ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง เขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

และสิ่งแวดล้อม

เรื่อง เขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล[๑]

                  

                                 ด้วยปรากฏว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติกำหนดให้เป็นเขตควบคุมวิกฤตการณ์น้ำบาดาลและแผ่นดินทรุด และกรมทรัพยากรธรณี (เดิม) ได้ประกาศกำหนดเขตพื้นที่วิกฤตการณ์น้ำบาดาลดังกล่าวไว้แล้ว ยังมีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ชั้นน้ำบาดาล จนเป็นผลให้เกิดการลดตัวลงของระดับน้ำในชั้นน้ำบาดาล และมีการทรุดตัวของแผ่นดิน หรือมีการแพร่กระจายของน้ำเค็มเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาลในบริเวณชายฝั่งทะเล จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขวิกฤตการณ์น้ำบาดาลและการทรุดตัวของแผ่นดิน รวมทั้งป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการใช้น้ำบาดาล

                                 ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการควบคุมวิกฤตการณ์น้ำบาดาลและแผ่นดินทรุดตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำบาดาลและป้องกันมิให้ชั้นน้ำบาดาลในแหล่งน้ำบาดาลพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้รับความเสียหายและเป็นการรักษาสมดุลตามธรรมชาติของน้ำบาดาลให้มีใช้ตลอดไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติน้ำบาดาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๖ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำแนะนำของคณะกรรมการน้ำบาดาลจึงออกประกาศกำหนดให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา เป็นเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อควบคุม กำกับ ดูแล การประกอบกิจการน้ำบาดาลของส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือประชาชนทั่วไป ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดจากการใช้ประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนตลอดไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

ประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

และสิ่งแวดล้อม

ปริญสินีย์/จัดทำ

๒๖ เมษายน ๒๕๕๖

  • [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนพิเศษ ๘๘ ง/หน้า ๔/๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๖