ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด

อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา

                       

 

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดยอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ในประกาศนี้

“แนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ

“ชายหาด” หมายความว่า พื้นที่ภายในแนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติจนถึงแนวที่น้ำทะเลลงต่ำสุดตามปกติทางธรรมชาติ

                 ข้อ ๒  ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์และเขตควบคุมอาคารของจังหวัดพังงาดังต่อไปนี้ ตามแผนที่ท้ายประกาศนี้ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                 (๑) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าอ่าวพังงา ในท้องที่ตำบลกระโสม ตำบลกะไหล ตำบลคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมืองพังงาและตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวใหญ่ กิ่งอำเภอเกาะยาว อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๔

                  (๒) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒บังคับในท้องที่บางแห่งในจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล พ.ศ. ๒๕๓๔ เฉพาะท้องที่ในจังหวัดพังงา

                  (๓) พื้นที่ภายในแนวเขตตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุน ที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เฉพาะบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปในทะเลเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร ตั้งแต่ด้านเหนือของตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี ไปทางทิศใต้ขนานกับแนวชายฝั่งทะเลจนสุดเขตตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุดจังหวัดพังงา

                   (๔) พื้นที่ภายในแนวเขตตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุน ทำการประมงในบริเวณอ่าวพังงา ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

 ให้จำแนกพื้นที่ตามวรรคหนึ่งเป็น ๖ บริเวณ ดังต่อไปนี้

 บริเวณที่ ๑ เขตพื้นที่อนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลและแนวปะการัง ได้แก่

                   (๑) พื้นที่น่านน้ำทะเลที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะพระทอง ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี ตั้งแต่หมู่ที่ ๔ บ้านปากจก ไปทางทิศใต้จนจดปากอ่าวเวะที่ด้านใต้ของเกาะพระทอง เส้นตรงที่ลากต่อจากจุดดังกล่าวไปจนจดปากอ่าวเวะอีกฝั่งหนึ่ง ที่ด้านเหนือของเกาะคอเขาตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า และแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะคอเขา ไปทางทิศใต้ตามแนวชายฝั่งทะเลจนจดเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างตำบลเกาะคอเขากับตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า ออกไปในทะเลจนจดแนวเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ด้านตะวันตก ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๓

                 (๒) พื้นที่น่านน้ำทะเลที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลบริเวณแหลมหัวกรังน้อย ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า ตั้งแต่หมู่ที่ ๓ บ้านบางหม้อ จนสุดเขตหมู่ที่ ๗ บ้านบางสักเหนือ ออกไปในทะเลจนจดแนวเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้านตะวันตก ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๕

                 (๓) พื้นที่น่านน้ำทะเลที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลบริเวณแหลมหัวกรังใหญ่ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า ตั้งแต่หมู่ที่ ๒ บ้านเขาบ้า จนจดปากคลองพรุไทรด้านใต้ ออกไปในทะเลจนจดแนวเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้านตะวันตก ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๕

                (๔) พื้นที่น่านน้ำทะเลที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก ตั้งแต่ปลายแหลมอ่าวขาม ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จนจดแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาลำปี - หาดท้ายเหมือง ออกไปในทะเลจนจดแนวเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้านตะวันตก

                (๕) พื้นที่น่านน้ำทะเลที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเล ตั้งแต่หมู่ที่ ๗ บ้านท่านุ่น (๑) ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จนจดเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างตำบลโคกกลอยกับตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่งออกไปในทะเลจนจดแนวเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้านตะวันตก ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดภูเก็ต

                 (๖) พื้นที่น่านน้ำทะเลในเขตจังหวัดพังงาที่วัดจากแนวที่น้ำทะเลลงต่ำสุดตามปกติทางธรรมชาติรอบเกาะกูดูใหญ่ ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว ออกไปในทะเลเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร

(๗) พื้นที่น่านน้ำทะเลภายในบริเวณ ดังต่อไปนี้

                    ด้านเหนือ จดเส้นตรงที่ลากจากปลายแหลมเหีย ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนจดกับเส้นตรงที่ลากจากแนวชายฝั่งทะเลบริเวณเขตหมู่ที่ ๒ บ้านกลาง ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว ออกไปในทะเลทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร

                    ด้านตะวันออก จดเส้นตรงที่ลากจากแนวชายฝั่งทะเลบริเวณเขต หมู่ที่ ๒ บ้านกลาง ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว ออกไปในทะเลทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร แนวที่น้ำทะเลลงต่ำสุดตามปกติทางธรรมชาติ ตั้งแต่หมู่ที่ ๒ บ้านกลาง ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว ไปตามแนวชายฝั่งทะเลของเกาะยาวน้อยจนจดปลายแหลมสนงาม ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว และเส้นตรงที่ลากจากปลายแหลมสนงามจนจดกับเส้นตรงที่ลากจากปากคลองหินกอง ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว ออกไปในทะเลทางทิศตะวันออกเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร

ด้านใต้ จดเส้นตรงที่ลากจากปากคลองหินกอง ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาวออกไปในทะเลทางทิศตะวันออกเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร

                  ด้านตะวันตก จดแนวที่น้ำทะเลลงต่ำสุดตามปกติทางธรรมชาติด้านตะวันออกของเกาะยาวใหญ่ ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว ตั้งแต่ปากคลองหินกอง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวชายฝั่งทะเลของเกาะยาวใหญ่จนจดปลายแหลมเหีย ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว

                 (๘) พื้นที่น่านน้ำทะเลที่วัดจากแนวที่น้ำทะเลลงต่ำสุดตามปกติทางธรรมชาติ ตั้งแต่หมู่ที่ ๑ บ้านโล๊ะโป๊ะน้อย ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว ไปทางทิศใต้ตามแนวชายฝั่งทะเลจนสุดเขตหมู่ที่ ๑ บ้านโล๊ะโป๊ะใหญ่ ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว ออกไปในทะเลเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร

                  (๙) พื้นที่น่านน้ำทะเลในเขตจังหวัดพังงาที่วัดจากแนวที่น้ำทะเลลงต่ำสุดตามปกติทางธรรมชาติรอบเกาะช่องลัดใหญ่ ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว ออกไปในทะเลเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตรยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๒

บริเวณที่ ๒ เขตพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่ป่าชายเลน ได้แก่

(๑) พื้นที่ภายในบริเวณ ดังต่อไปนี้

ด้านเหนือ จดแนวเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้านเหนือซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดระนอง

                  ด้านตะวันออก จดเส้นขนานระยะ ๑,๐๐๐ เมตร กับศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ฟากตะวันออก ในท้องที่ตำบลคุระ ตำบลแม่นางขาว ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี และตำบลบางนายสี ตำบลโคกเคียน ตำบลตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า

ด้านใต้ จดเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างตำบลบางนายสีกับตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า

                   ด้านตะวันตก จดแนวชายฝั่งทะเล ตั้งแต่เส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างตำบลบางนายสีกับตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า ไปทางทิศเหนือตามแนวชายฝั่งทะเลของตำบลบางม่วงจนจดปากอ่าวแหลมป้อมบริเวณหมู่ที่ ๒ บ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า เส้นตรงที่ลากต่อจากจุดดังกล่าวไปจนจดด้านใต้สุดของแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะคอเขา ตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่าแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะคอเขา ไปทางทิศเหนือตามแนวชายฝั่งทะเลจนสุดแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกบริเวณหมู่ที่ ๒ บ้านนอกนา ตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า เส้นตรงที่ลากต่อจากจุดดังกล่าวไปจนจดด้านใต้สุดของแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะพระทอง ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี บริเวณหมู่ที่ ๑ บ้านทุ่งดาบ แนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะพระทอง ไปทางทิศเหนือตามแนวชายฝั่งทะเลจนสุดแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกบริเวณหมู่ที่ ๔ บ้านปากจก ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี เส้นตรงที่ลากต่อจากจุดดังกล่าวไปจนจดด้านใต้สุดของแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะระบริเวณบ้านอ่าวกุนิ่ง ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี แนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะระ ไปทางทิศเหนือตามแนวชายฝั่งทะเลจนจดปลายแหลมเกียง ตำบลเกาะพระทองอำเภอคุระบุรี เส้นตรงที่ลากต่อจากจุดดังกล่าวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนจดแนวชายฝั่งทะเลบริเวณเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดระนอง

                 (๒) พื้นที่ป่าชายเลนที่จำแนกไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ในท้องที่ตำบลลำแก่น ตำบลทุ่งมะพร้าว ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง และตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวใหญ่ ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว

(๓) พื้นที่ภายในบริเวณ ดังต่อไปนี้ ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๑

                   ด้านเหนือ จดเส้นขนานระยะ ๑,๐๐๐ เมตร กับศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ฟากตะวันออก ในท้องที่ตำบลโคกกลอย ตำบลหล่อยูง ตำบลท่าอยู่ ตำบลกะไหล ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลตากแดด ตำบลถ้ำน้ำผุด ตำบลท้ายช้าง ตำบลป่ากอ ตำบลนบปริง อำเภอเมืองพังงา และตำบลถ้ำทองหลาง ตำบลโคกเจริญ ตำบลทับปุด อำเภอทับปุด

ด้านตะวันออก จดแนวเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้านตะวันออก

ด้านใต้ จดเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างอำเภอเมืองพังงากับอำเภอเกาะยาว เส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างอำเภอตะกั่วทุ่งกับอำเภอเกาะยาว และแนวเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้านตะวันตกซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดภูเก็ต

ด้านตะวันตก จดบริเวณที่ ๓ บริเวณตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง

บริเวณที่ ๓ เขตพื้นที่คุ้มครองเพื่อการวางไข่ของเต่าทะเล ได้แก่

(๑) พื้นที่บริเวณชายหาดด้านตะวันตกของเกาะพระทอง ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี เริ่มจากหมู่ที่ ๔ บ้านปากจก ไปทางทิศใต้จนสุดเขตหมู่ที่ ๑ บ้านทุ่งดาบ

                  (๒) พื้นที่บริเวณชายหาดเริ่มจากเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างตำบลลำแก่นกับตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง ไปทางทิศใต้จนจดเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดภูเก็ต

บริเวณที่ ๔ ได้แก่ พื้นที่อำเภอเกาะยาว ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๑ และบริเวณที่ ๒

                  บริเวณที่ ๕ เขตพื้นที่คุ้มครองเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้แก่ พื้นที่ภายในบริเวณที่วัดจากเส้นขนานระยะ ๑,๐๐๐ เมตร กับศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ฟากตะวันออกตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ไปจนจดแนวที่น้ำทะเลลงต่ำสุดตามปกติทางธรรมชาติในท้องที่ตำบลบางม่วงและตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า

บริเวณที่ ๖ ได้แก่ พื้นที่นอกเหนือจากบริเวณที่ ๑ ถึงบริเวณที่ ๕

ข้อ ๓  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้

(๑) ภายในบริเวณที่ ๑

                  (ก) การล่วงล้ำลำน้ำ ยกเว้นกระชังเลี้ยงปลา กุ้ง หรือหอย และอาคารหรือการล่วงล้ำที่มีลักษณะตามข้อ ๔ (๑) ถึง (๗) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ที่ได้รับอนุญาต

(ข) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล

                  (ค) การเก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง หรือการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบหรือทำให้ปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการังถูกทำลายหรือเสียหาย เช่น การเดินท่องเที่ยวใต้ทะเล (sea walker) ในแนวปะการัง การทอดสมอเรือในแนวปะการังเว้นแต่เป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือสาธารณูปการของรัฐที่มีความจำเป็นตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หรือเป็นการกระทำเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมประมง

(ง) การเล่นเรือสกู๊ตเตอร์ เจ๊ตสกี และกิจกรรมที่ใช้เรือลากทุกชนิด

                  (จ) การจับหรือการครอบครองปลาสวยงามตามที่กำหนดในบัญชีท้ายประกาศนี้ เว้นแต่เป็นการจับหรือการครอบครองของทางราชการเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครองการเพาะพันธุ์ การเพาะเลี้ยง การจำหน่าย หรือกิจการสวนสัตว์สาธารณะซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมประมงหรือการครอบครองของเอกชนเพื่อการเพาะเลี้ยง หรือการเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่าย ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมประมงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา แล้วแต่กรณี

                 (ฉ) การงมหรือการกระทำใดๆ ที่เป็นการค้นหา เก็บ ทำลาย หรือทำให้เสียหายซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เว้นแต่การงมที่เป็นการค้นหาเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการหรือเป็นการดำเนินการของทางราชการซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร

(๒) ภายในบริเวณที่ ๒

(ก) การทำเหมือง เว้นแต่พื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้ดำเนินการได้

(ข) การขุด ตัก หรือดูด กรวด ดิน หินผุ ทราย หรือลูกรัง เพื่อการค้า

                  (ค) การถมทะเลหรือที่ชายตลิ่ง เว้นแต่เป็นนโยบายของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หรือมีความจำเป็นเพื่อกิจการของส่วนราชการตามมติของคณะกรมการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

(ง) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่กรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว

                   (จ) การเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อการค้า เว้นแต่เป็นการเพาะเลี้ยงในกระชัง หรือเป็นผู้ประกอบกิจการก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับและได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อกับกรมประมงโดยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และมาตรการที่กรมประมงกำหนด และต้องไม่เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งจากที่มีอยู่เดิม

(๓) ภายในบริเวณที่ ๓

(ก) การขุด ถม หรือปรับเปลี่ยนพื้นที่บริเวณชายหาด ที่ก่อให้เกิดอันตราย หรือมีผลกระทบ หรือทำให้บริเวณแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลถูกทำลายหรือทำให้เสียหาย

(ข) เก็บ หา นำออกไป หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายต่อเต่าทะเลและไข่เต่าทะเล

                   (ค) การกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือมีผลกระทบในทางการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของพื้นที่จากลักษณะตามธรรมชาติ หรือทำให้บริเวณแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลถูกทำลายหรือเสียหาย เว้นแต่การติดตั้งป้ายเตือนของทางราชการที่มีลักษณะไม่ถาวร

(๔) ภายในบริเวณที่ ๔

                   (ก) การถมทะเลหรือที่ชายตลิ่ง เว้นแต่เป็นนโยบายของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหรือมีความจำเป็นเพื่อกิจการของส่วนราชการตามมติของคณะกรมการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

                   (ข) การล่วงล้ำลำน้ำ ยกเว้นกระชังเลี้ยงปลา กุ้ง หรือหอย และอาคารหรือการล่วงล้ำที่มีลักษณะตามข้อ ๔ (๑) ถึง (๗) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ที่ได้รับอนุญาต

(ค) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่กรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว

                   (ง) การเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อการค้า เว้นแต่เป็นการเพาะเลี้ยงในกระชัง หรือเป็นผู้ประกอบกิจการก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับและได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อกับกรมประมง โดยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และมาตรการที่กรมประมงกำหนด และต้องไม่เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งจากที่มีอยู่เดิม

                   (จ) การติดตั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามแนวทางหลวงหรือทางสาธารณะ ในลักษณะบดบังหรืออาจจะบดบังทัศนวิสัยหรือทัศนียภาพอันสวยงามของแนวทางหลวงหรือทางสาธารณะและพื้นที่ใกล้เคียง หรือในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น รวมทั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนหรือที่สาธารณะในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๔๐ เมตร ขึ้นไป หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินร้อยละสามสิบห้า

                    (ฉ) การกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดไปจากเดิมหรือทำให้ทัศนียภาพบริเวณชายหาดเสียไป เว้นแต่การติดตั้งป้ายเตือนของทางราชการที่มีลักษณะไม่ถาวร

  (ช) การขับขี่ยานพาหนะในบริเวณชายหาด ยกเว้นเรือ

                    (ซ) การงมหรือการกระทำใด ๆ ที่เป็นการค้นหา เก็บ ทำลาย หรือทำให้เสียหายซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เว้นแต่การงมที่เป็นการค้นหาเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการหรือเป็นการดำเนินการของทางราชการซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร

(๕) ภายในบริเวณที่ ๕

(ก) การถม ปรับพื้นที่ หรือปิดกั้น ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะตื้นเขิน หรือเปลี่ยนทิศทาง หรือทำให้แหล่งน้ำนั้นไม่อาจไหลไปได้ตามปกติ

(ข) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่กรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว

                  (ค) การติดตั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามแนวทางหลวงหรือทางสาธารณะ ในลักษณะบดบังหรืออาจจะบดบังทัศนวิสัยหรือทัศนียภาพอันสวยงามของแนวทางหลวงหรือทางสาธารณะและพื้นที่ใกล้เคียง หรือในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น รวมทั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนหรือที่สาธารณะในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๔๐ เมตร ขึ้นไป หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินร้อยละสามสิบห้า

(ง) การกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดไปจากเดิมหรือทำให้ทัศนียภาพบริเวณชายหาดเสียไป เว้นแต่การติดตั้งป้ายเตือนของทางราชการที่มีลักษณะไม่ถาวร

(จ) การขับขี่ยานพาหนะในบริเวณชายหาด ยกเว้นเรือ

(๖) ภายในบริเวณที่ ๖

                 (ก) การถมทะเลหรือที่ชายตลิ่ง เว้นแต่เป็นนโยบายของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หรือมีความจำเป็นเพื่อกิจการของส่วนราชการตามมติของคณะกรมการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

                (ข) การล่วงล้ำลำน้ำ ยกเว้นกระชังเลี้ยงปลา กุ้ง หรือหอย และอาคารหรือการล่วงล้ำที่มีลักษณะตามข้อ ๔ (๑) ถึง (๗) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ที่ได้รับอนุญาต

(ค) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่กรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว

                   (ง) การติดตั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามแนวทางหลวงหรือทางสาธารณะ ในลักษณะบดบังหรืออาจจะบดบังทัศนวิสัยหรือทัศนียภาพอันสวยงามของแนวทางหลวงหรือทางสาธารณะและพื้นที่ใกล้เคียง หรือในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น รวมทั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนหรือที่สาธารณะในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๔๐ เมตร ขึ้นไป หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินร้อยละสามสิบห้า

                   (จ) การงมหรือการกระทำใดๆ ที่เป็นการค้นหา เก็บ ทำลาย หรือทำให้เสียหายซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เว้นแต่การงมที่เป็นการค้นหาเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการหรือเป็นการดำเนินการของทางราชการซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร

                   ในกรณีที่ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ได้รับอนุญาตในบริเวณที่ ๔ บริเวณที่ ๕ และบริเวณที่ ๖ ติดตั้งหรือสร้างขึ้นเหนือที่สาธารณะ ต้องมีขนาดไม่เกิน ๑ ตารางเมตร หรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างไม่เกิน ๑๐ กิโลกรัม และมีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร กรณีที่ติดตั้งหรือสร้างขึ้นเหนือที่เอกชน ให้มีระยะห่างจากที่สาธารณะในแนวราบบนพื้นดินและในอากาศอย่างน้อยสองเท่าของความสูงของป้ายในแนวดิ่ง

 ข้อ ๔  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ เป็นอาคารหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้

                    (๑) โรงงานทุกประเภทหรือทุกชนิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานประเภทซัก อบ รีด โรงงานทำน้ำแข็ง โรงงานทำน้ำดื่ม และโรงงานทำน้ำให้บริสุทธิ์ ที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน ๒๐๐ แรงม้า และมีพื้นที่อาคารรวมไม่เกิน ๓๐๐ ตารางเมตร โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมชุมชนโรงงานที่เกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค และโรงงานที่จำเป็นต้องก่อสร้างทดแทนของเดิมเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานให้ดีกว่าเดิมและไม่เข้าข่ายขยายโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานแต่การเพิ่มเครื่องจักรเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กระทำได้ ทั้งนี้ ให้ก่อสร้างได้เฉพาะในบริเวณพื้นที่เดิมเท่านั้น

                     (๒) อาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน ๑๐ ตารางเมตร หรือกิจการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า หรือที่ก่อเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

                      (๓) ฌาปนสถาน เว้นแต่เป็นการก่อสร้างทดแทนของเดิมในพื้นที่เดิม พร้อมด้วยระบบควบคุมมลพิษทางอากาศของฌาปนสถาน รวมตลอดถึงสิ่งก่อสร้างและอาคารประกอบของระบบดังกล่าว

                      (๔) สุสาน เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่เดิมที่ได้จัดไว้เพื่อการนั้นแล้วให้ก่อสร้างใหม่ได้ แต่ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ เมตร และมีระยะห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะหรือบ่อน้ำเพื่อการบริโภคไม่น้อยกว่า ๓๐๐ เมตร

                      (๕) สถานที่บรรจุก๊าซหรือสถานที่เก็บก๊าซตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวเว้นแต่สถานีบริการ ร้านจำหน่ายก๊าซ สถานที่ใช้ก๊าซ และสถานที่จำหน่ายอาหารที่ใช้ก๊าซ

      (๖) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศหรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๘๐ ห้อง ขึ้นไป ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๔ ให้สร้างได้ไม่เกิน ๓๐ ห้อง

                        (๗) กิจการที่นำบ้านพักอาศัยที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกันไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บริการที่พักเป็นการชั่วคราวสำหรับบุคคลอื่นใดไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะยาวโดยมีค่าตอบแทนในลักษณะที่ไม่เข้าข่ายโรงแรม และมีจำนวนห้องพักรวมทั้งหมดเกิน ๓๐ ห้อง ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๖ และกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดำเนินการในเขตอุทยานแห่งชาติภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ

                       ข้อ ๕  ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างอาคารหรือจะดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๔๖

(๑) การก่อสร้างอาคารหรือการดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้ให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

(ก) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง

(ข) อาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง

                  (ค) กิจการที่นำบ้านพักอาศัยที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกันไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บริการที่พักเป็นการชั่วคราวสำหรับบุคคลอื่นใดไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะยาวโดยมีค่าตอบแทนในลักษณะที่ไม่เข้าข่ายโรงแรม และมีจำนวนห้องพักรวมทั้งหมดตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง

(ง) โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตั้งแต่ ๑๐ เตียงถึง ๒๙ เตียง

(จ) การจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ ๑๐ แปลง ถึง ๙๙ แปลง หรือเนื้อที่น้อยกว่า ๑๙ ไร่

                  (ฉ) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมชุมชนที่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้ไม่เกิน ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ต่อวัน หรือสถานที่ที่ใช้ในการกำจัดมูลฝอยที่มีปริมาณในการกำจัดไม่เกิน ๕๐ ตัน ต่อวัน เว้นแต่โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมเฉพาะสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

(ช) ท่าเทียบเรือทุกประเภทที่สามารถรับเรือขนาดตั้งแต่ ๑๐๐ ตันกรอส แต่ไม่ถึง ๕๐๐ ตันกรอส

(ซ) ทางหลวงหรือถนนส่วนบุคคลตั้งแต่สองช่องเดินรถขึ้นไปที่ก่อสร้างบนพื้นดินที่มี

ความลาดชันเกินร้อยละยี่สิบห้า และมีความยาวต่อเนื่องกันตั้งแต่ ๕๐๐ เมตร ถึง ๑,๕๐๐ เมตร

(๒) การก่อสร้างอาคารหรือการดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้ ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

(ก) การก่อสร้างอาคารหรือการดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการประเภทต่างๆ ที่มีขนาดเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน (๑) (ค) (ง) (จ) (ฉ) (ช) และ (ซ)

(ข) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศหรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลน้อยกว่า ๕๐ เมตร

                  (ค) อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ในกรณีที่มีการดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคาร หรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการใดๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง (๑) หรือ (๒) ต้องเสนอรายงานตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย

                 ข้อ ๖  เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๒ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อทำหน้าที่ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามประกาศนี้ และให้ความเห็นชอบการนำแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติการ

                 ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการผู้แทนส่วนราชการประจำจังหวัดหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอที่เกี่ยวข้องผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินสามคน ผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินสามคน และผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ และให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ

กรรมการตามวรรคสองให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาเป็นผู้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

                 ข้อ ๗ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชน ที่จะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๒ จัดทำแผนงาน ดังต่อไปนี้

(๑) แผนงานสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนในท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

                  (๒) แผนงานการเผยแพร่ความรู้และการประชาสัมพันธ์ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และสามารถดำเนินการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับแผนงานของท้องถิ่นนั้น

แผนงานตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมนั้น แล้วเสนอให้คณะกรรมการตามข้อ ๖ พิจารณาให้ความเห็นชอบ

ข้อ ๘  เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและบำ รุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๒ ให้จังหวัดมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

                  (๑) ดำเนินการให้มีการฟื้นฟูและบำรุงรักษาพื้นที่ป่าชายเลนที่มีสภาพรกร้างว่างเปล่า หรือเลิกการใช้ประโยชน์ตามที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้ว ให้สอดคล้องกับแผนการจัดการป่าชายเลนของประเทศตามมติของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้พื้นที่นั้นฟื้นคืนสู่ธรรมชาติโดยเร็ว เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ธรรมชาติ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตามข้อ ๖

                   (๒) ดำเนินการจัดระเบียบชายหาดบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของท้องถิ่น และไม่ก่อให้เกิดการทำลายทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตามข้อ ๖

                    ข้อ ๙  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

   ข้อ ๑๐  ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคารหรือการประกอบกิจการใดๆ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                     ข้อ ๑๑ การกระทำ กิจกรรม หรือกิจการใดที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินการตามข้อ ๓ และข้อ ๔ ที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ มิให้กระทำหรือประกอบกิจกรรมหรือกิจการใดเพิ่มขึ้นหรือนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตไว้แล้ว

                      ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งประสงค์จะดำเนินการนั้นต่อไปภายหลังสิ้นระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุหรือยื่นคำขออนุญาตใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี

     การอนุญาตตามวรรคสอง ให้อนุญาตตามพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม

                      ข้อ ๑๒  อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ตามข้อ ๒ ก่อนหรือในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ แต่ห้ามดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                       ข้อ ๑๓  อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งให้เป็นการขัดต่อประกาศนี้ไม่ได้

     ข้อ ๑๔[๑]  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปและมีระยะเวลาการบังคับใช้ห้าปีนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

[เอกสารแนบท้าย]

                           ๑. บัญชีท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอเมืองพังงา อำเภอทับปุด และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

                           ๒. แผนที่ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๐

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

วัชศักดิ์/ผู้จัดทำ

๔ เมษายน ๒๕๕๐

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนพิเศษ ๓๕ ง/หน้า ๑๓/๒๖ มีนาคม ๒๕๕๐