ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๕๓

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่

พ.ศ. ๒๕๕๓

                       

                   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีจึงออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ให้ยกเลิก

 (๑) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๔๖

 (๒) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐

                    (๓) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐

ข้อ ๒  ในประกาศนี้

“แนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ

                   ข้อ ๓  ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์และเขตควบคุมอาคารของจังหวัดกระบี่ ดังต่อไปนี้ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                   (๑) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินสุสานหอยเจ็ดสิบห้าล้านปีหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลหนองทะเล ตำบลอ่าวนาง ตำบลไสไทย และตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๖

                  (๒) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติสุสานหอยเจ็ดสิบห้าล้านปีหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี และเกาะใกล้เคียงในท้องที่ตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๓๙

                 (๓) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ บังคับในท้องที่บางแห่งในตำบลหนองทะเล ตำบลอ่าวนาง และตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๓๔

                  (๔) พื้นที่บางส่วนภายในแนวเขตตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุนที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำบางแห่งของจังหวัดกระบี่ ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๐

ข้อ ๔  ให้จำแนกพื้นที่ตามข้อ ๓ เป็น ๔ บริเวณ ตามแผนที่ท้ายประกาศนี้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

                   บริเวณที่ ๑ หมายถึง พื้นที่บนแผ่นดินใหญ่ภายในบริเวณที่อยู่ในแนวเขตตามข้อ ๓ (๑) (๒) และ (๓) ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๒ และบริเวณที่ ๓ โดยจำแนกพื้นที่ เป็นดังนี้

                   (ก) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน ๔๐ เมตร ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลและริมตลิ่งของปากแม่น้ำกระบี่เข้าไปในแผ่นดินใหญ่เป็นระยะ ๕๐ เมตร ตลอดแนวชายฝั่งทะเล

(ข) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน ๔๐ เมตร ในบริเวณที่วัดจากแนวเขต (ก) ตลอดแนว เข้าไปในแผ่นดินใหญ่เป็นระยะ ๑๕๐ เมตร

(ค) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน ๔๐ เมตร ในบริเวณที่วัดจากแนวเขต (ข) ตลอดแนว เข้าไปในแผ่นดินใหญ่จนสุดเขตพื้นที่บริเวณที่ ๑

(ง) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า ๔๐ เมตร ขึ้นไป

บริเวณที่ ๒ หมายถึง พื้นที่เกาะพีพีดอน โดยจำแนกพื้นที่ เป็นดังนี้

(ก) พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลรอบเกาะเข้าไปในแผ่นดิน เป็นระยะ ๕๐ เมตร

(ข) พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขต (ก) เข้าไปในแผ่นดินทั้งหมด

บริเวณที่ ๓ หมายถึง พื้นที่เกาะต่าง ๆ ภายในแนวเขตตามข้อ ๓ (๑) และ (๒) ยกเว้นพื้นที่บริเวณที่ ๒

                   บริเวณที่ ๔ หมายถึง พื้นที่น่านน้ำทะเลภายในบริเวณที่มีจุดเริ่มต้นตรงแนวชายฝั่งทะเลบริเวณปากคลองทราย ของแนวเขตตามข้อ ๓ (๑) จากจุดดังกล่าวลากเป็นเส้นตรงไปยังจุดที่ (๓) จุดที่ (๔) และจุดที่ (๕) ของแนวเขตตามข้อ ๓ (๔) จากจุดดังกล่าวลากเป็นเส้นตรงขึ้นไปทางทิศเหนือที่จุดพิกัดยูทีเอ็ม X ๔๘๙๗๐๐ Y ๘๘๓๑๕๐ และจากจุดดังกล่าวเรื่อยไปทางด้านเหนือตามแนวเขตตามข้อ ๓ (๑) จนสุดเขตดังกล่าวที่บริเวณปากแม่น้ำกระบี่

ข้อ ๕  ในพื้นที่ตามข้อ ๔ ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคาร ดังต่อไปนี้

                 (๑) โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทหรือทุกชนิด เว้นแต่โรงงานจำพวกที่ ๑ โรงงานประเภทซัก อบ รีด โรงงานทำน้ำแข็ง โรงงานทำน้ำให้บริสุทธิ์ที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน ๒๐๐ แรงม้า โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม และโรงงานที่เกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค

                  (๒) ฌาปนสถาน เว้นแต่การก่อสร้างทดแทนหรือดัดแปลงของเดิมในพื้นที่เดิมซึ่งจะต้องมีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ รวมทั้งสิ่งก่อสร้างและอาคารประกอบของระบบควบคุมมลพิษทางอากาศต้องเป็นไปตามมาตรฐานของทางราชการ

                  (๓) สุสาน เว้นแต่กรณีสุสานที่มีอยู่เดิมได้ใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่เดิมที่ได้จัดไว้เพื่อการนั้นแล้วก็ให้ดำเนินการได้ แต่ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ เมตร และมีระยะห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะหรือบ่อน้ำเพื่อการบริโภคไม่น้อยกว่า ๓๐๐ เมตร

                  (๔) คลังน้ำมันเชื้อเพลิงและสถานที่ที่ใช้ในการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติเพื่อจำหน่ายที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง เว้นแต่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง

                 (๕) สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บก๊าซ และห้องบรรจุก๊าช สำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติ เว้นแต่สถานีบริการก๊าซ ร้านจำหน่ายก๊าซ สถานที่ใช้ก๊าซ และสถานที่จำหน่ายอาหารที่ใช้ก๊าซ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไม่รวมถึงการย้ายสถานที่บรรจุก๊าซจากสถานที่ตั้งเดิม ไปยังสถานที่ตั้งแห่งใหม่ที่เหมาะสมและปลอดภัยกว่า โดยไม่เพิ่มปริมาณ

ข้อ ๖  การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารในพื้นที่บริเวณที่ ๑ ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ต้องห้ามตามข้อ ๕ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

                   (๑) พื้นที่บริเวณที่ ๑ (ก) ที่มีความลาดชันไม่เกินร้อยละ ๒๐ และมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๓๐ เมตร ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร

                  (๒) พื้นที่บริเวณที่ ๑ (ข) ที่มีความลาดชันไม่เกินร้อยละ ๒๐ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร

                  (๓) พื้นที่บริเวณที่ ๑ (ค) ที่มีความลาดชันไม่เกินร้อยละ ๒๐ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยถ้าเป็นการก่อสร้างอาคารบ้านแถว ห้องแถว หรือตึกแถว ความยาวของอาคารแต่ละแถวต้องไม่เกิน ๒๕ เมตร และมีพื้นที่ว่างระหว่างอาคารแต่ละแถวไม่น้อยกว่า ๕ เมตร

                   (๔) พื้นที่บริเวณที่ ๑ (ง) ที่มีความลาดชันไม่เกินร้อยละ ๒๐ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร มีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน ๙๐ ตารางเมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และในพื้นที่บริเวณนี้ ห้ามดำเนินการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

(๕) พื้นที่บริเวณที่ ๑ ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๒๐ ถึง ร้อยละ ๓๕ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) พื้นที่บริเวณที่ ๑ (ก) และ (ง) ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร ส่วนพื้นที่บริเวณที่ ๑ (ข) และ (ค) ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร

                  (ข) อาคารตาม (ก) ต้องเป็นอาคารอยู่อาศัยที่เป็นอาคารเดี่ยว ขนาดแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ตารางวา มีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน ๙๐ ตารางเมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง

                  (๖) พื้นที่บริเวณที่ ๑ ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๓๕ ถึง ร้อยละ ๕๐ ให้มีได้เฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่เป็นอาคารเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร ขนาดแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๑๒๐ ตารางวา มีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน ๘๐ ตารางเมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร

(๗) พื้นที่บริเวณที่ ๑ ที่มีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลน้อยกว่า ๓๐ เมตร หรือที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใด ๆ

พื้นที่ว่างที่กำหนดไว้ตามข้อนี้ ต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ว่างนั้นโดยมีไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก

                   การปรับระดับพื้นดินสำหรับพื้นที่บริเวณที่ ๑ ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ ๒๐ ขึ้นไปให้ปรับระดับตามแนวนอนต่อแนวดิ่งได้ในอัตราส่วนไม่เกิน ๒ : ๑ ส่วน และห้ามปรับระดับโดยการขุดดินหรือถมดิน ลึกหรือสูงเกิน ๑ เมตร เว้นแต่เพื่อการก่อสร้างระบบฐานรากอาคาร ห้องใต้ดินหรือบ่อเก็บน้ำใต้ดิน และการปรับระดับพื้นดิน การขุดดิน การถมดิน ต้องไม่ทำอันตรายต่อรากและลำต้นของต้นไม้เดี่ยวหรือต้นไม้หมู่ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ที่มีขนาดความโตวัดโดยรอบลำต้นตรงที่สูง ๑.๓๐ เมตร ตั้งแต่ ๕๐ เซนติเมตรขึ้นไป และมิให้เคลื่อนย้ายหรือทำลายหินดานทั้งที่อยู่ใต้พื้นดิน ระดับพื้นดิน หรือโผล่เหนือพื้นดิน

ข้อ ๗  การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารในพื้นที่บริเวณที่ ๒ ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ต้องห้ามตามข้อ ๕ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) พื้นที่บริเวณที่ ๒ (ก) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

                   (ก) พื้นที่ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๓๐ เมตร ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใด ๆ เว้นแต่เป็นการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อทดแทนอาคารเดิมที่ได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัย เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ในพื้นที่บริเวณท่าเรืออ่าวต้นไทรตามที่จังหวัดกระบี่กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตามข้อ ๑๓ แต่อาคารต้องมีความสูงไม่เกิน ๙ เมตร และพื้นที่อาคารต้องไม่เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม

(ข) พื้นที่นอกจาก (ก) ให้มีได้เฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่เป็นอาคารเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน ๙ เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร

                 (๒) พื้นที่บริเวณที่ ๒ (ข) ให้มีได้เฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่มีความสูงไม่เกิน ๙ เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยถ้าเป็นการก่อสร้างบ้านแถว ความยาวของบ้านแถวแต่ละแถวต้องไม่เกิน ๒๕ เมตร และมีพื้นที่ว่างระหว่างบ้านแถวแต่ละแถวไม่น้อยกว่า ๕ เมตร

                 (๓) พื้นที่บริเวณที่ ๒ ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ ๑๕ ถึง ร้อยละ ๓๕ ให้มีได้เฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่มีความสูงไม่เกิน ๘ เมตร มีระยะห่างจากอาคารข้างเคียงไม่น้อยกว่า ๔ เมตร ขนาดแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ตารางวา มีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน ๙๐ ตารางเมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร

                  (๔) พื้นที่บริเวณที่ ๒ ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๓๕ ถึง ร้อยละ ๕๐ ให้มีได้เฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่เป็นอาคารเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน ๘ เมตร ขนาดแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๑๒๐ ตารางวา พื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน ๘๐ ตารางเมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร

(๕) พื้นที่บริเวณที่ ๒ ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใด ๆ

พื้นที่ว่างที่กำหนดไว้ตามข้อนี้ ต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ว่างนั้นโดยมีไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก

                  การปรับระดับพื้นดินสำหรับพื้นที่บริเวณที่ ๒ ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ ๑๕ ขึ้นไปให้ปรับระดับตามแนวนอนต่อแนวดิ่งได้ในอัตราส่วนไม่เกิน ๒ : ๑ ส่วน และห้ามปรับระดับโดยการขุดดินหรือถมดิน ลึกหรือสูงเกิน ๑ เมตร เว้นแต่เพื่อการก่อสร้างระบบฐานรากอาคาร ห้องใต้ดินหรือบ่อเก็บน้ำใต้ดิน และการปรับระดับพื้นดิน การขุดดิน การถมดิน ต้องไม่ทำอันตรายต่อรากและลำต้นของต้นไม้เดี่ยวหรือต้นไม้หมู่ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ที่มีขนาดความโตวัดโดยรอบลำต้นตรงที่สูง ๑.๓๐ เมตร ตั้งแต่ ๕๐ เซนติเมตรขึ้นไป และมิให้เคลื่อนย้ายหรือทำลายหินดานทั้งที่อยู่ใต้พื้นดิน ระดับพื้นดิน หรือโผล่เหนือพื้นดิน

                  โครงสร้างที่เป็นเสารับส่งสัญญาณที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เมตร และไม่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เรื่องการควบคุมความสูงของอาคารตามข้อนี้

พื้นที่บริเวณที่ ๒ ตามข้อนี้ ห้ามดำเนินการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

                   ข้อ ๘  พื้นที่บริเวณที่ ๓ ที่มีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลน้อยกว่า ๓๐ เมตร ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใด ๆ ส่วนพื้นที่บริเวณที่ ๓ ที่มีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่ ๓๐ เมตร ขึ้นไป ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร

ข้อ ๙  การวัดความสูงของอาคาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

                  (๑) กรณีที่ไม่มีการปรับระดับพื้นดินหรือมีการปรับระดับพื้นดินต่ำกว่าถนนสาธารณะในบริเวณที่ก่อสร้าง ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้าง ในกรณีที่มีการปรับระดับพื้นดินเท่ากับถนนสาธารณะหรือสูงกว่าถนนสาธารณะให้วัดจากระดับถนนสาธารณะ

(๒) กรณีมีห้องใต้ดินซึ่งค่าระดับเป็นลบ ความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างเช่นเดียวกับกรณี (๑)

(๓) กรณีพื้นดินเป็นเชิงลาดแนวเชิงเขา ความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้าง ณ จุดที่ต่ำที่สุดของอาคารหลังนั้น

การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับตามวรรคหนึ่งขึ้นไปในแนวดิ่งถึงส่วนที่สูงสุดของอาคาร สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด

ข้อ ๑๐  ในพื้นที่บริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ และบริเวณที่ ๓ ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้

(๑) การทำเหมือง

                 (๒) การขุด ตัก หรือลอก กรวด ดิน ดินลูกรัง หรือทรายบก ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกิน ๘๐ เมตร หรือมีความลาดชันเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ ๓๕ เว้นแต่เพื่อการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่มิใช่อาคาร หรือเพื่อการดำเนินการที่ได้รับการยกเว้นตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ หรือข้อ ๗

(๓) การถม ปรับพื้นที่ หรือปิดกั้น ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะในแผ่นดินตื้นเขินหรือเปลี่ยนทิศทางหรือทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นไม่อาจไหลไปได้ตามปกติ

                  (๔) การกระทำใด ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนสภาพธรรมชาติของพื้นที่พรุ ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล เว้นแต่การดำเนินงานของทางราชการเพื่อการวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครอง การฟื้นฟูการเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ

(๕) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว

(๖) การติดตั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายบนพื้นดิน ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายของทางราชการ

                   (ก) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนที่มีระยะห่างจากที่สาธารณะวัดเป็นมุมฉากในแนวราบบนพื้นดินและในอากาศน้อยกว่าสองเท่าของความสูงของป้ายและสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายนั้นในแนวดิ่ง

(ข) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่สาธารณะที่มีขนาดเกิน ๑ ตารางเมตร หรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกิน ๑๐ กิโลกรัม

                   (ค) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามแนวทางหลวงหรือทางสาธารณะในลักษณะบดบังหรืออาจจะบดบังทัศนวิสัย หรือทัศนียภาพอันสวยงาม หรือน่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สิน และป้ายตามแนวทางหลวง ที่มีระยะห่างระหว่างป้ายน้อยกว่า ๑,๐๐๐ เมตร

(ง) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๓๕

(๗) การกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางธรณีสัณฐานทางด้านกายภาพ ชีวภาพ หรือชีวกายภาพ ในพื้นที่สันทราย หรือหน้าผา

ข้อ ๑๑  ในพื้นที่บริเวณที่ ๔ ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้

(๑) การถมทะเล เว้นแต่เป็นนโยบายของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี หรือมีความจำเป็นเพื่อกิจการของส่วนราชการตามมติคณะกรรมการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

(๒) การล่วงล้ำลำน้ำ เว้นแต่อาคารหรือการล่วงล้ำที่ได้รับอนุญาตตามกฎกระทรวงออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย

(๓) การขุดลอกร่องน้ำ เว้นแต่เป็นการบำรุงรักษาทางน้ำ หรือการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ

(๔) การเล่นเรือสกู๊ตเตอร์ การเล่นเจ๊ตสกี หรือการเล่นเรือลากทุกชนิด

(๕) การเดินท่องเที่ยวใต้ทะเล (Sea Walker) หรือการทอดสมอเรือ ในแนวปะการัง

(๖) การประกอบกิจการร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรมบนเรือ

                   (๗) การเก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง กัลปังหา หรือหญ้าทะเลหรือการกระทำใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบทำให้ปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง กัลปังหา หรือหญ้าทะเลถูกทำลาย หรือเสียหาย

(๘) การจับหรือการครอบครองปลาสวยงามตามที่กำหนดไว้ในบัญชีปลาสวยงามท้ายประกาศนี้ เว้นแต่

                  (ก) การจับ หรือครอบครองของทางราชการ เพื่อการศึกษาวิจัย การเพาะพันธุ์ การเพาะเลี้ยง หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ  ทั้งนี้ ต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากกรมประมงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ แล้วแต่กรณี หรือการจำหน่ายปลาสวยงามที่ได้จากการเพาะพันธุ์หรือการเพาะเลี้ยง

(ข) การครอบครองของภาคเอกชนเพื่อการเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายโดยได้รับหนังสืออนุญาตจากกรมประมงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ หรือการครอบครองเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

(๙) การเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อการค้า

                (๑๐) การประมงที่ใช้เครื่องมือประมงประเภทอวนลากหรืออวนรุนทุกประเภทและทุกขนาดที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์ อวนทับตลิ่ง (อวนชัก) อวนล้อมหรือลอบปลาทรายประกอบกับเครื่องมือกระทุ้งน้ำ ยาเบื่อ แก๊สหรือระเบิด อวนญี่ปุ่น หรือเครื่องมือประมงทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

                (๑๑) การกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางธรณีสัณฐานทางด้านกายภาพชีวภาพ หรือชีวกายภาพ ในพื้นที่สันดอนหรือปากน้ำ เว้นแต่การกระทำของทางราชการเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง หรือเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ

               (๑๒) การกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพหาดไปจากเดิม หรือทำให้ทัศนียภาพบริเวณหาดเสียไป เว้นแต่การกระทำของทางราชการเพื่อการฟื้นฟูและรักษาสภาพตามธรรมชาติของหาด การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การรักษาความปลอดภัยทางทะเลและชายหาด การติดตั้งป้ายเตือนของทางราชการ หรือการทำทุ่น  ทั้งนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามข้อ ๑๓

                 ข้อ ๑๒  ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการในพื้นที่ตามข้อ ๔ นอกจากต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้แล้ว ให้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕

รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ให้จัดทำสำหรับการก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้

                  (๑) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม หรืออาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลเกินกว่า ๕๐ เมตร ซึ่งมีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง หรือมีพื้นที่ใช้สอยของทุกอาคารดังกล่าวรวมกันตั้งแต่ ๕๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่ถึง ๔,๐๐๐ ตารางเมตร

(๒) โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ ๑๐ เตียง ถึง ๒๙ เตียง

(๓) การจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยไม่ถึง ๒๕๐ แปลง หรือมีเนื้อที่ไม่เกิน ๑๐๐ ไร่

(๔) ท่าเทียบเรือทุกประเภทที่สามารถรับเรือตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอส ถึง ๑๐๐ ตันกรอส เว้นแต่ท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา ทุกขนาด

(๕) ทางหรือถนนส่วนบุคคล ที่ก่อสร้างบนพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ ๑๕ ถึงร้อยละ ๒๕ และมีความยาวต่อเนื่องกันตั้งแต่ ๕๐๐ ถึง ๑,๕๐๐ เมตร

(๖) ทางหลวงหรือถนนตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง ที่ก่อสร้างบนพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ ๑๕ ถึง ร้อยละ ๒๕

(๗) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวหรือหลายหลังรวมกันตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่ถึง ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตร

                (๘) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมที่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้ไม่เกิน ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือสถานที่ที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณในการกำจัดไม่เกิน ๕๐ ตันต่อวัน แต่ไม่รวมถึงโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมเฉพาะสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

                  (๙) กิจการที่นำบ้านพักอาศัยที่มีจำนวนตั้งแต่ ๑๐ หลัง ถึง ๗๙ หลัง หรือห้องแถว ตึกแถว หรือบ้านแถว ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง ที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกันไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้จัดทำสำหรับการก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้

                 (๑) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม หรืออาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลเกินกว่า ๕๐ เมตร ซึ่งมีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๘๐ ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยของทุกอาคารดังกล่าวรวมกันตั้งแต่ ๔,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป

(๒) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม หรืออาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่เกิน ๕๐ เมตร

(๓) โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ ๓๐ เตียงขึ้นไป

(๔) การจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ ๒๕๐ แปลงขึ้นไป หรือมีเนื้อที่เกินกว่า ๑๐๐ ไร่

(๕) ท่าเทียบเรือทุกประเภทที่สามารถรับเรือเกินกว่า ๑๐๐ ตันกรอส และท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา ทุกขนาด

(๖) ทางหรือถนนส่วนบุคคลที่ก่อสร้างบนพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ ๑๕ ขึ้นไป และมีความยาวต่อเนื่องกันเกินกว่า ๑,๕๐๐ เมตร

(๗) ทางหลวงหรือถนนตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง ที่ก่อสร้างบนพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๒๕

(๘) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียว หรือหลายหลังรวมกันตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป

                  (๙) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมที่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้เกิน ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือสถานที่ที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณในการกำจัดเกิน ๕๐ ตันต่อวัน และโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมเฉพาะสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

                   (๑๐) กิจการที่นำบ้านพักอาศัยที่มีจำนวนตั้งแต่ ๘๐ หลัง หรือห้องแถว ตึกแถว หรือบ้านแถวที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๘๐ ห้อง ที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกัน ไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

(๑๑) อาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

การก่อสร้างอาคารตามข้อนี้ ให้หมายความรวมถึงการดัดแปลงหรือการเปลี่ยนการใช้อาคารด้วย

                    ข้อ ๑๓  เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และให้ความเห็นชอบการนำแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติการ  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้

                   คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการประจำจังหวัดกระบี่ที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอเมืองกระบี่ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พื้นที่ตามข้อ ๔ อยู่ในเขตรับผิดชอบ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในจังหวัดกระบี่ไม่เกินสามคน ผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในจังหวัดกระบี่ไม่เกินสี่คน และผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดกระบี่ไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ เป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เสนอรายชื่อกรรมการตามวรรคสองต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

                   ข้อ ๑๔  เพื่อประโยชน์ในการสงวนรักษา การอนุรักษ์ การปกป้อง การฟื้นฟูบูรณะ และการจัดการด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๔ ให้จังหวัดกระบี่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตามข้อ ๑๓ มีหน้าที่ ดังนี้

(๑) จัดทำแผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สภาพฟื้นกลับคืนสู่สภาวะธรรมชาติเดิมนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องถิ่น

                  (๒) ฟื้นฟูและบำรุงรักษาพื้นที่ป่าชายเลนที่มีสภาพเสื่อมโทรมหรือเลิกการใช้ประโยชน์ตามที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้ว ให้สอดคล้องกับแผนตาม (๑) และแผนการจัดการป่าชายเลนของประเทศตามมติของคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้แก่ธรรมชาติ

(๓) กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณที่ ๔ และประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป

ข้อ ๑๕  ในกรณีที่มีกฎหมายใดกำหนดมาตรการที่มีผลเป็นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไว้ดีกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

ข้อ ๑๖  ในเขตพื้นที่ตามข้อ ๔ ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ด้วย

                 ข้อ ๑๗  การกระทำ กิจกรรม หรือกิจการใดที่ต้องห้ามตามประกาศนี้ ถ้าได้รับอนุญาตตามกฎหมายใดไว้แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้คงดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตตามกฎหมายนั้น แต่จะดำเนินการอื่นเพิ่มเติมหรือนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตไว้แล้ว หรือนอกเหนือจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตไว้เดิมก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับไม่ได้

                   ข้อ ๑๘  อาคารที่มีอยู่แล้วก่อนหรือในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามประกาศนี้ การดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ แต่จะดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศนี้ไม่ได้

                    ข้อ ๑๙  อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้คงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามที่ได้รับอนุญาตหรือที่ได้รับแจ้งไว้ แต่การขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งหรือการดำเนินการอื่นใดหลังจากวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                      อาคารที่ได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นไว้แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ การพิจารณาอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นคำขออนุญาตนั้น

ข้อ ๒๐[๑]  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีระยะเวลาการบังคับใช้จนถึงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕

ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

สุวิทย์  คุณกิตติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

[เอกสารแนบท้าย]

๑.  บัญชีปลาสวยงาม ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๕๓

๒.  แผนที่ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๕๓

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

 

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๓ สิงหาคม ๒๕๕๓

ณัฐวดี/ตรวจ

๓ สิงหาคม ๒๕๕๓

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗/ตอนพิเศษ ๙๒ ง/หน้า ๒/๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓