ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดหาที่ดินและจัดที่ดินให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๕๒

ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดหาที่ดินและจัดที่ดิน

ให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี

พ.ศ. ๒๕๕๒

                       

                      เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มเกษตรกรที่ได้เรียกร้องขอให้รัฐบาลจัดหาที่ดินทำกินซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้แก่กลุ่มเกษตรกรตามกระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๒ ได้มีมติเห็นชอบให้ออกระเบียบถือปฏิบัติเป็นหลักเกณฑ์เดียวกัน ในการดำเนินการจัดหาที่ดินและจัดที่ดินให้แก่กลุ่มเกษตรกรทุกกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี ให้ได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

                       ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ประกอบมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๒ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

                       ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดหาที่ดินและจัดที่ดิน ให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๕๒”

ข้อ ๒[๑]  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓  ในระเบียบนี้

“สมาชิก” หมายความว่า เกษตรกรในกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี

“คปก.” หมายความว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

“คปจ.” หมายความว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด

“คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแต่งตั้ง

“ส.ป.ก.” หมายความว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

“ส.ป.ก.จังหวัด” หมายความว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด

“ผู้เสนอขายที่ดิน” หมายความว่า เจ้าของที่ดินที่เสนอขายที่ดิน และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดินด้วย

                          “หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน” หมายความว่า หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน (โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว) และให้หมายความรวมถึงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ น.ส. ๓ ก. และ น.ส. ๓ ข.) ด้วย

ข้อ ๔  ให้เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

หมวด ๑

การจัดหาที่ดิน

                       

ส่วนที่ ๑

การตรวจสอบความต้องการที่ดิน

                       

                         ข้อ ๕  ให้กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินตามมติคณะรัฐมนตรีตรวจสอบว่าสมาชิกต้องการที่ดินทำกินในจังหวัดใด แล้วให้ส่งรายชื่อสมาชิกโดยแยกตามจังหวัด พร้อมทั้งส่งรายชื่อตัวแทนสมาชิกของแต่ละจังหวัด จำนวนไม่เกิน ๓ คน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาความพึงพอใจ ในที่ดินแต่ละแปลงให้ ส.ป.ก.

                         ข้อ ๖  ให้ ส.ป.ก. ตรวจสอบว่าสมาชิก ตามข้อ ๕ มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือได้รับการจัดที่ดินจากหน่วยงานอื่นของรัฐแล้วหรือไม่ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการและ คปจ.

ข้อ ๗  ให้ ส.ป.ก. แจ้งรายชื่อสมาชิกตามข้อ ๖ ให้ ส.ป.ก. จังหวัด เพื่อดำเนินการต่อไป

ส่วนที่ ๒

การจัดหาที่ดิน

                       

                        ข้อ ๘  การจัดหาที่ดินตามระเบียบนี้ ให้ดำเนินการเพื่อจัดซื้อที่ดินที่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และมีความเหมาะสมทางการเกษตร โดยให้คำนึงถึงความประสงค์และความพึงพอใจของสมาชิกในการเข้าทำกินในที่ดิน

ข้อ ๙  ให้ ส.ป.ก. จังหวัด ประกาศกำหนดเขตพื้นที่ดำเนินการเพื่อการจัดซื้อที่ดิน

กรณีท้องที่ใดยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ ส.ป.ก. หรือ ส.ป.ก. จังหวัด ที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

                         ข้อ ๑๐  เมื่อ ส.ป.ก. จังหวัด ประสงค์จะดำเนินการจัดซื้อที่ดิน ให้ ส.ป.ก. จังหวัดดำเนินการประกาศจัดซื้อที่ดินและให้ผู้เสนอขายที่ดินมาติดต่อ ณ ส.ป.ก. จังหวัด หรือสถานที่ที่ ส.ป.ก. จังหวัดกำหนด ภายในระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันปิดประกาศ

                         ประกาศตามวรรคหนึ่งให้ใช้เขตอำเภอเป็นหลัก และจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินพร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เสนอขายที่ดิน นำหลักฐานหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน และแผนที่แสดงที่ตั้งที่ดินโดยสังเขปมาแสดง โดยให้ปิดประกาศดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผย ณ ส.ป.ก. จังหวัดที่ว่าการอำเภอ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะดำเนินการจัดซื้อ หรือจะประกาศทางสื่ออื่นด้วยก็ได้

                          ข้อ ๑๑  ให้ คปจ. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ประกอบด้วย ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ นายอำเภอแห่งท้องที่ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เกษตรจังหวัด ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน ผู้แทนกรมชลประทาน เป็นอนุกรรมการ และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. จังหวัดเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบสภาพที่ดิน พิจารณาความเหมาะสมของที่ดินที่จะดำเนินการจัดซื้อ

                          ข้อ ๑๒  เมื่อมีผู้เสนอขายที่ดิน ให้ ส.ป.ก. จังหวัด ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินอำเภอ สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาหรือส่วนแยก หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด และนำเสนอคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป

ข้อ ๑๓  ให้คณะอนุกรรมการนำรายละเอียดหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินจาก ส.ป.ก. จังหวัด มาประกอบการพิจารณาการจัดซื้อที่ดินที่เสนอขาย โดยให้พิจารณาจาก

๑๓.๑ ความพึงพอใจในที่ดินของสมาชิก

๑๓.๒ ความเหมาะสมทางการเกษตรและมีขนาดเนื้อที่เหมาะสมในการรวมกลุ่มของสมาชิกประกอบเกษตรกรรม

๑๓.๓ ราคาซื้อขายที่ดินบริเวณใกล้เคียงตามความเป็นจริงของสำนักงานที่ดินแห่งท้องที่ย้อนหลังไม่เกิน ๑ ปี นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ประกอบกับราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์

                           ๑๓.๔ ราคาเสนอขายที่ดิน โดยราคาเสนอขายที่ดินดังกล่าวจะต้องไม่เกินหนึ่งเท่าครึ่งของราคาประเมินที่ดิน หรือไม่เกินราคาซื้อขายที่ดินบริเวณใกล้เคียงตามความเป็นจริงย้อนหลังไม่เกิน ๑ ปี ตามข้อ ๑๓.๓ ข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องไม่เกินราคาที่ดินต่อไร่ตามมติคณะรัฐมนตรี

ให้คณะอนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบสภาพที่ดินและพิจารณาความเหมาะสมของที่ดินที่จะดำเนินการจัดซื้อ โดยพิจารณาดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

                           ข้อ ๑๔  ให้คณะอนุกรรมการรวบรวมแปลงที่ดินที่เสนอขายและอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๑๓ แล้วปิดประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดิน ประกอบด้วยภาพถ่ายที่ดินและแผนที่แสดงที่ตั้งที่ดินความเหมาะสมในการประกอบเกษตรกรรมของที่ดินนั้นและราคาที่เสนอขาย แสดงไว้ ณ ส.ป.ก. จังหวัด หรือ สถานที่ที่ ส.ป.ก. จังหวัดกำหนด และให้ตัวแทนสมาชิกจำนวนไม่เกิน ๓ คน ตามข้อ ๕ คัดเลือกแปลงที่ดินที่พึงพอใจ เพื่อให้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อที่ดินแปลงนั้น เสนอให้ คปจ. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ข้อ ๑๕  ให้ ส.ป.ก. จังหวัด นำเสนอ คปจ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการจัดซื้อที่ดินตามที่คณะอนุกรรมการนำเสนอ

ข้อ ๑๖  เมื่อ คปจ. เห็นชอบแผนการจัดซื้อแล้ว ให้ ส.ป.ก. จังหวัด จัดทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับผู้เสนอขายที่ดินต่อไป

แบบสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และแบบพิมพ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการดำเนินการตามระเบียบนี้ให้เป็นไปตามที่ ส.ป.ก. กำหนด

ข้อ ๑๗  ให้ ส.ป.ก. จังหวัด รวบรวมรายละเอียดข้อมูลผู้มีสิทธิจะได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และแผนการจัดซื้อ แจ้ง ส.ป.ก.

ข้อ ๑๘  ส.ป.ก. รวบรวมข้อมูลจัดทำแผนงานและงบประมาณจาก ส.ป.ก. จังหวัด นำเสนอ คปก. พิจารณาอนุมัติ

ข้อ ๑๙  ให้ ส.ป.ก. จังหวัด นำแผนงานและงบประมาณที่ คปก. อนุมัติตามข้อ ๑๘ เสนอ คปจ. เพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดซื้อที่ดินตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๑๓ แล้วดำเนินการจัดซื้อที่ดินต่อไป

                          กรณีท้องที่ใดยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ ส.ป.ก. เสนอตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้วให้ดำเนินการทำสัญญาซื้อขายที่ดินต่อไปได้ และให้ระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายด้วยต่อไป

ส่วนที่ ๓

การรังวัดเพื่อการจัดซื้อที่ดิน

                       

ข้อ ๒๐  กรณีการจัดซื้อที่ดินเต็มแปลง เมื่อได้จัดทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินไว้สมบูรณ์แล้ว ให้ดำเนินการดังนี้

                         ๒๐.๑ ในกรณีที่ดินนั้นมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเป็นโฉนดที่ดินและมีหลักฐานการรังวัดประเภทรูปแผนที่รังวัดใหม่ (ร.ว.ม.) และผลการตรวจสอบข้อมูลและสภาพที่ดินปรากฏว่าพบหมุดหลักฐานที่ดิน จนสามารถกำหนดแนวเขตโดยรอบแปลงที่ดินได้โดยชัดแจ้งแล้ว และไม่ปรากฏปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดิน ให้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินนั้นได้ โดยไม่ต้องทำการรังวัดสอบเขต

                          ๒๐.๒ กรณีนอกจากข้อ ๒๐.๑ ให้ผู้เสนอขายที่ดินมอบอำนาจให้ ส.ป.ก. ดำเนินการยื่นคำขอรังวัดสอบเขตแปลงที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินแห่งท้องที่เมื่อเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ได้รับผลการรังวัดสอบเขตดังกล่าวแล้ว ให้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินตามผลการรังวัดสอบเขตดังกล่าวต่อไป

ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการสอบเขต ผู้เสนอขายที่ดินเป็นผู้ชำระ

                         ข้อ ๒๑  ในกรณีการเสนอขายที่ดินบางส่วน ซึ่งต้องมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินก่อนดำเนินการจัดซื้อที่ดินแปลงนั้น ให้ผู้เสนอขายที่ดินมอบอำนาจให้ ส.ป.ก. ดำเนินการยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินซึ่งจะขายนั้นต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินแห่งท้องที่ แล้วจึงดำเนินการจัดซื้อที่ดินต่อไป

ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการรังวัด แบ่งแยกที่ดิน ผู้เสนอขายที่ดินเป็นผู้ชำระ

ข้อ ๒๒  ส.ป.ก. จะชำระราคาค่าที่ดินในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัด เป็นตัวแทนรับโอนสิทธิในที่ดินที่จัดซื้อนี้

                         สำหรับค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ส.ป.ก. และผู้เสนอขายที่ดินเป็นผู้ชำระฝ่ายละครึ่ง ส่วนในเรื่องค่าภาษีและอากร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินให้ผู้เสนอขายที่ดินเป็นผู้ชำระ

                           ข้อ ๒๓  การจ่ายเงินค่าที่ดินให้จ่ายเป็นเช็ค โดยให้ออกเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายในนามของผู้เสนอขายที่ดินและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก โดยให้ถือปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาและค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๒๐ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖

หมวด ๒

การจัดที่ดิน

                       

ข้อ ๒๔  ให้ ส.ป.ก. จังหวัด ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

๒๔.๑ ให้ ส.ป.ก. จังหวัด ดำเนินการตรวจสอบสิทธิและรับคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของสมาชิก โดยต้องเป็นเกษตรกรตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน และมีคุณสมบัติดังนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว

(๓) มีความประพฤติดี และซื่อสัตย์สุจริต

(๔) ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๕) ไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อย แต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ

(๖) เป็นผู้ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และเงื่อนไขที่ คปก. และ คปจ. กำหนด

                          ๒๔.๒ ให้ดำเนินการจัดให้แก่สมาชิกที่ผ่านการคัดเลือกเกษตรกรเข้าทำกินในที่ดินโดยการจัดสรรที่ดินทำกินให้เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรดังกล่าว ดำรงชีพอยู่ได้ตามกระบวนการปฏิรูปที่ดิน

                         ๒๔.๓ คัดเลือกสมาชิกที่เป็นเกษตรกรและมีคุณสมบัติตามข้อ ๒๔.๑ และอยู่ในหลักเกณฑ์ ตามระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นผู้จะมีสิทธิได้รับที่ดินตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้

๒๔.๔ รังวัดจัดทำผังแปลงที่ดินเป็นรายแปลง และดำเนินการจัดเกษตรกรลงแปลงที่ดิน

๒๔.๕ จัดทำสัญญาเช่า/เช่าซื้อ หรือหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔ - ๐๑) ให้แก่เกษตรกร ตามเงื่อนไขที่ คปก. มีมติกำหนด

ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ธีระ  วงศ์สมุทร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประธานกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๓ มิถุนายน ๒๕๕๒

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนพิเศษ ๗๕ ง/หน้า ๑/๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒