กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยการขออาชญาบัตร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐

กฎกระทรวง

ฉะบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๐)

ว่าด้วยการขออาชญาบัตร

ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๑]

                  

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑[๒]  ผู้ใดประสงค์จะขออาชญาบัตรเพื่อใช้เครื่องมือในพิกัดชนิดใดทำการประมงต้องยื่นเอกสารดังต่อไปนี้ต่อนายอำเภอท้องที่ คือ

(๑) คำขออาชญาบัตรตามแบบ (คำขอ ๑) ท้ายกฎกระทรวงนี้

(๒) อาชญาบัตรฉบับหลังที่สุดที่ผู้ขออาชญาบัตรได้รับสำหรับเครื่องมือในพิกัดชนิดนั้น (ถ้ามี)

(๓) สำเนาใบอนุญาตใช้เรือและสำเนาใบทะเบียนเรือไทยของกรมเจ้าท่า ในกรณีที่จะต้องใช้เรือเป็นเครื่องมือทำการประมง

                  (๔) หลักฐานแสดงว่านิติบุคคลที่ขออาชญาบัตรมีวัตถุประสงค์ในการทำการประมงและหลักฐานแสดงว่าผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรมีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออาชญาบัตร

                    ในกรณีที่ผู้ขออาชญาบัตรตามวรรคหนึ่งประสงค์จะให้บุคคลในครอบครัวหรือลูกจ้างมีสิทธิใช้เครื่องมือในพิกัดนั้น ให้ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลหรือลูกจ้างนั้นไว้ในคำขออาชญาบัตรด้วย

                     ข้อ ๒.  ในการยื่นคำขอตามข้อ ๑ นั้น ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สงสัยอาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตนำเครื่องมือนั้นมาให้ตรวจก็ได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้นตรวจวัดแทนและรับรองก็ได้

                      ข้อ ๓.  เมื่อได้รับคำขอตามความในข้อ ๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอ เมื่อเห็นว่าเป็นการถูกต้องและสมควรจะอนุญาตได้ตามกฎเกณฑ์ในระเบียบวิธีการอนุญาตที่กำหนดไว้ ก็ให้เรียกเก็บเงินอากรตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และออกอาชญาบัตรให้แก่ผู้ขอ

                     ข้อ ๔.  ใบอาชญาบัตรทุกฉบับต้องให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาต และให้ใช้แบบอาชญาบัตร (อนุญาต ๑) ท้ายกฎกระทรวงนี้

                     ข้อ ๕.  ถ้าผู้รับอนุญาตใดประสงค์จะขอสลักหลังอาชญาบัตรเพื่อตัดทอนหรือเพิ่มบุคคลในครอบครัวหรือลูกจ้างของตนให้เป็นผู้มีสิทธิ์ใช้เครื่องมือในพิกัดก็ให้ยื่นรายชื่อบุคคลที่จะตัดทอนหรือเพิ่มต่อคณะกรมการอำเภอท้องที่พร้อมด้วยอาชญาบัตร และผู้รับอนุญาตจะต้องเสียค่าธรรมเนียมค่าสลักหลังตามกฎกระทรวง และให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาตในการสลักหลัง

                     ข้อ ๖.  ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดนำเครื่องมือในพิกัดนั้นไปใช้ทำการประมงในท้องที่อื่นซึ่งเก็บอากรสูงกว่าที่ตนได้ชำระไว้แล้ว ก็ให้ผู้รับอนุญาตนั้นนำอาชญาบัตรไปเสียอากรเพิ่มเติมต่อคณะกรมการอำเภอที่ตนนำเครื่องมือในพิกัดไปใช้ทำการประมง ต่อเมื่อได้ชำระเงินอากรเพิ่มเติมและนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี ได้สลักหลังอาชญาบัตรว่าได้เสียเงินอากรเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงแล้ว จึงจะใช้เครื่องมือนั้นทำการประมงได้

                     ข้อ ๗.  ถ้าอาชญาบัตรที่ออกให้ตามกฎกระทรวงนี้สูญหายหรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญ ผู้รับอนุญาตมีสิทธิ์ยื่นคำขอนั้น ๆ รับใบแทนอาชญาบัตรตามแบบพิมพ์ (คำขอ ๒) ท้ายกฎกระทรวงนี้ ต่อคณะกรรมการอำเภอท้องที่และให้ส่งอาชญาบัตรที่ชำรุดไปด้วย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอและได้สอบสวนพิจารณาเห็นสมควรออกใบแทนให้ก็ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการออกใบแทนตามกฎกระทรวง และออกใบแทนอาชญาบัตรอันมีข้อความอย่างเดียวกับอาชญาบัตรที่สูญหายหรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญให้แก่ผู้รับอนุญาตแต่ให้เขียนคำว่า “ใบแทน” ด้วยหมึกสีแดงไว้ตอนบน

ใบแทนอาชญาบัตรทุกฉบับต้องให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี ในท้องที่เดียวกัน เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาตในแบแทน

                   ข้อ ๘.  ถ้าผู้รับอนุญาตประสงค์จะโอนอาชญาบัตรของตนให้แก่ผู้อื่น ให้ยื่นเรื่องราวชี้แจงเหตุผลพร้อมด้วยอาชญาบัตรต่อคณะกรมการอำเภอท้องที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องราวและได้พิจารณาเห็นว่าถูกต้องตามกฎเกณฑ์การโอนตามที่กำหนดไว้ ก็ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี สลักหลังการโอนและชื่อผู้รับโอนไว้ในอาชญาบัตรนั้นและมอบอาชญาบัตรให้แก่ผู้รับโอนต่อไป

                    ข้อ ๙.  ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดได้รับการผ่อนเวลาชำระเงินอากรค่าอาชญาบัตรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตตามแบบพิมพ์ (อนุญาต ๒) ท้ายกฎกระทรวงนี้ให้แก่ผู้รับอนุญาตแทนอาชญาบัตร และให้ผู้รับอนุญาตมีสิทธิ์ใช้เครื่องมือนั้นทำการประมงได้ ตามเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตระหว่างผ่อนเวลาชำระเงินอากร

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐

จรูญ  สืบแสง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ

[เอกสารแนบท้าย]

๑.[๓] คำขออาชญาบัตร (คำขอ ๑)

๒.[๔] อาชญาบัตร (อนุญาต ๑)

๓. คำขอใบแทนประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร (คำขอ ๒)

๔. ใบอนุญาตระหว่างผ่อนเวลาชำระเงินอากรตามมาตรา ๓๙ (อนุญาต ๒)

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๕]

จุฑามาศ/ปรับปรุง

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘

  • [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๑๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖/๑๔ เมษายน ๒๔๙๐
  • [๒] ข้อ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐
  • [๓] คำขออาชญาบัตร (คำขอ ๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐
  • [๔] อาชญาบัตร (อนุญาต ๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐
  • [๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๑๑๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖/๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๒