ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ต พ.ศ.๒๕๔๐

ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์

เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต

พ.ศ.๒๕๔๐

                  

                   อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐ ออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต ดังต่อไปนี้

                  ข้อ ๑. ให้เขตควบคุมอาคารตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ บังคับในเขตจังหวัดภูเก็ต พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

ข้อ ๒. ในพื้นที่ตามข้อ ๑ ห้ามก่อสร้างอาคาร หรือห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารให้เป็นอาคาร ดังต่อไปนี้

                  (๑) โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทหรือชนิดที่มีปริมาณน้ำทิ้งตั้งแต่๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ยกเว้นน้ำหล่อเย็น) หรือมีปริมาณความสกปรกของน้ำทิ้งหลังผ่านระบบบำบัดตั้งแต่ ๒๐ กิโลกรัมต่อวันขึ้นไป และโรงงานอุตสาหกรรมตามประเภทหรือชนิด ขนาด และข้อกำหนดเพิ่มเติมในบัญชี ๑ ท้ายประกาศนี้ เว้นแต่โรงงานที่เป็นการก่อสร้างทดแทนของเดิม ในกรณีที่โรงงานเดิมเกิดความเสียหายเนื่องจากอุบัติภัยโดยให้ก่อสร้างได้เฉพาะพื้นที่เดิมเท่านั้น และโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม

(๒) สถานที่บรรจุก๊าชตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าชปิโตรเลียมเหลว

(๓) โรงฆ่าสัตว์ เว้นแต่การก่อสร้างทดแทนของเดิม

(๔) สุสานและฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยสุสานและฌาปนสถานเว้นแต่การก่อสร้างทดแทนของเดิม

                   ข้อ ๓. ภายใต้บังคับข้อ ๒ ในพื้นที่ตามข้อ ๑ การใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ และประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้าตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ในกรณีที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีโรงงานอุตสาหกรรมได้ทุกประเภทหรือทุกชนิดส่วนการใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทอื่น ในกรณีที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีโรงงานอุตสาหกรรมได้เฉพาะโรงงานจำพวกที่ ๑ หรือโรงงานอุตสาหกรรมตามประเภทหรือชนิด ขนาด และข้อกำหนดเพิ่มเติมในบัญชี ๒ ท้ายประกาศนี้เท่านั้น

ข้อ ๔  ภายใต้บังคับข้อ ๒ และข้อ ๓ ในพื้นที่ตามข้อ ๑ การก่อสร้างอาคารปศุสัตว์ ให้เป็นไปตามพื้นที่และหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) ในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต เทศบาลตำบลป่าตอง สุขาภิบาลกะรนและองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา ห้ามก่อสร้างอาคารปศุสัตว์

(๒) ในเขตสุขาภิบาลเชิงทะเล ให้ก่อสร้างอาคารปศุสัตว์ได้เฉพาะอาคารปศุสัตว์ที่มีพื้นที่ชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันไม่เกิน ๑๐๐ ตารางเมตร

(๓) ในพื้นที่นอกเขต (๑) และ (๒) ให้ก่อสร้างอาคารปศุสัตว์ได้เฉพาะอาคารปศุสัตว์ที่มีพื้นที่ชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันไม่เกิน ๔๐๐ตารางเมตร

                  อาคารปศุสัตว์ตามวรรคหนึ่งต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ เมตร และต้องห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะหรือบ่อน้ำเพื่อการปริโภคไม่น้อยกว่า ๓๐ เมตร รวมทั้งต้องมีบ่อกรองและบ่อบำบัดมูลสัตว์และน้ำทิ้งตลอดจนต้องมีมาตรการควบคุมการปล่อยทิ้งของเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานของทางราชการด้วย

                  ข้อ ๕. กำหนดให้พื้นที่ตามข้อ ๑ เป็นพื้นที่บริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๓ บริเวณที่ ๔ บริเวณที่ ๕ บริเวณที่ ๖ บริเวณที่ ๗ และบริเวณที่ ๘ ทั้งนี้ตามแผนที่แผ่นที่ ๑ และแผ่นที่ ๒ ท้ายประกาศนี้ ดังต่อไปนี้

                  บริเวณที่ ๑ หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลรอบเกาะภูเก็ตเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๕๐ เมตร รวมทั้งพื้นที่ในเกาะต่าง ๆเว้นแต่พื้นที่ในบริเวณที่ ๕ บริเวณที่ ๖ และบริเวณที่ ๗

บริเวณที่ ๒ หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตบริเวณที่ ๑เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๑๕๐ เมตร เว้นแต่พื้นที่ในบริเวณที่ ๕ บริเวณที่ ๖ และบริเวณที่ ๗

                  บริเวณที่ ๓ หมายความว่า พื้นที่ที่กำหนดให้เป็นศูนย์ราชการตามมติของคณะรัฐมนตรี และพื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตที่ ๒ เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๒๐๐ เมตร เว้นแต่พื้นที่ในบริเวณที่ ๕ บริเวณที่ ๖ และบริเวณที่ ๗

บริเวณที่ ๔ หมายความว่า พื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ตบางส่วนดังต่อไปนี้

(๑) เขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมหรือย่านอาคารเก่า

ด้านเหนือ จดเส้นขนานระยะ ๔๕ กับศูนย์กลางถนนดีบุก ถนนเทพกษัตรี ฟากตะวันออก ลำรางสาธารณะไม่ปรากฎชื่อ ฝั่งใต้ คลองบางใหญ่ ฝั่งตะวันออก และถนนดีบุกตัดใหม่ ฟากใต้

ด้านตะวันออก จดถนนมนตรี ฟากตะวันตก

                  ด้านใต้ จดถนนพังงา ฟากเหนือ คลองบางใหญ่ ฝั่งตะวันออกเส้นขนานระยะ ๔๕ เมตร กับศูนย์กลางถนนพังงา เส้นขนานระยะ ๔๕ เมตรกับศูนย์กลางถนนเยาวราช ถนนรัษฎา ฟากใต้ ถนนระนอง ฟากใต้ เส้นขนานระยะ๔๑๕ เมตร กับศูนย์กลางถนนเยาวราช และเส้นขนานระยะ ๔๕ เมตร กับศูนย์กลางถนนกระบี่

ด้านตะวันตก จดเส้นตั้งฉากกับถนนกระบี่ที่จุดบรรจบระหว่างถนนสตูล ฟากตะวันตก กับถนนกระบี่ ฟากใต้ และถนนสตูล ฟากตะวันตก

(๒) เขตหนาแน่นมาก

                  ด้านเหนือ จดถนนกระบี่ ฟากใต้ เส้นตั้งฉากกับถนนกระบี่ที่จุดบรรจบระหว่างถนนสตูล ฟากตะวันตก กับถนนกระบี่ ฟากใต้ เส้นขนานระยะ ๔๕เมตร กับศูนย์กลางถนนเยาวราช ถนนระนอง ฟากใต้ ถนนรัษฎา ฟากใต้ เส้นขนานระยะ ๔๕ เมตร กับศูนย์กลางถนนเยาวราช เส้นขนานระยะ ๔๕ เมตร กับศูนย์กลางถนนพังงา คลองบางใหญ่ ฝั่งตะวันออก ถนนพังงา ฟากเหนือ ถนนมนตรี ฟากตะวันตก ถนนหลวงพ่อ ฟากใต้

                ด้านตะวันออก จดถนนสุรินทร์ ฟากตะวันตก เส้นขนานระยะ ๑๐๐เมตร กับศูนย์กลางถนนพังงา เส้นตั้งฉากกับถนนพังงาที่จุดบรรจบระหว่างถนนพังงาฟากใต้กับถนนติลกอุทิศ ๒ ฟากตะวันตก ถนนติลกอุทิศ ๒ ฟากตะวันตก ถนนชนะเจริญ ฟากใต้ และวงเวียนสุรินทร์

ด้านใต้ จดถนนอ๋องซิมผ่าย ฟากเหนือ ถนนกระ ฟากเหนือ ถนนพูลผล ฟากเหนือ และถนนบางกอก ฟากเหนือ

ด้านตะวันตก จดถนนปฏิพัทธ์ ฟากตะวันออก

(๓) เขตหนาแน่นสูงมาก

ด้านเหนือ จดเส้นขนานระยะ ๑๐๐ เมตร กับศูนย์กลางถนนพังงา

ด้านตะวันออก จดถนนสุรินทร์ ฟากตะวันตก

ด้านใต้ จดถนนศรีเสนา ฟากเหนือ ถนนวีรพงษ์หงษ์หยก ฟากตะวันตก และถนนชนะเจริญ ฟากใต้

ด้านตะวันตก จดถนนติลกอุทิศ ๒ ฟากตะวันตก และเส้นตั้งฉากกับถนนพังงา ที่จุดบรรจบระหว่างถนนพังงา ฟากใต้ กับถนนติลกอุทิศ ๒ ฟากตะวันตก

                  บริเวณที่ ๕ หมายความว่า พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมตามกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และพื้นที่ที่มีรัศมีโดยรอบเป็นระยะ๑๐๐ เมตร นับจากเขตที่ดินของอาคารหรือสถานที่ ดังต่อไปนี้ เว้นแต่พื้นที่ในบริเวณที่ ๖ และบริเวณที่ ๗

(๑) แนวค่าย (โคกชนะพม่า)

(๒) บ้านพระยาวิชิตสงคราม

(๓) มัสยิดบ้านบางเทา

(๔) บ้านท้าวเทพกระษัตรี

(๕) วัดฉลอง

(๖) วัดท่าเรือ

(๗) วัดเทพกระษัตรี

(๘) วัดพระทอง

(๙) วัดพระนางสร้าง

(๑๐) สุเหร่าเกาะบ้านเคียน

(๑๑) กำแพงเมืองถลาง

(๑๒) ศาลหลักเมืองถลางป่าสัก

(๑๓) ศาลหลักเมืองถลางเมืองใหม่

บริเวณที่ ๖ หมายความว่า พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๔๐ เมตร ถึง ๘๐ เมตร

บริเวณที่ ๗ หมายความว่า พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า ๘๐ เมตรขึ้นไป

บริเวณที่ ๘ หมายความว่า พื้นที่อื่นนอกจากบริเวณที่ ๑ ถึงบริเวณที่ ๗

ข้อ ๖  ภายใต้บังคับข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ ในบริเวณพื้นที่ตามข้อ ๕การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

                  (๑) บริเวณที่ ๑ ให้มีเฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น เว้นแต่ในเขตตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ให้อาคารมีความสูงไม่เกิน ๕ เมตร และในเขตอุตสาหกรรมตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ให้มีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ของพื้นที่ดินที่ของอนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น

(๒) บริเวณที่ ๒ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตรและต้องมี

ก. ที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารที่พักอาศัย

ข. ที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ดินที่ของอนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารพาณิชย์หรืออาคารอื่น

                เว้นแต่กรณีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมของอาคารที่อยู่ในเขตตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ให้มีไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น

(๓) บริเวณที่ ๓ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๖ เมตรและต้องมี

ก. ที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารที่พักอาศัย

ข. ที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ดินที่ของอนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารพาณิชย์หรืออาคารอื่น

เว้นแต่กรณีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมของอาคารที่อยู่ในเขตงานก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นไปตามที่เทศบาลเมืองภูเก็ตกำหนด

(๔) บริเวณที่ ๔

                     ก. เขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมหรือย่านอาคารเก่า ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๖ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารที่ที่จัดให้มีช่องทางเดินหน้าอาคารทะลุถึงอาคารข้างเคียงตามลักษณะสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุเกส (จีนผสมโปรตุเกส) ทั้งนี้ ตามรูปแบบที่สภาท้องถิ่นกำหนด หรือต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับอาคารที่มิได้ลักษณะตามรูปแบบดังกล่าวข้างต้น

                     ข. เขตหนาแน่นมาก ให้มีได้เฉพาะที่มีอาคารสูงไม่เกิน ๔๕ เมตรและมีค่าสูงสุดของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นต่อพื้นที่ของอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างในที่ดินของอาคารทุกหลัง ที่ก่อสร้างในที่ดินแปลงเดียวกันไม่เกิน ๔ ต่อ ๑และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ของอนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น

                      ค. เขตหนาแน่นสูงมาก ให้มีได้เฉพาะที่มีอาคารสูงไม่เกิน ๖๐ เมตรและมีค่าสูงสุดของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นต่อพื้นที่ของอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างในที่ดินแปลงเดียวกันไม่เกิน ๕ ต่อ ๑ และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ของอนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น

                   (๕) บริเวณที่ ๕ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตรเว้นแต่สภาท้องถิ่นมีมติเป็นอย่างอื่น แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน ๑๒ เมตร นอกจากนี้ยังต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้นด้วย

                    (๖) บริเวณที่ ๖ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๘ เมตร และต้องมีที่ว่างที่ปลูกพืชคลุมดินไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น เว้นแต่ที่ที่มีความลาดชันเกิน ๑:๓ (V:H) ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใดๆ

                    (๗) บริเวณที่ ๗ ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใด ๆ

                    (๘) บริเวณที่ ๘ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๒๓ เมตรและต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตอาคารนั้น เว้นแต่อาคารและที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมของอาคารที่อยู่ในเขตงานก่อสร้างระบบกำจัดมูลฝอยแบบเตาเผาของเทศบาลเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นไปตามที่เทศบาลเมืองภูเก็ตกำหนด

                    การวัดความสูงของอาคารในบริเวณที่ ๑ ถึงบริเวณที่ ๙ และบริเวณที่๘  ให้สัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงส่วนที่สูงสุดของอาคาร เว้นแต่อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ ๒๓ เมตรขึ้นไป ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้า แต่หากเป็นอาคารสูงตั้งแต่ ๒๓ เมตรขึ้นไปที่เป็นอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยา ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงผนังของชั้นสูงสุด

ข้อ ๗. ในพื้นที่ตามข้อ ๑ ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจการอื่นดังต่อไปนี้

(๑) การทำเหมืองหิน

                    (๒) การขนส่งหรือลำเลียงวัตถุอันตรายโดยใช้ระบบท่อขนส่ง เว้นแต่ในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ และประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้าตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง

(๓) การถม ปิดกั้น หรือปรับพื้นที่ ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะตื้นเขินหรือเปลี่ยนทิศทาง

(๔) การขุด ถม หรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของพื้นที่พรุ

(๕) การถมทะเล

(๖) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว

(๗) การเก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง

(๘) การจับปลาสวยงาม

(๙) การครอบครองปลาสวยงามที่จับได้ภายในเขตพื้นที่ตามข้อ ๑

                  (๑๐) การขุดตักหรือลอกกรวด หินผุ ดิน ดินลูกรัง หรือทรายบก เพื่อการค้าบนพื้นที่ที่มีความสูงวัดจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกิน ๘๐ เมตร หรือมีความลาดชันเฉลี่ยเกิน ๑:๓ (V:H) หรือความลาดชันเฉลี่ยเกินร้อยละ ๓๕

(๑๑) การเพาะเลี้ยงกุ้งหรือการขุดบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการค้า

การกระทำหรือการประกอบกิจกรรมตามวรรคหนึ่งที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต

                 ข้อ ๘  ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างอาคารหรือดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการในพื้นที่ตามข้อ ๑ เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดในมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ดังต่อไปนี้

(๑) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการ ดังนี้ ให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

ก. โรงงานส่งหรือจำหน่ายพลังไฟฟ้า

ข. โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตไอน้ำเพื่อการจำหน่าย

ค. โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศที่มีจำนวนห้องตั้งแต่ ๑๐ ห้องถึง ๗๙ ห้อง

ง. อาคารที่อยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง

จ. สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ ๑๐ เตียง ถึง ๒๙ เตียง

                  ฉ. การขุดตักหรือลอกกรวด หินผุ ดิน ดินลูกรัง หรือทรายบกเพื่อการค้า ลึกลงไปจากระดับดินเดิมตั้งแต่ ๑.๕๐ เมตรขึ้นไป ในบริเวณพื้นที่ที่มีความลาดชันเฉลี่ยไม่เกิน ๑:๓ (V:H) หรือความลาดชันเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ ๓๕

(๒) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการดังนี้ ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ก. การก่อสร้างอาคารหรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการประเภทต่างๆ ใน (๑) ยกเว้น ฉ และที่มีขนาดเกินกว่าที่กำหนดใน (๑)

ข. อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

ค. โรงงานปรับปรุงคุณภาพของเสียรวมที่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้ตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป หรือมีปริมาณมูลฝอยตั้งแต่๕๐ ตันต่อวันขึ้นไป

ง. โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย

จ. การทำเหมือง

การดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารให้เป็นอาคารตามที่กำหนดไว้ใน (๑) และ (๒) ต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ ๙. ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคารหรือประกอบกิจการใด ๆ ในเขตพื้นที่ตามข้อ ๑ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

ข้อ ๑๐[๑]  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม๒๕๔๐ เป็นต้นไป

ประกาศ  ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐

ยิ่งพันธ์  มนะสิการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์

เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

[เอกสารแนบท้าย]

๑. บัญชี ๑ ท้ายประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ตพ.ศ.๒๕๔๐

๒. บัญชี ๒ ท้ายประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ตพ.ศ.๒๕๔๐

๓. แผนที่ท้ายประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ตพ.ศ.๒๕๔๐ มาตราส่วน ๑ ต่อ ๑๐๐,๐๐๐

๔. แผนที่ท้ายประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ตพ.ศ.๒๕๔๐ มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐,๐๐๐

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

นันทพล/ปรับปรุง

๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนพิเศษที่ ๘๘ง/หน้า ๑/๑ ตุลาคม ๒๕๔๐