กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 (ฉบับ Update ล่าสุด)

กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐)

ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล

พ.ศ. ๒๕๒๐[๑]

                  

                          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติน้ำบาดาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยคำแนะนำของคณะกรรมการน้ำบาดาลออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

                         ข้อ ๒[๒]  ภายใต้บังคับข้อ ๗ ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครปฐม ให้กำหนดอัตราค่าใช้น้ำบาดาล ดังนี้

(๑) ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ อัตราลูกบาศก์เมตรละสี่บาท

(๒) ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ อัตราลูกบาศก์เมตรละสี่บาทห้าสิบสตางค์

(๓) ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ อัตรา ลูกบาศก์เมตรละห้าบาท

(๔) ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ อัตรา ลูกบาศก์เมตรละห้าบาทห้าสิบสตางค์

(๕) ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ อัตราลูกบาศก์เมตรละหกบาท

(๖) ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ อัตราลูกบาศก์เมตรละหกบาทห้าสิบสตางค์

(๗) ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ อัตราลูกบาศก์เมตรและเจ็ดบาท

(๘) ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ อัตราลูกบาศก์เมตรละเจ็ดบาทห้าสิบสตางค์

(๙) ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ อัตราลูกบาศก์เมตรละเจ็ดบาทเจ็ดสิบห้าสตางค์

(๑๐) ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ อัตราลูกบาศก์เมตรละแปดบาท

(๑๑) ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ อัตราลูกบาศก์เมตรละแปดบาทยี่สิบห้าสตางค์

(๑๒) ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นไป อัตราลูกบาศก์เมตรละแปดบาทห้าสิบสตางค์

ในเขตท้องที่จังหวัดอื่นนอกจากวรรคหนึ่ง ให้กำหนดอัตราค่าใช้น้ำบาดาลลูกบาศก์เมตรละสามบาทห้าสิบสตางค์

ข้อ ๓  การคำนวณค่าใช้น้ำบาดาลให้คำนวณตามปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ ดังนี้

(๑) ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำให้ชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลที่วัดได้จากเครื่องวัดปริมาณน้ำนั้น

                           (๒) ในกรณีที่ไม่อาจคำนวณปริมาณน้ำบาดาลได้จากเครื่องวัดปริมาณน้ำ เพราะผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลไม่ได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำหรือด้วยเหตุอื่นใด ให้ชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลโดยคำนวณตามวันที่ไม่อาจคำนวณปริมาณน้ำบาดาลได้ แต่ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลได้ใช้น้ำบาดาลสูงกว่าปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินปริมาณน้ำบาดาลเพิ่มขึ้น เพื่อใช้คำนวณค่าใช้น้ำบาดาลได้ และผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินจนกว่าจะได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น

                         ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินปริมาณน้ำบาดาลตาม (๒) ย้อนหลังไปก่อนเวลาชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามข้อ ๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลชำระค่าใช้น้ำบาดาลส่วนที่เพิ่มขึ้นสำหรับงวดก่อน ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนด

ข้อ ๔  ในท้องที่ที่ไม่มีน้ำประปาใช้ ให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลได้รับยกเว้นค่าใช้น้ำบาดาล ดังต่อไปนี้

(๑) การใช้น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคหรือบริโภค ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการใช้น้ำบาดาลของโรงงานอุตสาหกรรม

(๒) การใช้น้ำบาดาลเพื่อการเพาะปลูก

(๓) การใช้น้ำบาดาลเพื่อการเลี้ยงสัตว์ เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินวันละห้าสิบลูกบาศก์เมตร

                    ข้อ ๔/๑[๓]  ในกรณีที่สถานที่ประกอบกิจการน้ำบาดาลของผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติจนถึงขนาดที่ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการน้ำบาดาลได้ทั้งหมดหรือบางส่วนอันเป็นเหตุมาจากคุณภาพของน้ำบาดาลไม่เป็นไปตามมาตรฐานน้ำบาดาล หรือในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลมีความจำเป็นต้องใช้น้ำบาดาลเพื่อฟื้นฟูสถานที่ประกอบกิจการน้ำบาดาลให้สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลได้รับยกเว้นค่าใช้น้ำบาดาลในแต่ละงวดได้ ครั้งละไม่เกินสามงวด  ทั้งนี้ โดยให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลแจ้งต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เกิดภัยธรรมชาตินั้น

                  ข้อ ๔/๒[๔]  ให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนการใช้น้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติไว้แล้วได้รับยกเว้นค่าใช้น้ำบาดาลได้ตามปริมาณน้ำบาดาลที่วัดได้จากเครื่องวัดปริมาณน้ำเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาตินั้น

การขึ้นทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลประกาศกำหนด

                 ข้อ ๕  ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลในท้องที่ที่ไม่มีน้ำประปาใช้ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นค่าใช้น้ำบาดาลตามข้อ ๔ ให้ได้รับการลดหย่อนค่าใช้น้ำบาดาล ดังนี้

                  (๑) การใช้น้ำบาดาลเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ให้คำนวณปริมาณน้ำบาดาลเพื่อการคิดค่าใช้น้ำบาดาลเพียงร้อยละสามสิบของปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ หรือของปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล หรือที่ประเมินได้ แล้วแต่กรณี

                  (๒) การใช้น้ำบาดาลของโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากผลิตผลการเกษตรตามประเภทและชนิดที่รัฐมนตรีกำหนด ให้คำนวณปริมาณน้ำบาดาลเพื่อการคิดค่าใช้น้ำบาดาลเพียงร้อยละสามสิบของปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ หรือของปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลหรือที่ประเมินได้ แล้วแต่กรณี

                  (๓) กรณีนอกจาก (๑) และ (๒) ให้คำนวณปริมาณน้ำบาดาลเพื่อการคิดค่าใช้น้ำบาดาลเพียงร้อยละเจ็ดสิบห้าของปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ หรือของปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล หรือที่ประเมินได้ แล้วแต่กรณี

ข้อ ๖  ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลปีละ ๔ งวด ดังนี้

(๑) งวดที่ ๑ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม

(๒) งวดที่ ๒ ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน

(๓) งวดที่ ๓ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน

(๔) งวดที่ ๔ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม

                  ให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลชำระค่าใช้น้ำบาดาลในแต่ละงวดให้ครบถ้วนต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันเริ่มงวดถัดไป โดยจะชำระเป็นเงินสดหรือโดยเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายกรมทรัพยากรธรณี หรือชำระโดยส่งทางไปรษณีย์โดยเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายกรมทรัพยากรธรณีก็ได้

                    ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอันเป็นเหตุให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลไม่สามารถชำระค่าใช้น้ำบาดาลได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคสองให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลชำระค่าใช้น้ำบาดาลสำหรับงวดที่ยังมิได้ชำระหรือยังชำระไม่ครบถ้วนนั้นภายในระยะเวลาไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ภัยธรรมชาตินั้นได้สิ้นสุดลง[๕]

                    ข้อ ๖/๑[๖]  เพื่อประโยชน์แห่งกฎกระทรวงนี้ คำว่า “ภัยธรรมชาติ” ให้หมายความถึง อุทกภัย วาตภัย ภัยจากแผ่นดินไหว ภัยจากโคลนตม ภูเขาถล่ม หรือภัยธรรมชาติอื่น ๆ อันเกิดจากธรรมชาติที่ไม่อาจป้องกันไว้ได้ หรือไม่อาจพึงคาดหมายล่วงหน้าได้ และให้รวมถึงภัยที่เกิดจากโรคระบาดสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์

                   ข้อ ๗  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลมิได้ชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ สำหรับงวดใด ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลสำหรับงวดนั้นในอัตราเป็นจำนวนเท่าของอัตราค่าใช้น้ำบาดาล ตามข้อ ๒ หรือในอัตราเท่ากับอัตราสูงสุดของค่าน้ำประปาในท้องที่หรือในจังหวัดที่บ่อน้ำบาดาลตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี สุดแต่อัตราใดจะต่ำกว่า  ทั้งนี้ โดยคำนวณตามปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ในงวดที่ค้างชำระหรือมิได้ชำระภายในกำหนดเวลา ดังนี้

๑) ในอัตราหนึ่งจุดหนึ่งเท่า กรณีชำระค่าใช้น้ำบาดาลภายในสามสิบวัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๖

(๒) ใ(นอัตราหนึ่งจุดสองเท่า กรณีชำระค่าใช้น้ำบาดาลเกินกว่าสามสิบวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๖

(๓) ในอัตราหนึ่งจุดสามเท่า กรณีชำระค่าใช้น้ำบาดาลเกินกว่าหกสิบวันแต่ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๖

(๔) ในอัตราสองเท่า กรณีชำระค่าใช้น้ำบาดาลเกินกว่าเก้าสิบวัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๖[๗]

                    ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับค่าใช้น้ำบาดาลส่วนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเพิ่มขึ้นตามข้อ ๓ (๒) และผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลได้ชำระค่าใช้น้ำบาดาลส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นภายในเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

ข้อ ๘  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นไป

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐

กร  ทัพพะรังสี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่าใช้น้ำบาดาลที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ยังกำหนดไว้ไม่เหมาะสม สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกเก็บเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้สมควรกำหนดการยกเว้นค่าใช้น้ำบาดาลสำหรับการอุปโภคหรือบริโภคการเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ในท้องที่ที่ไม่มีน้ำประปาใช้ และแก้ไขเพิ่มเติมการลดหย่อนค่าใช้น้ำบาดาล เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้น้ำบาดาลแก่ผู้ใช้น้ำบาดาล  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐[๘]

 

ข้อ ๓  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครปฐม มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณที่เกินกว่าปริมาณน้ำที่ไหลซึมลงสู่ชั้นน้ำบาดาล ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีการทรุดตัวของแผ่นดิน การแพร่กระจายของน้ำเค็มเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาลตลอดจนทำให้ระดับน้ำบาดาลลดลง ดังนั้น เพื่อให้มีการใช้น้ำบาดาลอย่างอนุรักษ์และจูงใจให้มีการใช้น้ำผิวดินทดแทนจึงสมควรเพิ่มอัตราค่าใช้น้ำบาดาลในเขตท้องที่ดังกล่าวให้เหมาะสม และปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกเก็บ ในกรณีที่มิได้ชำระตามระยะเวลาที่กำหนดในเขตน้ำบาดาลทุกเขตเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐[๙]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นค่าใช้น้ำบาดาลให้แก่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลซึ่งสถานที่ประกอบกิจการน้ำบาดาลได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ หรือซึ่งได้ใช้น้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้น้ำบาดาลให้แก่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากภัยธรรมชาติดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ชาญ/ผู้จัดทำ

๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๕

ปริญสินีย์/ปรับปรุง

๒๒ เมษายน ๒๕๕๖

  • [๑] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๑๔/ตอนที่ ๕๐ ก/หน้า ๓๙/๒๖ กันยายน ๒๕๔๐
  • [๒] ข้อ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐
  • [๓] ข้อ ๔/๑ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐
  • [๔] ข้อ ๔/๒ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐
  • [๕] ข้อ ๖ วรรคสาม เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐
  • [๖] ข้อ ๖/๑ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐
  • [๗] ข้อ ๗ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐
  • [๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๗๒ ก/หน้า ๑/๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๓
  • [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๙๔ ก/หน้า ๑๘/๑ ตุลาคม ๒๕๕๕