พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528

พระราชกำหนด

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ (ฉบับที่ ๒)

พ.ศ. ๒๕๒๘

                  

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘

เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยแร่

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘”

 

               มาตรา ๒[๑]  พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา ๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๒๗ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

               มาตรา ๓  ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “มีแร่ไว้ในครอบครอง” “เรือขุดหาแร่” “เขตควบคุมแร่” และ “ผู้อำนวยการ” ระหว่างคำว่า “ขายแร่” และคำว่า “โลหกรรม” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ พ.ศ. ๒๕๒๖ ดังต่อไปนี้

““มีแร่ไว้ในครอบครอง” หมายความว่า การซื้อแร่ การมีไว้ การยึดถือ หรือการรับไว้ด้วยประการใดซึ่งแร่  ทั้งนี้ ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น

“เรือขุดหาแร่” หมายความว่า เรือหรือแพซึ่งมีอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเหมืองหรือการแต่งแร่สำหรับใช้ในเรือหรือแพนั้น

“เขตควบคุมแร่” หมายความว่า เขตพื้นที่ซึ่งรัฐมนตรีประกาศเป็นเขตควบคุมแร่

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่”

มาตรา ๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๙ จัตวา มาตรา ๙ เบญจ มาตรา ๙ ฉ มาตรา ๙ สัตต มาตรา ๙ อัฏฐ และมาตรา ๙ นว แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

                “มาตรา ๙ จัตวา  เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการทำเหมือง การแต่งแร่ การซื้อแร่ การขายแร่ หรือการมีแร่ไว้ในครอบครอง เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำเหมืองหรือลักลอบส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักร หรือเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ท้องที่หนึ่งท้องที่ใด รวมทั้งส่วนหนึ่งส่วนใดของน่านน้ำไทย เป็นเขตควบคุมแร่ โดยจะกำหนดเป็นเขตควบคุมแร่สำหรับแร่ชนิดหนึ่งชนิดใดหรือหลายชนิดก็ได้

เมื่อหมดความจำเป็นที่จะต้องมีเขตควบคุมแร่ตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษา

                มาตรา ๙ เบญจ  ในเขตควบคุมแร่แต่ละเขตให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขต ประกอบด้วย ผู้อำนวยการเป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตอำนาจอยู่ในเขตควบคุมแร่ ผู้แทนกรมตำรวจ ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกรมอัยการ ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนกองทัพเรือ เป็นกรรมการ และให้ผู้แทนกรมทรัพยากรธรณีเป็นกรรมการและเลขานุการ และทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ที่สำนักงานเขตควบคุมแร่ตั้งอยู่ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

               ในกรณีที่เขตควบคุมแร่ใดมีพื้นที่ครอบคลุมเกินหนึ่งจังหวัด ให้ส่วนราชการตามวรรคหนึ่งแต่งตั้งผู้แทนได้เขตละไม่เกินสองคน และให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้แทนกรมทรัพยากรธรณีที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการคนหนึ่ง เป็นเลขานุการ

ในการแต่งตั้งผู้แทนส่วนราชการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คำนึงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ได้รับการแต่งตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตควบคุมแร่เป็นสำคัญ

องค์ประชุมและระเบียบการประชุมของคณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขตให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขตกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

                 มาตรา ๙ ฉ  ให้คณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขตมีอำนาจให้ความเห็นชอบในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการตามมาตรา ๙ อัฏฐ ตลอดจนให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำแก่ผู้อำนวยการในการปฏิบัติหน้าที่อื่นในเขตควบคุมแร่

                คณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขตอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขตมอบหมายได้

องค์ประชุมและระเบียบการประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขต

                มาตรา ๙ สัตต  ในเขตควบคุมแร่แต่ละเขต ให้รัฐมนตรีจัดตั้งสำนักงานเขตควบคุมแร่ขึ้นโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้อำนวยการคนหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในมาตรา ๙ อัฏฐ และมาตรา ๙ นว เป็นผู้ควบคุมดูแลรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเขตควบคุมแร่ ในการนี้ จะให้มีรองผู้อำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการคนหนึ่งหรือหลายคนตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งเมื่อได้ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขตแล้ว เพื่อช่วยสั่งและปฏิบัติราชการตามที่ผู้อำนวยการมอบหมายก็ได้

ในกรณีที่ผู้อำนวยการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองผู้อำนวยการที่มีอาวุโสสูงตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทน และให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้อำนวยการ

การแต่งตั้งผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และผู้ช่วยผู้อำนวยการตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๙ อัฏฐ  ในเขตควบคุมแร่ ให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขตมีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) เรือขุดหาแร่

(ก) กำหนดท้องที่ที่ห้ามมิให้ต่อหรือสร้างเรือขุดหาแร่ หรือประกอบหรือสร้างส่วนหนึ่งส่วนใดของเรือขุดหาแร่

(ข) กำหนดท้องที่ที่ห้ามมิให้นำเรือขุดหาแร่เข้าไป เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ผู้อำนวยการมอบหมาย

(ค) กำหนดท้องที่ที่ห้ามมิให้ต่อเติม แก้ไข หรือซ่อมแซมเรือขุดหาแร่ เว้นแต่เป็นเรือที่ได้ปฏิบัติตาม (ฉ) แล้ว และเป็นการต่อเติมแก้ไข หรือซ่อมแซมเล็กน้อย ตามลักษณะและวิธีการที่ผู้อำนวยการกำหนด

(ง) กำหนดลักษณะ ชนิด และขนาดของเครื่องมือ เครื่องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ สำหรับใช้ในการทำเหมืองหรือแต่งแร่ ที่อนุญาตให้ใช้หรือติดตั้งไว้ในเรือขุดหาแร่

(จ) กำหนดสภาพและคุณภาพของแร่รวมทั้งปริมาณสูงสุดของแร่ที่จะเก็บหรือมีไว้ในครอบครองในเรือขุดหาแร่ โดยจะกำหนดให้แตกต่างกันตามขนาดและคุณภาพของเรือและเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้

               (ฉ) กำหนดให้มีการจดแจ้งประเภท ขนาด และสมรรถนะของเรือขุดหาแร่ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทำเครื่องหมายเพื่อแสดงประเภทเรือให้เป็นที่สังเกตเห็นได้จากภายนอก  ทั้งนี้ ตามวิธีการและหลักเกณฑ์ที่ผู้อำนวยการกำหนด

(ช) กำหนดเส้นทางการเดินเรือ ท่าจอดเรือ และท่าพักเรือของเรือขุดหาแร่

(๒) เขตเหมืองแร่และเขตแต่งแร่

(ก) กำหนดประเภทและสภาพของเครื่องมือ เครื่องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ สำหรับใช้ในการทำเหมืองหรือในการแต่งแร่ที่จะนำมาใช้ในเขตเหมืองแร่หรือในเขตแต่งแร่

(ข) กำหนดสภาพและคุณภาพของแร่รวมทั้งปริมาณสูงสุดของแร่ที่จะเก็บหรือมีไว้ในครอบครองในเขตเหมืองแร่หรือในเขตแต่งแร่

(ค) กำหนดที่ตั้งหรือสภาพของอาคารหรือที่ซึ่งใช้ในการเก็บแร่ แต่งแร่ หรือมีแร่ไว้ในครอบครอง

(๓) มาตรการอื่น ๆ

                (ก) กำหนดเงื่อนไขและวิธีการในการขนแร่หรือเคลื่อนย้ายแร่ทั้งทางบกและทางน้ำ กำหนดเส้นทางของยานพาหนะที่ใช้ในการขนแร่หรือเคลื่อนย้ายแร่ ท่าจอดและท่าพักยานพาหนะ ตลอดจนเวลาและระยะเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการขนแร่หรือเคลื่อนย้ายแร่

                (ข) กำหนดสภาพและคุณภาพของแร่รวมทั้งปริมาณสูงสุดของแร่ที่ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตร ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ได้รับหนังสืออนุญาต จะเก็บหรือมีไว้ในครอบครองตลอดจนเงื่อนไขหรือระยะเวลาที่บุคคลดังกล่าวจะเก็บหรือมีแร่ไว้ในครอบครอง

                (ค) กำหนดให้ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตร ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ได้รับหนังสืออนุญาต ทำบัญชีและหรือทำรายงานเกี่ยวกับปริมาณแร่ที่เก็บหรือมีไว้ในครอบครอง  ทั้งนี้ ตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด

                 (ง) กำหนดสถานที่ตั้งหรือสภาพของอาคารหรือสถานที่ ที่ใช้ในการเก็บแร่ พักแร่ หรือมีแร่ไว้ในครอบครอง ของผู้รับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่หรือผู้รับใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครอง

                (จ) กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะที่ใช้ในการขนแร่หรือเคลื่อนย้ายแร่ ต้องติดเครื่องหมายที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนดไว้ที่ยานพาหนะนั้น เพื่อแสดงให้บุคคลภายนอกเห็นได้ว่ายานพาหนะดังกล่าวกำลังใช้ในการขนแร่หรือเคลื่อนย้ายแร่  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้อำนวยการกำหนด

การใช้อำนาจตามมาตรานี้ จะกำหนดโดยมีเงื่อนไขอย่างใด ๆ ก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร

               เมื่อมีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ เงื่อนไขในการอนุญาตใด ๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตไว้แล้วตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น ให้ยังคงใช้บังคับได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดตามมาตรานี้ เว้นแต่ ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขตจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

                ข้อกำหนดตามมาตรานี้ ให้ทำเป็นประกาศและปิดไว้ที่ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ทุกแห่งที่อยู่ในเขตควบคุมแร่ ก่อนวันใช้บังคับไม่น้อยกว่าสามวัน และถ้าคณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขตเห็นสมควรจะให้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายในท้องถิ่นตามระยะเวลาที่เห็นสมควรก็ได้ เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขตจะให้ข้อกำหนดมีผลใช้บังคับทันทีที่ประกาศก็ได้

มาตรา ๙ นว  ในเขตควบคุมแร่ ให้ผู้อำนวยการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ผู้อำนวยการมอบหมายมีอำนาจดังต่อไปนี้

                (๑) เข้าไปในสถานที่ใด ๆ ในเรือขุดหาแร่หรือในยานพาหนะที่อยู่ในเขตควบคุมแร่หรือที่จะเข้ามาในเขตควบคุมแร่เพื่อตรวจค้นได้ทุกเวลา เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดหรือจะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

                (๒) สั่งเจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือขุดหาแร่หรือยานพาหนะที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดหรือจะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้หยุด จอด หรือนำเรือขุดหาแร่หรือยานพาหนะไปยังที่หนึ่งที่ใดเพื่อทำการตรวจค้น หรือให้ออกไปจากเขตควบคุมแร่

                (๓) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจแร่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส่งบัญชีเอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

                (๔) สั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือขุดหาแร่หรือผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา ๙ อัฏฐ ปฏิบัติการตามกฎหมายหรือตามข้อกำหนดภายในระยะเวลาที่ผู้อำนวยการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ผู้อำนวยการมอบหมายกำหนด

                ถ้าเจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือขุดหาแร่หรือผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา ๙ อัฏฐ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่สั่งการตาม (๒) (๓) หรือ (๔) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดซ้ำอีกภายในระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขต ให้ผู้อำนวยการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งยึดหรืออายัดเรือขุดหาแร่ ส่วนใดส่วนหนึ่งของเรือขุดหาแร่ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือแร่ ที่ใช้หรือเก็บไว้หรือมีไว้ในครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือสั่งยึด หรืออายัดอาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะ อันเป็นเครื่องมือหรือเป็นสาเหตุแห่งการกระทำความผิดในทันที  ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเขตควบคุมแร่ประจำเขตจะพิจารณาเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรที่จะสั่งเป็นอย่างอื่น”

 

มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

              “มาตรา ๑๕ ทวิ  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรืออายัดบรรดาแร่ที่มีไว้เนื่องในการกระทำความผิด และเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีได้จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด  ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นของผู้กระทำความผิดหรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ และเมื่อได้มีการฟ้องคดี ให้นำความในมาตรา ๑๕๔ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับ

               ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับทรัพย์สินคืนภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน  ทั้งนี้ เว้นแต่อธิบดีจะใช้อำนาจประกาศหาตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองตามมาตรา ๑๕ เบญจ”

 

มาตรา ๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕ จัตวา และมาตรา ๑๕ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

              “มาตรา ๑๕ จัตวา  ถ้าทรัพย์สินและของกลางที่ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๑๕ ทวิ หรือมาตรา ๑๕ เบญจ จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินค่าของทรัพย์สิน อธิบดีอาจดำเนินการดังต่อไปนี้

                (๑) จัดการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินหรือของกลางก่อนครบกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๕ ทวิ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๕ เบญจ วรรคสอง แล้วแต่กรณี เมื่อได้เงินเป็นสุทธิเท่าใดให้ยึดไว้แทนทรัพย์สินหรือของกลางนั้น หรือ

                (๒) ถ้าการนำทรัพย์สินหรือของกลางที่ยึดหรืออายัดไว้ไปใช้ประโยชน์จะเป็นการบรรเทาความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาก็ให้นำทรัพย์สินหรือของกลางนั้นไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

                 ก่อนที่จะสั่งดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกันเพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายทราบ เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับทรัพย์สินหรือของกลางดังกล่าวไปเก็บรักษาด้วยตนเองได้ภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันแรกที่ประกาศในหนังสือพิมพ์ และถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองทำสัญญาไว้กับกรมทรัพยากรธรณีว่า จะเก็บรักษาทรัพย์สินหรือของกลางดังกล่าวโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการ รวมทั้งจัดหาประกันหรือหลักประกันให้แก่ทางราชการ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ก็ให้อธิบดีมอบทรัพย์สินหรือของกลางดังกล่าวให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้เก็บรักษาไว้ แต่ห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองนำทรัพย์สินหรือของกลางดังกล่าวไปใช้หรือแสวงหาประโยชน์ ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ

                 ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาขอรับทรัพย์สินหรือของกลางไปเก็บรักษาหรือปรากฏเจ้าของหรือผู้ครอบครองแต่บุคคลดังกล่าวไม่ยอมทำสัญญาตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงให้อธิบดีสั่งดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ หรือในกรณีมีการทำสัญญา แต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองปฏิบัติผิดสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา ให้อธิบดีเรียกทรัพย์สินหรือของกลางดังกล่าวคืนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และมีอำนาจสั่งให้ดำเนินการบังคับตามสัญญาประกันและดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้

                 หลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกรณีเช่นนี้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองจะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าตอบแทนใด ๆ จากทางราชการอันเนื่องมาจากการดำเนินการ หรือการนำทรัพย์สินหรือของกลางที่ยึดหรืออายัดไปใช้ประโยชน์ของทางราชการดังกล่าวมิได้

                 มาตรา ๑๕ เบญจ  ในกรณีที่มีการยึดของกลางที่ต้องสงสัยในการกระทำความผิดโดยไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ยึดส่งมอบของกลางให้แก่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่หรือเจ้าหน้าที่ที่อธิบดีกำหนด เพื่อเก็บรักษาไว้และให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจประกาศหาตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองเพื่อให้บุคคลดังกล่าวไปแสดงหลักฐานเพื่อขอรับของกลางคืน

                 การประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ปิดประกาศไว้ที่สำนักงานทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ที่มีการยึดของกลางนั้น และให้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน เจ้าของหรือผู้ครอบครองมีสิทธิที่จะไปแสดงตัวต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่หรือเจ้าหน้าที่ที่อธิบดีระบุไว้ในประกาศ เพื่อขอรับของกลางคืนภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกที่มีประกาศในหนังสือพิมพ์

                ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดแสดงตัวเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองเพื่อขอรับของกลางคืนภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้ของกลางนั้นตกเป็นของแผ่นดิน แต่ถ้ามีบุคคลใดแสดงตัวเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองและขอรับของกลางคืนภายในกำหนดเวลา ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

                ในกรณีที่ปรากฏว่า ผู้ที่แสดงตัวเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่พนักงานอัยการได้พิจารณาแล้วและมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือเป็นบุคคลที่ปรากฏหลักฐานในขณะสอบสวนแล้วว่ามิใช่เป็นผู้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดหรือมิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้อธิบดีมีหนังสือแจ้งให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอรับของกลางคืน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดี หากมิได้ใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าบุคคลนั้นมิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้น”

 

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๒๗  แร่ที่ได้ชำระค่าภาคหลวงแล้ว เมื่อผู้ใช้แร่นั้นพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจรัฐมนตรีได้ว่าแร่นั้นได้นำไปใช้ภายในประเทศเพื่ออุตสาหกรรมอันมิใช่อุตสาหกรรมตามประเภทที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาว่าไม่อาจขอคืนค่าภาคหลวงแร่ได้ หรือแร่นั้นได้นำไปใช้ภายในประเทศเพื่อพลังงาน รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คืนค่าภาคหลวงแร่ให้แก่ผู้ใช้นั้นได้

การคืนค่าภาคหลวงแร่แต่ละชนิดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้ใดประสงค์จะรับคืนค่าภาคหลวงแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ที่ใช้แร่นั้น”

มาตรา ๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๓๒ ทวิ มาตรา ๑๓๒ ตรี และมาตรา ๑๓๒ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“มาตรา ๑๓๒ ทวิ  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของผู้อำนวยการที่ออกตามมาตรา ๙ อัฏฐ ต้องระวางโทษดังต่อไปนี้

(๑) ฝ่าฝืนมาตรา ๙ อัฏฐ (๑) (ก) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปีหรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               (๒) ฝ่าฝืนมาตรา ๙ อัฏฐ (๑) (ข) (ค) (ง) หรือ (ช) หรือมาตรา ๙ อัฏฐ (๒) (ก) หรือมาตรา ๙ อัฏฐ (๓) (จ) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้ายังมีการฝ่าฝืนต่อไปให้ปรับเป็นรายวันอีกวันละสองพันบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมีการฝ่าฝืน

               ในกรณีที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙ อัฏฐ (๑) (ช) ถ้าผู้กระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าการฝ่าฝืนนั้นมีเหตุจำเป็นเพื่อความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และเหตุนั้นมิได้เกิดจากการกระทำของตนเองหรือตนเองมิได้มีส่วนกระทำให้เกิดขึ้น ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

(๓) ฝ่าฝืนมาตรา ๙ อัฏฐ (๑) (จ) หรือมาตรา ๙ อัฏฐ (๒) (ข) หรือมาตรา ๙ อัฏฐ (๓) (ข) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               (๔) ฝ่าฝืนมาตรา ๙ อัฏฐ (๑) (ฉ) หรือมาตรา ๙ อัฏฐ (๒) (ค) หรือมาตรา ๙ อัฏฐ (๓) (ก) (ค) หรือ (ง) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้ายังมีการฝ่าฝืนต่อไปให้ปรับเป็นรายวันอีกวันละห้าร้อยบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมีการฝ่าฝืน

                ถ้าผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษ ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ได้รับหนังสืออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำผิดตามมาตรานี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตร ใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตได้ แล้วแต่กรณี

                มาตรา ๑๓๒ ตรี  เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะใดที่กำลังใช้ในการขนแร่หรือเคลื่อนย้ายแร่ ไม่ติดเครื่องหมายที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนดตามมาตรา ๙ อัฏฐ (๓) (จ) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท

                การขนแร่หรือเคลื่อนย้ายแร่โดยยานพาหนะที่ไม่ติดเครื่องหมายตามวรรคหนึ่งและอยู่บนทางสาธารณะ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการขนแร่หรือเคลื่อนย้ายแร่โดยมิชอบด้วยกฎหมายและผู้อำนวยการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการใด ๆ ได้ตามที่พระราชบัญญัตินี้ให้อำนาจไว้  ทั้งนี้ เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะจะพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจค้นได้ว่า ใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตของทางราชการเป็นใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตที่แท้จริง โดยปราศจากข้อสงสัย

               ผู้ใดใช้เครื่องหมายที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนดตามมาตรา ๙ อัฏฐ (๓) (จ) โดยมิใช่เป็นผู้ที่ขนแร่หรือเคลื่อนย้ายแร่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองร้อยบาทถึงสองพันบาท

               มาตรา ๑๓๒ จัตวา  ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้อำนวยการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๙ นว (๑) หรือ (๒) หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๙ นว (๒) (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

มาตรา ๙  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๑๓๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“หากการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในเขตควบคุมแร่ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

มาตรา ๑๐  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๑๔๘ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

               “หากการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในเขตควบคุมแร่ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองเท่าถึงหกเท่าของมูลค่าแร่ตามราคาที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในวันกระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ และรัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตร หรือใบอนุญาตนั้นได้เมื่อมีเหตุตาม (๑) หรือ (๒)”

 

มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๕๓ ทวิ  ในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔๘ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๕๒ ตรี ให้อธิบดีมีอำนาจทำการเปรียบเทียบให้ผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับได้ไม่น้อยกว่าขั้นต่ำของค่าปรับที่กฎหมายกำหนด และเมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับแล้วให้คดีเป็นอันระงับ”

 

มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๔ และมาตรา ๑๕๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๑๕๔  บรรดาแร่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เนื่องในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๓๒ ทวิ มาตรา ๑๓๒ ตรี มาตรา ๑๓๒ จัตวา มาตรา ๑๓๓ มาตรา ๑๓๓ ตรี มาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๓๘ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๗ มาตรา ๑๔๘ มาตรา ๑๔๘ ทวิ มาตรา ๑๕๒ หรือมาตรา ๑๕๒ ทวิ ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

                 ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และเมื่อพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน เพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  ทั้งนี้ ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม

                  ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือมีเจ้าของแต่เจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดดังกล่าว อีกทั้งตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้น หรือไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวัน ตามวรรคสอง และในกรณีนี้มิให้นำมาตรา ๓๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ

                  มาตรา ๑๕๕  ในกรณีความผิดตามมาตรา ๑๓๒ ทวิ มาตรา ๑๓๒ ตรี มาตรา ๑๓๓ ตรี มาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๗ มาตรา ๑๔๘ มาตรา ๑๔๘ ทวิ มาตรา ๑๕๒ มาตรา ๑๕๒ ทวิ หรือมาตรา ๑๕๒ ตรี ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและเงินรางวัลแก่ผู้จับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในอัตรารวมกันไม่เกินร้อยละห้าสิบห้าของจำนวนเงินค่าขายของกลางหรือเงินค่าปรับ แล้วแต่กรณี ในการกำหนดอัตราเงินสินบนหรือเงินรางวัล รัฐมนตรีจะกำหนดให้จ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลสำหรับกรณีที่ปรากฏตัวผู้ต้องหาและหรือมีผู้กระทำความผิดที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ได้รับโทษทางอาญามากกว่าการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวผู้ต้องหาและหรือไม่มีผู้กระทำความผิดที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดก็ได้

                 เงินสินบนและเงินรางวัลตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีจ่ายจากเงินขายของกลางที่ศาลสั่งริบ หรือจ่ายจากเงินค่าปรับที่ชำระต่อศาลในกรณีที่ศาลมิได้สั่งริบของกลาง หรือของกลางไม่อาจจำหน่ายได้ หรือจ่ายจากเงินค่าปรับที่มีการเปรียบเทียบในกรณีที่คดีเป็นอันระงับโดยการเปรียบเทียบปรับหรือจ่ายจากเงินขายของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา ๑๕ เบญจ และในกรณีที่คดีเป็นอันระงับโดยการเปรียบเทียบปรับ อธิบดีอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจเปรียบเทียบเป็นผู้สั่งจ่าย โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ ก็ได้”

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ป.  ติณสูลานนท์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันในท้องที่บางแห่งได้มีการลักลอบทำแร่และลักลอบส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักรอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก แต่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มิได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในอันที่จะควบคุมหรือวางมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันและปราบปรามได้อย่างมีประสิทธิภาพสมควรให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้ท้องที่หนึ่งท้องที่ใดเป็นเขตควบคุมแร่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจบางประการในอันที่จะสามารถควบคุมและวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทำแร่และลักลอบส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักรได้กับเห็นควรให้มีการเพิ่มและแก้ไขบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกัน รวมทั้งเพิ่มเติมกรณีการคืนค่าภาคหลวงแร่ และแก้ไขวิธีการในเรื่องของกลางและการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลนำจับ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

 

 

พรพิมล/แก้ไข

๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

ฐิติพร/ปรับปรุง

๑๖ มกราคม ๒๕๕๖

พจนา/ตรวจ

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๑๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘