พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521

พระราชบัญญัติ

แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๒)

พ.ศ. ๒๕๒๑

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑

เป็นปีที่ ๓๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๑”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นบทนิยามระหว่างบทนิยามคำว่า “การค้าที่ดิน” กับคำว่า “คณะกรรมการ” ในมาตรา ๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

““ทบวงการเมือง” หมายความว่า หน่วยราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่น”

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๔ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๓๑  ภายในสิบปีนับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์อันสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๓ ที่ได้ออกในวันหรือหลังวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าว โอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้และได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์แล้ว

                  ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์อันสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๓ ที่ได้ออกให้ก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๑๕ แต่ถ้าเป็นการได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากการจัดที่ดินให้ราษฎรที่รัฐให้การช่วยเหลือในด้านสาธารณูปโภคและอื่น ๆ การห้ามโอนตามวรรคหนึ่งให้มีกำหนดห้าปี

ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี”

มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๘ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๕๘ ทวิ  เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา ๕๘ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ

                  (๑) ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราไว้ “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

(๒) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ ตรี

(๓) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับและไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินตามวรรคสอง (๑) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

                   สำหรับบุคคลตามวรรคสอง (๒) และ (๓) ให้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

                   ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (๓) ซึ่งได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้และได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์แล้ว

ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามวรรคห้า ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “มาตรา ๖๔  ถ้าโฉนดที่ดิน ใบไต่ส่วน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือใบจอง ฉบับสำนักงานที่ดินเป็นอันตราย ชำรุด สูญหาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗๑ มีอำนาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวจากผู้มีสิทธิในที่ดินมาพิจารณาแล้วจัดทำขึ้นใหม่ โดยอาศัยหลักฐานเดิมได้”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๐ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๔ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗๐ ทวิ  ให้นำความในมาตรา ๖๖ และมาตรา ๗๐ มาใช้บังคับแก่การพิสูจน์สอบสวนที่ดินเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และการตรวจสอบเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยอนุโลม”

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๑๐๓  ในการดำเนินการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน การรังวัด การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการทำธุระอื่น ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้

                    การออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามมาตรา ๕๘ ผู้มีสิทธิในที่ดินจะขอรับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปก่อน โดยยังไม่ชำระเงินค่าธรรมเนียมการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็ได้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดแจ้งการค้างชำระเงินค่าธรรมเนียมให้ปรากฏในโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้น ถ้าได้ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมครั้งแรก ให้ผู้ยื่นคำขอเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระ”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“บัญชีอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายท้ายประมวลกฎหมายที่ดิน

                  

๑. ค่าธรรมเนียมในการขอสัมปทาน รายละ                               ๕๐๐    บาท

๒. ค่าสัมปทานปีหนึ่ง ไร่ละ                                                ๒๐      บาท

 เศษของไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่

๓. ค่าธรรมเนียมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์

 (๑) ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน ๒๐ ไร่ แปลงละ                                 ๓๐      บาท

 (๒) ที่ดินเนื้อที่เกิน ๒๐ ไร่ ส่วนที่เกิน ไร่ละ                           ๒        บาท

 เศษของไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่

๔. ค่าธรรมเนียมการพิสูจน์สอบสวนหรือตรวจสอบเนื้อที่เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำ

 ประโยชน์

 (๑) ถ้าเรียกเป็นรายแปลง แปลงละ                                   ๓๐      บาท

 (๒) ถ้าเรียกเป็นรายวัน วันละ                                          ๓๐      บาท

 (๓) ค่าคัดหรือจำลองแผนที่ แปลงละ                                  ๓๐      บาท

 (๔) ค่าคำนวณเนื้อที่หรือสอบแส แปลงละ                            ๓๐      บาท

 (๕) ค่าจับระยะ แปลงละ                                               ๑๐      บาท

๕. ค่าธรรมเนียมออกโฉนดที่ดิน

 (๑) ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน ๒๐ ไร่ แปลงละ                                 ๕๐      บาท

 (๒) ที่ดินเนื้อที่เกิน ๒๐ ไร่ ส่วนที่เกินไร่ละ                            ๒        บาท

 เศษของไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่

๖. ค่าธรรมเนียมรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน

(๑) ถ้าเรียกเป็นรายแปลง แปลงละ                                  ๔๐      บาท

(๒) ถ้าเรียกเป็นรายวัน วันละ                                        ๔๐      บาท

(๓) ค่าคัดหรือจำลองแผนที่ แปลงละ                                 ๓๐      บาท

(๔) ค่าคำนวณเนื้อที่หรือสอบแส แปลงละ                           ๓๐      บาท

(๕) ค่าจับระยะ แปลงละ                                             ๑๐      บาท

๗. ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

 (๑) มีทุนทรัพย์ ให้เรียกเก็บร้อยละ ๒ ของทุนทรัพย์

 เศษของร้อยให้คิดเป็นหนึ่งร้อย

 (๒) ไม่มีทุนทรัพย์ แปลงละ                                             ๕๐      บาท

๘. ค่าธรรมเนียมการขอให้ได้มาซึ่งที่ดินของคน

 ต่างด้าวรายละ                                                         ๕๐๐    บาท

 ค่าอนุญาต ไร่ละ                                                       ๑๐๐    บาท

 เศษของไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่

๙. ค่าธรรมเนียมการขอให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อการค้าที่ดิน

 รายละ                                                                  ๕๐๐    บาท

 ค่าอนุญาตไร่ละ                                                         ๒๐      บาท

 เศษของไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่

๑๐. ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด

 (๑) ค่าคำขอ แปลงละ                                               ๕        บาท

 (๒) ค่าคัดสำเนาเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งค่าคัดสำเนา

 เอกสารเป็นพยานในคดีแพ่งโดยเจ้าหน้าที่

 เป็นผู้คัด ร้อยคำแรกหรือไม่ถึงร้อยคำ                          ๑๐      บาท

 ร้อยคำต่อไป ร้อยละ                                            ๕        บาท

 เศษของร้อยให้คิดเป็นหนึ่งร้อย

 (๓) ค่ารับรองเอกสารที่คัด ฉบับละ                                  ๑๐      บาท

 (๔) ค่าตรวจหลักฐานทะเบียนที่ดิน แปลงละ                        ๑๐      บาท

 (๕) ค่ารับอายัดที่ดิน แปลงละ                                       ๑๐      บาท

 (๖) ค่ามอบอำนาจ เรื่องละ                                          ๒๐      บาท

 (๗) ค่าออกใบแทนโฉนดที่ดินหรือหนังสือ

 แสดงสิทธิในที่ดินอย่างอื่น ฉบับละ                             ๕๐      บาท

 (๘) ค่าประกาศ แปลงละ                                            ๑๐      บาท

 (๙) ค่าหลักเขตที่ดิน หลักละ                                         ๑๕      บาท

 ถ้าเป็นการเดินสำรวจหรือสอบเขต

 ทั้งตำบลสำหรับกรณีออกโฉนด

 คิดเป็นรายแปลง แปลงละ                                      ๖๐      บาท

๑๑. ค่าใช้จ่าย

 (๑) ค่าพาหนะเดินทาง ให้แก่เจ้าพนักงาน                           ให้จ่ายเท่าที่จำเป็น

 พนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานที่จ้างไป                         และใช้จ่ายไปจริง

 ทำการรังวัด เกี่ยวกับโฉนดที่ดินหรือ

 พิสูจน์สอบสวนหรือตรวจสอบเนื้อที่

 เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำ

 ประโยชน์ตามคำขอ

 (๒) ค่าเบี้ยเลี้ยง ให้แก่เจ้าพนักงาน พนักงาน                        ให้จ่ายเท่าที่จำเป็น

 เจ้าหน้าที่ และค่าจ้างคนงานที่จ้างไป                          ตามระเบียบของ

 ทำการรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดินหรือ                            ทางราชการแก่ผู้

 พิสูจน์สอบสวนหรือตรวจสอบเนื้อที่                            ไปทำงานเท่าอัตรา

 เกี่ยวกับหนังสือรับรองการ                                      ของทางราชการ

 ทำประโยชน์ตามคำขอ

 (๓) ค่าป่วยการ ให้แก่เจ้าพนักงาน

 ผู้ปกครองท้องที่หรือผู้แทนที่ไป

 ในการรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน

 หรือพิสูจน์สอบสวนหรือตรวจสอบ

 เนื้อที่เกี่ยวกับหนังสือรับรองการ

 ทำประโยชน์ คนหนึ่ง วันละ                                    ๓๐      บาท

(๔) ค่าปิดประกาศ ให้แก่ผู้ปิดประกาศ  แปลงละ          ๑๐      บาท

(๕) ค่าพยาน ให้แก่พยาน คนละ                                     ๑๐      บาท”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากข้อจำกัดการห้ามโอนสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินยังไม่รัดกุมและมีบทบัญญัติบางมาตราในประมวลกฎหมายที่ดินไม่เหมาะสม ทำให้เป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน สมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ กับทั้งจำเป็นต้องปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายท้ายประมวลกฎหมายที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

นุสรา/ปรับปรุง

๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕/ตอนที่ ๑๓๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๑