พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2489

พระราชบัญญัติ

ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๓)

พ.ศ. ๒๔๘๙

                  

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร

พระยามานวราชเสวี

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่เสียใหม่

พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาจึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๙”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑,๑๒,๑๓,๑๔,๑๖ และ ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๑  ให้กรมการอำเภอประชุมราษฎรซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เลือกราษฎร ผู้มีคุณสมบัติที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

(๑) มีสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะแล้ว

(๒) ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรตหรือนักบวช

(๓) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๔) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำในหมู่บ้านนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือน

มาตรา ๑๒  ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) เป็นชายเจ้าบ้านมีสัญชาติไทย

(๒) บรรลุนิติภาวะแล้ว และมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์

(๓) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำในหมู่บ้านนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน

(๔) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ

(๕) ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรตหรือนักบวช

(๖) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพหรือวิกลจริต หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือติดยาเสพติดให้โทษหรือไม่เป็นโรคตามที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้กำหนด

(๗) ไม่เป็นข้าราชการประจำการ หรือพนักงานเทศบาล หรือครูประชาบาลหรือสารวัตรศึกษา

(๘) ไม่เป็นผู้มีชื่อเสียงในทางทุจริต หรือเสื่อมเสียในทางศีลธรรม

                  (๙) ไม่เป็นผู้เคยถูกไล่ออกหรือปลดออกฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เทศบาลหรือประชาบาล หรือต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่คดีลหุโทษหรือคดีความผิดอันได้กระทำโดยประมาท และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันถูกไล่ออก ปลดออกหรือพ้นโทษ

(๑๐) มีความรู้หนังสือไทยอ่านออกเขียนได้ เว้นแต่ท้องที่ซึ่งไม่อาจเลือกผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวในข้อนี้ และกระทรวงมหาดไทยอนุญาต

มาตรา ๑๓  การเลือกนั้นให้กรมการอำเภอเป็นประธานพร้อมด้วยกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นอย่างน้อยหนึ่งคน

วิธีเลือกจะกระทำโดยลับหรือโดยเปิดเผยก็ได้

เมื่อราษฎรส่วนมากที่มาประชุมเลือกผู้ใดแล้ว ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วให้กรมการอำเภอรายงานไปยังข้าหลวงประจำจังหวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน

ในกรณีที่ผู้รับเลือกมีคะแนนเสียงเท่ากันให้จับสลาก

มาตรา ๑๔  ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ เว้นแต่เรื่องอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ตาม (๒) ไม่เป็นเหตุต้องออกจากตำแหน่ง

(๒) ตาย

(๓) ได้รับอนุญาตให้ลาออก

(๔) หมู่บ้านที่ปกครองถูกยุบ

(๕) ไปเสียจากหมู่บ้านที่ตนปกครองเกินสามเดือน

(๖) ต้องรับอาญาจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ในความผิดฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้ทำขึ้นโดยประมาท

(๗) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านนั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนร้องขอให้ออกจากตำแหน่ง

(๘) ข้าหลวงประจำจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่งเมื่อได้สอบสวนเห็นว่าบกพร่องในทางความประพฤติ หรือความสามารถไม่พอกับตำแหน่ง

มาตรา ๑๖  ผู้มีสิทธิจะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ต้องมีคุณสมบัติดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒

มาตรา ๑๗  เมื่อผู้ใดได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ให้กำนันรายงานไปยังกรมการอำเภอเพื่อออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน”

                  มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๓๐  ให้กรมการอำเภอเป็นประธานประชุมผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นเลือกผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในตำบลนั้นขึ้นเป็นกำนัน เมื่อผู้ใหญ่บ้านส่วนมากที่มาประชุมเลือกผู้ใดแล้ว ถือว่าผู้นั้นเป็นกำนัน ให้กรมการอำเภอรายงานไปยังข้าหลวงประจำจังหวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน

ในกรณีที่ผู้รับเลือกมีคะแนนเสียงเท่ากันให้จับสลาก วิธีเลือกจะกระทำโดยลับหรือเปิดเผยก็ได้”

บทเฉพาะกาล

                  

มาตรา ๕  กำนันผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป

มาตรา ๖  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเรือตรี ถ.  ธำรงนาวาสวัสดิ์

นายกรัฐมนตรี

สุกัญญา/ผู้จัดทำ

๗ ธันวาคม ๒๕๕๓

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๓/ตอนที่ ๘๓/หน้า ๘๑๖/๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๙