ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดซื้อที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๕๘

ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดซื้อที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

พ.ศ. ๒๕๕๘

                  

                        เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นไปโดยรัดกุม รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

                        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙ (๒) ประกอบมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงกำหนดระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดซื้อที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๕๘”

ข้อ ๒[๑]  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

บรรดาหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ หรือที่มีอยู่ในระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ ๓  ในระเบียบนี้

“คปก.” หมายความว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

“คปจ.” หมายความว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด

“อกก.คง.” หมายความว่า คณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

“คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการจัดซื้อที่ดินตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแต่งตั้ง

“ส.ป.ก.” หมายความว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

“ส.ป.ก. จังหวัด” หมายความว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด

“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด

“ผู้เสนอขายที่ดิน” หมายความว่า เจ้าของที่ดินที่เสนอขายที่ดิน และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดินด้วย

“หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน” หมายความว่า โฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินและให้หมายความรวมถึงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ด้วย

                           “รูปแผนที่รังวัดใหม่” (ร.ว.ม.) หมายความว่า หลักฐานรูปแผนที่ที่แสดงตำแหน่งหมุดหลักเขตที่ดิน พร้อมระยะการรังวัดซึ่งได้รังวัดไว้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามประมวลกฎหมายที่ดิน

                           “หมุดหลักเขตที่ดิน” หมายความว่า หลักเขตสำหรับปักหมายเขตเกี่ยวกับที่ดินซึ่งกรมที่ดินทำขึ้นตามกฎหมาย หรือหลักเขตที่กรมที่ดินอนุมัติให้หน่วยราชการอื่นจัดทำขึ้นเพื่อใช้ปักหมายเขตที่ดินของหน่วยราชการนั้น

ข้อ ๔  กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบนี้ ให้นำเสนอ คปก. พิจารณา

                          ข้อ ๕  ให้เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนเพื่อปฏิบัติงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

หมวด ๑

การพิจารณาจัดซื้อที่ดิน

                  

ส่วนที่ ๑

การประกาศพื้นที่เพื่อการจัดซื้อที่ดิน

                  

                            ข้อ ๖  เมื่อได้รับอนุมัติแผนการจัดซื้อที่ดินแล้วให้ ส.ป.ก.จังหวัด ประกาศพื้นที่เพื่อการจัดซื้อที่ดินโดยให้ปิดประกาศดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผย ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ส.ป.ก.จังหวัด และที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่จะดำเนินการจัดซื้อ โดยให้ปิดประกาศเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน และจะประกาศทางสื่อมวลชนอื่นด้วยก็ได้

                           ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้เขตตำบลหรืออำเภอเป็นหลัก และจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินระยะเวลาให้ยื่นคำเสนอขายที่ดิน ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน นับแต่วันประกาศ สถานที่ที่ให้ผู้เสนอขายที่ดิน ยื่นคำเสนอขายที่ดินและให้ผู้เสนอขายที่ดินนำหลักฐานต่อไปนี้ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในวันยื่นคำเสนอขายที่ดิน

(๑) หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นอาจใช้สำเนาก็ได้

(๒) แผนที่แสดงที่ตั้งที่ดินโดยสังเขป

(๓) สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน

(๔) ราคาที่ผู้เสนอขายที่ดินเสนอ

                           กรณีผู้เสนอขายที่ดินยื่นคำเสนอขายที่ดินเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคสองและปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็ให้รับคำเสนอขายได้

ข้อ ๗  การกำหนดพื้นที่เพื่อการจัดซื้อที่ดิน ให้พิจารณาจากข้อมูลดังนี้

(๑) สภาพพื้นที่มีความเหมาะสมแก่การเกษตร

(๒) จำนวนเกษตรกรผู้เช่าที่ดินหรือผู้ขึ้นทะเบียนขอรับการจัดที่ดินจาก ส.ป.ก.

(๓) สภาพการทำประโยชน์ในที่ดิน เจ้าของที่ดินไม่ทำประโยชน์ด้วยตนเอง หรือให้ผู้อื่นเช่า หรือปล่อยทิ้งร้าง

ส่วนที่ ๒

การพิจารณาความเหมาะสมของที่ดิน

                  

                         ข้อ ๘  ให้ คปจ. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาความเหมาะสมของที่ดิน และให้ความเห็นเกี่ยวกับราคาที่ดินที่จะดำเนินการจัดซื้อ ซึ่งประกอบด้วย นายอำเภอแห่งท้องที่ เป็นประธานอนุกรรมการ ปฏิรูปที่ดินจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ เกษตรอำเภอ ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน ธนารักษ์พื้นที่ เป็นอนุกรรมการ เจ้าหน้าที่ ๑ นาย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และให้มีเจ้าหน้าที่อีกไม่เกิน ๒ นาย เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

                        ข้อ ๙  เมื่อมีผู้เสนอขายที่ดิน ให้ ส.ป.ก.จังหวัด ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และการทับซ้อนของพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีปัญหาให้รายงานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา

                        กรณีตรวจสอบตามวรรคแรกแล้ว และไม่พบปัญหาให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมอบหมายเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่า ๓ นาย ทำการตรวจสอบสภาพแปลงที่ดินและเจรจาต่อรองราคา แล้วรายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาความเหมาะสมที่จะจัดซื้อที่ดิน โดยพิจารณาตามรายงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้

(๑) สภาพพื้นที่มีความเหมาะสมทางการเกษตร

(๒) มีขนาดเนื้อที่เหมาะสมในการประกอบเกษตรกรรมและเพียงพอแก่การครองชีพ เว้นแต่กรณีเป็นที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย และมีพื้นที่ติดต่อกัน

(๓) ราคาที่ดินที่เจ้าของที่ดินเสนอขาย

(๔) ราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์

(๕) สภาพการทำประโยชน์ในที่ดิน เจ้าของที่ดินไม่ทำประโยชน์ด้วยตนเอง หรือให้ผู้อื่นเช่า หรือการปล่อยทิ้งร้าง

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะต้องมีการตรวจสอบแปลงที่ดินแล้วว่า ไม่มีผู้บุกรุกและปลอดจากการรอนสิทธิหรือภาระผูกพันใด ๆ

                          ข้อ ๑๐  เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินมีความเหมาะสมที่จะจัดซื้อ และเห็นชอบตามราคาที่ผู้เสนอขายที่ดินได้ตกลงจะขายที่ดินกับเจ้าหน้าที่ตามบันทึกการเจรจาต่อรองราคาที่ดินก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อที่ดินที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ต่อไป

หากคณะอนุกรรมการเห็นว่าที่ดินไม่เหมาะสมที่จะจัดซื้อ ให้ถือเป็นอันยุติ และให้ ส.ป.ก. จังหวัดแจ้งผู้เสนอขายที่ดินทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณา

                         ข้อ ๑๑  กรณีที่ดินที่มีผู้เสนอขายยังมิได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินให้ ส.ป.ก. จังหวัด ดำเนินการตามความในข้อ ๙ และข้อ ๑๐ แล้วนำรายละเอียดหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดิน รายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็น เสนอผู้มีอำนาจในหมวด ๒ ต่อไป

เมื่อผู้มีอำนาจเห็นชอบการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดิน ให้ ส.ป.ก. เสนอตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในที่ดินตามวรรคแรก

                           ข้อ ๑๒  ในกรณีที่ดินที่มีผู้เสนอขายอยู่ในท้องที่ที่ยังไม่มี ส.ป.ก.จังหวัด ให้ ส.ป.ก.จังหวัดที่ได้รับมอบหมาย หรือคณะทำงาน ดำเนินการตามความในหมวดนี้ แล้วนำรายละเอียดหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดิน รายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็น เสนอ อกก.คง. พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดินต่อไป

เมื่อ อกก.คง. พิจารณาเห็นชอบการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดินตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ ส.ป.ก. เสนอตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในที่ดินตามวรรคแรก

                           หาก อกก.คง. พิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการจัดซื้อ ให้ถือเป็นอันยุติ และให้ ส.ป.ก. จังหวัด หรือคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายแจ้งผู้เสนอขายที่ดินทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณา

หมวด ๒

อำนาจการพิจารณาเห็นชอบการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดิน

                  

ข้อ ๑๓  อำนาจการพิจารณาเห็นชอบการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดิน เป็นดังนี้

                          (๑) คปจ. มีอำนาจเห็นชอบการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดินต่อไร่ไม่เกินราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ในกรณีที่ต้องจัดซื้อที่ดินที่มีราคาเกินกว่าราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ให้ คปจ. พิจารณาเห็นชอบการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดินตามความจำเป็น แต่ราคาที่ดินจะต้องไม่เกินกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์

                          (๒) กรณีที่ดินที่เสนอขายมีราคาที่ดินต่อไร่เกินกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ให้ คปจ. ให้ความเห็นชอบการจัดซื้อที่ดินพร้อมแสดงเหตุผล และให้นำเสนอ อกก.คง. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดิน

                          ข้อ ๑๔  หากผู้มีอำนาจพิจารณาตามข้อ ๑๓ ไม่เห็นชอบการจัดซื้อและไม่อนุมัติราคาที่ดิน ให้ถือเป็นอันยุติ และให้ ส.ป.ก.จังหวัด แจ้งให้ผู้เสนอขายที่ดินทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณา

                          ข้อ ๑๕  ให้ ส.ป.ก. จังหวัด หรือ ส.ป.ก. จังหวัด ที่ได้รับมอบหมาย หรือคณะทำงานจัดทำรายละเอียดประกอบการจัดซื้อที่ดินเป็นรายแปลง เพื่อเสนอผู้มีอำนาจตามข้อ ๑๒ และข้อ ๑๓ พิจารณาโดยมีรายละเอียด ดังนี้

(๑) ชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่

(๒) รายละเอียดหลักฐานหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน

(๓) จำนวนเนื้อที่ที่ดินตามหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และจำนวนเนื้อที่ที่ดินที่เสนอขาย

(๔) ราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ราคาที่ดินที่เสนอขาย และราคาที่ดินที่ได้ต่อรองแล้ว ต่อไร่

(๕) ราคาที่ดินและวิธีการชำระราคา

(๖) รายละเอียดประกอบการพิจารณา เช่น ทำเลที่ตั้ง การใช้และประเภทการทำประโยชน์ผลผลิต (หน่วยเดียวกันทุกแปลง) ภาระผูกพันของที่ดิน รายละเอียดอื่นตามที่เห็นสมควร

หมวด ๓

การจัดทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดิน

                  

                      ข้อ ๑๖  เมื่อผู้มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดินตามข้อ ๑๒ หรือข้อ ๑๓ แล้ว ให้ ส.ป.ก.จังหวัด หรือ ส.ป.ก.จังหวัด ที่ได้รับมอบหมาย หรือคณะทำงานจัดทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินกับผู้เสนอขายที่ดิน

                       ข้อ ๑๗  การจัดทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดิน ให้ ส.ป.ก.จังหวัด หรือ ส.ป.ก. จังหวัด ที่ได้รับมอบหมาย หรือคณะทำงานจัดทำขึ้น ๒ ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกัน และประทับตราคำว่า “ต้นฉบับ” ไว้ตอนบนของฉบับแรก ประทับตราคำว่า “คู่ฉบับ” ไว้ตอนบนของฉบับที่สอง และตรวจสอบหลักฐานการจัดซื้อที่ดินแต่ละแปลงให้ถูกต้องครบถ้วน แล้วรวบรวมส่ง ส.ป.ก. ดังนี้

(๑) คำเสนอขาย การตรวจสภาพที่ดิน และการเจรจาต่อรองราคาที่ดินเพื่อการจัดซื้อ

(๒) สำเนาหลักฐานหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน

(๓) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน

                           (๔) หลักฐานที่สำคัญตามความจำเป็น เช่น หนังสือมอบอำนาจ หนังสือยินยอมของคู่สมรส หนังสือยินยอมของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม สำเนาคำสั่งศาล หนังสือบริคณห์สนธิ หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด หลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือชื่อสกุล ฯลฯ

(๕) มติการอนุมัติของผู้มีอำนาจพิจารณาตามข้อ ๑๓

(๖) สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดิน

                          ข้อ ๑๘  การแก้ไขข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนของรายละเอียดประกอบการจัดซื้อที่ดินตามข้อ ๑๕ ในกรณีที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วจาก คปจ. หรือ อกก.คง. เฉพาะกรณีที่มิใช่เป็นการแก้ไขทุกประเด็นในคราวเดียวกันอันอาจเป็นเหตุให้เปลี่ยนที่ดินจากแปลงเดิม ให้เลขาธิการ ส.ป.ก. อนุมัติแก้ไขในประเด็นต่อไปนี้

(๑) ชื่อ ชื่อสกุลของผู้เสนอขายที่ดิน กรณีคัดลอกผิด เปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล รวมถึง กรณีทายาทรับมรดก

(๒) ที่ตั้งที่ดินตามเขตการปกครอง และหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน

(๓) จำนวนเนื้อที่ กรณีคัดลอกผิดหรือตัวเลขไม่ชัดเจน

(๔) รายละเอียดหลักฐานหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน กรณีคัดลอกผิด

(๕) ราคาที่ดิน กรณีคัดลอกผิด

ข้อ ๑๙  แบบสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและแบบพิมพ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการดำเนินการตามระเบียบนี้ให้เป็นไปตามที่เลขาธิการ ส.ป.ก. กำหนด

หมวด ๔

การอนุมัติจัดซื้อที่ดิน

                  

                      ข้อ ๒๐  เมื่อได้รับความเห็นชอบการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดินจากผู้มีอำนาจตามข้อ ๑๒ และ ข้อ ๑๓ แล้ว และที่ดินนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ให้เลขาธิการส.ป.ก. อนุมัติจัดซื้อที่ดินและให้ ส.ป.ก. จังหวัด หรือ ส.ป.ก. จังหวัด ที่ได้รับมอบหมาย หรือคณะทำงานกำหนดวันนัดจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกับเจ้าของที่ดินโดยเร็ว

หมวด ๕

การโอนเงินและการชำระราคาค่าที่ดิน

                  

ข้อ ๒๑  การชำระราคาค่าที่ดินให้ใช้ผลการรังวัดตามข้อ ๒๕

ข้อ ๒๒  เมื่อได้รับความเห็นชอบการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดินตามข้อ ๑๓ แล้ว ให้ ส.ป.ก. จังหวัด แจ้งสำนักบริหารกองทุนโอนเงินเพื่อเป็นค่าที่ดินต่อไป

ข้อ ๒๓  การชำระเงินค่าที่ดิน ให้ดำเนินการได้ ๒ กรณี คือ

(๑) การเบิกจ่ายเงินส่วนกลาง ให้สำนักบริหารกองทุนเป็นผู้ดำเนินการ

(๒) การเบิกจ่ายเงินส่วนภูมิภาค ให้ ส.ป.ก. จังหวัด เป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการใช้จ่ายเงิน การเบิกจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ข้อ ๒๔  ส.ป.ก. จะชำระราคาค่าที่ดินในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

การชำระราคาค่าที่ดินตามวรรคแรก ให้ถือปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาและค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน

                           สำหรับค่าภาษีและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินให้ผู้ขายเป็นผู้ชำระ ส่วนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้ผู้เสนอขายที่ดิน และ ส.ป.ก. เป็นผู้ชำระฝ่ายละครึ่ง

หมวด ๖

การรังวัดเพื่อการจัดซื้อที่ดิน

                  

                         ข้อ ๒๕  การจัดซื้อที่ดินเต็มแปลงและที่ดินนั้นมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเป็นโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้มีการรังวัดสอบเขต และให้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินตามผลการรังวัดใหม่ เว้นแต่กรณีที่ดินมีหลักฐานการรังวัดประเภทรูปแผนที่รังวัดใหม่ (ร.ว.ม.) และผลการตรวจสอบข้อมูลและสภาพที่ดิน ปรากฏว่าพบหมุดหลักเขตที่ดินจนสามารถกำหนดแนวเขตโดยรอบแปลงที่ดินได้โดยชัดแจ้งแล้ว และไม่ปรากฏปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินให้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินนั้น โดยไม่ต้องทำการรังวัดสอบเขต

การรังวัดสอบเขตตามวรรคแรก ผู้เสนอขายที่ดินจะมอบอำนาจให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัด หรือผู้ที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมอบหมายเพื่อดำเนินการยื่นคำขอรังวัดสอบเขตแทนก็ได้

ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการรังวัดสอบเขตให้ผู้เสนอขายที่ดินเป็นผู้ชำระ

                          ข้อ ๒๖  ในกรณีการเสนอขายที่ดินบางส่วน ให้ผู้เสนอขายที่ดินยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินที่จะขายนั้นต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินแห่งท้องที่ แล้วจึงดำเนินการจัดซื้อที่ดินต่อไป โดยผู้เสนอขายที่ดินจะมอบอำนาจให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัด หรือผู้ที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมอบหมาย เพื่อดำเนินการยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินแทนก็ได้

ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน ให้ผู้เสนอขายที่ดินเป็นผู้ชำระ

หมวด ๗

การคัดเลือกและจัดที่ดินให้เกษตรกร

                  

                         ข้อ ๒๗  การคัดเลือกเกษตรกร และการจัดลำดับเกษตรกรที่จะได้รับการจัดที่ดินก่อนและหลัง ให้ คปจ. เป็นผู้พิจารณาตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าว ให้ คปจ. มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้เหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

หมวด ๘

การรายงานความก้าวหน้าของการจัดซื้อที่ดิน

                  

ข้อ ๒๘  เมื่อมีการดำเนินการตามระเบียบนี้แล้ว ให้ ส.ป.ก. รายงานผลการดำเนินงานความก้าวหน้าของงาน รวมตลอดทั้งปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานให้ คปก. ทราบ

ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ปีติพงศ์  พึ่งบุญ ณ อยุธยา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประธานกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๒ เมษายน ๒๕๕๘

วิศนี/ผู้ตรวจ

๑๖ เมษายน ๒๕

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๗๒ ง/หน้า ๑/๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘