พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2527

พระราชบัญญัติ

ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๗)

พ.ศ. ๒๕๒๗

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

เป็นปีที่ ๓๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๗”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๘ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๐๘  นายอำเภอมีอำนาจฝ่ายตุลาการ ในทางความแพ่งดังต่อไปนี้ คือ

                (๑) ความแพ่งที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท ซึ่งมูลคดีเกิดขึ้นในอำเภอนั้น หรือผู้ถูกร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอนั้น ถ้าผู้ร้องมาร้องขอต่อนายอำเภอ ให้เรียกผู้ถูกร้องมาไกล่เกลี่ยและเปรียบเทียบให้แล้วต่อกัน โดยไม่ต้องไปยื่นฟ้องต่อศาล ก็ให้นายอำเภอมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ถูกร้องมาไกล่เกลี่ยและเปรียบเทียบได้

(๒) ถ้านายอำเภอเปรียบเทียบแล้ว แต่คู่กรณีไม่ตกลงกัน ก็ให้ยกเลิกคดีเรื่องนั้น ให้คู่กรณีไปยื่นฟ้องต่อศาล

                  (๓) ในการเปรียบเทียบความแพ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าคู่กรณีสัญญาจะยอมตกลงตามคำพยานหรือคำชี้ขาดของผู้ใด ให้นายอำเภอมีอำนาจออกหมายเรียกผู้นั้นมาให้ถ้อยคำหรือชี้ขาดให้คดีเรื่องนั้นเป็นอันระงับไปได้

                   (๔) ในการเปรียบเทียบความแพ่งนี้ ถ้าคู่กรณีตกลงยอมกันแล้วให้นายอำเภอจดข้อความที่ตกลงกัน และให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายกับนายอำเภอลงลายมือชื่อในใบยอมนั้น แล้วมอบให้ทั้งสองฝ่ายถือไว้ฝ่ายละฉบับ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามยอม ให้อีกฝ่ายหนึ่งนำใบยอมนั้นไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาตามยอมได้

(๕) คดีที่นายอำเภอเปรียบเทียบคู่กรณียอมกันแล้ว ให้ถือว่าเหมือนคดีที่อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดเป็นเด็ดขาด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเอาคดีนั้นกลับไปรื้อร้องฟ้องอีกไม่ได้

                   (๖) ในการเปรียบเทียบความแพ่ง ให้เรียกค่าธรรมเนียมดังนี้ ค่าหมายและค่าเขียนคำร้องรวมกันห้าบาท ค่าทำใบยอมสิบบาท ค่าธรรมเนียมนี้ควรเรียกเก็บจากฝ่ายที่ต้องรับผิด แต่ถ้าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินยอมจะช่วยกันเสียก็ให้เรียกเก็บตามยอม หากผู้จะต้องเสียค่าธรรมเนียมยากจนไม่มีเงินจะเสีย ก็ให้นายอำเภอใช้ดุลพินิจที่จะงดเก็บค่าธรรมเนียมเช่นว่านั้นได้”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ป.  ติณสูลานนท์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ได้กำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในการเปรียบเทียบความแพ่ง ค่าธรรมเนียมหมายเรียกและคำร้องรวมกัน และค่าธรรมเนียมทำใบยอมไว้ในอัตราที่ยังไม่เหมาะสมกับค่าของเงินตราและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์และอัตราค่าธรรมเนียมเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สุกัญญา/ผู้จัดทำ

๗ ธันวาคม ๒๕๕๓

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๑๑๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๗