พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518

พระราชบัญญัติ

ป่าไม้ (ฉบับที่ ๕)

พ.ศ. ๒๕๑๘

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘

เป็นปีที่ ๓๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความใน (๒) ของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “(๒) “ไม้” หมายความว่า ไม้สักและไม้อื่นทุกชนิดที่เป็นต้น เป็นกอ เป็นเถา รวมตลอดถึงไม้ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ไม้ไผ่ทุกชนิด ปาล์ม หวาย ตลอดจนราก ปุ่ม ตอ เศษ ปลาย และกิ่งของสิ่งนั้น ๆ ไม่ว่าจะถูกตัด ทอน เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำโดยประการอื่นใด”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความใน (๕) ของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “(๕) “ทำไม้” หมายความว่า ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลากไม้ในป่า หรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใด ๆ และหมายความรวมถึงการกระทำดังกล่าวกับไม้สักหรือไม้ยางที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มิใช่ป่า หรือการนำไม้สักหรือไม้ยางออกจากที่ดินที่ไม้นั้น ๆ ขึ้นอยู่ด้วย”

มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความใน (๗) ของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๗) “ของป่า” หมายความว่า บรรดาของที่เกิดหรือมีขึ้นในป่าตามธรรมชาติ คือ

ก. ไม้ รวมทั้งส่วนต่าง ๆ ของไม้ ถ่านไม้ น้ำมันไม้ ยางไม้ ตลอดจนสิ่งอื่น ๆ ที่เกิดจากไม้

ข. พืชต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งอื่น ๆ ที่เกิดจากพืชนั้น

ค. รังนก ครั่ง รวงผึ้ง น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง และมูลค้างคาว

ง. หินที่ไม่ใช่แร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่

และหมายความรวมถึงถ่านไม้ที่บุคคลทำขึ้นด้วย”

               มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความใน (๑๑) ของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๑๑) “ขนาดจำกัด” หมายความว่า ขนาดของต้นไม้ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗  ไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้ชนิดอื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

                   การเพิ่มเติมหรือเพิกถอนชนิดไม้ หรือเปลี่ยนแปลงประเภทไม้หวงห้ามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้แล้วก็ดี หรือจะกำหนดไม้ชนิดใดเป็นไม้หวงห้ามประเภทใดขึ้นในท้องที่ใด นอกจากท้องที่ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดตามความในมาตราก่อนแล้วนั้นก็ดี ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

พระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ใช้บังคับได้เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙  รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดอัตราค่าภาคหลวงโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังต่อไปนี้

(๑) สำหรับไม้หวงห้ามประเภท ก. เฉพาะไม้สัก หรือไม้หวงห้ามประเภท ข.ให้กำหนดตามชนิด ขนาด และปริมาตรของไม้ ไม่เกินลูกบาศก์เมตรละสองร้อยบาท

(๒) สำหรับไม้หวงห้ามอื่น ให้กำหนดตามชนิดและปริมาตรของไม้ ไม่เกินลูกบาศก์เมตรละแปดสิบบาท

                  (๓) สำหรับไม้หวงห้ามที่ทำเป็นไม้ฟืนหรือไม้เผาถ่าน ให้กำหนดได้ไม่เกินลูกบาศก์เมตรละห้าบาท ถ้าได้เผาเป็นถ่านแล้ว อัตราค่าภาคหลวงให้เป็นสองเท่าของอัตราค่าภาคหลวงของไม้หวงห้ามที่ทำเป็นไม้ฟืนหรือไม้เผาถ่าน

                  (๔) สำหรับไม้หวงห้ามหรือถ่านที่เผาจากไม้หวงห้ามที่นิยมซื้อขายกันตามมาตรฐานอื่นนอกจากเป็นลูกบาศก์เมตร จะกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแตกต่างจากที่บัญญัติไว้ใน (๑) (๒) หรือ (๓) ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของราคาตลาดในราชอาณาจักร โดยเฉลี่ยจากราคาของไม้หวงห้ามหรือของถ่านที่เผาจากไม้หวงห้าม แล้วแต่กรณี”

มาตรา ๑๐  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

“มาตรา ๙ ทวิ  ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควร รัฐมนตรีจะลดหรือยกเว้นค่าภาคหลวงให้บุคคลซึ่งประสบภัยพิบัติสาธารณะตามความจำเป็นเฉพาะรายก็ได้”

มาตรา ๑๑  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

                 “มาตรา ๑๑ ทวิ  ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๑ หรือผู้รับสัมปทานประสงค์จะนำเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่ตนมิได้เป็นเจ้าของเข้าไปในเขตป่าที่ได้รับอนุญาตหรือในเขตสัมปทาน ผู้รับอนุญาตหรือผู้รับสัมปทานดังกล่าวต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด

                  บรรดาทรัพย์สินดังกล่าวในวรรคหนึ่งที่ผู้รับอนุญาตหรือผู้รับสัมปทาน นำเข้าไปในเขตป่าที่ได้รับอนุญาต หรือในเขตสัมปทาน โดยมิได้แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบตามวรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของผู้รับอนุญาตหรือผู้รับสัมปทาน”

มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๓  ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตทำไม้ที่มีขนาดต่ำกว่าขนาดจำกัด แต่ถ้ามีเหตุภัยพิบัติสาธารณะ หรือมีเหตุจำเป็นที่เห็นสมควรช่วยเหลือราษฎรเป็นกรณีพิเศษ รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ผู้รับอนุญาตเฉพาะราย ทำไม้ที่มีขนาดต่ำกว่าขนาดจำกัดเป็นการชั่วคราวก็ได้

                   การทำไม้ที่มีขนาดต่ำกว่าขนาดจำกัดตามที่รัฐมนตรีอนุญาตให้ทำได้ ตามความในวรรคหนึ่ง ผู้รับอนุญาตจะทำไม้ได้ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับตราอนุญาตไว้ที่ไม้นั้น ๆ แล้ว  ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถประทับตราได้ และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องประทับตรา”

มาตรา ๑๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

              “มาตรา ๑๔ ทวิ  บทบัญญัติมาตรา ๑๔ มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับอนุญาตทำไม้สักที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มีโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อใช้สอยส่วนตัว และมิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับอนุญาตทำไม้ยางที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มี น.ส. ๓ หรือโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อใช้สอยส่วนตัว”

มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๑๘  เมื่อมีเหตุภัยพิบัติสาธารณะหรือมีเหตุจำเป็นที่เห็นสมควรช่วยเหลือราษฎรเป็นกรณีพิเศษ รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ผู้ใดเฉพาะรายทำไม้หวงห้ามแตกต่างจากข้อกำหนดในกฎกระทรวง หรือข้อกำหนดในการอนุญาตเป็นการชั่วคราวก็ได้”

                มาตรา ๑๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ ของหมวด ๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ แทนส่วนที่ ๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ ของหมวด ๑ ซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔

“ส่วนที่ ๔

ไม้ที่มิใช่ไม้หวงห้าม

                  

มาตรา ๒๕  ผู้ใดนำไม้ที่มิใช่ไม้หวงห้ามเข้าเขตด่านป่าไม้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่นำไปเพื่อใช้สอยส่วนตัวภายในเขตท้องที่จังหวัดที่ทำไม้นั้น

การนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้หลายด่าน ให้เสียค่าธรรมเนียมเพียงด่านแรกด่านเดียว

                  มาตรา ๒๖  รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๒๕ ไม่เกินลูกบาศก์เมตรละสี่สิบบาท แต่ถ้าเป็นไม้ที่นิยมซื้อขายกันตามมาตรฐานอื่นนอกจากเป็นลูกบาศก์เมตร จะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับไม้นั้นแตกต่างจากที่บัญญัติไว้นี้ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของราคาตลาดในท้องที่ โดยเฉลี่ยจากราคาของไม้นั้น”

มาตรา ๑๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๐  รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดอัตราค่าภาคหลวงไม่เกินร้อยละสิบของราคาตลาดในราชอาณาจักร โดยเฉลี่ยจากราคาของของป่าหวงห้ามนั้น”

มาตรา ๑๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๓๓  เมื่อมีเหตุภัยพิบัติสาธารณะหรือมีเหตุจำเป็นที่เห็นสมควรช่วยเหลือราษฎรเป็นกรณีพิเศษ รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ผู้ใดเฉพาะรายเก็บหาของป่าหวงห้าม แตกต่างจากข้อกำหนดในกฎกระทรวง หรือข้อกำหนดในการอนุญาตเป็นการชั่วคราวก็ได้”

มาตรา ๑๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๘  บทบัญญัติในส่วนนี้ให้ใช้บังคับแก่กรณีการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่

(๑) นำไม้หรือของป่าที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำหรือเก็บออกจากสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ไปถึงสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตแล้ว

(๒) นำไม้ที่ทำโดยไม่ต้องรับอนุญาตออกไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้ว

(๓) นำไม้หรือของป่าเข้ามาในราชอาณาจักร ไปถึงด่านศุลกากรหรือด่านตรวจศุลกากรที่นำเข้ามาแล้ว

(๔) นำไม้หรือของป่าที่รับซื้อจากทางราชการป่าไม้ ไปจากที่ที่ไม้หรือของป่านั้นอยู่”

                  มาตรา ๑๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๖ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๔๘  ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ห้ามมิให้ผู้ใดแปรรูปไม้ ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ตั้งโรงค้าไม้แปรรูป มีไม้สักแปรรูปไม่ว่าจำนวนเท่าใดไว้ในครอบครอง หรือมีไม้แปรรูปชนิดอื่นเป็นจำนวนเกิน ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและในการอนุญาต

               เพื่อประโยชน์แห่งความในวรรคหนึ่ง ไม้ซุงหรือไม้ท่อนที่จมอยู่ในแม่น้ำลำคลอง ในรัศมีห้าสิบเมตรของบริเวณที่ทำการแปรรูปไม้ และไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ ให้สันนิษฐานว่าเป็นไม้ที่อยู่ในความครอบครองของผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ที่มีโรงงานอยู่ในบริเวณนั้น

ความในวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการกระทำแก่ไม้ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย”

มาตรา ๒๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๑  ผู้รับอนุญาตตามความในหมวดนี้ จะมีไม้ไว้ในครอบครองในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตของตนได้แต่เฉพาะไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ไม้ที่ได้ชำระค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าเสร็จสิ้นแล้ว หรือถ้าเป็นไม้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการแปรรูปได้ก่อนชำระค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า โดยมีหนังสืออนุญาตของอธิบดีกรมป่าไม้ และมีรอยตราอนุญาตประทับไว้แล้ว

(๒) ไม้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำโดยไม่ต้องเสียค่าภาคหลวง และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับตราแสดงว่าเป็นไม้ที่ทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงไว้แล้ว

(๓) ไม้ที่ได้รับซื้อจากทางราชการป่าไม้ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับตรารัฐบาลขายไว้แล้ว

(๔) ไม้แปรรูปของผู้รับอนุญาตตามความในหมวดนี้ และมีหนังสือกำกับไม้แปรรูปของผู้รับอนุญาต หรือใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไว้เป็นหลักฐาน

(๕) ไม้ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร และมีใบเบิกทางตามมาตรา ๓๘ (๓) กำกับ”

มาตรา ๒๑  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๓ ทวิ มาตรา ๕๓ ตรี และมาตรา ๕๓ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

“มาตรา ๕๓ ทวิ  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดท้องที่เป็นเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                   ในการกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีกำหนดชนิดไม้ ขนาดหรือปริมาณของสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามซึ่งผู้ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า ที่จะต้องขออนุญาตตามมาตรา ๕๓ ตรี หรือมาตรา ๕๓ จัตวา

                    มาตรา ๕๓ ตรี  ภายในเขตควบคุม ห้ามมิให้ผู้ใดค้า หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามที่มีชนิดไม้ ขนาดหรือปริมาณเกินกว่าที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๕๓ ทวิ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

                   มาตรา ๕๓ จัตวา  ในกรณีที่มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดเขตท้องที่ใดเป็นเขตควบคุมตามมาตรา ๕๓ ทวิ ให้ผู้ค้าหรือผู้มีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม ที่มีชนิดไม้ ขนาดหรือปริมาณเกินกว่าชนิดไม้ ขนาดหรือปริมาณที่ควบคุมอยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศของรัฐมนตรีดังกล่าวใช้บังคับ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศของรัฐมนตรีดังกล่าวใช้บังคับ

                   เมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้บุคคลดังกล่าวค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามได้ต่อไปจนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตตามคำขอ”

มาตรา ๒๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                    “มาตรา ๕๔  ห้ามมิให้ผู้ใด ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรม และรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือโดยได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา ๒๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๕๘  การขออนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกรณีเฉพาะเรื่อง ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควร จะกำหนดให้ผู้รับอนุญาตปฏิบัติเพิ่มเติมประการใดอีกก็ได้

พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งต่ออายุใบอนุญาตที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ได้เมื่อเห็นสมควร”

มาตรา ๒๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

                 “มาตรา ๕๘ ทวิ  ในกรณีการทำไม้หวงห้าม หรือเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยการให้สัมปทาน การอนุญาตให้ผูกขาด หรือการอนุญาตทำไม้หวงห้ามเพื่อการค้าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือป่าที่ได้เตรียมการกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่ได้กำหนดโครงการทำไม้หรือเก็บหาของป่าไว้แล้ว หรือการอนุญาตตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๕๔ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนด

(๑) ให้ผู้รับสัมปทานหรือผู้รับอนุญาต ทำการบำรุงป่า หรือปลูกสร้างสวนป่าตามคำสั่งและวิธีการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด หรือ

(๒) ให้ผู้รับสัมปทานหรือผู้รับอนุญาตออกค่าใช้จ่ายเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการบำรุงป่า หรือปลูกสร้างสวนป่าให้แทน

ในกรณีตาม (๒) ให้คิดค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินหกเท่าของค่าภาคหลวง หรือตามอัตราพื้นที่ป่าที่ได้รับสัมปทานหรือรับอนุญาต ไม่เกินไร่ละหนึ่งพันสองร้อยบาท  ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีเห็นสมควร”

มาตรา ๒๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๑ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

“มาตรา ๖๑ ทวิ  คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตรับทราบ

                   ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจให้ผู้ถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตรับทราบคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ปิดคำสั่งในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ทำการตามใบอนุญาต หรือที่อยู่ของผู้ถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีนี้แล้ว ให้ถือว่าผู้ถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตรับทราบคำสั่งนั้นตั้งแต่วันปิดคำสั่ง”

มาตรา ๒๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๔ ทวิ และมาตรา ๖๔ ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

                  “มาตรา ๖๔ ทวิ  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้ใช้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๖๙ ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิดหรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่

                  ทรัพย์สินที่ยึดไว้ตามวรรคหนึ่ง ถ้าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือศาลไม่พิพากษาให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันทราบ หรือถือว่าได้ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมป่าไม้

                  ถ้าทรัพย์สินที่ยึดไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินค่าของทรัพย์สิน รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายจะจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ก่อนถึงกำหนดตามวรรคสองก็ได้ ได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใดให้ยึดไว้แทนทรัพย์สินนั้น

                  มาตรา ๖๔ ตรี  ในกรณีทรัพย์สินที่ยึดไว้ตามมาตรา ๖๔ ทวิ มิใช่เป็นของผู้กระทำความผิด หรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติรัฐมนตรีคืนทรัพย์สินหรือเงิน แล้วแต่กรณี ให้แก่เจ้าของ ก่อนถึงกำหนดตามมาตรา ๖๔ ทวิ ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อทรัพย์สินนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐาน ในการพิจารณาคดีที่เป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นถูกยึด และ

(๒) เมื่อผู้กระทำความผิดหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่า เป็นผู้กระทำความผิดได้ทรัพย์สินนั้นมาจากผู้เป็นเจ้าของโดยการกระทำความผิดทางอาญา”

มาตรา ๒๗  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

                 “มาตรา ๗๓ ทวิ  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ ตรี หรือผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๕๓ ตรี ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่รัฐมนตรีกำหนดให้ปฏิบัติเพิ่มเติมตามมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท”

มาตรา ๒๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗๔ ตรี และมาตรา ๗๔ จัตวา แห่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

                 “มาตรา ๗๔ ตรี  บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีกรมป่าไม้หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในระดับไม่ต่ำกว่าป่าไม้จังหวัดหรือหัวหน้าด่านป่าไม้มีอำนาจเปรียบเทียบได้

                 มาตรา ๗๔ จัตวา  ในกรณีที่มีผู้นำจับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาล และให้ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับเป็นจำนวนเงินไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าปรับตามคำพิพากษาโดยจ่ายจากเงินค่าปรับที่ชำระต่อศาล ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ชำระเงินค่าปรับ หรือชำระไม่ถึงจำนวนที่จะต้องจ่ายค่าสินบนนำจับได้ครบถ้วน ก็ให้จ่ายเงินสินบนนำจับที่ยังจะต้องจ่ายจากเงินค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ ถ้ายังขาดอยู่อีกก็ให้เป็นพับไป

ในกรณีที่มีผู้นำจับหลายคน ให้แบ่งเงินสินบนนำจับให้คนละเท่า ๆ กัน

การจ่ายเงินสินบนนำจับนั้น จะจ่ายได้เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว”

                  มาตรา ๒๙  ให้ยกเลิกบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ และให้ใช้บัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

                   มาตรา ๓๐  ผู้ใดได้รับอนุญาตให้ทำไม้ หรือเป็นผู้รับสัมปทานอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และได้นำหรือประสงค์จะนำเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่ตนมิได้เป็นเจ้าของ เข้าไปในเขตป่าที่ได้รับอนุญาต หรือในเขตสัมปทาน ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด

                  เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่ผู้รับอนุญาตทำไม้หรือผู้รับสัมปทานนำเข้าไปในเขตป่าที่ได้รับอนุญาต หรือในเขตสัมปทานโดยมิได้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เป็นของผู้รับอนุญาตทำไม้ หรือผู้รับสัมปทาน แล้วแต่กรณี

                   มาตรา ๓๑  ให้ถือว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามที่ออกตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา เป็นพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

                  มาตรา ๓๒  ให้ถือว่าขนาดจำกัดที่กำหนดขึ้นและใช้อยู่ในวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา เป็นขนาดจำกัดที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

มาตรา ๓๓  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

สัญญา  ธรรมศักดิ์

นายกรัฐมนตรี

บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม

                  

(๑) แบบพิมพ์คำขอ                                    ฉบับละ        ๒๕     สตางค์

(๒) การอนุญาตเจาะต้นตะเคียน

 ตาแมวทำชัน เจาะต้นสน

 เอายาง สับหรือกรีด

 ต้นเยลูตอง เอายาง                                ต้นละ          ๒     บาท

(๓) การอนุญาตเจาะเผาต้นยาง

 ทำน้ำมันยาง                                       ต้นละ        ๕๐     สตางค์

(๔) การอนุญาตเจาะ สับ หรือ

 กรีดไม้ชนิดอื่น ๆ เอาน้ำมัน

 ชัน หรือยาง                                       ต้นละ        ๑๐     บาท

(๕) ใบอนุญาตทำไม้เพื่อการค้า                       ฉบับละ        ๒๐     บาท

(๖) ใบอนุญาตเก็บหาของป่า

 หวงห้าม                                          ฉบับละ        ๑๐     บาท

(๗) ใบอนุญาตค้าของป่าหวงห้าม

 หรือใบอนุญาตมีไว้

 ในครอบครองซึ่งของป่า

 หวงห้าม                                          ฉบับละ        ๒๐     บาท

(๘) ใบอนุญาตเก็บไม้ไหลลอย                         ฉบับละ        ๑๐     บาท

(๙) ใบอนุญาตตั้งโรงงาน

 แปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร

 คิดตามจำนวนแรงม้า                          แรงม้าละ        ๕๐     บาท

(๑๐) ใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูป

 ไม้โดยใช้แรงคน คิดตาม

 จำนวนคนงาน                                  คนละ        ๑๐     บาท

(๑๑) ใบอนุญาตทำการแปรรูปไม้

 เพื่อการค้า คิดตามปริมาตร

 ไม้ที่ยังมิได้แปรรูป                   ลูกบาศก์เมตรละ        ๑๐     บาท

(๑๒) ใบอนุญาตค้าหรือมีไว้

 ในครอบครองเพื่อการค้า

 ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้

 หรือสิ่งอื่นใดที่ทำด้วย

 ไม้หวงห้าม                                     ฉบับละ    ๒,๐๐๐     บาท

(๑๓) ใบอนุญาตมีไม้แปรรูป

 ชนิดอื่นเป็นจำนวนเกิน

 ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตร

 ไว้ในครองครอง                                  ฉบับละ       ๒๐    บาท

(๑๔) ใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้

 แปรรูป                                        ฉบับละ    ๑,๐๐๐     บาท

(๑๕) ใบอนุญาตอื่น ๆ                                  ฉบับละ          ๕   บาท

(๑๖) ใบแทนใบอนุญาตเท่ากับ

 อัตราค่าธรรมเนียม

 ใบอนุญาตนั้น แต่ไม่เกิน                      ฉบับละ        ๑๐     บาท

(๑๗) ใบอนุญาตผูกขาด

 ทำไม้สัก                                       ฉบับละ  ๑๕,๐๐๐     บาท

(๑๘) ใบอนุญาตผูกขาดทำไม้

 หวงห้ามธรรมดา

 นอกจากไม้สัก                                 ฉบับละ    ๗,๕๐๐     บาท

(๑๙) ใบอนุญาตผูกขาดเก็บหา

 ของป่าหวงห้าม                                ฉบับละ    ๑,๐๐๐     บาท

(๒๐) ใบแทนใบอนุญาต

 ผูกขาด                                           ฉบับละ       ๒๕               บาท

(๒๑) สัมปทานทำไม้สัก                               ฉบับละ  ๓๐,๐๐๐     บาท

(๒๒) สัมปทานทำไม้หวงห้าม

 ธรรมดานอกจากไม้สัก                        ฉบับละ  ๑๕,๐๐๐     บาท

(๒๓) สัมปทานเก็บหาของป่า

 หวงห้าม                                       ฉบับละ    ๓,๐๐๐     บาท

(๒๔) ใบแทนสัมปทาน                                ฉบับละ       ๕๐๐     บาท

(๒๕) การโอนใบอนุญาตหรือ

สัมปทาน คิดครึ่งอัตรา

ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

หรือสัมปทานนั้น ๆ

(๒๖) ใบเบิกทาง

(ก) ไม้สัก                                       ฉบับละ        ๕๐     บาท

(ข) ไม้ชนิดอื่น ๆ                                ฉบับละ        ๒๐     บาท

(ค) ของป่า                                      ฉบับละ          ๕     บาท

(๒๗) การอุทธรณ์

(ก) เรื่องเกี่ยวกับการ

 อนุญาต การผูกขาด

 หรือสัมปทาน                              ครั้งละ       ๑๐๐     บาท

(ข) เรื่องการขอตั้งหรือ

 ต่ออายุใบอนุญาต

 โรงงานแปรรูปไม้

 โดยใช้เครื่องจักร                           ครั้งละ       ๑๐๐     บาท

(ค) เรื่องการขอตั้งหรือ

 ต่ออายุใบอนุญาต

 โรงงานแปรรูปไม้

 โดยใช้แรงคน                              ครั้งละ        ๕๐     บาท

(ง) เรื่องการขออนุญาต

 ตั้งโรงค้าไม้

 แปรรูป                                     ครั้งละ        ๕๐     บาท

(จ) เรื่องอื่น ๆ                                   ครั้งละ        ๑๐     บาท

(๒๘) ใบคู่มือคนงานหรือผู้

รับจ้าง หรือใบแทน                            ฉบับละ          ๑     บาท

(๒๙) ค่าจดทะเบียนตรา

ประทับไม้เอกชน                                ดวงละ       ๒๐๐     บาท

(๓๐) ค่าธรรมเนียมขอตรวจ

เอกสาร                                         ฉบับละ          ๕     บาท

(๓๑) ค่าธรรมเนียมคัดหรือ

ถ่ายภาพเอกสารและ

รับรองสำเนา                                   หน้าละ        ๑๐     บาท

(๓๒) ค่าธรรมเนียมขอตรวจ

แผนที่ป่า                                        ครั้งละ       ๑๐๐     บาท

(๓๓) ค่าธรรมเนียมคัดหรือถ่าย

ภาพแผนที่ป่าและรับรอง

สำเนา                                          ฉบับละ       ๕๐๐     บาท

(๓๔) ค่าธรรมเนียมทำการ

ล่วงเวลา คิดร้อยละสิบ

ของเงินค่าภาคหลวง

ที่คำนวณได้ในครั้งนั้น ๆ

แต่อย่างสูงไม่เกิน                                              ๔๐๐     บาท

(๓๕) ค่าธรรมเนียมรับคืน

ไม้ไหลลอย                                      ท่อนละ        ๒๐     บาท

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยป่าไม้บางมาตรามีข้อความไม่รัดกุม และไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองและบำรุงรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ผลดียิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

สุรินทร์/แก้ไข

๘ มกราคม ๒๕๔๕

ปัญญา/แก้ไข

๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒

อุดมการณ์/ปรับปรุง

๑๘ มกราคม ๒๕๕๖

วิชพงษ์/ตรวจ

๒๕ มกราคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๙ มกราคม ๒๕๑๘