ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๖

ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ว่าด้วยการอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้น

ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

พ.ศ. ๒๕๔๖

                       

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ และพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๖”

ข้อ ๒[๑]  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไป

ข้อ ๓  บรรดาระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับและคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทนได้

ข้อ ๔  ในระเบียบนี้

                 ๔.๑ “ป่าเสื่อมโทรม” หมายความว่า พื้นที่ป่าในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดหรือบางส่วน มีไม้มีค่าที่มีลักษณะสมบูรณ์เหลืออยู่น้อย และป่านั้นยากที่จะกลับฟื้นคืนดีได้ตามธรรมชาติ โดยมีลูกไม้ขนาดความสูงเกิน ๒ เมตรขึ้นไปขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ ๒๐ ต้น หรือมีไม้ขนาดความโตวัดโดยรอบลำต้นตรงที่สูง ๑๓๐ เซนติเมตร ตั้งแต่ ๕๐–๑๐๐ เซนติเมตร ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ ๘ ต้น หรือมีไม้ขนาดความโตเกิน ๑๐๐ เซนติเมตรขึ้นไป ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ ๒ ต้น หรือพื้นที่ป่าที่มีไม้เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง ๓ ลักษณะดังกล่าว เมื่อรวมกันแล้วต้องมีจำนวนไม่เกินไร่ละ ๑๖ ต้น

๔.๒ “พืชควบ” หมายความว่า พืชที่ปลูกในสวนป่าควบคู่กับพันธุ์ไม้ที่ปลูก

๔.๓ “ไม้ยืนต้น” หมายความว่า พันธุ์ไม้ขนาดใหญ่หรือไม้ที่มีผลและมีอายุยืนนานสามารถนำเนื้อไม้ไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งไม่รวมถึงไม้ในตระกูลปาล์ม

๔.๔ “ไม้มีค่า” หมายความว่า ไม้ที่มีชื่อตามบัญชีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศกำหนดให้เป็นไม้มีค่า

ข้อ ๕  ให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจตีความ วินิจฉัย ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เป็นที่สุด

หมวด ๑

การขออนุญาต

                       

ข้อ ๖  ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ตามแบบ ป.ส.๒๙ ท้ายระเบียบนี้ พร้อมด้วยหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ

ในกรณีที่ขออนุญาตเกิน ๑๐๐ ไร่ ให้แนบโครงการที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ระยะเวลาเริ่มงาน เป้าหมายของโครงการและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงทุนประกอบด้วย

ผู้ขออนุญาตซึ่งเป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องจดทะเบียนในประเทศไทยและผู้ถือหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องมีสัญชาติไทย เกินร้อยละ ๕๐ ของจำนวนผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนนั้น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงส่วนราชการหรือองค์การของรัฐ

ผู้ขออนุญาตซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะแล้ว

หมวด ๒

หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสภาพป่า

                       

                 ข้อ ๗  เมื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ได้รับคำขออนุญาตตามข้อ ๖ ให้เสนอคำขอดังกล่าวพร้อมทั้งให้ความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ภายใน ๗ วัน นับจากวันที่ได้รับคำขออนุญาต

                  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับ ๓ ขึ้นไป ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ออกไปทำการตรวจสภาพป่า พร้อมทั้งส่งเรื่องราวคำขอให้สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่สั่งเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับ ๕ ขึ้นไป ออกไปร่วมตรวจสอบภายใน ๑๕ วัน นับจากวันที่จังหวัดได้รับคำขออนุญาต

                   ให้คณะเจ้าหน้าที่ตามวรรคสอง รายงายผลการตรวจสภาพป่า พร้อมทั้งให้ความเห็นประกอบการตรวจสภาพป่านั้นต่อจังหวัดตามแบบ ป.ส.๓๐ ท้ายระเบียบนี้ ภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่ตรวจสภาพป่าเสร็จ พร้อมกับส่งสำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวทั้งหมดให้สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ๑ ชุด

                    เมื่อจังหวัดและสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้รับรายงานแบบ ป.ส.๓๐ แล้ว ให้จังหวัดและสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตรวจสอบพิจารณาและทำความเห็นเสนอโดยตรงไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใน ๑๕ วัน นับจากวันที่ได้รับรายงาน แบบ ป.ส.๓๐ นั้น

หมวด ๓

การอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้น

                       

ข้อ ๘  การอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่แต่ละราย ครั้งละไม่เกิน ๒,๐๐๐ ไร่ โดยมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินสามสิบปี

ข้อ ๙  การอนุญาตตามข้อ ๘ จะกระทำได้เมื่อพื้นที่ที่ขออนุญาตต้อง

๙.๑  ไม่เป็นพื้นที่ป่าซึ่งใช้ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการป่าไม้

                  ๙.๒  ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าที่มีสภาพเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ชั้นที่ ๑ เอ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้กำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๙ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ และเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘

๙.๓  เป็นป่าเสื่อมโทรมตามข้อ ๔.๑ ในระเบียบนี้

ข้อ ๑๐  การอนุญาตให้ใช้หนังสืออนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามแบบ ป.ส.๓๑ ท้ายระเบียบนี้ หากมีเงื่อนไขที่ผู้อนุญาตกำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติเพิ่มเติมให้ระบุไว้ในหนังสืออนุญาตด้วย

ข้อ ๑๑  ภายในพื้นที่ที่ได้รับหนังสืออนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นนั้นถ้าปรากฏว่ามีไม้ขึ้นอยู่กีดขวางการดำเนินงานตามแผนการที่ได้กำหนดไว้ให้ผู้รับอนุญาตตัดฟันออกได้เท่าที่จำเป็นภายในขอบเขตตามแผนการประจำปีนั้นๆ เท่านั้น

                  ข้อ ๑๒  บรรดาไม้ที่ได้ตัดฟันลงตามข้อ ๑๑ ที่ใช้ประโยชน์ได้ให้ถือว่ายังเป็นของรัฐ ห้ามมิให้ทำลายหรือสุมเผาไม้ทิ้งเป็นอันขาด ผู้รับอนุญาตจะต้องรักษาไว้มิให้สูญหายหรือเสียหายและให้เป็นหน้าที่ของสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ป่านั้นตรวจทำบัญชีประทับตราตามลักษณะของไม้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ยกเว้นไม้ฟืนไม่ต้องประทับตรา และเสนอจำหน่ายให้แก่ผู้รับอนุญาตในอัตราสองเท่าค่าภาคหลวงสำหรับไม้กระยาเลยหรือไม้ฟืน และสามเท่าค่าภาคหลวงสำหรับไม้สักถ้าผู้รับอนุญาตไม่รับซื้อ ให้ทำการประมูลจำหน่ายตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุต่อไป

                  ข้อ ๑๓  ในบริเวณที่ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นนั้น ถ้าผู้รับอนุญาตประสงค์จะทำการตัดสางขยายระยะไม้ที่ได้ปลูกขึ้นเพื่อการบำรุงสวนป่า ให้กระทำได้โดยแจ้งให้สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ทราบก่อนตัด เพื่อสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ท้องที่จะได้สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจให้ตัดฟันและขายให้แก่ผู้รับอนุญาตตามอัตราที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกำหนด

                 ข้อ ๑๔  เมื่อผู้รับอนุญาตประสงค์จะทำไม้ที่ปลูกไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้ยื่นเรื่องราวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อออกใบอนุญาตทำไม้ให้แก่ผู้รับอนุญาตเป็นอันดับแรกโดยให้ผู้รับอนุญาตชำระค่าภาคหลวงตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

                 ข้อ ๑๕  เมื่อมีการอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นตามระเบียบนี้แล้วให้ผู้รับอนุญาตรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแบบ ป.ส. ๓๒ ท้ายระเบียบนี้ต่อสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ ภายใน ๖๐ วัน นับจากวันที่ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานมาครบรอบปีทุกปีและให้สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่รวบรวมรายงานให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่ได้รับรายงานนั้น

                 ข้อ ๑๖  การให้เช่าหรือช่วงสิทธิ์แห่งหนังสืออนุญาตตามระเบียบนี้จะกระทำมิได้แต่ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตถึงแก่ความตาย และทายาทหรือผู้จัดการมรดกประสงค์จะกระทำการตามหนังสืออนุญาตนั้นต่อไป ให้ยื่นคำร้องต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ ภายในกำหนด ๙๐ วัน นับจากวันที่ผู้รับอนุญาตถึงแก่ความตาย หากพ้น       กำหนดนี้แล้วทายาทหรือผู้จัดการมรดกยังมิได้ยื่นคำร้องขอรับอนุญาตให้ถือว่าสละสิทธิ์ในการใช้พื้นที่นั้น เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะพิจารณาผ่อนผันโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรายๆ ไปก็ได้

ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่ผู้รับอนุญาตที่เป็นนิติบุคคลที่เลิกกิจการไปโดยอนุโลม

ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

สมชัย  เพียรสถาพร

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

[ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]

สุภาพร/พิมพ์

๑ ตุลาคม ๒๕๔๖

มัตติกา/แก้ไข

๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

อรรถชัย/สุมลรัตน์/ตรวจ

๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

A+B

[๑] รก.๒๕๔๖/พ๖๐ง/๓๕/๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๖