิเศษตามบทบังคับในหมวด ๔ แห่งกฎนี้

 

ข้อ ๖๔  บรรดาเรือที่อยู่ในบังคับให้ใช้ผู้นำร่อง จะต้องพยายามเข้าไปให้ใกล้เรือพักผู้นำร่องภายในระยะ ๖๐๐ เมตร ในการนี้จะต้องรอเรือหรือหยุดเครื่อง หรือถ้าจำเป็นก็ต้องทอดสมอเพื่อให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงานนำร่องขึ้นเรือของตนเท่าที่จะสามารถทำได้

 

ข้อ ๖๕  ภายในเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่องทุกแห่ง ห้ามมิให้เรือใด ๆ ใช้ดิ่งหยั่งน้ำหรือใช้เครื่องมือสำหรับหยั่งน้ำ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากผู้นำร่อง ซึ่งกำลังควบคุมเรือนั้น หรือได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยาม หรือเป็นเรือแห่งราชนาวีสยาม

 

ข้อ ๖๖  บรรดาสัญญาณทุกชนิดซึ่งมิได้บังคับไว้ในกฎนี้โดยเฉพาะแล้ว ถ้าจำเป็นต้องใช้ ก็ให้ผู้ควบคุมเรือใช้ตามประมวลสัญญาณสากล

 

ข้อ ๖๗  เรือทุกลำที่จะเคลื่อนเดินหรือเข้าออกระหว่างเขตท่าเกาะสีชังกับท่าเรือกรุงเทพฯ หรือเขตท่าใด ๆ ซึ่งบังคับการนำร่องจะต้องอนุญาตให้ผู้นำร่องโดยสารจากที่แห่งหนึ่งไปถึงที่แห่งหนึ่งโดยไม่คิดค่าโดยสาร และให้เรือที่ต้องใช้ผู้นำร่องให้ที่พักและอาหารตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนั้นตามควรแก่ฐานะของผู้นำร่องนั้นโดยไม่คิดค่า

 

ข้อ ๖๘  เรือลำใดซึ่งอยู่ในเกณฑ์บังคับให้ใช้ผู้นำร่องก็ดี หรือนายเรือได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำร่องพิเศษก็ดี จะต้องมีสมุดปูมเรือ แสดงรายการและเวลาเคลื่อนเรือโดยแท้จริงไว้ในสมุดปูมนั้น การนี้ผู้นำร่องพิเศษนั้นจะต้องปฏิบัติตามความในข้อ ๕๓ แห่งกฎนี้ โดยจดรายการเคลื่อนเรือทุกครั้งภายในเขตที่บังคับการนำร่องลงในใบสำคัญตามแบบ น.๑ ที่ฝ่ายการนำร่องมอบหมายให้แล้วลงนามกำกับไว้ และจัดการส่งใบสำคัญนั้นให้ถึงที่ทำการนำร่องก่อนที่เรือนั้นจะออกไปพ้นเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่องนั้น

ในกรณีที่จะผ่อนผันและให้ความสะดวกแก่บรรดาเรือซึ่งใช้ผู้นำร่องพิเศษในเรื่องส่งใบสำคัญตามความในวรรคก่อนนั้น ถ้าเจ้าของหรือนายเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือจะขอทำความตกลงเป็นพิเศษ และถ้าฝ่ายการนำร่องตกลงยินยอมวางระเบียบเป็นหลักฐานไว้แล้วก็อนุญาตให้ทำได้

 

ข้อ ๖๙  เรือทุกลำซึ่งอยู่ในบังคับให้ใช้ผู้นำร่อง และกำลังเดินอยู่ภายในเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่องนั้น จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบของผู้นำร่อง เพื่อให้การนำร่องดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องตามบทบังคับแห่งกฎนี้

 

ข้อ ๗๐  บรรดาข้อความหรือบทบังคับแห่งกฎนี้ ถ้าเกิดเป็นปัญหาโต้แย้งหรือไม่ชัดเจนอย่างใด ให้เจ้าท่าแห่งน่านน้ำนั้นเป็นผู้พิจารณาตีความในปัญหานั้น ๆ ถ้าผู้ใดไม่พอใจต่อคำชี้แจงหรือข้อความที่เจ้าท่าสั่งในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ไปยังอธิบดีกรมเจ้าท่าภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของอธิบดีกรมเจ้าท่านั้นเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่อธิบดียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งของเจ้าท่ามีผลบังคับได้

 

หมวด ๘

จำนวนผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่อง

                  

 

ข้อ ๗๑  จำนวนผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่องของรัฐบาล ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการนำร่องภายในเขตที่บังคับการนำร่องตามข้อ ๕๒ (๑) แห่งกฎนี้นั้น จะต้องมีจำนวนผู้นำร่องไม่เกินกว่า ๒๒ คน และจำนวนผู้ฝึกการนำร่องต้องไม่เกิน ๔ คน ทั้งนี้ ไม่นับรวมจำนวนผู้นำร่องพิเศษเข้าด้วย

 

ข้อ ๗๒  ถ้าอธิบดีกรมเจ้าท่าเห็นว่าควรเพิ่มหรือลดจำนวนผู้นำร่องหรือผู้ฝึกนำร่อง แตกต่างไปจากจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อ ๗๑ เป็นครั้งคราวด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ก็อนุญาตให้ทำได้ในเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีหรือสภาการท่าและรักษาฝั่งซึ่งจะแต่งตั้งขึ้น

 

หมวด ๙

ขนาดเรือและพิกัดค่าจ้างนำร่อง

                  

 

ข้อ ๗๓  ตั้งแต่ที่ทอดจอดเรือสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ถึงเขตด้านใต้ของท่าเรือกรุงเทพฯ และจากเขตด้านใต้ของท่าเรือกรุงเทพฯ ถึงที่จอดเรือสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาคิดรวมทั้งขาเข้าและขาออก โดยอัตราดังต่อไปนี้

เรือขนาดต่ำกว่า ๑๕๐ ตันริยิสเตอร์ ๑๑๕ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๑๕๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๒๐๐ ตันริยิสเตอร์ ๑๓๘ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๒๐๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๒๕๐ ตันริยิสเตอร์ ๑๖๐ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๒๕๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๓๐๐ ตันริยิสเตอร์ ๑๖๖ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๓๐๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๓๕๐ ตันริยิสเตอร์ ๑๗๒ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๓๕๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๔๐๐ ตันริยิสเตอร์ ๑๗๘ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๔๐๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๔๕๐ ตันริยิสเตอร์ ๑๘๔ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๔๕๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๕๐๐ ตันริยิสเตอร์ ๑๙๐ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๕๐๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๕๕๐ ตันริยิสเตอร์ ๑๙๕ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๕๕๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๖๐๐ ตันริยิสเตอร์ ๒๐๐ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๖๐๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๖๕๐ ตันริยิสเตอร์ ๒๐๔ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๖๕๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๗๐๐ ตันริยิสเตอร์ ๒๐๗ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๗๐๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๗๕๐ ตันริยิสเตอร์ ๒๑๐ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๗๕๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๘๐๐ ตันริยิสเตอร์ ๒๑๓ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๘๐๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๘๕๐ ตันริยิสเตอร์ ๒๑๖ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๘๕๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๙๐๐ ตันริยิสเตอร์ ๒๑๙ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๙๐๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๙๕๐ ตันริยิสเตอร์ ๒๒๒ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๙๕๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๑๐๐๐ ตันริยิสเตอร์ ๒๒๕ บาท

เรือขนาดตั้งแต่ ๑๐๐๐ ตันริยิสเตอร์ แต่ต่ำกว่า ๑๐๕๐ ตันริยิสเตอร์ ๒๒๘ บาท

ถ้าเป็นเรือขนาดตั้งแต่ ๑๐๕๐ ตันริยิสเตอร์ ให้เพิ่มค่าจ้างอีกทุก ๆ ๕๐ ตันริยิสเตอร์ หรือเศษของ ๕๐ ตันริยิสเตอร์ต่อ ๒ บาท

 

ข้อ ๗๔  การนำร่องหรือเคลื่อนเรือภายในเขตท่าเรือกรุงเทพฯ ให้ถือเขตตามแผนที่ท่าเรือกรุงเทพฯ แห่งราชนาวีสยาม และเก็บค่าจ้างนำร่องทุกครั้งโดยอัตราต่อไปนี้

(๑) ระหว่างเขตท่าเรือกรุงเทพฯ ด้านใต้ กับเขตด้านเหนือของที่ทอดจอดเรือตอนที่ ๑ เงิน ๒๐ บาท

(๒) ระหว่างเขตที่ทอดจอดเรือตอนที่ ๒ เงิน ๑๕ บาท

(๓) ระหว่างเขตที่ทอดจอดเรือตอนที่ ๓ เงิน ๑๕ บาท

(๔) ตั้งแต่ปากคลองผดุงฯ ถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้า เงิน ๑๕ บาท

(๕) ตั้งแต่สะพานพุทธยอดฟ้า ถึงหน้าราชนาวี เงิน ๑๕ บาท

(๖) ตั้งแต่หน้าราชนาวี ถึงเขตท่าเรือกรุงเทพฯ ด้านเหนือ เงิน ๑๕ บาท

(๗) สำหรับนำเรือเข้าอู่หรือนำออกจากอู่ เงิน ๒๐ บาท

ถ้าเป็นเรือขนาดเกินกว่า ๑๒๐๐ ตันริยิสเตอร์ ให้เพิ่มพิกัดอีกระยะละ ๕ บาท สำหรับทุกระยะที่กล่าวมา

 

ข้อ ๗๕  ตั้งแต่สันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ถึงเขตท่าเกาะสีชัง หรือตั้งแต่เขตท่าเกาะสีชัง ถึงที่ทอดจอดเรือสันดอนปากน้ำเจ้าพระยานั้น ถ้าเรือลำใดต้องการใช้ผู้นำร่อง ให้คิดค่าจ้างกึ่งอัตราของพิกัดในข้อ ๗๓

 

ข้อ ๗๖  ตั้งแต่เส้นเขตท่าเกาะสีชังทุกด้าน เข้าไปทอดจอดเรือภายในเขตท่าเกาะสีชัง คิดรวมทั้งขาเข้าและขาออกโดยอัตรา ๑ ใน ๓ ของพิกัดข้อ ๗๓ และถ้าเคลื่อนเรือหรือย้ายที่จอดเรือภายในเขตท่าเกาะสีชัง ให้คิดค่าจ้างนำร่องเพิ่มขึ้นอีก ๑ ใน ๑๐ ของพิกัดข้อ ๗๓ ทุกครั้งไป

 

ข้อ ๗๗  ค่าจ้างนำร่องสำหรับนำเรือหรือเคลื่อนเรือนอกเขตท่า ซึ่งมิได้มีพิกัดอัตรากำหนดไว้ ให้คิดสำหรับทุกไมล์หรือส่วนของไมล์ เงิน ๑๐ บาท

 

ข้อ ๗๘  เรือใดมีความประสงค์จะให้ผู้นำร่องนำเรือระหว่างเขตท่าเรือกรุงเทพฯ กับเขตท่าจอดเรือสมุทรปราการประการหนึ่ง หรือเคลื่อนเรือออกจากที่แห่งหนึ่งถึงที่อีกแห่งหนึ่งภายในเขตท่าเรือกรุงเทพฯ อีกประการหนึ่ง ตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ในข้อนี้แล้ว ให้ถือว่าเป็นการนอกเวลาทำงานปกติ ซึ่งเรือลำนั้นจำต้องเสียค่าจ้างนำร่องนอกเวลาเพิ่มขึ้นอีกกึ่งอัตราปกติตามข้อ ๕๖ แห่งกฎนี้ คือ

(๑) ในวันอาทิตย์หรือวันหยุดราชการประจำปี ไม่ว่าเวลาใด ๆ

(๒) ในวันปกติ ตั้งแต่เวลา ๑๗ นาฬิกา จนถึงเวลาอาทิตย์ขึ้นแห่งวันรุ่งขึ้น

ในการนับเวลา ให้นับขณะเมื่อสมอพ้นน้ำ หรือเชือกทุกเส้นหลุดจากฝั่งหรือที่ผูกเรือเป็นเกณฑ์

 

ข้อ ๗๙  พิกัดค่าจ้างนำร่องตามข้อ ๗๓ ถึง ๗๘ นั้น เป็นอัตราปกติ ซึ่งเรือนั้นสามารถจะเคลื่อนเดินโดยใช้เครื่องจักรของเรือนั้นเอง แต่ถ้าจำเป็นจะต้องใช้เรืออื่นจูงหรือพ่วงข้างให้เรือนั้นเคลื่อนเดินอันเป็นความประสงค์ของนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือแล้ว เรือลำนั้นจะต้องเสียค่าเรือจูงอีกต่างหาก ซึ่งในกรณีเช่นนี้ นายเรือหรือผู้ควบคุมเรือจะต้องตกลงกับเจ้าพนักงานนำร่องเป็นหนังสือ เพื่อเป็นหลักฐานทุกรายไป

 

ข้อ ๘๐  ถ้าผู้นำร่องต้องเสียเวลาในเรือ ต้องคิดค่าเสียเวลาให้แก่ผู้นำร่องเป็นเงิน ๒๐ บาทต่อหนึ่งวัน หรือเศษของวัน เว้นไว้แต่เป็นเพราะเหตุต้องคอยคราวน้ำหรือเหตุอันสุดวิสัยอื่น อันเกี่ยวกับอากาศวิปริตหรือคนประจำเรือหนี ซึ่งพ้นความสามารถของนายเรือตามปกติ แม้กระนั้นก็ดีจะต้องจ่ายให้ตามอัตราในเมื่อพ้นกำหนด ๒๔ ชั่วโมงแรกไปแล้ว

 

หมวด ๑๐

วิธีการเก็บและแบ่งเงินผลประโยชน์ที่ได้มาเนื่องในการนำร่อง

                  

 

ข้อ ๘๑  ผู้มีหน้าที่เก็บเงินค่าจ้างนำร่องของรัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าพนักงานตั้งแต่ชั้นประจำแผนกขึ้นไป ซึ่งฝ่ายการนำร่องมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้เก็บเงินประจำ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนตัวผู้เก็บเงินเป็นครั้งคราวแล้ว หัวหน้าผู้นำร่องต้องมอบหนังสือแนะนำตัวให้ผู้เก็บเงินชั่วคราวนั้นถือไปเป็นสำคัญด้วย

 

ข้อ ๘๒  การเก็บเงินค่าจ้างนำร่องสำหรับเรือลำหนึ่งลำใดนั้น ให้แยกใบสำคัญออกเป็นประเภท คือ ค่าจ้างนำร่องตามพิกัดประเภทหนึ่ง และค่าจ้างนำร่องนอกเวลาตามข้อ ๗๘ อีกประเภทหนึ่ง แล้วรวมยอดเงินตามประเภทลงในแบบ น.๑ มอบให้ผู้เก็บเงินไปเก็บจากบุคคลผู้รับผิดในการชำระเงินค่าจ้างนำร่องตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)

ทั้งนี้ต้องเก็บเงินค่าจ้างนำร่องให้เสร็จก่อนที่เรือลำนั้นจะออกไปพ้นเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่อง

 

ข้อ ๘๓  ผู้มีหน้าที่เก็บเงินจะต้องออกใบรับเงิน ให้ไว้แก่บุคคลที่จ่ายเงินค่าจ้างนำร่องนั้นเป็นหลักฐาน ใบรับเงินนั้นต้องมีลายเซ็นนามหัวหน้าผู้นำร่องหรือผู้ซึ่งได้รับมอบให้เป็นผู้แทน พร้อมทั้งรายเซ็นนามเจ้าพนักงานผู้เก็บเงินนั้นไว้ด้วย

 

ข้อ ๘๔  เมื่อผู้เก็บเงินได้รับเงินค่าจ้างนำร่องมาแล้ว ให้ปฏิบัติตามระเบียบการเงินซึ่งได้ทำความตกลงไว้กับกระทรวงการคลังแล้ว

 

ข้อ ๘๕  เงินค่าจ้างนำร่องนอกเวลาที่เก็บเงินเพิ่มอีกกึ่งอัตราปกติตามเงื่อนไขในข้อ ๗๘ นั้น ให้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นเงินสำรองสำหรับชดใช้ค่าเสียหายที่เกี่ยวกับกิจการนำร่อง อีกส่วนหนึ่งมอบให้เป็นรางวัลพิเศษแก่ผู้นำร่องซึ่งต้องรับผิดชอบในการนำร่องนอกเวลาสำหรับเรือลำนั้น

การแบ่งเงินรางวัลพิเศษให้แก่ผู้นำร่องนี้ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจวางระเบียบไว้เพื่อปฏิบัติเป็นการภายใน

 

ข้อ ๘๖  เงินสำรองสำหรับชดใช้ค่าเสียหายในการนำร่องตามความในข้อ ๘๕ นั้น จะควรฝากเก็บไว้ที่ใดและเบิกจ่ายอย่างไร แล้วแต่จะได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังไว้เป็นพิเศษตามทางการ เงินสำรองประเภทนี้เมื่อมีจำนวนเกินกว่าสองหมื่นบาท ให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจกันส่วนที่เกินนั้นไว้เป็นค่าบำรุงสำหรับเครื่องใช้ เครื่องมือและกิจการอื่นซึ่งเกี่ยวกับการนำร่องได้

 

ข้อ ๘๗  ในเบื้องต้นนี้ ถ้าเงินสำรองสำหรับชดใช้ค่าเสียหายในการนำร่องซึ่งสะสมไว้ยังไม่ครบจำนวนสองหมื่นบาท จะได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นพิเศษตามทางการ เพื่อขอตั้งเงินสำรองให้ครบตามจำนวนนี้ขึ้นไว้ โดยแบ่งจากเงินรายได้ในการนำร่องประจำเดือนไม่เกิน ๑๐ % ทุกเดือน ไปจนกว่าจะครบจำนวนที่กำหนดไว้

 

ข้อ ๘๘  เมื่อได้ตั้งเงินสำรองสำหรับชดใช้ค่าเสียหายขึ้นจากรายได้ในการนำร่องประจำเดือนตามความในข้อ ๘๗ นั้นครบสองหมื่นบาทแล้ว ต่อมาถ้าได้รับเงินส่วนแบ่งจากการนำร่องประเภทนอกเวลาเพื่อสมทบทุนสำรองตามข้อ ๘๕ นั้นอีกเท่าใด ให้เบิกหักผลักใช้และถอนเงินทุนสำรองขึ้นเสีย คงเหลือจำนวนเงินสำรองสองหมื่นบาทไว้เท่าเดิม การเบิกหักผลักใช้เงินรายนี้จะมีกำหนดโอนบัญชีกันเมื่อใด แล้วแต่จะได้ทำความตกลงไว้กับกระทรวงการคลัง

ความในข้อนี้ มิให้ใช้บังคับถึงเงินสำรองประเภทนอกเวลาซึ่งสะสมไว้ได้ตามความในข้อ ๘๕ และ ๘๖

 

กฎให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

พระยาศรยุทธเสนี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ

[เอกสารแนบท้าย]

๑. แบบใบอนุญาตนำร่อง

๒. แบบใบสำคัญ (ด้านหน้า) ซึ่งนายเรือจะต้องลงนามรับรองให้แก่ผู้นำร่อง (ใช้สำหรับท่าเรือกรุงเทพฯ)

๓. แบบ น.๒

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

 

นฤดล/ผู้จัดทำ

๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๑

สุเมธ/ปรับปรุง

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘

 

 

 

  • [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒/ - /หน้า ๑๓๙๘/๒๗ ตุลาคม ๒๔๗๘