ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุยและตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. ๒๕๕๗

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด

ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย

และตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พ.ศ. ๒๕๕๗

                  

                 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจึงออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ในประกาศนี้

“แนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ

                     ข้อ ๒  ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ และเขตควบคุมอาคารของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังต่อไปนี้ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                      (๑) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ บังคับในท้องที่บางแห่งในจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส พ.ศ. ๒๕๓๔ เฉพาะบางส่วนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

                     (๒) พื้นที่ภายในแนวเขตตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ภายในระยะเวลาที่กำหนด ลงวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เฉพาะบางส่วนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

   ให้จำแนกพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง เป็น ๗ บริเวณ ดังต่อไปนี้

                     บริเวณที่ ๑ ได้แก่ พื้นที่น่านน้ำทะเลภายในเส้นล้อมรอบ ณ จุดพิกัดยูทีเอ็ม WGS ๘๔ ดังต่อไปนี้ จุดที่ ๑ x ๕๙๕๐๐๐ Y ๑๐๘๕๐๐๐ จุดที่ ๒ x ๖๓๗๓๐๐ Y ๑๐๘๕๐๐๐ จุดที่ ๓x ๖๓๗๓๐๐ Y ๑๐๒๗๐๐๐ จุดที่ ๔ x ๕๙๕๐๐๐ Y ๑๐๒๗๐๐๐  ทั้งนี้ ไม่รวมพื้นที่แปลงสัมปทานปิโตรเลียมแปลงที่ G๕/๔๓

บริเวณที่ ๒ ได้แก่ พื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินของเกาะสมุย เกาะแตน อำเภอเกาะสมุย และเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน ยกเว้นบริเวณที่ ๓

บริเวณที่ ๓ ได้แก่

(๑) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๘๐ เมตร ถึง ๑๔๐ เมตร ในพื้นที่เกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย และเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน

(๒) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า ๑๔๐ เมตรขึ้นไป ในพื้นที่เกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย และเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน

(๓) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า ๘๐ เมตรขึ้นไป ในพื้นที่เกาะแตน อำเภอเกาะสมุย

บริเวณที่ ๔ ได้แก่ พื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินทั้งหมดของเกาะมัดหลัง เกาะฟาน เกาะวังใน เกาะวังนอก เกาะราบ เกาะมัดสุม อำเภอเกาะสมุย

                  บริเวณที่ ๕ ได้แก่ พื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินทั้งหมดของเกาะมัดแดง เกาะมัดโกง เกาะหัวตะเข้ เกาะดิน เกาะแม่ทับ เกาะแมลงป่อง เกาะฟานใหญ่ เกาะส้ม เกาะลุมหมูน้อย เกาะแหลมรายใน เกาะแหลมรายนอก อำเภอเกาะสมุย เกาะกงเกลี้ยง เกาะม้า เกาะกงธารเสด็จ เกาะแตนอก เกาะแตใน อำเภอเกาะพะงัน

                   บริเวณที่ ๖ ได้แก่ พื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินทั้งหมดของเกาะกงทรายแดง เกาะกง เกาะกงนุ้ย เกาะกงริ้น อำเภอเกาะพะงัน เกาะราใหญ่ เกาะหลัก เกาะทะลุ เกาะเจดมูล เกาะพึง เกาะกงออก เกาะนาเทียน เกาะฟานน้อย เกาะราหิน เกาะราเทียน อำเภอเกาะสมุย และเกาะอื่น ๆ ที่อยู่ภายในน่านน้ำบริเวณที่ ๑ ยกเว้นที่ปรากฏในบริเวณที่ ๔ ถึงบริเวณที่ ๗

บริเวณที่ ๗ ได้แก่

(๑) พื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินทั้งหมดของเกาะเต่า เกาะนางยวนและเกาะหางเต่า

(๒) พื้นที่น่านน้ำทะเลภายในเส้นล้อมรอบดังต่อไปนี้ จุดที่ ๑ x ๕๗๒๐๐๐ Y ๑๑๓๐๐๐๐ จุดที่ ๒ x ๖๑๐๐๐๐ Y ๑๑๓๐๐๐๐ จุดที่ ๓ x ๖๑๐๐๐๐ Y ๑๑๐๒๐๐๐ จุดที่ ๔ x ๕๗๒๐๐๐Y ๑๑๐๒๐๐๐

ข้อ ๓  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้

(๑) ภายในบริเวณที่ ๑ และบริเวณที่ ๗ (๒)

(ก) การทำเหมืองแร่

                 (ข) การขุดเจาะ ผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ และการถ่ายเทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งผลิตในทะเลขึ้นมาเป็นสถานีขนถ่ายหรือสถานีกระจายน้ำมัน  ทั้งนี้ ไม่รวมการขนส่งระบบท่อ การขนส่งทางเรือ การขนส่งทางรถยนต์ผ่านเรือข้ามฟากเพื่อการโดยสารและการขนส่ง ไปยังบริเวณที่ ๒ ถึงบริเวณที่ ๗ (๑)

                 (ค) การขุด การถมทะเล เว้นแต่การดำเนินการโดยส่วนราชการ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดตามข้อ ๖ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

(ง) การเคลื่อนย้ายหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติในทะเลโดยใช้เครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรง

                   (จ) การขุดลอกร่องน้ำ การปรับหรือปิดกั้น ปากคลอง ปากน้ำ เว้นแต่เป็นการดำเนินการเพื่อการระบายน้ำ การดำเนินการเพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ  ทั้งนี้ ต้องไม่เปลี่ยนแปลงหรือทำลายสภาพนิเวศเดิม และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ตามข้อ ๖

                    (ฉ) การล่วงล้ำลำน้ำ ยกเว้นกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ การดำเนินการเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอาคารและการล่วงล้ำลำน้ำที่ได้รับอนุญาตตามความในกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ตามข้อ ๖

                     (ช) การกระทำ หรือการประกอบกิจการใด ๆ ในแนวปะการังที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบต่อเต่าทะเล ปลาสวยงาม หรือทำให้หอยมือเสือ กัลปังหา ปะการัง ซากปะการังหรือหินปะการังถูกทำลายหรือเสียหาย เว้นแต่เป็นกิจการสาธารณูปโภคของรัฐที่มีความจำเป็นตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบ หรือเป็นการกระทำเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการของทางราชการที่มีหน้าที่

                         (ซ) การกระทำ หรือการประกอบกิจการใด ๆ ที่เป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย หรืออาจเป็นอันตราย ตลอดจนส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเล

                (ฌ) การจับหรือครอบครองปลาสวยงาม ตามที่กำหนดในบัญชีท้ายประกาศนี้ และปลิงทะเล เว้นแต่

                          ๑) การจับ หรือครอบครองของทางราชการ เพื่อการศึกษาวิจัย การเพาะพันธุ์ การเพาะเลี้ยง หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ  ทั้งนี้ ต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมประมงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วแต่กรณี

๒) การครอบครองเพื่อการจำหน่ายปลาสวยงามของทางราชการ ที่ได้จากการเพาะพันธุ์หรือการเพาะเลี้ยงที่ได้รับอนุญาตตาม ๑)

๓) การครอบครองของทางภาคเอกชนเพื่อการเพาะเลี้ยง การจำหน่าย โดยได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมประมงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วแต่กรณี

๔) การครอบครองของทางภาคเอกชนเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

(ญ) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่ทะเล เว้นแต่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการ

                           (ฎ) ทำการประมงภายในระยะ ๓,๐๐๐ เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ที่ใช้เครื่องมือประมงประเภทอวนลาก อวนรุน อวนล้อมทุกประเภททุกขนาดที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์ เครื่องมือประมงทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องมือประมงประเภทลอบปูตาห่างน้อยกว่า ๒.๕ นิ้ว เว้นแต่ทำการประมงหมึก

                           (ฏ) การเล่นสกู๊ตเตอร์ การเล่นเจ็ตสกี การเล่นสกีน้ำ หรือการเล่นเรือลากทุกชนิด เว้นแต่ในพื้นที่ที่คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ตามข้อ ๖ กำหนด

(๒) ภายในบริเวณที่ ๒ ถึง บริเวณที่ ๗ (๑)

(ก) การทำเหมืองแร่

                           (ข) การถมปรับพื้นที่ หรือปิดกั้น ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะในแผ่นดินตื้นเขิน เปลี่ยนทิศทางหรือทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นไม่อาจไหลไปได้ตามปกติ เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการเพื่อสาธารณประโยชน์หรือป้องกันน้ำท่วม  ทั้งนี้ ต้องไม่เปลี่ยนแปลงหรือทำลายสภาพนิเวศเดิม

                          (ค) การกระทำใด ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนสภาพธรรมชาติของพื้นที่พรุ และพื้นที่ป่าชายเลน เว้นแต่การดำเนินงานของทางราชการที่มีหน้าที่เพื่อการวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครอง การฟื้นฟู และการเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ตามข้อ ๖

                          (ง) การกระทำหรือกิจกรรมใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพของหาดไปจากเดิม เช่น การขุด การถม การปรับเปลี่ยนพื้นที่ การเคลื่อนย้ายหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือทำให้เสียทัศนียภาพบริเวณหาด ยกเว้นป้ายเตือนของทางราชการ การสร้างท่าเทียบเรือ การดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทางทะเลและชายหาด การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ตามข้อ ๖

                         (จ) การเก็บ หา นำออกไป หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายต่อเต่าทะเลและไข่เต่าทะเล ในบริเวณที่ ๗ เว้นแต่เป็นการดำเนินการของทางราชการเพื่อการศึกษาวิจัย การเพาะพันธุ์ การเพาะเลี้ยง

       (ฉ) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะในแผ่นดิน เว้นแต่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว

                         (ช) การขุด ตัก กรวด ดิน ดินลูกรัง หรือทราย ในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๓๕ เว้นแต่ การเกษตรกรรม และการขุด ตักที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการเพื่อการก่อสร้างโดยได้รับอนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้วและไม่ขัดกับมาตรการอื่น ๆ ในประกาศนี้

                         (ซ) การบุกรุก แผ้วถาง หรือก่อสร้างใด ๆ ในบริเวณพื้นที่ป่าตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครอง และดูแลรักษาป่า การศึกษาค้นคว้าและวิจัยที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางธรณีสัณฐาน หรือทำลายระบบนิเวศของพื้นที่ป่า

                        (ฌ) การสร้างสนามบินพาณิชย์ เว้นแต่เป็นนโยบายของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ  ทั้งนี้ พื้นที่และการก่อสร้างจะต้องไม่ขัดกับมาตรการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดตามข้อ ๖

                        (ญ) การทำสนามกอล์ฟ

                        (ฎ) การกระทำใด ๆ ที่เปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติในบริเวณที่ได้รับการประกาศเป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ เว้นแต่การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกโดยส่วนราชการเพื่อประโยชน์ด้านนันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ โดยไม่ทำลายสภาพธรรมชาติและต้องสอดคล้องกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม

ข้อ ๔  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร หรือดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) บริเวณที่ ๒

(ก) เขื่อน หรือกำแพง ต้องไม่ปิดกั้นทางลงสู่ทะเลหรือหาด หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์อื่น

                  (ข) อาคารพาณิชย์ และโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ต้องติดตั้งบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐานที่หน่วยงานราชการกำหนด ก่อนเชื่อมต่อลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ

                  (ค) กิจการที่นำบ้านพักอาศัย ตั้งแต่ ๑๐ หลังขึ้นไป หรือกิจการที่นำห้องแถว ตึกแถวหรือบ้านแถว ตั้งแต่ ๑๐ ห้องขึ้นไป ไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมต้องติดตั้งบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐานที่หน่วยงานราชการกำหนด ก่อนเชื่อมต่อลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ

                  (ง) โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และอาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ว่างที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองกำหนดไว้ โดยมีพันธุ์ไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก

(๒) บริเวณที่ ๓

                  (ก) ภายในบริเวณที่ ๓ (๑) และ (๓) อนุญาตเฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่เป็นอาคารเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร ขนาดแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ตารางวา ที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร มีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ว่างนั้น โดยมีพันธุ์ไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก รวมทั้งจัดให้มีการหน่วงน้ำหรือท่อที่สามารถลดอัตราการระบายน้ำออกสู่สาธารณะ เพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือน้ำหลาก และมีลักษณะหลังคาลาดชันตามแบบสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมเมืองร้อนชื้น หรือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น พื้นที่หลังคาไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่อาคาร และมีสีกลมกลืนธรรมชาติ เช่น สีอิฐ สีดินเผา สีน้ำตาล สีเทา สีเขียวใบไม้ เป็นต้น

                   (ข) ภายในบริเวณที่ ๓ (๒) อนุญาตเฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่เป็นอาคารเดี่ยว ความสูงไม่เกิน ๖ เมตร ขนาดแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ตารางวา พื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังสูงสุดไม่เกิน ๙๐ ตารางเมตร ที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารและมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ว่างนั้น โดยมีไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก รวมทั้งจัดให้มีการหน่วงน้ำ หรือท่อที่สามารถลดอัตราการระบายน้ำออกสู่สาธารณะ เพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือน้ำหลาก และลักษณะหลังคาลาดชันตามแบบสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมเมืองร้อนชื้น หรือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น พื้นที่หลังคาไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่อาคาร และมีสีกลมกลืนธรรมชาติ เช่น สีอิฐ สีดินเผา สีน้ำตาล สีเทา สีเขียวใบไม้ เป็นต้น

(ค) โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ต้องติดตั้งบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐานที่หน่วยงานราชการกำหนด ก่อนเชื่อมต่อลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ

(๓) บริเวณที่ ๔

(ก) เขื่อน หรือกำแพง ต้องไม่ปิดกั้นทางลงสู่ทะเลหรือหาด หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์อื่น

                  (ข) อาคารหรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ความสูงไม่เกิน ๖ เมตร พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน ๗๕ ตารางเมตร ที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ว่างนั้น โดยมีไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก และมีลักษณะหลังคาลาดชันตามแบบสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมเมืองร้อนชื้น หรือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น พื้นที่หลังคาไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่อาคารและมีสีกลมกลืนธรรมชาติ เช่น สีอิฐ สีดินเผา สีน้ำตาล สีเทา สีเขียวใบไม้ เป็นต้น

                  (ค) อาคารพาณิชย์ และโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ต้องติดตั้งบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐานที่หน่วยงานราชการกำหนด ก่อนเชื่อมต่อลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ

                  (ง) กิจการที่นำบ้านพักอาศัย ตั้งแต่ ๑๐ หลังขึ้นไป หรือกิจการที่นำห้องแถว ตึกแถวหรือบ้านแถว ตั้งแต่ ๑๐ ห้องขึ้นไป ไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมต้องติดตั้งบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐานที่หน่วยงานราชการกำหนด ก่อนเชื่อมต่อลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ

(จ) โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ในแต่ละโครงการให้สร้างได้ไม่เกิน ๕๐ ห้อง

                  (๔) บริเวณที่ ๕ ห้ามอาคารทุกชนิด ทุกประเภท เว้นแต่เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเป็นการดำเนินการของราชการ  ทั้งนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ตามข้อ ๖ โดยต้องมีระยะห่างจากชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร มีความสูงไม่เกิน ๓ เมตร พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน ๗๕ ตารางเมตร และมีลักษณะหลังคาลาดชันตามแบบสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมเมืองร้อนชื้น หรือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น พื้นที่หลังคาไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่อาคาร และมีสีกลมกลืนธรรมชาติ เช่น สีอิฐ สีดินเผา สีน้ำตาล สีเทา สีเขียวใบไม้ เป็นต้น

(๕) บริเวณที่ ๖ ห้ามก่อสร้างอาคารทุกชนิดทุกประเภท ยกเว้นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อประโยชน์หรือความปลอดภัยในการเดินเรือ

(๖) บริเวณที่ ๗ (๑)

(ก) เขื่อน หรือกำแพงต้องไม่ปิดกั้นทางลงสู่ทะเลหรือหาดหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์อื่น

                  (ข) พื้นที่เกาะเต่าที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน ๘๐ เมตร อาคารหรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ความสูงไม่เกิน ๖ เมตร ที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ว่างนั้น โดยมีไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก และมีลักษณะหลังคาลาดชันตามแบบสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมเมืองร้อนชื้น หรือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น พื้นที่หลังคาไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่อาคาร และมีสีกลมกลืนธรรมชาติ เช่น สีอิฐ สีดินเผา สีน้ำตาล สีเทา สีเขียวใบไม้ เป็นต้น

                  (ค) พื้นที่เกาะเต่าที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๘๐ เมตรขึ้นไป ให้มีได้เฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่เป็นอาคารเดี่ยว ความสูงไม่เกิน ๖ เมตร พื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ว่างนั้น โดยมีไม้ยืนต้นที่เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก รวมทั้งจัดให้มีการหน่วงน้ำ หรือท่อที่สามารถลดอัตราการระบายน้ำออกสู่สาธารณะ เพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือน้ำหลาก และมีลักษณะหลังคาลาดชันตามแบบสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมเมืองร้อนชื้น หรือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น พื้นที่หลังคาไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่อาคาร และมีสีกลมกลืนธรรมชาติ เช่น สีอิฐ สีดินเผา สีน้ำตาล สีเทา สีเขียวใบไม้ เป็นต้น

                  (ง) พื้นที่เกาะนางยวน เกาะหางเต่า อาคารหรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ความสูงไม่เกิน ๖ เมตร พื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ว่างนั้นโดยมีไม้ยืนต้นที่เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก และมีลักษณะหลังคาลาดชันตามแบบสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมเมืองร้อนชื้น หรือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น พื้นที่หลังคาไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่อาคาร และมีสีกลมกลืนธรรมชาติ เช่น สีอิฐ สีดินเผา สีน้ำตาล สีเทา สีเขียวใบไม้ เป็นต้น

                 (จ) อาคารพาณิชย์ และโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ต้องติดตั้งบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐานที่หน่วยงานราชการกำหนด ก่อนเชื่อมต่อลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ

                  (ฉ) กิจการที่นำบ้านพักอาศัย ตั้งแต่ ๑๐ หลังขึ้นไป หรือกิจการที่นำห้องแถว ตึกแถวหรือบ้านแถว ตั้งแต่ ๑๐ ห้องขึ้นไป ไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมต้องติดตั้งบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐานที่หน่วยงานราชการกำหนด ก่อนเชื่อมต่อลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ

(๗) พื้นที่บริเวณที่ ๒ ถึงบริเวณที่ ๔ ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ ๓๕ ถึงร้อยละ ๕๐ ให้มีได้เฉพาะอาคาร ดังนี้

                   (ก) อาคารอยู่อาศัยที่เป็นอาคารเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร ขนาดแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๑๒๐ ตารางวา และมีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน ๘๐ ตารางเมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้นและมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ว่างนั้น โดยมีไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก

                  (ข) อาคารของทางราชการเพื่อสาธารณประโยชน์หรือกิจการสาธารณูปโภคของรัฐ เฉพาะกิจการที่พิสูจน์ได้ว่าความสูงของพื้นที่เป็นปัจจัยหลักสำคัญที่มีผลทางวิศวกรรมต่อการผลิตหรือดำเนินการ  ทั้งนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด ตามข้อ ๖

(๘) พื้นที่บริเวณที่ ๒ ถึงบริเวณที่ ๔ และ บริเวณที่ ๗ (๑) ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ขึ้นไปห้ามก่อสร้างดัดแปลงอาคารใด ๆ

                   (๙) การปรับระดับพื้นดิน ในบริเวณที่ ๒ ถึงบริเวณที่ ๗ (๑) ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ ๓๕ ขึ้นไป ให้ปรับระดับพื้นดินได้ในพื้นที่ที่มีความลาดชัน ในแนวนอนต่อแนวดิ่งไม่เกิน ๓ : ๑ และห้ามปรับระดับดิน โดยการขุดดินและถมดินลึกหรือสูงเกินกว่า ๑ เมตร จากระดับพื้นดินเดิม เว้นแต่เพื่อการก่อสร้างระบบฐานรากอาคาร ห้องใต้ดิน และบ่อเก็บน้ำใต้ดิน

                  (๑๐) พื้นที่บริเวณที่ ๒ ถึงบริเวณที่ ๗ (๑) ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ ๕๐ ขึ้นไป ห้ามทำอันตรายด้วยประการใด ๆ ต่อระบบรากและลำต้นของต้นไม้เดี่ยวหรือต้นไม้หมู่ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งมีขนาดความโตวัดโดยรอบลำต้นตรงที่สูง ๑.๓๐ เมตร ตั้งแต่ ๕๐ เซนติเมตร ขึ้นไป

(๑๑) การวัดความสูงของอาคารในบริเวณที่ ๒ ถึงบริเวณที่ ๗ (๑) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

                    (ก) กรณีเป็นพื้นที่ราบหรือมีการถมดินปรับระดับกับแนวถนนในบริเวณที่ก่อสร้างความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ปรับระดับแล้ว ซึ่งหมายถึงการถมดินซึ่งสูงไม่เกินระดับถนนจนถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร

(ข) กรณีมีห้องใต้ดินที่ค่าระดับเป็นลบความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างเช่นเดียวกับ (ก)

(ค) กรณีพื้นดินเป็นเชิงลาดแนวเชิงเขา ความสูงของอาคารให้วัดในแนวดิ่งจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้าง ณ จุดที่ต่ำที่สุดของอาคารถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคารหลังนั้น

                 ข้อ ๕  ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการในพื้นที่ตามข้อ ๒ นอกจากต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้แล้ว ให้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังต่อไปนี้

รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ให้จัดทำสำหรับการก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้

                 (๑) โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม หรืออาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือสถานที่พักตากอากาศที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลเกินกว่า ๕๐ เมตร และมีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง หรือมีพื้นที่ใช้สอยของทุกอาคารรวมกันตั้งแต่ ๕๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่ถึง ๔,๐๐๐ ตารางเมตร

(๒) โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ ๑๐ เตียง ถึง ๒๙ เตียง

(๓) การจัดสรรที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยไม่ถึง ๕๐๐ แปลง หรือมีเนื้อที่ไม่เกิน ๑๐๐ ไร่

                  (๔) ท่าเทียบเรือทุกประเภท ที่มีขนาดตั้งแต่ ๑๐๐ ตันกรอส แต่ไม่ถึง ๕๐๐ ตันกรอส หรือมีความยาวหน้าท่าตั้งแต่ ๒๐ เมตร แต่ไม่ถึง ๑๐๐ เมตร หรือมีพื้นที่รวมของท่าเทียบเรือตั้งแต่ ๒๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่ถึง ๑,๐๐๐ ตารางเมตร ยกเว้นเรือท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา

(๕) ท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา ที่รองรับเรือได้ตั้งแต่ ๑๐ ลำ แต่ไม่ถึง ๕๐ ลำ หรือมีพื้นที่รวมของท่าเทียบเรือตั้งแต่ ๑๐๐ ตารางเมตรแต่ไม่ถึง ๑,๐๐๐ ตารางเมตร

(๖) โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยก หรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในชุมชนที่มีปริมาณในการกำจัดไม่เกิน ๕๐ ตันต่อวัน

รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้จัดทำสำหรับการก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้

                 (๑) โครงการหรือกิจการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

(๒) โครงการหรือกิจการ ดังต่อไปนี้

(ก) โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม หรืออาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือสถานที่พักตากอากาศที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่เกิน ๕๐ เมตร

                  (ข) ทางหลวงหรือถนนตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง ที่ก่อสร้างบนพื้นที่สูงเกินกว่า ๑๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือบนพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๓๕ ซึ่งมีความยาว ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เมตร ขึ้นไป

(ค) ทางหรือถนนส่วนบุคคลที่มีขนาดมากกว่า ๒ ช่องจราจร ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ที่มีความยาวต่อเนื่องกันตั้งแต่ ๑,๕๐๐ เมตรขึ้นไป ในบริเวณที่ ๔

(ง) โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วชุมชนที่มีปริมาณในการกำจัดเกิน ๕๐ ตันต่อวัน

                  (๓) โครงการหรือกิจการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

                  ข้อ ๖  เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๒ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยแบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือ คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด และคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่

                   คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด ให้มีองค์ประกอบ ดังนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธาน นายอำเภอเกาะสมุย นายอำเภอเกาะพะงัน ผู้แทนส่วนราชการประจำจังหวัดที่มีอำนาจหน้าที่ในจังหวัด หรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินสามคน ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ซึ่งมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมการประมง หรือการท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินหกคน และผู้แทนองค์กรเอกชน ซึ่งมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ  ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ โดยให้ทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ และดูแล ติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามประกาศนี้ พร้อมทั้งรายงานผลต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปีละครั้ง

                   คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ ให้มีจำนวน ๓ ชุด คือ คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอเกาะพะงัน และคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตำบลเกาะเต่า โดยแต่ละชุดมีองค์ประกอบ ดังนี้ นายอำเภอในพื้นที่เป็นประธาน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่หรือผู้แทน นายกเทศมนตรีในพื้นที่หรือผู้แทน กำนันในพื้นที่หรือผู้แทน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไม่เกินสองคน ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่มีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวการประมง หรืออุตสาหกรรมในพื้นที่ไม่เกินสามคน ผู้แทนส่วนราชการประจำอำเภอ หรือรัฐวิสาหกิจในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ ปลัดอำเภอในพื้นที่ เป็นกรรมการและเลขานุการ  ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นผู้แต่งตั้งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ โดยให้ทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ และดูแล ติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามประกาศนี้ พร้อมทั้งรายงานผลต่อคณะกรรมการระดับจังหวัดเป็นประจำทุกหกเดือน

                 ข้อ ๗  นอกจากอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ให้คณะกรรมการระดับพื้นที่ตามข้อ ๖ มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน การฟื้นฟู บำบัด และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

                (๑) กำหนดจุด และทำทุ่นจอดเรือสำหรับการจอดเรือ เพื่อกิจกรรมดำน้ำดูปะการังในบริเวณที่ ๑ และบริเวณที่ ๗ (๒) เพื่อมิให้การทอดสมอเรือส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง และหญ้าทะเล

                (๒) กำหนดเขตควบคุมการใช้ประโยชน์พื้นที่ในทะเลในบริเวณที่ ๑ และบริเวณที่ ๗ (๒) รวมทั้งขนาด และประเภทของเครื่องเล่นกีฬาทางน้ำ เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว

                 (๓) กำหนดให้มีการจัดระเบียบชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๔ และบริเวณที่ ๗ (๑) ให้สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพ วัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนดำรงเอกลักษณ์ทางธรรมชาติไว้

                 (๔) กำหนดให้มีการฟื้นฟูและบำรุงรักษาพื้นที่ป่าพรุและป่าชายเลน ให้ฟื้นคืนสู่ธรรมชาติโดยเร็วเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ธรรมชาติ  ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับแผนการจัดการป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศตามมติของคณะรัฐมนตรี

                 (๕) กำหนดให้มีการปรับปรุงฟื้นฟู แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำสาธารณะที่ก่อสร้างเพื่อระบายน้ำป้องกันน้ำท่วม และปรับปรุงแหล่งน้ำสาธารณะที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วม

(๖) กำหนดให้มีการบำรุงรักษา และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าให้มีความสมบูรณ์

ข้อ ๘  ในกรณีที่มีกฎหมายใดกำหนดมาตรการที่มีผลเป็นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไว้ดีกว่าที่กำหนดในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

ข้อ ๙  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ด้วย

                  ข้อ ๑๐  อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ ๒ ก่อน หรือในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามประกาศนี้ การดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ แต่จะดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศนี้ไม่ได้

                  ข้อ ๑๑  อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้คงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามที่ได้รับอนุญาตหรือที่ได้รับแจ้งไว้ แต่การขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งหรือการดำเนินการอื่นใดหลังจากวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                   อาคารที่ได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นไว้แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ การพิจารณาอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นคำขออนุญาตนั้น

                 ข้อ ๑๒  การกระทำ กิจกรรม หรือกิจการใดที่ต้องห้ามตามประกาศนี้ ถ้าได้รับอนุญาตตามกฎหมายใดไว้แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้คงดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตตามกฎหมายนั้น แต่จะดำเนินการอื่นเพิ่มเติม หรือนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตไว้แล้ว หรือนอกเหนือจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตไว้เดิมก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับไม่ได้

ข้อ ๑๓[๑]  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับมีกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

วิเชษฐ์  เกษมทองศรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

[เอกสารแนบท้าย]

                ๑. บัญชีท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. ๒๕๕๗

                  ๒. แผนที่ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. ๒๕๕๗

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗

พจนา/ผู้ตรวจ

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๑ ง/หน้า ๗/๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗