พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2510

พระราชบัญญัติ

การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐)

พ.ศ. ๒๕๑๐

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

เป็นปีที่ ๒๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                 มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๘  ในพระราชบัญญัตินี้แห่งใดมีบัญญัติว่าด้วยการออกอนุญาตอย่างใด ๆ ตามซึ่งเจ้าท่าเห็นจำเป็นจะต้องออกเป็นหนังสือ ให้เจ้าท่ามีอำนาจเรียกค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตเช่นนั้นตามอัตราที่กำหนดโดยกฎกระทรวงแต่ไม่เกิน หนึ่งร้อยบาท”

 

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความซึ่งเป็นชื่อของหมวดที่ ๑ ในภาคที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

“หมวดที่ ๑

ทางเดินเรือ เขตท่าเรือ และเขตจอดเรือ”

                  

 

                 มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๙๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๒  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดแนวแม่น้ำลำคลองหรือทะเลอาณาเขตแห่งใดเป็นเขตท่าเรือและเขตจอดเรือ

(๒) กำหนดทางเดินเรือทั่วไปและทางเดินเรือในเขตท่าเรือนอกจากทางเดินเรือในเขตท่าเรือกรุงเทพ ฯ”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

                 มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๙๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๓๘  เรือกำปั่นทุกลำที่บรรทุกคนโดยสารหรือของจากเมืองท่าหรือตำบลใด ๆ ในต่างประเทศเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเรือใด ๆ ที่เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยขนถ่ายคนโดยสารหรือของจากเรือกำปั่นที่มาจากต่างประเทศ เมื่อผ่านด่านสมุทรปราการแล้ว ถ้าจะส่งคนโดยสารหรือของที่บรรทุกมานั้นขึ้นบก ต้องจอด ณ ที่จอดเรือ หรือเทียบท่าเทียบเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เว้นไว้แต่เมื่อที่จอดเรือหรือท่าเทียบเรือไม่ว่างพอจะจอดหรือเทียบได้ หรือเพราะเหตุจำเป็นอย่างอื่น ซึ่งถ้าตรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดไว้ และอธิบดีกรมเจ้าท่าลงนามอนุญาตแล้ว จึงจะเข้าจอดหรือเทียบในที่ที่ได้รับอนุญาตได้

                 คณะกรรมการดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้มีจำนวนห้าคน ประกอบด้วยอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมศุลกากรและผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และบุคคลอื่นอีกสองคน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้ง”

 

                  มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๘ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๙๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๘ จัตวา  นายเรือลำใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๓๘ ตรี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”

 

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๑๔๓  การออกใบอนุญาต หรือการออกใบอนุญาตใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุ สำหรับเรือที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ ๓ หมวดที่ ๔ และหมวดที่ ๕ ในภาคที่ ๒ ให้เรียกค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินฉบับละสองพันบาท

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจกำหนดเรือที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในวรรคหนึ่งไว้ในกฎกระทรวง”

 

                 มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๙  การออกสำเนาใบอนุญาต ให้เรียกค่าธรรมเนียมกึ่งอัตราค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาต แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยบาท”

มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๔  เจ้าของเรือกำปั่นลำใดจะเปลี่ยนชื่อเรือที่จดทะเบียนไว้แล้ว ต้องนำชื่อใหม่ไปจดทะเบียนทันที และเสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนครั้งละห้าสิบบาท”

 

                 มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกมาตรา ๑๗๔ มาตรา ๑๘๐ และมาตรา ๑๘๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๐

มาตรา ๑๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๗๕ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๑๗๕  ผู้ใดนำเรือยนต์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้สำหรับความสำราญหรือการกีฬาไปใช้สำหรับการค้าขาย การรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร การรับจ้างบรรทุกสินค้าหรือสิ่งของหรือการรับจ้างจูงเรือ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท”

                 มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๕  ในการพิจารณาออกใบอนุญาตสำหรับเรือกลไฟและเรือยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือนั้น ถ้าเป็นเรือเดินประจำทาง เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานซึ่งได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อทำการจดทะเบียนมีอำนาจที่จะ

(๑) กำหนดข้อห้ามและเงื่อนไขเกี่ยวกับเขตหรือทางที่จะใช้เรือนั้นเดิน

(๒) กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวน ขนาด ชนิดและกำลังเครื่องจักรของเรือที่จะใช้เดินจากตำบลหนึ่งถึงตำบลหนึ่งตลอดจนถึงการสับเปลี่ยนเรือใช้แทนกันชั่วคราวด้วย

(๓) กำหนดท่าเรือต้นทางและปลายทาง

                 (๔) สั่งงดอนุญาตเรือลำใด ๆ หรือของเจ้าของใด ๆ มิให้เดินประจำทางที่เห็นว่ามีเรืออื่นเดินอยู่เพียงพอแล้ว หรือเมื่อเห็นว่าถ้าให้อนุญาตจะมีการแข่งขันกันจนจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียความปลอดภัยของประชาชน

                    (๕) ตั้งคณะกรรมการขึ้นโดยความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นครั้งคราว เพื่อกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าจูงเรือ ค่าบริการอื่น จำนวนเรือที่จะใช้เดิน เวลาออกเรือ และเวลาเรือถึงท่าเรือปลายทาง คณะกรรมการนั้นให้รวมทั้งเจ้าของเรือหรือผู้แทนด้วย

                 ถ้าไม่ใช่เรือเดินประจำทาง เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานซึ่งได้แต่งตั้งขึ้น มีอำนาจที่จะห้ามหรือจำกัดมิให้เดินเรือรับจ้างในเขตใด ๆ ในเมื่อเห็นว่าการเดินเรือรับจ้างในเขตนั้นจะเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน”

 

มาตรา ๑๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัตการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๗  เรือกลไฟและเรือยนต์ที่รับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือลำใด ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ได้กำหนดขึ้นตามมาตรา ๕ เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะสั่งงดการเดินเรือของเรือนั้น ๆ เสียชั่วคราว หรือจะสั่งยึดใบอนุญาตสำหรับเรือนั้นไว้มีกำหนดไม่เกินหกเดือนก็ได้

                 เจ้าของเรือหรือเจ้าของกิจการเดินเรือที่ถูกสั่งงดการเดินเรือหรือถูกยึดใบอนุญาต ตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งงดหรือยึดนั้นมีผลบังคับได้

                 เรือใดที่ถูกสั่งงดการเดินเรือหรือถูกยึดใบอนุญาตแล้วยังขืนเดิน หรือเรือใดกระทำการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้าหรือจูงเรือเป็นการประจำทางโดยมิได้รับใบอนุญาต ผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือหรือเจ้าของกิจการเดินเรือมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท”

 

มาตรา ๑๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๑๓  ความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียวไม่เกินสองพันบาท และที่เกิดขึ้นในท้องที่ซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าท่า ให้เจ้าท่ามีอำนาจเปรียบเทียบได้เมื่อเจ้าทุกข์และผู้เสียหายยินยอมและผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบนั้นแล้ว ให้คดีเสร็จเด็ดขาดเพียงนั้น”

 

                  มาตรา ๑๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๖  การรับใบอนุญาตตามมาตรา ๕ ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๑๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐”

 

มาตรา ๑๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙  ผู้ใดใช้เรือที่มิได้รับใบอนุญาตอันถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท”

 

                 มาตรา ๑๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๐  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมอันเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย

กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”

 

มาตรา ๒๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๓  ค่าธรรมเนียมตรวจเรือซึ่งจะต้องเสียตามมาตรา ๑๖๕ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ นั้นเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นสมควรผ่อนผันลดอัตราก็ดี หรือจะงดเว้นไม่เก็บก็ดี สำหรับเรือชนิดใด เพื่อใช้ในท้องที่ใด เป็นกำหนดเวลาเท่าใด ก็ให้ทำได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ถนอม  กิตติขจร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยในส่วนที่เกี่ยวกับ ทางเดินเรือ เขตท่าเรือ เขตจอดเรือ ค่าปรับและค่าธรรมเนียมที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน  จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว

วศิน/แก้ไข

๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๔/ตอนที่ ๓๐/หน้า ๑๕๘/๔ เมษายน ๒๕๑๐