คลังสำหรับ 12/05/2016

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2545

จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ห้ามเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดเท่านั้น ความผิดดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การที่จำเลยใช้เครื่องตีน้ำในบ่อกุ้งหาทำให้เครื่องตีน้ำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2544

จำเลยกระทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีคำสั่งให้ระงับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่กำหนดโดยเด็ดขาดและก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษแต่ชุดเกียร์ปั่นน้ำชุดแกนเหล็กติดใบพัดใช้ตีน้ำทุ่นรองแกนเหล็กล้วนเป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้ง เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพทั่วไป มิใช่เครื่องมือที่มีไว้จะเป็นความผิดในตัวโดยตรงซึ่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์ไว้โดยเฉพาะจึงต้องอาศัยบทบัญญัติการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4707/2550

คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นคำสั่งที่ออกตามคำสั่งที่ได้รับมอบอำนาจจากนายรัฐมนตรีตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2541 ทั้งสองคำสั่งมีใจความสำคัญสอดคล้องต้องกันว่า การเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ เป็นเหตุให้เกิดภาวะมลพิษทั้งทางน้ำและในดิน…ฯลฯ เกิดภาวะขาดความสมดุลตามธรรมชาติผลตอบแทนที่ได้รับจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดไม่คุ้มกับความเสียหายต่อทรัพยากร จึงให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืด และผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ตามคำสั่งดังกล่าวแม้ไม่ได้ให้คำนิยามหรือให้ความหมายว่าการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำ คือ ความเค็มอัตราส่วนเท่าใด แต่ตามข้อเท็จจริงย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่า คือ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำในน้ำซึ่งนำน้ำทะเลพอประมาณมาเติมผสมลงในน้ำจืดโดยกุ้งกุลาดำมีชีวิตและเจริญเติบโตได้ ซึ่งจำเลยก็เข้าใจความหมายดังกล่าวดี จึงนำสืบต่อสู้ไว้ตรงประเด็นว่า ช่วงวันเวลาเกิดเหตุตามคำฟ้องจำเลยไม่ได้นำน้ำทะเลมาเติมผสมลงในน้ำในบ่อที่ใช้เลี้ยงกุ้งกุลาดำของจำเลยแต่อย่างใด คำสั่งของนายกรัฐมนตรีและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2552

ในการสร้างบ้านพักอาศัยพร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ รวมทั้งถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงกันดินบริเวณหน้าบ้านพักอาศัยของโจทก์นั้น ได้รับความยินยอมและอยู่ในความรู้เห็นของเจ้าของที่ดิน จึงถือได้ว่าถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงกันดินบริเวณหน้าบ้านพักอาศัย เข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ที่จะไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน การที่จำเลยยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างว่าถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงเป็นส่วนควบของที่ดิน เพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ทั้งๆ ที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง แต่กลับไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ต่อไปเนื่องจากต้องรื้อถอนบ้านพักขนย้ายครอบครัวออกไป เพราะถูกแนวเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่านจึงไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 ที่มุ่งหมายจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องพิจารณาจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านอย่างเป็นธรรม

พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 ทวิ วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “…ให้เจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นใดได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น” คำว่า “…ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทน หาใช่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องจ่ายเพิ่มไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับเงินค่าทดแทนจากจำเลย จำเลยได้นำเงินดังกล่าวไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยนำเงินค่าทดแทนไปฝากธนาคารเป็นต้นไป ไม่ใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5728/2533

การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ กระทำเพื่อประโยชน์แก่การอันเป็นสาธารณูปโภคและเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐ การสร้างท่าเรือน้ำลึกก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปและประเทศชาติ ถือได้ว่ากระทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐ จำเลยที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจึงมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองได้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2594/2524

จำเลยทั้งสองถูกฟ้องว่ากระทำการปิดกั้นและทดน้ำในลำน้ำอันเป็นการทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางน้ำสาธารณะ จำเลยทั้งสอง ให้การและนำสืบทำนองเดียวกันว่าได้กระทำด้วยความจำเป็นเพื่อให้จำเลยและคนงานมีน้ำกินน้ำใช้ เช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อกฎหมายอ้างว่ากระทำไปด้วยความจำเป็น. โดยยกข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวว่าเพื่อนำน้ำเข้าใช้ในกิจการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสำนวนและมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ในศาลชั้นต้น ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2736/2527

ศ. มีชื่อเป็นผู้ถือประทานบัตรการที่โจทก์เข้า ทำเหมืองในเขตเหมืองแร่ตามประทานบัตรก็โดยอาศัยสิทธิของ ศ. โจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับช่วงการทำเหมืองหรือได้รับโอน ประทานบัตรจาก ศ. ตามมาตรา 77,78 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 สิทธิการทำเหมืองตามประทานบัตรยังเป็น ของ ศ. การที่จำเลยที่ 1 สั่งเพิกถอนประทานบัตร ดังกล่าว หาเป็นการโต้แย้งสิทธิการทำเหมืองของโจทก์ไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์ทำเหมืองผิดจากที่ได้รับอนุญาตตามประทานบัตรปล่อยทำนบเก็บกักน้ำขุ่นข้นดินทรายที่ชิดทางน้ำพังอัน เป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแร่ซึ่งจะเป็นเหตุให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 138 นั้น อำนาจของรัฐมนตรีตามกฎหมายดังกล่าวแตกต่างจากอำนาจของรัฐมนตรีในการสั่งเพิกถอนประทานบัตรที่กำหนดไว้ในมาตรา 85,86 ซึ่งบัญญัติ ไว้ในหมวดทำเหมือง แต่มาตรา 138 บัญญัติไว้ในหมวดกำหนดโทษซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่ารัฐมนตรีจะมีอำนาจสั่งเพิกถอน ประทานบัตรตามมาตรา 138 เพราะเหตุที่ผู้ถือประทานบัตรกระทำผิดพระราชบัญญัติแร่ได้ต่อเมื่อ ผู้ถือประทานบัตรได้รับโทษทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้เสียก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์กระทำอันมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ได้มีการดำเนินคดีให้ มีการลงโทษโจทก์ตามพระราชบัญญัติแร่ มาตรา 138 รัฐมนตรี จึงไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรของโจทก์ การที่ จำเลยที่ 1 สั่งเพิกถอนประทานบัตรที่ออกให้โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่อาจทำเหมือง ได้ ต่อไปจนสิ้นกำหนดตามประทานบัตร โจทก์ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2736/2527

ศ. มีชื่อเป็นผู้ถือประทานบัตรการที่โจทก์เข้า ทำเหมืองในเขตเหมืองแร่ตามประทานบัตรก็โดยอาศัยสิทธิของ ศ. โจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับช่วงการทำเหมืองหรือได้รับโอน ประทานบัตรจาก ศ. ตามมาตรา 77,78 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 สิทธิการทำเหมืองตามประทานบัตรยังเป็น ของ ศ. การที่จำเลยที่ 1 สั่งเพิกถอนประทานบัตร ดังกล่าว หาเป็นการโต้แย้งสิทธิการทำเหมืองของโจทก์ไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์ทำเหมืองผิดจากที่ได้รับอนุญาตตามประทานบัตรปล่อยทำนบเก็บกักน้ำขุ่นข้นดินทรายที่ชิดทางน้ำพังอัน เป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแร่ซึ่งจะเป็นเหตุให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 138 นั้น อำนาจของรัฐมนตรีตามกฎหมายดังกล่าวแตกต่างจากอำนาจของรัฐมนตรีในการสั่งเพิกถอนประทานบัตรที่กำหนดไว้ในมาตรา 85,86 ซึ่งบัญญัติ ไว้ในหมวดทำเหมือง แต่มาตรา 138 บัญญัติไว้ในหมวดกำหนดโทษซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่ารัฐมนตรีจะมีอำนาจสั่งเพิกถอน ประทานบัตรตามมาตรา 138 เพราะเหตุที่ผู้ถือประทานบัตรกระทำผิดพระราชบัญญัติแร่ได้ต่อเมื่อ ผู้ถือประทานบัตรได้รับโทษทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้เสียก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์กระทำอันมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ได้มีการดำเนินคดีให้ มีการลงโทษโจทก์ตามพระราชบัญญัติแร่ มาตรา 138 รัฐมนตรี จึงไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรของโจทก์ การที่ จำเลยที่ 1 สั่งเพิกถอนประทานบัตรที่ออกให้โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่อาจทำเหมือง ได้ ต่อไปจนสิ้นกำหนดตามประทานบัตร โจทก์ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7193/2547

พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 73 ให้สิทธิแก่ผู้ถือประทานบัตรใช้ที่ดินในเขตเหมืองแร่ที่มีแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดทำเหมืองเพื่อเกษตรกรรมในระหว่างอายุประทานบัตรได้ การที่โจทก์ปลูกต้นยางพาราลงในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตเหมืองแร่ เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือประทานบัตร ไม่ทำให้ต้นยางพาราที่ปลูกสร้างไว้เป็นส่วนควบของที่ดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 และยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ การที่จำเลยกรีดเอาน้ำยางพาราจากต้นยางพาราของโจทก์ไป จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและจำเลยเข้าไปกรีดเอาน้ำยางพาราภายหลังประทานบัตรของโจทก์หมดอายุแล้วเพื่อการยังชีพมิได้มีเถยจิตเป็นโจรผู้ร้ายแต่อย่างใด กับทั้งภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้รับอนุญาตจากรัฐให้มีสิทธิทำกินในที่ดินพิพาท กรณีมีเหตุอันสมควรให้ความปรานีแก่จำเลยโดยรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2527

เขตเหมืองแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 4หมายความถึงเขตพื้นที่ซึ่งกำหนดในประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรเท่านั้น หาหมายรวมถึงบริเวณพื้นที่ซึ่งใช้เป็นที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายด้วยไม่ ฉะนั้น การที่จำเลยมีแร่จำนวนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเก็บไว้ในเขตซึ่งเป็นที่ทิ้งมูลดินทรายนอกเขตพื้นที่ในประทานบัตร จึงมีความผิดตามมาตรา 105

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง