พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525

พระราชบัญญัติ

ป่าไม้ (ฉบับที่ ๗)

พ.ศ. ๒๕๒๕

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕

เป็นปีที่ ๓๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๕”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                 มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๖๙  ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น

(๑) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ

(๒) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้น หรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร

ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองแสนบาท”

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗๓  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๓๑ หรือมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าการกระทำผิดนั้นเกี่ยวกับ

(๑) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ

(๒) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้น หรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้วรวมปริมาตรไม้เกินสองลูกบาศก์เมตร

ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองแสนบาท”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ป.  ติณสูลานนท์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากว่าขณะนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ยังมีประชาชนในชนบทอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเงินจะไปซื้อไม้และอุปกรณ์ต่าง ๆ มาสร้างบ้านอยู่อาศัย ก็เนื่องจากความยากจนเป็นเหตุ จึงได้กระทำผิดไปด้วยความจำเป็น โดยไปตัดไม้ในป่ามาสร้างบ้านของตนเองบ้าง ซ่อมแซมบ้านของตนเองบ้าง มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีบ้านอยู่อาศัย หรือมีไม้ไว้ในความครอบครองเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อซ่อมแซมบ้านก็ดี หรือมีไม้ไว้เพื่อทำเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ บ้างก็ดี จึงเป็นกรณีที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง แม้บางครั้งศาลสถิตย์ยุติธรรมจะให้ความปราณีอย่างไร ก็ยังทำให้ประชาชนผู้ยากไร้ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสอยู่ดี เพราะติดขัดอยู่ที่ตัวบทกฎหมาย เพื่อให้ศาลสถิตย์ยุติธรรมได้มีโอกาสพินิจพิเคราะห์ถึงความหนักเบาของข้อเท็จจริงแต่ละคดี ในการที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดได้ดีและมากขึ้น  จึงสมควรแก้ไขโทษขั้นต่ำของมาตรา ๖๙, ๗๓ บางกรณี เสียใหม่ให้ต่ำลงเล็กน้อย ส่วนโทษขั้นสูงก็เพิ่มให้สูงขึ้น บางกรณีเช่นเดียวกัน เพื่อลงโทษผู้ที่ทำลายป่าไม้ให้หนัก

สุรินทร์/แก้ไข

๘ มกราคม ๒๕๔๕

ปัญญา/แก้ไข

๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒

อุดมการณ์/ปรับปรุง

๑๘ มกราคม ๒๕๕๖

วิชพงษ์/ตรวจ

๒๕ มกราคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๓๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๕/๕ มีนาคม ๒๕๒๕