พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558

พระราชบัญญัติ

จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

พ.ศ. ๒๕๕๘

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘

เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๕๘”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕

(๒) พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗

(๓) พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๔

 

มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้

“การจัดรูปที่ดิน” หมายความว่า การดำเนินงานพัฒนาที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมให้สมบูรณ์ทั่วถึงที่ดินทุกแปลง เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต โดยทำการรวบรวมที่ดินหลายแปลงในบริเวณเดียวกันเพื่อวางผังจัดรูปที่ดินเสียใหม่ การจัดระบบชลประทาน การจัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา การปรับระดับพื้นที่ดิน การบำรุงดิน การวางแผนการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลการเกษตร รวมตลอดถึงการแลกเปลี่ยน การโอน การรับโอนสิทธิในที่ดิน การให้เช่าซื้อที่ดิน และการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

“การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม” หมายความว่า การจัดระบบชลประทานจากทางน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำอื่นใดไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการจัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา

“เกษตรกรรม” หมายความว่า การทำนา ทำไร่ ทำสวน และเกษตรกรรมอื่นตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด

“เขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม” หมายความว่า เขตที่ดินที่มีประกาศกำหนดให้เป็นเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม

“เขตโครงการจัดรูปที่ดิน” หมายความว่า เขตที่ดินที่มีประกาศกำหนดให้เป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

“ระบบชลประทาน” หมายความว่า คัน คูน้ำ ทางระบายน้ำ ประตูน้ำ รวมทั้งสิ่งก่อสร้างหรืออุปกรณ์อื่นใดที่จัดทำขึ้นเพื่อกัก เก็บ รักษา ควบคุม ส่ง ระบายหรือจัดสรรน้ำในเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมหรือเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

“ผู้บริหารท้องถิ่น” หมายความว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรีหรือผู้บริหารท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น แต่ไม่รวมถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

“เจ้าของที่ดิน” หมายความว่า ผู้มีสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมชลประทาน

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวง และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของตน

กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๑

คณะกรรมการจัดรูปที่ดิน

                  

มาตรา ๖  ให้มีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง” ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง อธิบดีกรมการข้าว อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งจำนวนไม่เกินเก้าคนเป็นกรรมการ

ให้หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ เป็นที่ประจักษ์ด้านกฎหมาย การเกษตร การชลประทาน การบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม หรือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดรูปที่ดิน

 

มาตรา ๗  เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดินตามมาตรา ๓๒ ใช้บังคับในบริเวณใดในจังหวัดใดแล้ว ให้มีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดขึ้นคณะหนึ่งในจังหวัดนั้น เรียกว่า “คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด” ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ปลัดจังหวัดเป็นรองประธานกรรมการ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สหกรณ์จังหวัด ผู้แทนกรมการข้าว ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท อัยการจังหวัด ผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นายอำเภอในท้องที่เขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ผู้บริหารท้องถิ่นทุกแห่งที่พื้นที่เขตสำรวจการจัดรูปที่ดินอยู่ในเขตการปกครองซึ่งเลือกกันเองไม่เกินห้าคน เว้นแต่เขตสำรวจการจัดรูปที่ดินใดมีผู้บริหารท้องถิ่นไม่เกินห้าคนให้ทุกคนเป็นกรรมการ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกินห้าคนซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากเจ้าของที่ดินในเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน

ให้หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ

ในกรณีที่เขตสำรวจการจัดรูปที่ดินครอบคลุมที่ดินสองจังหวัดขึ้นไปรวมอยู่ในเขตโครงการเดียวกัน คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางอาจกำหนดให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดแห่งหนึ่งทำหน้าที่ครอบคลุมทั้งโครงการก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด นายอำเภอในจังหวัดอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการด้วย สำหรับผู้บริหารท้องถิ่นให้ดำเนินการเลือกกันเองระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งที่อยู่ในเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน

การเลือกผู้บริหารท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งและวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๘  กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี

ในกรณีที่กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน หรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการใหม่

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้

 

มาตรา ๙  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๘ กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ว่าราชการจังหวัดให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ สำหรับกรรมการซึ่งตนแต่งตั้ง แล้วแต่กรณี

(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 

มาตรา ๑๐  การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการคนที่หนึ่งหรือคนที่สอง ตามลำดับ เป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

มาตรา ๑๑  คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) พิจารณาเสนอแผนแม่บทการจัดรูปที่ดินต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

(๒) กำหนดนโยบายและพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานและงบประมาณของโครงการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และโครงการจัดรูปที่ดินในท้องที่ต่าง ๆ

(๓) พิจารณาเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อออกประกาศกำหนดแนวเขตสำรวจการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม

(๔) พิจารณาเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน

(๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินราคาที่ดินและทรัพย์สินอื่นในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

(๖) ให้ความเห็นชอบในการกำหนดที่ดินตอนใดเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการตามมาตรา ๓๔

(๗) วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับปัญหาการจัดรูปที่ดินตามคำร้องหรือคำอุทธรณ์ของเจ้าของที่ดินหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามมาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๘

(๘) วางระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน การเบิกจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุนจัดรูปที่ดิน

(๙) วางระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน และกิจการที่เกี่ยวกับการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และการจัดรูปที่ดินของสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางหรือสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัด

(๑๐) กำหนดแนวทางในการส่งเสริมและช่วยเหลือการทำเกษตรกรรมในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

(๑๑) ดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวกับการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและการจัดรูปที่ดินเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๒  คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) จัดให้มีการสำรวจบริเวณที่ดินที่เห็นสมควรจะกำหนดเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

(๒) ประเมินราคาที่ดินและทรัพย์สินอื่นในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนด

(๓) พิจารณาให้ความเห็นชอบการวางแผนผังการจัดแปลงที่ดิน ระบบชลประทาน การสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา การปรับระดับพื้นที่ดิน การแลกเปลี่ยนที่ดิน และการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

(๔) สอบสวนและวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา ๔๒ หรือดำเนินการประนีประนอมตามมาตรา ๔๓

(๕) ดำเนินการเกี่ยวกับการเงินและการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินตามระเบียบหรือข้อบังคับหรือมติของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง หรือตามที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมาย

(๖) วางระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการเปิดหรือปิดประตูกักน้ำ หรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการบังคับน้ำเข้าสู่ที่ดินของเจ้าของที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

(๗) ดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดรูปที่ดิน

การออกระเบียบหรือข้อบังคับตาม (๖) ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๒๕

 

มาตรา ๑๓  คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาหรือวิจัย หรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทน หรือตามที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมอบหมายก็ได้

การประชุมคณะอนุกรรมการให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

หมวด ๒

สำนักงานจัดรูปที่ดิน

                  

 

มาตรา ๑๔  สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม การจัดรูปที่ดิน รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง ควบคุมสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) จัดทำแผนแม่บทการจัดรูปที่ดิน

(๒) จัดทำแผนการดำเนินงานและงบประมาณของโครงการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและโครงการจัดรูปที่ดิน

(๓) จัดทำแผนผังการจัดแปลงที่ดิน ระบบชลประทาน การสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา การปรับระดับพื้นที่ดิน และการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

(๔) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและช่วยเหลือการทำเกษตรกรรม

(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวกับการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและการจัดรูปที่ดินตามที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนด

 

มาตรา ๑๕  สำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม การจัดรูปที่ดินภายในเขตจังหวัด และรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด

ในกรณีที่เขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมหรือเขตโครงการจัดรูปที่ดินมีพื้นที่ครอบคลุมที่ดินสองจังหวัดขึ้นไปรวมอยู่ในเขตโครงการเดียวกัน อธิบดีจะมอบหมายให้สำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดใดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมหรือจัดรูปที่ดินตลอดเขตโครงการนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีสำนักงานจัดรูปที่ดินในจังหวัดที่เกี่ยวข้องนั้นหรือไม่

 

มาตรา ๑๖  บรรดาที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้มาโดยประการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้กรมชลประทานเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมหรือการจัดรูปที่ดินโดยเฉพาะ

ที่ดินและทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง กรมชลประทานมีอำนาจดำเนินการให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือโอนไปยังเกษตรกรเพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรมได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

กิจการใดที่กฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมหรือเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ให้กรมชลประทานได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนนั้น

 

มาตรา ๑๗  ให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางจัดทำแผนแม่บทการจัดรูปที่ดิน ประกอบด้วย แผนการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และแผนการจัดรูปที่ดิน โดยแสดงภาพรวมการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและการจัดรูปที่ดิน ระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนกรอบงบประมาณ รวมทั้งกำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามแผน แนวทางการประสานความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบชลประทาน การบริหารและพัฒนาที่ดิน และการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการทำเกษตรกรรม

ในการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการจัดรูปที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางคำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำแผนด้วย

ให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเสนอแผนแม่บทการจัดรูปที่ดินต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเพื่อพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางพิจารณาแผนแม่บทการจัดรูปที่ดินให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเสนอ

ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนแม่บทการจัดรูปที่ดิน ให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนนั้น

 

หมวด ๓

การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม

                  

 

มาตรา ๑๘  ในกรณีที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางหรือเจ้าของที่ดินในพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรมมีความประสงค์ให้มีการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ใด ให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางจัดทำโครงการเสนอต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง

การเสนอโครงการตามวรรคหนึ่ง ต้องแสดงแนวเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะจัดทำระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมแหล่งน้ำที่จะใช้ในการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม จำนวนเจ้าของที่ดินที่ทำเกษตรกรรม ประเภทของการทำเกษตรกรรม ความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการดำเนินการ และประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๑๙  ในกรณีที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางได้พิจารณาเห็นสมควรให้มีการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และเป็นพื้นที่ที่ยังมิได้ประกาศเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ให้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อออกประกาศกำหนดแนวเขตสำรวจการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมในเขตพื้นที่นั้น ประกาศดังกล่าวให้มีแผนที่สังเขปแสดงเขตท้องที่ที่จะสำรวจไว้ด้วย

 

มาตรา ๒๐  ภายในแนวเขตสำรวจการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในที่ดินของบุคคลใดเพื่อทำการสำรวจพื้นที่ในการจัดทำระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา หรือการอื่นที่จำเป็นแก่การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม

(๒) ทำเครื่องหมายใด ๆ โดยปักหลัก ขุดร่องแนว หรือสร้างหมุดหลักฐานในที่ดินของบุคคลใดเพื่อเป็นแนวเขตในการดำเนินการ

(๓) ขุดดิน ตัดรานกิ่งไม้ หรือกระทำการใด ๆ แก่สิ่งกีดขวางการสำรวจได้เท่าที่จำเป็นในการเข้าไปในที่ดินของบุคคลใดเพื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้ทราบล่วงหน้าตามสมควร และต้องระมัดระวังให้กระทบกระเทือนการใช้ประโยชน์ของเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์น้อยที่สุด

 

มาตรา ๒๑  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำแผนผังการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการจัดให้มีการประชุมเจ้าของที่ดินที่ทำเกษตรกรรมภายในแนวเขตสำรวจการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม เพื่อคัดเลือกกันเอง เป็นคณะกรรมการจัดระบบน้ำชุมชนในการทำหน้าที่เป็นผู้แทนของเจ้าของที่ดินในเขตพื้นที่นั้น

วิธีการคัดเลือกและจำนวนกรรมการในคณะกรรมการจัดระบบน้ำชุมชน ให้เป็นไปตามความตกลงกันเองของเจ้าของที่ดินที่มาประชุม

ให้ผู้บริหารท้องถิ่นทุกแห่งที่พื้นที่เขตสำรวจการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมอยู่ในเขตการปกครองเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการจัดระบบน้ำชุมชน

 

มาตรา ๒๒  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการจัดระบบน้ำชุมชนพิจารณาการจัดทำระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา หรือการอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการจัดสรรน้ำอย่างทั่วถึงและพอเพียงสำหรับพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรม โดยต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินในการจัดทำระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา รวมทั้งการอื่นใดในการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมผ่านที่ดินของตน เพื่อเสนอต่อสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง

การจัดทำระบบชลประทาน ต้องคำนึงถึงการจัดสรรน้ำให้แก่เจ้าของที่ดินซึ่งประสงค์จะใช้น้ำเพื่อทำเกษตรกรรม การอำนวยความสะดวกในการขนส่งผลิตผลการเกษตร โดยให้พิจารณาจัดทำไปตามแนวเขตของพื้นที่เดิมให้ได้มากที่สุด และมิให้เจ้าของที่ดินรายใดต้องรับภาระเกินสมควรแก่เหตุ

 

มาตรา ๒๓  เมื่อสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางได้พิจารณาเห็นชอบกับแผนผังการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ใดแล้ว ให้เสนอต่ออธิบดีเพื่อประกาศเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม โดยประกาศดังกล่าวต้องแสดงแผนผังการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และแผนผังที่ดินที่อยู่ภายในแนวเขตไว้ด้วย และให้ปิดประกาศไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริเวณชุมชนในเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม

 

มาตรา ๒๔  เมื่อได้มีประกาศเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา ๒๓ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในที่ดินหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินในแนวเขตตามประกาศนั้น เพื่อจัดสร้างระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา และการอื่นที่จำเป็นแก่การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม

ในการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีจำเป็น พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเปลี่ยนแปลงแผนผังดังกล่าวได้ตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หรือเพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางแล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงแผนผังต้องดำเนินการให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินน้อยที่สุด

การเข้าไปในที่ดินหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๐ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๕  การบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกรรม และการดูแลบำรุงรักษาสิ่งที่จัดสร้างขึ้นในเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ รวมทั้งการมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นเป็นผู้ดำเนินการแทน

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสอง มีอำนาจเข้าไปในที่ดินหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้

การเข้าไปในที่ดินหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินตามวรรคสาม ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๐ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๖  การชำระค่าใช้จ่ายในการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม การซ่อมแซม และบำรุงรักษาการใช้น้ำเพื่อประโยชน์ในลักษณะการประกอบธุรกิจการเกษตร หรือการใช้น้ำมากเกินควรของเจ้าของที่ดินในเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

บรรดาค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและบำรุงรักษา ถ้ามีจำนวนสูงเกินกว่าที่เจ้าของที่ดินจะรับภาระได้ และเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าของที่ดิน กรมชลประทาน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจสนับสนุนทางการเงินหรือเข้าดำเนินการแทนได้ตามที่เห็นสมควร

ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางอาจพิจารณาลด ยกเว้น รวมทั้งกำหนดระยะเวลา หรือขยายระยะเวลาการชำระเงินได้ตามที่เห็นสมควร

 

มาตรา ๒๗  ห้ามมิให้ผู้ใดทำทางระบายน้ำมาเชื่อมต่อกับระบบชลประทานหรือกระทำการใด ๆ เพื่อส่ง กัก หรือระบายน้ำจากระบบชลประทาน เว้นแต่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๒๕ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

 

มาตรา ๒๘  ห้ามมิให้ผู้ใดทำให้ระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นาเกิดความเสียหาย หรือไม่สะดวกแก่การใช้

 

มาตรา ๒๙  ห้ามมิให้ผู้ใดกักน้ำไว้ใช้เกินกว่าความจำเป็นแก่ที่ดินของตน หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางต่อการส่ง กัก หรือระบายน้ำ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่สามารถได้รับน้ำจากระบบชลประทาน

 

มาตรา ๓๐  ในเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ห้ามมิให้ใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์อย่างอื่นที่มิใช่เกษตรกรรม เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมาย

 

หมวด ๔

การจัดรูปที่ดิน

                  

 

มาตรา ๓๑  ในกรณีที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางหรือเจ้าของที่ดินในพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรมมีความประสงค์ให้มีการจัดรูปที่ดินในพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรมหรือพื้นที่ในเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางจัดทำโครงการเสนอต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง

การเสนอโครงการตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๘ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๓๒  ในกรณีที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางพิจารณาเห็นสมควรกำหนดให้พื้นที่ที่ทำเกษตรกรรมหรือพื้นที่ในเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมใดเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดินในพระราชกฤษฎีกาให้มีแผนที่สังเขปแสดงเขตท้องที่ที่จะสำรวจไว้ด้วย

พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับได้ห้าปี

 

มาตรา ๓๓  ในระหว่างใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่าย ก่อให้เกิดภาระติดพัน หรือกระทำการใด ๆ อันอาจทำให้ราคาประเมินที่ดินในท้องที่ที่จะสำรวจการจัดรูปที่ดินสูงขึ้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมาย

ในกรณีที่มีการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ราคาประเมินที่ดินในที่ดินนั้นสูงขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดจะไม่ประเมินราคาที่ดินที่สูงขึ้นนั้นรวมในราคาประเมินที่ดินและทรัพย์สินในที่ดินนั้น ถ้าการที่จัดทำขึ้นนั้นเป็นทรัพย์สินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือกีดขวางการจัดรูปที่ดิน ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของที่ดินทำการรื้อถอนภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าเจ้าของที่ดินไม่ปฏิบัติตาม ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจดำเนินการรื้อถอนโดยเจ้าของที่ดินจะเรียกร้องค่าเสียหายมิได้ และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนนั้นด้วย

 

มาตรา ๓๔  เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๒ แล้ว ถ้าคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดเห็นสมควรให้นำที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินภายในเขตตามพระราชกฤษฎีกานั้นมาดำเนินการจัดรูปที่ดิน ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ถ้าในเขตนั้นมีที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หรือเป็นที่ดินที่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดรวมอยู่ด้วย ให้พระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๒ มีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าว โดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพตามประมวลกฎหมายที่ดิน และให้กรมชลประทานมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการจัดรูปที่ดินได้

(๒) ถ้าในเขตนั้นมีที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการ เมื่อกระทรวงการคลังได้ให้ความยินยอมแล้ว ให้พระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๒ มีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าว โดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ และให้กรมชลประทานมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการจัดรูปที่ดินได้

(๓) ถ้าในเขตนั้นมีที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดิน และสภาพของที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยรวมอยู่ด้วย ให้กรมชลประทานมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการจัดรูปที่ดินได้

ถ้าที่ดินที่ได้ถอนสภาพตาม (๑) และ (๒) เป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือเป็นที่ดินที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการ ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดจัดให้ที่ดินตอนนั้นคงเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการต่อไป ถ้าไม่อาจดำเนินการได้ ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดจัดที่ดินแปลงอื่นภายในเขตตามพระราชกฤษฎีกานั้นให้แทน

เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีแผนที่สังเขปแสดงขอบเขตของที่ดินตอนนั้นแนบท้ายประกาศด้วย และให้ที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในลักษณะเดียวกับก่อนที่จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๒

 

มาตรา ๓๕  ในเขตท้องที่ตามพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๒ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในที่ดินของบุคคลใดเพื่อทำการสำรวจพื้นที่ที่จะจัดทำเป็นโครงการจัดรูปที่ดิน

(๒) ทำเครื่องหมายใด ๆ โดยปักหลัก ขุดร่องแนว หรือสร้างหมุดหลักฐานในที่ดินของบุคคลใดเพื่อเป็นแนวเขตในการดำเนินการ

(๓) ขุดดิน ตัดรานกิ่งไม้ หรือกระทำการใด ๆ แก่สิ่งกีดขวางการสำรวจได้เท่าที่จำเป็น

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๐ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๓๖  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้จัดทำแผนผังโครงการจัดรูปที่ดินเบื้องต้น โดยแสดงแนวเขตที่ดินเดิมก่อนที่จะดำเนินการจัดรูปที่ดิน และแนวเขตที่จะปรับปรุงสภาพที่ดินตามโครงการจัดรูปที่ดิน แล้วปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริเวณชุมชนในเขตแผนผังโครงการจัดรูปที่ดินเบื้องต้น เพื่อให้เจ้าของที่ดินในเขตที่จะดำเนินการตามแผนผังโครงการจัดรูปที่ดินเบื้องต้นได้ทราบ

 

มาตรา ๓๗  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดให้มีการประชุมเจ้าของที่ดินภายในแนวเขตแผนผังโครงการจัดรูปที่ดินเบื้องต้นตามมาตรา ๓๖ เพื่อสอบถามความสมัครใจในการดำเนินการจัดรูปที่ดิน ถ้าเจ้าของที่ดินให้ความยินยอมในการจัดรูปที่ดินไม่น้อยกว่าสามในสี่ของเจ้าของที่ดินทั้งหมด และมีจำนวนพื้นที่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของแผนผังโครงการจัดรูปที่ดินเบื้องต้น ให้เจ้าของที่ดินดำเนินการคัดเลือกกันเองเป็นคณะกรรมการจัดรูปที่ดินชุมชนในการทำหน้าที่เป็นผู้แทนของเจ้าของที่ดินในเขตท้องที่นั้น

การคัดเลือกและการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินชุมชนตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๑ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๓๘  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการจัดรูปที่ดินชุมชนพิจารณาแผนผังโครงการจัดรูปที่ดินเบื้องต้นที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำขึ้น และดำเนินการปรับปรุงแผนผังโครงการจัดรูปที่ดินให้เป็นไปตามความต้องการของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินชุมชนและเป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตรกรรม

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินชุมชนสอบถามความคิดเห็นจากเจ้าของที่ดินในเขตแผนผังโครงการจัดรูปที่ดินเบื้องต้นด้วย

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำ ชี้แจงข้อมูล และเสนอแนะวิธีการจัดทำผังที่ดินระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา และสาธารณูปโภคอื่นในโครงการจัดรูปที่ดิน และจัดทำแผนผังโครงการจัดรูปที่ดิน โดยคำนึงถึงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินชุมชน

 

มาตรา ๓๙  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอแผนผังโครงการจัดรูปที่ดินต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเพื่อประกาศเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

ประกาศเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงแผนผังที่ดิน การจัดระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา และสาธารณูปโภคที่อยู่ภายในเขต รวมทั้งรายชื่อเจ้าของที่ดิน และให้ปิดประกาศไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริเวณชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

ในกรณีที่ประกาศเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามวรรคหนึ่ง ได้กำหนดพื้นที่ที่ดินเดียวกันกับที่ดินในเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา ๒๓ ให้มีผลเป็นการเพิกถอนที่ดินนั้นออกจากเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และให้ที่ดินนั้นเป็นที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อาจดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในการจัดรูปที่ดินในเรื่องใด ให้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๔๐  ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปทำการอันจำเป็นเพื่อการจัดรูปที่ดิน

(๒) เข้าไปทำการสำรวจรังวัดเพื่อกำหนดแผนผังการจัดแปลงที่ดินใหม่ ดำเนินการจัดสร้างระบบชลประทาน การสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา การปรับระดับพื้นดิน และการอื่นที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดิน

(๓) ทำเครื่องหมายระดับ ขอบเขต และแนวเขต

เมื่อมีความจำเป็นและโดยสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตัดหรือรื้อถอนต้นไม้ พืชพันธุ์ รั้วหรือสิ่งใด ๆ อันจำเป็นแก่การดำเนินการจัดรูปที่ดิน

ในการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ห้ามมิให้เข้าไปในอาคาร ลานบ้าน หรือส่วนที่มีรั้วกั้นอันติดต่อกับบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์อนุญาต หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับแจ้งเรื่องกิจการที่จะกระทำไม่น้อยกว่าสามวันก่อนเริ่มกระทำการนั้น

 

มาตรา ๔๑  ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของที่ดินผู้รับจำนองผู้ซื้อฝาก หรือผู้ยึดถือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามมาตรา ๓๙ ให้นำหรือส่งหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยเอกสารสิทธิที่เกี่ยวกับที่ดินนั้นให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด ณ สถานที่ และภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

มาตรา ๔๒  ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิขอตรวจสอบเอกสารหลักฐานและคัดค้านเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามมาตรา ๓๙ วรรคสอง โดยยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ปิดประกาศ

ในกรณีที่มีผู้ร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจสอบสวน และเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็น และวินิจฉัยสั่งการไปตามที่เห็นสมควร และแจ้งคำวินิจฉัยนั้นเป็นหนังสือไปยังบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องผู้ใดไม่พอใจคำวินิจฉัยสั่งการตามวรรคสอง มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัย

ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และให้แจ้งคำวินิจฉัยเป็นหนังสือไปยังบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางให้เป็นที่สุด

ในระหว่างที่มีการคัดค้านหรือยื่นอุทธรณ์ดังกล่าว ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดดำเนินการจัดรูปที่ดินต่อไปได้

 

มาตรา ๔๓  ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ถ้าที่ดินเดิมแปลงใดได้จำนองไว้ก่อนมีการประกาศเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามมาตรา ๓๙ ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดดำเนินการประนีประนอมเพื่อให้เจ้าของที่ดินได้ไถ่ถอนจำนอง หรือให้คู่สัญญาตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนองเป็นที่ดินแปลงใหม่ที่เจ้าของที่ดินผู้จำนองได้รับตามโครงการจัดรูปที่ดิน

ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนองเป็นที่ดินแปลงใหม่ตามวรรคหนึ่ง การจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและการจำนองใหม่ ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองตามประมวลกฎหมายที่ดิน

 

มาตรา ๔๔  ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ถ้าที่ดินเดิมแปลงใดได้ขายฝากไว้ก่อนมีการประกาศเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามมาตรา ๓๙ ให้สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินของผู้ขายฝากหรือบุคคลซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๔๙๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตกติดไปยังที่ดินแปลงใหม่ที่ผู้ซื้อฝากได้รับตามโครงการจัดรูปที่ดิน

 

มาตรา ๔๕  ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดดำเนินการในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ดังต่อไปนี้

(๑) ประเมินราคาที่ดินและทรัพย์สินอื่นในที่ดินทุกแปลงในเขตโครงการจัดรูปที่ดินนั้น

(๒) กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดิน และกิจการสาธารณูปโภคที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

(๓) กำหนดแปลงที่ดินที่จะจัดให้แก่เจ้าของที่ดินเดิมและผู้มีสิทธิได้รับที่ดินในการจัดรูปที่ดิน

(๔) กระทำกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดิน

 

มาตรา ๔๖  ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ถ้าเจ้าของที่ดินรายใดไม่ยินยอมให้ดำเนินการจัดรูปที่ดิน หรือไม่มาติดต่อแสดงความยินยอมหรือไม่ยินยอม หรือเจ้าของที่ดินมิได้ใช้ที่ดินนั้นประกอบกิจการใด ๆ ด้วยตนเอง หรือให้ผู้อื่นเช่าที่ดินหรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้น ให้อธิบดีมีอำนาจจัดซื้อที่ดินนั้น เพื่อนำมาดำเนินการจัดรูปที่ดินได้

ถ้าเจ้าของที่ดินตามวรรคหนึ่งไม่ยอมขายที่ดิน หรือเสนอขายในราคาที่สูงกว่าราคาประเมินตามมาตรา ๔๕ (๑) ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น ให้ดำเนินการเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

ในกรณีที่มิได้จัดซื้อที่ดินหรือเวนคืนที่ดินทั้งแปลง และเจ้าของที่ดินตามวรรคหนึ่งมีการใช้น้ำจากระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา หรือสิ่งอื่นใดที่จัดสร้างขึ้นในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน เจ้าของที่ดินดังกล่าวจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำจากระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา หรือสิ่งอื่นใดที่จัดสร้างขึ้นในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ตลอดจนต้องชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาตามมาตรา ๕๓  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนด

 

มาตรา ๔๗  ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดกำหนดแนวเขตในการจัดสร้างระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา และสาธารณูปโภคอย่างอื่นเพื่อให้เจ้าของที่ดินทุกแปลงได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ที่ดินที่ใช้ตามวรรคหนึ่งคิดเป็นมูลค่าเท่าใด ให้คำนวณหักออกจากมูลค่าประเมินของที่ดินและทรัพย์สินอื่นในที่ดินแต่ละแปลง ตามส่วนของมูลค่าประเมินก่อนการกำหนดแปลงที่ดินใหม่ ไม่ว่าที่ดินที่ใช้ไปนั้นจะมาจากที่ดินแปลงใด

มูลค่าของที่ดินและทรัพย์สินอื่นในที่ดินแต่ละแปลง เมื่อคำนวณหักแล้วตามวรรคสอง ให้ถือว่าเป็นมูลค่าสุทธิของที่ดินเพื่อการกำหนดแปลงที่ดินใหม่ตามมาตรา ๔๘

 

มาตรา ๔๘  ในการกำหนดแปลงที่ดินใหม่ ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดจัดให้เจ้าของที่ดินแต่ละรายได้รับที่ดินในที่ดินแปลงเดิม หรือให้ได้รับที่ดินแปลงเดิมบางส่วน หรือจัดให้ที่ดินแปลงใหม่อยู่ใกล้เคียงกับที่ดินแปลงเดิมของตนเท่าที่จะกระทำได้ และให้ที่ดินที่ได้รับใหม่นั้นมีมูลค่าใกล้เคียงกับมูลค่าสุทธิของที่ดินเดิมของตนเท่าที่จะกระทำได้  ในการนี้ ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดนัดประชุมเจ้าของที่ดินเพื่อทำความตกลงเกี่ยวกับการกำหนดแปลงที่ดินใหม่ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว

เมื่อมีการตกลงในการกำหนดแปลงที่ดินใหม่ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดปิดประกาศแผนผังแปลงที่ดินใหม่พร้อมด้วยรายชื่อเจ้าของที่ดินไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริเวณชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

การตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกันอาจกระทำได้ โดยให้เจ้าของที่ดินที่เกี่ยวข้องแจ้งเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงเจ้าของกรรมสิทธิ์ในแปลงที่ดินภายในสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ

ในกรณีที่เจ้าของที่ดินรายใดไม่เห็นด้วยกับการกำหนดแปลงที่ดินใหม่ตามวรรคหนึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและยื่นอุทธรณ์ โดยให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๔๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๔๙  มูลค่าของที่ดินและทรัพย์สินอื่นในที่ดินที่เจ้าของที่ดินแต่ละแปลงได้สละให้แก่ส่วนรวมเพื่อใช้ประโยชน์ตามมาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง ต้องมีมูลค่าไม่เกินร้อยละเจ็ดของมูลค่าประเมินที่ดินเดิม

หากมูลค่าของที่ดินและทรัพย์สินอื่นในที่ดินตามมาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง มีมูลค่าเกินร้อยละเจ็ดของมูลค่าประเมินที่ดินเดิม ให้กรมชลประทานจ่ายค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินแต่ละรายเป็นเงินสำหรับส่วนที่เกินร้อยละเจ็ดของมูลค่าประเมินที่ดินเดิมนั้น

 

มาตรา ๕๐  เมื่อได้กำหนดแปลงที่ดินใหม่เสร็จสิ้นตามมาตรา ๔๘ แล้ว เจ้าของที่ดินผู้ใดได้รับที่ดินและทรัพย์สินอื่นในที่ดินมีมูลค่าประเมินสูง หรือต่ำกว่ามูลค่าสุทธิของที่ดินเดิม ให้เจ้าของที่ดินผู้นั้นจ่ายหรือได้รับมูลค่าที่แตกต่างนั้นเป็นการทดแทน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนด

 

มาตรา ๕๑  เมื่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดได้กำหนดแปลงที่ดินที่จะจัดให้แก่เจ้าของที่ดินเดิมหรือผู้มีสิทธิได้รับที่ดินในการจัดรูปที่ดินตามมาตรา ๔๕ (๓) เสร็จสิ้นแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินดำเนินการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินสำหรับแปลงที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินนั้นต่อไป ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม

เมื่อได้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามวรรคหนึ่งแล้ว หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเดิมให้เป็นอันยกเลิก

 

มาตรา ๕๒  การบริหารจัดการเกี่ยวกับระบบชลประทานในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน การดูแลบำรุงรักษาสิ่งที่จัดสร้างขึ้น และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมายให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๕๓  การชำระค่าใช้จ่ายในการจัดรูปที่ดิน การซ่อมแซมและบำรุงรักษา การใช้น้ำเพื่อประโยชน์ในลักษณะการประกอบธุรกิจการเกษตร หรือการใช้น้ำมากเกินควรของเจ้าของที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

บรรดาค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและบำรุงรักษา ถ้ามีจำนวนสูงเกินกว่าที่เจ้าของที่ดินจะรับภาระได้ และเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าของที่ดิน กรมชลประทานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจสนับสนุนทางการเงิน หรือเข้าดำเนินการแทนได้

ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางอาจพิจารณาลด ยกเว้น รวมทั้งกำหนดระยะเวลา หรือขยายระยะเวลาการชำระเงินได้ตามที่เห็นสมควร

 

มาตรา ๕๔  ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน เจ้าของที่ดินหรือผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดโดยทางมรดก หรือการโอนให้แก่ทายาทโดยธรรม หรือการโอนไปยังสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือการโอนไปยังกรมชลประทานเพื่อประโยชน์ในการจัดรูปที่ดิน หรือเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมาย

ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

 

มาตรา ๕๕  ถ้าที่ดินแปลงใดในเขตโครงการจัดรูปที่ดินได้โอนสิทธิไปยังบุคคลใดตามมาตรา ๕๔ ผู้รับโอนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๕๓ แทนผู้โอนต่อไปจนครบ และให้ถือว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นบุริมสิทธิที่ได้จดทะเบียนไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว

 

มาตรา ๕๖  ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ห้ามมิให้ใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์อย่างอื่นที่มิใช่เกษตรกรรมหรือทำการปลูกสร้างสิ่งใด ๆ หรือทำการใด ๆ แก่ที่ดินนั้นอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การจัดรูปที่ดิน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมอบหมาย  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนรื้อถอนทำให้คืนสู่สภาพเดิม หรืองดเว้นการกระทำนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม เมื่อได้ประกาศคำสั่งไว้ ณ บริเวณนั้น ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบริเวณชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดดำเนินการรื้อถอน หรือทำให้คืนสู่สภาพเดิม โดยผู้ฝ่าฝืนจะเรียกร้องค่าเสียหายมิได้ และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนหรือทำให้คืนสู่สภาพเดิมนั้นด้วย

 

มาตรา ๕๗  ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้

(๑) เทหรือทิ้งสิ่งใด ๆ หรือปลูกพืชพันธุ์ใด ๆ ในบริเวณที่มีการจัดระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่งานจัดรูปที่ดิน

(๒) ปล่อยสัตว์ใด ๆ ลงไปในบริเวณที่มีการจัดระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่งานจัดรูปที่ดิน

(๓) ทำทางระบายน้ำมาเชื่อมต่อกับระบบชลประทาน หรือกระทำการใด ๆ ต่อระบบชลประทานเพื่อส่ง กัก หรือระบายน้ำจากระบบชลประทาน เว้นแต่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

(๔) ทำให้ระบบชลประทาน ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา หรือสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ใช้ร่วมกันเกิดความเสียหายหรือไม่สะดวกแก่การใช้

(๕) กักน้ำไว้ใช้เกินความจำเป็นแก่ที่ดินของตน หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางต่อการส่ง กัก หรือระบายน้ำ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่สามารถได้รับน้ำจากระบบชลประทาน

 

มาตรา ๕๘  เพื่อประโยชน์ในการสำรวจตรวจสอบและดำเนินการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการจัดรูปที่ดินกลาง กรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด และพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ใด ๆ ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน

(๒) มีหนังสือเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดรูปที่ดินได้ตามความจำเป็น

 

มาตรา ๕๙  ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๐ และมาตรา ๕๘ (๑) ให้กรรมการจัดรูปที่ดินกลาง กรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ กระทำในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก โดยให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ได้รับสิทธิในที่ดินอำนวยความสะดวกตามสมควร และในการนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

หมวด ๕

กองทุนจัดรูปที่ดิน

                  

 

มาตรา ๖๐  ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนจัดรูปที่ดิน” ในกรมชลประทาน ประกอบด้วย เงินและทรัพย์สินตามมาตรา ๖๑ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน และค่าใช้จ่ายในการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและการจัดรูปที่ดิน

รายได้ที่ได้รับจากการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและการจัดรูปที่ดิน ให้นำส่งเข้าบัญชีกองทุนจัดรูปที่ดิน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

การใช้จ่ายเงินของกองทุนจัดรูปที่ดินให้กระทำได้เฉพาะเพื่อการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและการจัดรูปที่ดิน หรือเพื่อการช่วยเหลือทางการเงินหรือให้สินเชื่อแก่บรรดาเจ้าของที่ดินในเขตสำรวจการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมหรือเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม เขตสำรวจการจัดรูปที่ดินหรือเขตโครงการจัดรูปที่ดิน โดยผ่านสถาบันการเงิน  ทั้งนี้ ตามระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

รายงานการรับจ่ายเงิน เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว ให้ทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป

ให้กรมชลประทานเก็บรักษาเงินกองทุนจัดรูปที่ดิน และเบิกจ่ายจากกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๖๑  กองทุนจัดรูปที่ดิน ประกอบด้วย

(๑) เงินที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน

(๒) เงินที่ได้รับจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร

(๓) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับจากรัฐบาล หรือแหล่งต่าง ๆ ภายในประเทศ หรือต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลอื่น

(๔) เงิน ดอกผล หรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางได้รับเกี่ยวกับการดำเนินการจัดรูปที่ดิน รวมทั้งเงินค่าใช้จ่ายในการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมหรือการจัดรูปที่ดินที่เจ้าของที่ดินหรือผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน แล้วแต่กรณี ชำระหรือค้างชำระตามมาตรา ๒๖ หรือมาตรา ๕๓

(๕) เงินค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๘

 

หมวด ๖

บทกำหนดโทษ

                  

มาตรา ๖๒  ผู้ใด

(๑) ไม่อำนวยความสะดวกแก่กรรมการจัดรูปที่ดินกลาง กรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติราชการตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๓๕ มาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๕๘ (๑)

(๒) ไม่มาให้ถ้อยคำ หรือไม่ส่งเอกสารหรือสิ่งใด ๆ ที่เรียกให้มา หรือให้ส่งตามมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒  วรรคสอง หรือมาตรา ๕๘ (๒)

ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

 

มาตรา ๖๓  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ประกาศ หรือข้อบังคับของอธิบดีตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๕ ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๖๔  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ มาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๕๗ (๑) (๓) หรือ (๕) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๖๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๗ (๒) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

 

มาตรา ๖๖  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๕๗ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๖๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๖๘  บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้

เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามที่ได้เปรียบเทียบแล้ว ให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

บทเฉพาะกาล

                  

 

มาตรา ๖๙  ให้ท้องที่ที่มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ท้องที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัตินี้

บรรดาการดำเนินการใดเกี่ยวกับคันและคูน้ำ หรือการจัดรูปที่ดินซึ่งได้กระทำไปแล้วในขั้นตอนใดในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการในขั้นตอนต่อไปให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่มีปัญหาไม่อาจดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ในเรื่องใด ให้การดำเนินการต่อไปในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนด

 

มาตรา ๗๐  บรรดาค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างระบบชลประทานและการระบายน้ำ การสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา และสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ใช้ร่วมกัน รวมทั้งบรรดาค่าใช้จ่ายในการปรับระดับที่ดินและกิจการอื่น ๆ ในที่ดินของเจ้าของที่ดิน หรือผู้ได้รับสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ ที่ยังค้างชำระให้มีผลเป็นหนี้ที่ยังต้องชำระตามกฎหมายต่อไป

 

มาตรา ๗๑  การนับระยะเวลาห้ามโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ให้นับรวมระยะเวลาการห้ามโอนตามมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ ด้วย

 

มาตรา ๗๒  ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง และคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๗๓  ผู้ซึ่งใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมที่ไม่ใช่การทำนา ทำไร่ ทำสวนในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตหรือได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินไว้แล้วต่อไปได้

 

มาตรา ๗๔  ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน และหนี้สิน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ มาเป็นของกรมชลประทานตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๗๕  ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน และหนี้สินของกองทุนจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ มาเป็นของกองทุนจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๗๖  บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีการตราพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและบริหารจัดการน้ำในระดับไร่นาที่เชื่อมโยงกับระบบชลประทานเพื่อให้ที่ดินทุกแปลงได้รับประโยชน์จากโครงการชลประทานและการสาธารณูปโภคอย่างทั่วถึง แต่ด้วยกระบวนการในการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายปัจจุบันไม่สามารถที่จะขยายเขตโครงการจัดรูปที่ดินได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของเกษตรกร สมควรปรับปรุงกระบวนการในการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเสียใหม่ โดยลดขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายซึ่งเป็นอุปสรรคแก่การจัดรูปที่ดิน และกำหนดมาตรการส่งเสริมให้ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ภาครัฐสามารถขยายเขตการจัดรูปที่ดินให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น พระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระบบชลประทานจากทางน้ำชลประทานไปใช้ในการเพาะปลูกได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มีรูปแบบใกล้เคียงกับการจัดรูปที่ดิน แต่มีบทบัญญัติจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ไม่เหมาะสมแก่กาลสมัย ไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรยกเลิกพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยปรับปรุงกระบวนการในการจัดทำคันและคูนํ้าเสียใหม่ ให้เป็นการดำเนินการในรูปแบบการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อจะบูรณาการให้เป็นกฎหมายที่รัฐสามารถนำไปพัฒนาโครงสร้างภาคการเกษตรให้สมบูรณ์ สามารถวางแผนการจัดระบบชลประทานในระดับไร่นาเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมแก่การเกษตร สอดรับกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างฐานรากในการทำเกษตรกรรมให้เข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมีความมั่นคงยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๕ มีนาคม ๒๕๕๘

กฤษดายุทธ/ผู้ตรวจ

๕ มีนาคม ๒๕๕๘

 

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๔ ก/หน้า ๑/๒ มีนาคม ๒๕๕๘

  


 

กฎหมายลูก  >>