พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ในท้องที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง และตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558

พระราชกฤษฎีกา

เปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร

ในท้องที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง และตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

พ.ศ. ๒๕๕๘

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

              โดยที่เป็นการสมควรเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ในท้องที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง และตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

              มาตรา ๑  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ในท้องที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง และตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘”

มาตรา ๒[๑]  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

              มาตรา ๓  ให้เปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งพลเมืองเลิกใช้ประโยชน์แล้ว ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ในท้องที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง และตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ ๑ งาน ๓๒ ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้

              มาตรา ๔  ให้เปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งพลเมืองยังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่ ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ในท้องที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓๙ ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้

              มาตรา ๕  การเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา ๔ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๘๙๗ โฉนดเลขที่ ๒๔๙๙๒ โฉนดเลขที่ ๒๖๐๖๐ โฉนดเลขที่ ๒๖๐๖๕ โฉนดเลขที่ ๒๖๒๐๔ และโฉนดเลขที่ ๓๒๓๐๒ ในท้องที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน ๒๗ ตารางวา ซึ่งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแทนแล้ว  ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา ๖  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

[เอกสารแนบท้าย]

                 ๑. แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ในท้องที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง และตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ในท้องที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง และตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งเป็นลำรางสาธารณประโยชน์โดยเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ ๑ งาน ๓๒ ตารางวา ปัจจุบันพลเมืองได้เลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว ส่วนเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓๙ ตารางวา พลเมืองยังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์เพื่อนำไปพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร สมควรเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันดังกล่าว เพื่อให้มีผลเป็นการถอนสภาพที่ดินนั้นจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งพลเมืองได้เลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความยินยอมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ชำระราคาที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังแล้ว ส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งพลเมืองยังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่ กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความยินยอมโดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดที่ดินแปลงอื่นให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทนแล้ว และโดยที่มาตรา ๓๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีประกาศตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง จัดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงนิคมอุตสาหกรรมและมีสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในเขตดังกล่าว ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้โดยระบุแปลงและจำนวนเนื้อที่ดินโดยประมาณที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ไว้ในพระราชกฤษฎีกา  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๑๗ กันยายน ๒๕๕๘

ปุณิกา/ผู้ตรวจ

๒ ตุลาคม ๒๕๕๘

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๘๗ ก/หน้า ๒๖/๙ กันยายน ๒๕๕๘