ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๔๖

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. ๒๕๔๖

                       

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ในประกาศนี้

“แนวชายฝั่งทะเล” หมายถึง แนวที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการวัดระยะตามประกาศนี้ โดยถือระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติเป็นเกณฑ์

                  ข้อ ๒  ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตควบคุมอาคารตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ บังคับในเขตจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

ให้กำหนดพื้นที่ตามวรรคหนึ่งเป็น ๘ บริเวณ ทั้งนี้ ตามแผนที่ท้ายประกาศนี้ดังต่อไปนี้

                  บริเวณที่ ๑ หมายถึง พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลรอบเกาะภูเก็ตเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๕๐ เมตร รวมทั้งพื้นที่ในเกาะต่างๆ เว้นแต่พื้นที่ในบริเวณที่ ๕ บริเวณที่ ๖ และบริเวณที่ ๗

บริเวณที่ ๒ หมายถึง พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตบริเวณที่ ๑ เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๑๕๐ เมตร เว้นแต่พื้นที่ในบริเวณที่ ๕ บริเวณที่ ๖ และบริเวณที่ ๗

                  บริเวณที่ ๓ หมายถึง พื้นที่ที่กำหนดให้เป็นศูนย์ราชการตามมติของคณะรัฐมนตรีและพื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตบริเวณที่ ๒ เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๒๐๐ เมตร เว้นแต่พื้นที่ในบริเวณที่ ๕ บริเวณที่ ๖ และบริเวณที่ ๗

บริเวณที่ ๔ หมายถึง พื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ดังต่อไปนี้ เว้นแต่พื้นที่ในบริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๓ บริเวณที่ ๕ บริเวณที่ ๖ และบริเวณที่ ๗

(๑) เขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมหรือย่านอาคารเก่า

                  ด้านเหนือ จดเส้นขนานระยะ ๔๕ เมตร กับศูนย์กลางถนนดีบุก ถนนเทพกระษัตรี ฟากตะวันออก ลำรางสาธารณะไม่ปรากฏชื่อ ฝั่งใต้ คลองบางใหญ่ ฝั่งตะวันออกและถนนดีบุกตัดใหม่ ฟากใต้

ด้านตะวันออก จดถนนมนตรี ฟากตะวันตก

                 ด้านใต้ จดถนนพังงา ฟากเหนือ คลองบางใหญ่ ฝั่งตะวันออก เส้นขนานระยะ ๔๕ เมตร กับศูนย์กลางถนนพังงา เส้นขนานระยะ ๔๕ เมตร กับศูนย์กลางถนนเยาวราชถนนรัษฎา ฟากใต้ ถนนระนอง ฟากใต้ เส้นขนานระยะ ๔๕ เมตร กับศูนย์กลางถนนเยาวราช และเส้นขนานระยะ ๔๕ เมตร กับศูนย์กลางถนนกระบี่

ด้านตะวันตก จดเส้นตั้งฉากกับถนนกระบี่ ที่จุดบรรจบระหว่างถนนสตูล ฟากตะวันตก กับถนนกระบี่ ฟากใต้ และถนนสตูล ฟากตะวันตก

(๒) เขตหนาแน่นมาก หมายถึง พื้นที่เขตเทศบาลทั้งหมดยกเว้นบริเวณที่ ๔ (๑) และ (๓)

(๓) เขตหนาแน่นสูงมาก

ด้านเหนือ จดเส้นขนานระยะ ๑๐๐ เมตร กับศูนย์กลางถนนพังงา

ด้านตะวันออก จดถนนสุรินทร์ ฟากตะวันตก

ด้านใต้ จดถนนศรีเสนา ฟากเหนือ ถนนวีรพงษ์หงษ์หยก ฟากตะวันตก และถนนชนะเจริญ ฟากใต้

ด้านตะวันตก จดถนนติลกอุทิศ ๒ ฟากตะวันตก และเส้นตั้งฉากกับถนนพังงา ที่จุดบรรจบระหว่างถนนพังงา ฟากใต้ กับถนนติลกอุทิศ ๒ ฟากตะวันตก

                  บริเวณที่ ๕ หมายถึง พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และพื้นที่ที่มีรัศมีโดยรอบเป็นระยะ ๑๐๐ เมตร นับจากเขตที่ดินของอาคารหรือสถานที่ ดังต่อไปนี้ เว้นแต่พื้นที่ในบริเวณที่ ๖ และบริเวณที่ ๗

(๑) แนวค่าย (โคกชนะพม่า)

(๒) บ้านพระยาวิชิตสงคราม

(๓) มัสยิดบ้านบางเทา

(๔) บ้านท้าวเทพกระษัตรี

(๕) วัดฉลอง

(๖) วัดท่าเรือ

(๗) วัดเทพกระษัตรี

(๘) วัดพระทอง

(๙) วัดพระนางสร้าง

(๑๐) สุเหร่าเกาะบ้านเคียน

(๑๑) กำแพงเมืองถลางบางโรง

(๑๒) ศาลหลักเมืองถลางป่าสัก

(๑๓) ศาลหลักเมืองถลางเมืองใหม่

บริเวณที่ ๖ หมายถึง พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๔๐เมตร ถึง ๘๐ เมตร

บริเวณที่ ๗ หมายถึง พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า ๘๐ เมตร ขึ้นไป

บริเวณที่ ๘ หมายถึง พื้นที่อื่นนอกจากบริเวณที่ ๑ ถึงบริเวณที่ ๗

ข้อ ๓  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคาร ดังต่อไปนี้

                   (๑) โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทหรือทุกชนิดที่มีปริมาณน้ำทิ้งตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ยกเว้นน้ำหล่อเย็น) หรือมีปริมาณความสกปรกของน้ำทิ้งหลังผ่านระบบบำบัดตั้งแต่ ๒๐ กิโลกรัมต่อวันขึ้นไป และโรงงานอุตสาหกรรมตามประเภทหรือชนิด ขนาด และข้อกำหนดเพิ่มเติมในบัญชี ๑ ท้ายประกาศนี้ เว้นแต่โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมและโรงงานที่จำเป็นต้องก่อสร้างทดแทนของเดิมเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานให้ดีกว่าเดิม และไม่เข้าข่ายขยายโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน แต่การเพิ่มเครื่องจักรเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กระทำได้ ทั้งนี้ ให้ก่อสร้างได้เฉพาะในบริเวณพื้นที่เดิมเท่านั้น

                   (๒) สถานที่บรรจุก๊าซหรือสถานที่เก็บก๊าซตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่ไม่รวมถึงสถานีบริการก๊าซ ร้านจำหน่ายก๊าซ สถานที่ใช้ก๊าซ และสถานที่จำหน่ายอาหารที่ใช้ก๊าซ เว้นแต่เป็นการย้ายสถานที่บรรจุก๊าซจากสถานที่ตั้งเดิมไปยังสถานที่ตั้งแห่งใหม่ที่เหมาะสมและปลอดภัยกว่า โดยไม่เพิ่มกำลังการผลิต

(๓) โรงฆ่าสัตว์ เว้นแต่การก่อสร้างทดแทนของเดิม

                  (๔) สุสานและฌาปนสถาน เว้นแต่การก่อสร้างทดแทนหรือดัดแปลงของเดิมในพื้นที่เดิมพร้อมด้วยระบบควบคุมมลพิษทางอากาศของฌาปนสถาน รวมตลอดถึงสิ่งก่อสร้างและอาคารประกอบของระบบควบคุมมลพิษทางอากาศนั้น

                 ข้อ ๔  ภายใต้บังคับข้อ ๓ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ การใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจและประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้าตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองในกรณีที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมให้มีโรงงานอุตสาหกรรมได้ทุกประเภทหรือทุกชนิด ส่วนการใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทอื่นในกรณีที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีโรงงานอุตสาหกรรมได้เฉพาะโรงงานจำพวกที่ ๑ หรือโรงงานอุตสาหกรรมตามประเภทหรือชนิด ขนาด และข้อกำหนดเพิ่มเติมในบัญชี ๒ ท้ายประกาศนี้เท่านั้น

ข้อ ๕  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ การก่อสร้างอาคารปศุสัตว์ให้เป็นไปตามพื้นที่และหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) ในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ห้ามก่อสร้างอาคารปศุสัตว์

(๒) ในพื้นที่นอกเขต (๑) การก่อสร้างอาคารปศุสัตว์ให้เป็นไปตามข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนด

                 อาคารปศุสัตว์ตามวรรคหนึ่งต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า๑,๐๐๐ เมตร และต้องห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะหรือบ่อน้ำเพื่อการบริโภคไม่น้อยกว่า ๓๐ เมตรรวมทั้งต้องมีบ่อกรองและบ่อบำบัดมูลสัตว์และน้ำเสีย ตลอดจนต้องมีมาตรการควบคุมการปล่อยทิ้งของเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานของทางราชการด้วย

ข้อ ๖  ภายใต้บังคับข้อ ๓ ข้อ ๔ และข้อ ๕ ในบริเวณพื้นที่ตามข้อ ๒ การก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

                  (๑) บริเวณที่ ๑ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น เว้นแต่ในเขตที่มีกฎกระทรวงออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารใช้บังคับ ให้อาคารมีความสูงได้ไม่เกิน ๕ เมตร และในเขตที่ดินประเภทอุตสาหกรรมตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ให้มีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น

(๒) บริเวณที่ ๒ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร และต้องมี

(ก) ที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารที่พักอาศัย

                  (ข) ที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารพาณิชย์หรืออาคารอื่น เว้นแต่กรณีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมของอาคารที่อยู่ในเขตที่มีกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารใช้บังคับ ให้มีไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น

(๓) บริเวณที่ ๓ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๖ เมตร และต้องมี

(ก) ที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารที่พักอาศัย

                  (ข) ที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารพาณิชย์หรืออาคารอื่น เว้นแต่อาคารและที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมของอาคารที่อยู่ในเขตงานก่อสร้างระบบกำจัดมูลฝอยแบบเตาเผาของเทศบาลเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นไปตามที่เทศบาลเมืองภูเก็ตกำหนด

(๔) บริเวณที่ ๔

                 (ก) เขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมหรือย่านอาคารเก่า ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๖ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารที่จัดให้มีช่องทางเดินด้านหน้าอาคารทะลุถึงอาคารข้างเคียงตามลักษณะสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุเกส (จีนผสมโปรตุเกส) ทั้งนี้ตามรูปแบบที่สภาท้องถิ่นกำหนด หรือต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารอื่นที่มิได้มีลักษณะตามรูปแบบดังกล่าวข้างต้น

                  (ข) เขตหนาแน่นมาก ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๔๕ เมตร และมีค่าสูงสุดของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นต่อพื้นที่ดินของอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างในที่ดินแปลงเดียวกันไม่เกิน ๔ ต่อ ๑ และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น

                  (ค) เขตหนาแน่นสูงมาก ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖๐ เมตร และมีค่าสูงสุดของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นต่อพื้นที่ดินของอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างในที่ดินแปลงเดียวกันไม่เกิน ๕ ต่อ ๑ และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น

                 (๕) บริเวณที่ ๕ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร เว้นแต่สภาท้องถิ่นมีมติเป็นอย่างอื่น แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน ๑๒ เมตร นอกจากนี้ ยังต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้นด้วย

                 (๖) บริเวณที่ ๖ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๘ เมตร และต้องมีที่ว่างที่ปลูกพืชคลุมดินไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น เว้นแต่พื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๓๕ ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใดๆ

ในกรณีที่จะต้องมีการปรับพื้นดินที่จะก่อสร้างอาคารตามวรรคก่อน ให้ปรับพื้นดินได้เฉพาะในพื้นที่ที่มีความลาดชันไม่เกินร้อยละ ๒๕

(๗) บริเวณที่ ๗ ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใดๆ

                   (๘) บริเวณที่ ๘ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๒๓ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้นเว้นแต่

                   (ก) อาคารและที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมของอาคารที่อยู่ในเขตงานก่อสร้างระบบกำจัดมูลฝอยแบบเตาเผาของเทศบาลเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นไปตามที่เทศบาลเมืองภูเก็ตกำหนด

(ข) โครงสร้างสำหรับใช้ในกิจการโทรคมนาคมที่เป็นเสารับส่งสัญญาณแต่ต้องตั้งห่างจากเขตถนนสาธารณะ ๖๐ เมตร

                  การวัดความสูงของอาคารในบริเวณที่ ๑ ถึง บริเวณที่ ๖ และบริเวณ ๘ ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร เว้นแต่อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ ๒๓ เมตรขึ้นไป ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้า แต่หากเป็นอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ ๒๓ เมตรขึ้นไป ที่เป็นอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยา ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

                   (ก) กรณีที่เป็นพื้นที่ราบหรือมีการถมดินปรับระดับกับแนวถนนในบริเวณที่ก่อสร้าง ความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ปรับระดับแล้ว ซึ่งหมายถึงการถมดินซึ่งสูงไม่เกินระดับถนน

(ข) กรณีมีห้องใต้ดินซึ่งค่าระดับเป็นลบ ความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างเช่นเดียวกับกรณี (ก)

(ค) กรณีพื้นดินเป็นเชิงลาดแนวเชิงเขา ความสูงของอาคารให้วัดในแนวดิ่งจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้าง ณ จุดที่ต่ำที่สุดถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคารหลังนั้น

ข้อ ๗  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามการกระทำหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้

(๑) การทำเหมืองหินและเหมืองแร่ในทะเล

                  (๒) การขนส่งหรือลำเลียงวัตถุอันตรายโดยใช้ระบบท่อขนส่ง เว้นแต่ในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ และประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้าตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง

(๓) การถม ปิดกั้น หรือปรับพื้นที่ ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะและแหล่งน้ำในขุมเหมืองตื้นเขินหรือเปลี่ยนทิศทางหรือทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นไม่อาจไหลได้ตามปกติ

(๔) การขุด ถม หรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของพื้นที่พรุและพื้นที่ป่าชายเลน

                  (๕) การถมทะเล เว้นแต่เป็นนโยบายของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหรือมีความจำเป็นเพื่อกิจการของส่วนราชการตามมติของคณะกรรมการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

                  (๖) การล่วงล้ำลำน้ำ เว้นแต่อาคารและการล่วงล้ำตามข้อ ๔ (๑) ถึง (๗) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ที่ได้รับอนุญาต

(๗) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว

                  (๘) การเก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง หรือการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบหรือทำให้ปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการังถูกทำลายหรือเสียหาย

(๙) การจับหรือครอบครองปลาสวยงามตามบัญชี ๓ ท้ายประกาศนี้ เว้นแต่การครอบครองเพื่อการเพาะเลี้ยง และต้องจดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตจากกรมประมง

(๑๐) การขุด ตัก หรือลอก กรวด หินผุ ดิน ดินลูกรัง หรือทรายบก บนพื้นที่ที่มีความสูงวัดจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกิน ๘๐ เมตร หรือความลาดชันเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ ๓๕

(๑๑) การเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อการค้า เว้นแต่

                  (ก) เป็นผู้ประกอบกิจการก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อกับกรมประมง โดยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและมาตรการที่กรมประมงกำหนด

(ข) เป็นการดำเนินการของทางราชการเพื่อการเผยแพร่ และพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้ง รวมทั้งการดำเนินการที่ต่อเนื่องของกรมประมง

(๑๒) การติดตั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายดังต่อไปนี้ เว้นแต่ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายของทางราชการ

(ก) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายไว้เหนือที่สาธารณะที่มีขนาดเกินหนึ่งตารางเมตร หรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกินสิบกิโลกรัม

(ข) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนที่มีระยะห่างจากที่สาธารณะในแนวราบบนพื้นดินและในอากาศน้อยกว่าสองเท่าของความสูงของป้ายในแนวดิ่ง

                  (ค) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนหรือที่สาธารณะในลักษณะบดบังหรืออาจจะบดบังทัศนวิสัย หรือทัศนียภาพอันสวยงามของแนวทางหลวงหรือทางสาธารณะและพื้นที่ใกล้เคียง หรือในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น

                  (ง) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนหรือที่สาธารณะในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๓๕ ขึ้นไป

                 การกระทำหรือประกอบกิจกรรมตามวรรคหนึ่งที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต

                  ข้อ ๘  ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการในพื้นที่ตามข้อ ๒ เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ดังต่อไปนี้

(๑) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการดังนี้ ให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

(ก) โรงงานส่งหรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า

(ข) โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตไอน้ำเพื่อการจำหน่าย

(ค) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้องถึง ๗๙ ห้อง

(ง) อาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง

(จ) สถานพยาบาลที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ ๑๐ เตียง ถึง ๒๙ เตียง

(ฉ) การขุด ตัก หรือลอก กรวด หินผุ ดิน ดินลูกรัง หรือทรายบก ในพื้นที่ที่มีความสูงวัดจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน ๘๐ เมตร หรือมีความลาดชันเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ ๓๕

(ช) การจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์จำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ ๑๑ แปลง ถึง ๙๙ แปลง หรือเนื้อที่ต่ำกว่า ๑๙ ไร่ ลงมา

(ซ) ท่าเทียบเรือทุกประเภทที่สามารถรับเรือขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอส แต่ไม่ถึง ๕๐๐ ตันกรอส

(ฌ) เขื่อนเก็บกักหรืออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรเก็บกักตั้งแต่ ๑๖๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร แต่ไม่ถึง ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร

(ญ) ทางหลวงหรือถนนส่วนบุคคลที่ก่อสร้างบนพื้นดินที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๒๕ และมีความยาวต่อเนื่องกันตั้งแต่ ๕๐๐ เมตร ถึง ๑,๕๐๐ เมตร

                  (ฎ) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมที่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้ไม่เกิน ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือสถานที่ที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณในการกำจัดไม่เกิน ๕๐ ตันต่อวัน แต่ไม่รวมถึงโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมเฉพาะ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

(๒) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการดังนี้ ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

(ก) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการประเภทต่างๆ ใน (๑) ที่มีขนาดเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน (๑) ยกเว้น (ก) (ข) และ (ฉ)

(ข) อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

(ค) โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย

(ง) การทำเหมือง

การดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารให้เป็นอาคารตามที่กำหนดไว้ใน (๑) และ (๒) ต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งด้วย

                 ข้อ ๙  ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคาร การกระทำ หรือการประกอบกิจการใดๆ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                  ข้อ ๑๐  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

                 ข้อ ๑๑  อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ตามข้อ ๒ ก่อนหรือในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ แต่ห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ ๓ ข้อ ๔ และข้อ๕

                 ข้อ ๑๒  อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งให้เป็นการขัดต่อประกาศนี้ไม่ได้

ข้อ ๑๓[๑]  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

และสิ่งแวดล้อม

[เอกสารแนบท้าย]

๑. บัญชี ๑ ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๔๖

๒. บัญชี ๒ ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๔๖

๓. บัญชี ๓ ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๔๖

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

ปริยานุช/พิมพ์

๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๐

จิรพงษ์/ตรวจ

๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๐

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนพิเศษ ๑๑๓ ง/หน้า ๒๑/๓๐ กันยายน ๒๕๔๖