ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๑)

ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการ

สำหรับการระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล[๑]

                  

 

                         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ (๑) แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคำแนะนำของคณะกรรมการน้ำบาดาลออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาลไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  คุณภาพของน้ำที่จะระบายลงบ่อน้ำบาดาล

น้ำที่จะระบายลงบ่อน้ำบาดาล ต้องเป็นน้ำที่ได้ทำการวิเคราะห์แล้วและมีคุณลักษณะไม่เกินเกณฑ์กำหนดสูงสุดตามมาตรฐานน้ำสำหรับระบายลงบ่อน้ำบาดาลท้ายประกาศนี้

ข้อ ๒  ชั้นน้ำที่จะระบายน้ำลง

(๑) ต้องระบายน้ำลงในชั้นน้ำที่น้ำบาดาลมีคุณลักษณะไม่เหมาะสมแก่การอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรมหรือการอุตสาหกรรม และไม่มีการใช้น้ำบาดาลในชั้นน้ำนั้น

(๒) ชั้นน้ำบาดาลตาม (๑) ต้องไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดต่อเนื่องในทางธรณีวิทยา อุทกวิทยา หรือชลศาสตร์กับชั้นน้ำอื่นที่มีการใช้น้ำบาดาล

ข้อ ๓  บ่อสังเกตการณ์ (observation well)

                           (๑) ระบบการระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล ต้องประกอบด้วยบ่อที่ใช้ในการระบายน้ำและบ่อสังเกตการณ์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๗.๕ เซนติเมตร สำหรับตรวจและติดตามดูผลการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับคุณลักษณะและระดับน้ำบาดาล

(๒) ต้องจัดสร้างบ่อสังเกตการณ์ให้อยู่ระดับเดียวกับชั้นน้ำที่จะระบายลง ๑ บ่อ และให้อยู่ในชั้นน้ำที่ถัดขึ้นมาและถัดลงไปอีกชั้นละ ๑ บ่อ

(๓) การเจาะบ่อสังเกตการณ์ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการเจาะน้ำบาดาล

(๔) บ่อสังเกตการณ์แต่ละบ่อต้องอยู่ห่างจากบ่อระบายน้ำไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร แต่ต้องไม่เกิน ๓๐ เมตร

ข้อ ๔  อัตราการระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล

(๑) ต้องไม่ระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาลใด ๆ ให้มีอัตราการระบายลงมากกว่าอัตราการสูบทดสอบปริมาณน้ำจากบ่อน้ำบาดาลนั้น ๆ

(๒) ต้องไม่ระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล ด้วยแรงดันสูงจนน้ำที่ระบายไหลเข้าไปปนกับน้ำบาดาลในชั้นน้ำที่ถัดขึ้นมาหรือถัดลงไป หรือไหลล้นขึ้นมาสู่ผิวดิน

(๓) การไหลของน้ำที่ระบายตาม (๒) นั้น หากไม่สามารถจะแก้ไขด้วยวิธีใด ๆ ได้ ต้องระงับการระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาลและรายงานให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ทราบทันที

ข้อ ๕  การปรับปรุงบ่อน้ำบาดาลที่จะระบายน้ำ

(๑) เมื่ออัตราการระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาลลดลงเองโดยธรรมชาติ ต้องหยุดระบายน้ำและดำเนินการปรับปรุงบ่อน้ำบาดาลเสียใหม่

(๒) ในการปรับปรุงบ่อที่จะระบายน้ำบาดาล ต้องใช้วิธีการเช่นเดียวกับการพัฒนาบ่อน้ำบาดาลตามหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการเจาะน้ำบาดาล

ข้อ ๖  การรายงานผลสืบเนื่องจากการระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล

                         (๑) ต้องส่งรายงานแสดงปริมาณน้ำ ผลการวิเคราะห์คุณลักษณะของน้ำที่ระบายลงบ่อน้ำบาดาล และรายงานการตรวจและติดตามดูผลตามข้อ ๓ (๑) ตามแบบพิมพ์ที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด

(๒) รายงานตาม (๑) ต้องส่งภายในวันที่ ๕ ของเดือนถัดไปทุกเดือน

ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑

เกษม  จาติกวณิช

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

[เอกสารแนบท้าย]

มาตรฐานน้ำสำหรับระบายลงบ่อน้ำบาดาล

รายการคุณลักษณะของน้ำ                                 เกณฑ์กำหนดสูงสุด

                                                                              (หน่วยส่วนในล้าน)

       สี (Colour)                                                                    ๕๐ (หน่วยปลาตินัม - โคบอลต์)

       ความขุ่น (Turbidity)                                                  ๕๐ (หน่วยความขุ่น)

       ความเป็นกรด - ด่าง (pH)                                          ๕.๐ - ๙.๒

       ปริมาณมวลสารทั้งหมด (Total solids)                  ๒,๐๐๐

       บี โอ ดี (BOD)                                                                ๔๐

       น้ำมันและไขมัน (Oil and grease)                           ๕.๐

       คลอรีนอิสระ (Free chlorine)                                   ๕.๐

       ทองแดง (Cu)                                                                 ๑.๕

       สังกะสี (Zn)                                                                    ๑๕.๐

       โครเมียม (Cr)                                                                  ๒.๐

       สารหนู (As)                                                                    ๐.๐๕

       ไซยาไนด์ (CN)                                                              ๐.๒

       ปรอท (Hg)                                                                      ๐.๐๐๒

       ตะกั่ว (Pb)                                                                       ๐.๑

       แคดเมียม (Cd)                                                              ๐.๑

       แบเรียม (Ba)                                                                   ๑.๐

พรพิมล/พิมพ์

๙ ก.ค. ๒๕๔๔

นันทพล/ปรับปรุง

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

ปริญสินีย์/ปรับปรุง

๒๖ เมษายน ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕/ตอนที่ ๖๖/หน้า ๑๙๘๘/๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๑