ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง และ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

และสิ่งแวดล้อม

เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณ

พื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง และ

อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พ.ศ. ๒๕๔๗

                   

                  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๗ ออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ในประกาศนี้

“แนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ

                 ข้อ ๒  ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตควบคุมมลพิษตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ เรื่อง การกำหนดให้ท้องที่เขตอำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหินกับอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเขตควบคุมมลพิษ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เฉพาะในพื้นที่ตำบลบางตะบูน ตำบลบางตะบูนนอก ตำบลบ้านแหลม ตำบลบางขุนไทร ตำบลปากทะเล ตำบลบางแก้ว และตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม ตำบลหาดเจ้าสำราญ และตำบลหนองขนาน อำเภอเมืองเพชรบุรี ตำบลปึกเตียน อำเภอท่ายาง ตำบลหนองศาลา ตำบลบางเก่า และเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เทศบาลเมืองหัวหิน อำเภอหัวหิน และตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปในทะเลเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร ตั้งแต่ด้านเหนือตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ไปทางทิศใต้ขนานกับแนวชายฝั่งทะเลจนถึงสุดเขตตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามแผนที่ท้ายประกาศนี้ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ โดยกำหนดให้เป็น ๗ บริเวณ ดังต่อไปนี้

บริเวณที่ ๑ หมายถึง พื้นที่ทั้งหมดของตำบลบางตะบูน และตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

บริเวณที่ ๒ หมายถึง พื้นที่ทั้งหมดของตำบลบ้านแหลม ตำบลบางขุนไทร ตำบลปากทะเล ตำบลบางแก้ว และตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

                   บริเวณที่ ๓ หมายถึง พื้นที่ทั้งหมดของตำบลหาดเจ้าสำราญ และตำบลหนองขนาน อำเภอเมืองเพชรบุรี ตำบลปึกเตียน อำเภอท่ายาง ตำบลหนองศาลา และตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

 บริเวณที่ ๔ หมายถึง พื้นที่ทั้งหมดของเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ทั้งหมดของเทศบาลเมืองหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

บริเวณที่ ๕ หมายถึง พื้นที่ทั้งหมดของตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

                  บริเวณที่ ๖ หมายถึง พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปในทะเลเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร ตั้งแต่ด้านเหนือตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ลงไปทางทิศใต้ขนานกับแนวชายฝั่งทะเลจนถึงปลายแหลมทราย (แหลมหลวง) ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

                  บริเวณที่ ๗ หมายถึง พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปในทะเลเป็นระยะ ๓,๐๐ เมตร ต่อจากบริเวณที่ ๖ ลงไปทางทิศใต้ขนานกับแนวชายฝั่งทะเลจนถึงสุดเขตตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ข้อ ๓  ภายในบริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๓ และบริเวณที่ ๕ ห้ามก่อสร้างดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคารหรือประกอบกิจการดังต่อไปนี้

                  (๑) อาคารในพื้นที่บริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๕๐ เมตร เว้นแต่อาคารอยู่อาศัยที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน ๗๕ ตารางเมตร และต้องห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร

(๒) อาคารสูงเกิน ๑๒ เมตร ในพื้นที่บริเวณที่วัดจากแนวเขต (๑) เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๑๕๐ เมตร

(๓) อาคารหรือกิจกิจการดังต่อไปนี้ ในพื้นที่บริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๒๐๐ เมตร

(ก) โรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ ๒ และจำพวกที่ ๓ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

(ข) อาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน ๑๐ ตารางเมตร หรือเป็นไปเพื่อการค้า หรือก่อเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

(ค) สุสานและฌาปนสถาน เว้นแต่เป็นการซ่อมแซมหรือการก่อสร้างทดแทนของเดิม

(ง) ระบบกำจัดหรือบำบัดของเสียรวม เว้นแต่เป็นการดำเนินการโดยส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น สภาตำบล หรือรัฐวิสาหกิจ

(จ) ท่าเทียบเรือ ยกเว้นท่าเทียบเรือตามข้อ ๗ (๑) (จ) และ (๒) (ง)

(ฉ) อู่ต่อเรือ

ความใน (๓) (จ) มิให้นำมาใช้บังคับกับพื้นที่บริเวณที่ ๕ ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๒๐๐ เมตร

การวัดความสูงของอาคารตาม (๑) และ (๒) ให้วัดจากระดับพื้นถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร

ข้อ ๔  ภายในบริเวณที่ ๔ ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคารหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้

(๑) โรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ ๒ และจำพวกที่ ๓ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานอุตสาหกรรมตามประเภทหรือชนิด จำพวก และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้

(๒) อาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน ๑๐ ตารางเมตร หรือเป็นไปเพื่อการค้า หรือก่อเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

(๓) สุสานและฌาปนสถาน เว้นแต่เป็นการซ่อมแซมหรือการก่อสร้างทดแทนของเดิม

(๔) ระบบกำจัดหรือบำบัดของเสียรวม เว้นแต่เป็นการดำเนินการโดยส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ

(๕) ท่าเทียบเรือ ยกเว้นท่าเทียบเรือตามข้อ ๗ (๑) (จ) และ (๒) (ง)

(๖) อู่ต่อเรือ

ข้อ ๕  ภายในบริเวณที่ ๖ และบริเวณที่ ๗ ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคารหรือประกอบกิจการท่าเทียบเรือ ยกเว้นท่าเทียบเรือตามข้อ ๗ (๑) (จ) และ (๒) (ง)

ข้อ ๖  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามมิให้มีการกระทำหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้

(๑) การทำเหมือง

(๒) การขุด ตัก หรือดูด กรวด ดิน ทราย หรือลูกรัง เพื่อการค้า

(๓) การทำนาเกลือ ยกเว้นพื้นที่บริเวณที่ ๒ และบริเวณที่ ๓

(๔) การขนส่งหรือลำเลียงวัตถุอันตรายโดยใช้ระบบท่อขนส่ง

                 (๕) การถม ปรับพื้นที่ หรือปิดกั้น ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะตื้นเขิน เปลี่ยนทิศทางหรือทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นไม่อาจไหลไปได้ตามปกติ เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการเพื่อสาธารณประโยชน์

(๖) การถมทะเล เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

(๗) การปล่อยทิ้งของเสียหรือมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่กรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว

(๘) การเก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการเพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือวิจัยทางวิชาการ

                  ข้อ ๗ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่จะทำการก่อสร้างอาคารหรือดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการในพื้นที่ตามข้อ ๒ เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังต่อไปนี้

(๑) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

(ก) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง

(ข) อาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง

(ค) สถานพยาบาลที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ ๑๐ เตียง ถึง ๒๙ เตียง

(ง) การจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อย ตั้งแต่ ๑๐๐ แปลง ถึง ๔๙๙ แปลง หรือมีเนื้อที่ตั้งแต่ ๒๐ ไร่ ถึง ๙๙ ไร่

(จ) ท่าเทียบเรือขนาดเล็กที่เป็นท่าสาธารณะสำหรับเรือประมงหรือเรือเพื่อการท่องเที่ยวขนาดต่ำกว่า ๖๐ ตันกรอส

(ฉ) การเพาะเลี้ยงกุ้งหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นเพื่อการค้าตั้งแต่ ๕๐ ไร่ขึ้นไป

(๒) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการดังต่อไปนี้ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

(ก) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการประเภทที่มีขนาดเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน (๑) (ก) (ข) (ค) และ(ง)

(ข) อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

(ค) โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ ๕ เมกกะวัตต์ ขึ้นไป

(ง) ท่าเทียบเรือสำหรับเรือสำราญและกีฬาที่ไม่ใช่เรือกล

การดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคารตามที่กำหนดไว้ใน (๑) และ (๒) ต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งด้วย

ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้นำมาใช้บังคับกับท่าเทียบเรือตาม (๑) (จ) และ (๒) (ง) ในพื้นที่บริเวณที่ ๕ ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๒๐๐ เมตร

ข้อ ๘  ให้จังหวัดมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๒ ดังต่อไปนี้

                  (๑) กำหนดพื้นที่ป่าชายเลนในบริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๕ และบริเวณที่ ๖ เป็นพื้นที่ห้ามมิให้ใช้ป่าชายเลนเพื่อกิจการอื่นใดที่มีผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลนเว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการเพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือวิจัยทางวิชาการ ทั้งนี้ โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี หรือกิจการที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้ใช้ประโยชน์อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

                 (๒) กำหนดพื้นที่ชายฝั่งทะเลในบริเวณที่ ๓ บริเวณที่ ๔ บริเวณที่ ๕ ยกเว้นพื้นที่ป่าชายเลน และบริเวณที่ ๗ เป็นพื้นที่ส่งเสริมให้เป็นเขตนันทนาการเพื่อการท่องเที่ยว ห้ามมิให้ทำกิจการอื่นใดในบริเวณนี้ อันจะก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว

                 (๓) กำหนดพื้นที่ในบริเวณที่ ๖ ยกเว้นพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ในเขตตำบลบางขุนไทร ตำบลปากทะเล ตำบลบางแก้ว และตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นเขตอนุรักษ์หอยแครงและสัตว์น้ำอื่น ห้ามมิให้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ประมงที่ใช้เรือยนต์ทุกชนิดทำการประมง

ข้อ ๙  ให้จัดหวัดมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๒ ดังต่อไปนี้

(๑) ดำเนินการจัดทำแผนงานสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนในท้องถิ่นมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความสามารถในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

                  (๒) กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชน ที่จะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนงานการเผยแพร่ความรู้และการประชาสัมพันธ์ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นมีความรู้และความเข้าใจ สามารถดำเนินการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับแผนงานของท้องถิ่นนั้น

                 (๓) กำหนดให้ภาคเอกชนที่มีความประสงค์จะดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมจัดทำแผนงานด้านการเผยแพร่ความรู้และการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชุมชนในท้องถิ่นสามารถเข้าใจในการดำเนินงานการจัดการสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับแผนงานของท้องถิ่นนั้น

แผนงานตาม (๑) (๒) และ (๓) ต้องนำเสนอให้คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามข้อ ๑๑ เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนดังกล่าว

ข้อ ๑๐  ให้จังหวัดมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและบำบัดสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๒ ดังต่อไปนี้

                  (๑) ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูและบำบัดสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฟื้นกลับคืนสู่สภาวะธรรมชาติเดิมอันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องถิ่นต่อไป ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับจากวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับแล้วเสนอให้คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามข้อ ๑๑ เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจจัดทำแผนงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขยายระยะเวลาออกไปได้อีกแต่ไม่เกินเก้าสิบวัน

                  (๒) กำหนดให้ผู้ซึ่งประกอบกิจการตามข้อ ๗ และกิจการท่าเทียบเรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๖๐ ตันกรอส ขึ้นไป อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยกเว้นกิจการที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วดำเนินการจัดทำแผนงานฟื้นฟูและบำบัดสิ่งแวดล้อมตามหลักการผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่ายและกำหนดระยะเวลาที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานนั้น โดยจะจัดทำรวมเป็นกลุ่มหรือทำแยกเป็นรายๆ ก็ได้ ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับจากวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แล้วเสนอให้คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามข้อ ๑๑ เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจจัดทำแผนงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขยายระยะเวลาออกไปได้อีกแต่ไม่เกินเก้าสิบวัน

                  (๓) ดำเนินการให้มีการฟื้นฟูและบำรุงรักษาพื้นที่ป่าชายเลนในบริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๕ และบริเวณที่ ๖ ที่มีสภาพรกร้างว่างเปล่าหรือเลิกการใช้ประโยชน์ตามที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้วให้ฟื้นคืนสู่ธรรมชาติโดยเร็วเพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ธรรมชาติ ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับแผนการจัดการป่าชายแลนของประเทศตามมติของคณะรัฐมนตรี

                 (๔) ดำเนินการให้มีการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยสนับสนุนให้มีแผนการศึกษาวิจัยเพื่อฟื้นฟูสภาพดินเสื่อมโทรมในบริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ และบริเวณที่ ๓ ให้เป็นดินที่เหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์

                  (๕) ดำเนินการให้พื้นที่แนวชายฝั่งทะเลในพื้นที่ตามข้อ ๒ ในระยะ ๕๐ เมตร วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้ามาในแผ่นดิน และในระยะ ๕๐ เมตร วัดจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปในทะเลมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยเร่งด่วนเพื่อการฟื้นฟูและรักษาสภาพธรรมชาติของชายหาดไว้เป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป

                  (๖) ดำเนินการให้มีการพัฒนาพื้นที่ชายหาดในบริเวณที่ ๓ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยการพัฒนาสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น

(๗) กำหนดให้ผู้ประกอบการทำนาเกลือจัดให้มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีในการประกอบกิจการนาเกลือเพื่อเกื้อกูลให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

ความใน (๒) มิให้นำมาใช้บังคับกับท่าเทียบเรือในพื้นที่บริเวณที่ ๕

                 ข้อ ๑๑  เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๒ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และให้ความเห็นชอบการนำมาตรการต่างๆ ที่ใช้ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไปสู่การปฏิบัติ

                 ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประจำจังหวัดหรือผู้แทน หัวหน้ารัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องในจังหวัดหรือผู้แทน หัวหน้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่หรือผู้แทน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินสามคน ผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม พาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินสามคน และผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ และให้หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ

กรรมการตามวรรคสองให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดในพื้นที่ตามข้อ ๒ เป็นผู้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรี

                  ข้อ ๑๒  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองสิ่งแดล้อมหรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

ข้อ ๑๓  ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคารหรือการประกอบกิจการใดๆ ในเขตพื้นที่ตามข้อ ๒ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                 ข้อ ๑๔  การกระทำ กิจกรรม หรือกิจการใดที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินการตามข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๖ ที่กระทำหรือที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะเลิกกระทำ หรือเลิกประกอบกิจกรรมหรือกิจการนั้น หรือจนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ มิให้กระทำ หรือประกอบกิจกรรมหรือกิจการใดเพิ่มขึ้นหรือนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตไว้แล้ว

                  หากผู้ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งประสงค์จะดำเนินการนั้นต่อไปหลังจากสิ้นระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุหรือยื่นคำขออนุญาตใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี

การอนุญาตตามวรรคสอง ให้อนุญาตตามพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม

                 ในกรณีที่จำเป็นต้องก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ ๒ หรือจำพวกที่ ๓ ทดแทนของเดิมเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานให้ดีกว่าเดิม ให้กระทำได้เฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่ตั้งโรงงานเดิมนั้น และต้องไม่เข้าข่ายการขยายโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานเว้นแต่เป็นการเพิ่มเครื่องจักรเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

                   ข้อ ๑๕  อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ ๒ ก่อนหรือในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้เว้นแต่กรณีตามข้อ ๑๐ (๒) แต่ห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ ๓ ข้อ ๔ และข้อ ๕

                   ข้อ ๑๖  อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบแจ้งให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้เว้นแต่กรณีตามข้อ ๑๐ (๒) แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งให้เป็นการขัดต่อประกาศนี้ไม่ได้

ข้อ ๑๗[๑]  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบิกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

สุวิทย์  คุณกิตติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

และสิ่งแวดล้อม

[เอกสารแนบท้าย]

                      ๑. บัญชีท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่พื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

                       ๒. แผนที่ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่พื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

อัมภิญา/พิมพ์

๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๐

จิรพงษ์/ตรวจ

๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๐

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๘๖ ง/หน้า ๖/๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗