พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๘

พระราชบัญญัติ

การชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๔)

พ.ศ. ๒๕๑๘

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘

เป็นปีที่ ๓๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๘”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                  มาตรา ๓  ให้ยกเลิกคำนิยาม “การชลประทาน” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “การชลประทาน” หมายความว่า กิจการที่กรมชลประทานจัดทำขึ้นเพื่อให้ได้มา ซึ่งน้ำหรือเพื่อกัก เก็บ รักษา ควบคุม ส่ง ระบายหรือแบ่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม การพลังงาน การสาธารณูปโภค หรือการอุตสาหกรรม และหมายความรวมถึงการป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำกับรวมถึงการคมนาคมทางน้ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทานด้วย”

                 มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๘  รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกเก็บค่าชลประทานจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตชลประทานหรือจากผู้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทาน ไม่ว่าผู้ใช้น้ำจะอยู่ในหรือนอกเขตชลประทานโดยออกเป็นกฎกระทรวงกำหนด

(๑) ทางน้ำชลประทานแต่ละสายหรือแต่ละเขตที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานโดยแสดงแผนที่แนวเขต

(๒) เขตและท้องที่ซึ่งเป็นเขตชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานโดยแสดงแผนที่แนวเขต

(๓) อัตราค่าชลประทานที่จะเรียกเก็บจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตชลประทานหรือจากผู้ใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน

(๔) อัตราค่าชลประทานที่จะเรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงาน การประปา หรือกิจการอื่นในหรือนอกเขตชลประทาน

(๕) หลักเกณฑ์ ระเบียบและวิธีการในการจัดเก็บหรือชำระค่าชลประทานตลอดจนการยกเว้น ลดหย่อน หรือวิธีการผ่อนชำระค่าชลประทาน

                   อัตราค่าชลประทานที่จะเรียกเก็บจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตชลประทาน หรือจากผู้ใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน ให้เรียกเก็บได้ไม่เกินไร่ละห้าบาทต่อปี

อัตราค่าชลประทานสำหรับการใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงาน การประปา หรือกิจการอื่น ให้เรียกเก็บได้ไม่เกินลูกบาศก์เมตรละห้าสิบสตางค์”

มาตรา ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕

“มาตรา ๘ ทวิ  ให้ตั้งทุนหมุนเวียนขึ้นในกรมชลประทาน เรียกว่าทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน

ค่าชลประทานที่เก็บได้ตามมาตรา ๘ ให้นำส่งเข้าบัญชีทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดิน

การใช้จ่ายเงินของทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน ให้กระทำได้เฉพาะการชลประทานตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

                  ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศรายงานการรับจ่ายเงินของทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานในราชกิจจานุเบกษา

รายงานการรับจ่ายเงินตามวรรคสี่ เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว ให้ทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอรัฐสภาทราบ”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๘  ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งมูลฝอย ซากสัตว์ ซากพืช เถ้าถ่าน หรือสิ่งปฏิกูลลงในทางน้ำชลประทานหรือทำให้น้ำเป็นอันตรายแก่การเพาะปลูกหรือการบริโภค

                    ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยน้ำซึ่งทำให้เกิดเป็นพิษแก่น้ำตามธรรมชาติ หรือสารเคมีเป็นพิษลงในทางน้ำชลประทาน จนอาจทำให้น้ำในทางน้ำชลประทานเป็นอันตรายแก่เกษตรกรรม การบริโภค อุปโภค หรือสุขภาพอนามัย”

                  มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๖  ผู้ใดไม่ชำระค่าชลประทานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ออกตามความในมาตรา ๘ (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบเท่าของค่าชลประทานที่ค้างชำระ

                  เมื่อผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้นำค่าชลประทานที่ค้างชำระ และเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของค่าชลประทานดังกล่าวมาชำระแก่เจ้าพนักงานภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนดให้แล้ว ให้ยกเว้นโทษในคดีนั้นเสีย

มาตรา ๓๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๘ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

สัญญา  ธรรมศักดิ์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้กิจการชลประทานได้ขยายตัวกว้างขวางขึ้น นอกจากการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมแล้วมีการใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานเพื่อกิจการโรงงาน การประปา การอุตสาหกรรม และกิจการอื่นด้วย แต่ปรากฏว่าบทบัญญัติบางมาตราแห่งกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวงที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่อาจเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ประกอบกิจการโรงงาน การประปา และกิจการอื่นเป็นการตอบแทนได้กับเพื่อประโยชน์แก่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวกับการชลประทาน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

 

พรพิมล/แก้ไข

๑๒ กันยายน ๒๕๔๔

A+B (C)

พัชรินทร์/แก้ไข

๗ มกราคม ๒๕๔๘

วศิน/แก้ไข

๑๙ มีนาคม ๒๕๕๒

จุฑามาศ/ปรับปรุง

๑๑ มกราคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๓๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘