พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2549

พระราชบัญญัติ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖)

พ.ศ. ๒๕๔๙

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

เป็นปีที่ ๖๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๖  ให้ธนาคารมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่น และจะตั้งสาขาหรือตัวแทน ณ ที่อื่นใดภายในและภายนอกราชอาณาจักรก็ได้ แต่การจะตั้งสาขาหรือตัวแทนภายนอกราชอาณาจักร ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน”

                มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๗  ให้กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้สี่พันล้านบาท แบ่งเป็นสี่สิบล้านหุ้น มีมูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลัง เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ สถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่น และกองทุนด้านการเกษตรหรือกองทุนอื่นของรัฐตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร

ให้กระทรวงการคลังถือหุ้นของธนาคารไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

                ในกรณีที่มีหุ้นเหลือจากการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง ให้ธนาคารขายหุ้นแก่ผู้อื่นตามวรรคหนึ่งได้แต่ถ้าเป็นสถาบันการเงินที่มิใช่เป็นสถาบันการเงินของรัฐหรือบุคคลอื่นที่มิใช่เป็นหน่วยงานของรัฐจะขายหุ้นในจำนวนที่นับรวมกันแล้วเกินกว่าร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดมิได้

ภายใต้บังคับวรรคสองและวรรคสาม บุคคลใดจะถือหุ้นธนาคารเกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดมิได้

หุ้นของธนาคารที่บุคคล ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทดังต่อไปนี้ถืออยู่ ให้นับรวมเป็นหุ้นของบุคคลตามวรรคสี่ด้วย

(๑) คู่สมรสของบุคคลตามวรรคสี่

(๒) บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลตามวรรคสี่

(๓) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลตามวรรคสี่หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) เป็นหุ้นส่วน

(๔) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลตามวรรคสี่หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่มีหุ้นรวมกันเกินอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

(๕) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่บุคคลตามวรรคสี่หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (๓) หรือ (๔) ถือหุ้นรวมกันเกินอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

               (๖) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่บุคคลตามวรรคสี่หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (๓) หรือ (๔) หรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตาม (๕) ถือหุ้นรวมกันเกินอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

                 เมื่อปรากฏว่าการได้มาซึ่งหุ้นของธนาคารเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดถือหุ้นเกินจำนวนที่จะถือได้ตามวรรคสี่ บุคคลนั้นจะยกเอาการถือหุ้นในส่วนที่เกินจำนวนดังกล่าวขึ้นยันต่อธนาคารมิได้และธนาคารจะจ่ายเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอย่างอื่นให้แก่บุคคลนั้น หรือให้บุคคลนั้นออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมของผู้ถือหุ้นตามจำนวนในส่วนที่เกินมิได้

                 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามวรรคสี่และวรรคหก ให้ธนาคารตรวจสอบทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกคราวก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นและก่อนจ่ายเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอื่นใด แล้วแจ้งผลการตรวจสอบต่อรัฐมนตรีตามรายการและภายในเวลาที่รัฐมนตรีกำหนด และในกรณีที่พบว่าผู้ถือหุ้นรายใดถือหุ้นเกินจำนวนที่กำหนดตามวรรคสี่ ให้ธนาคารแจ้งให้ผู้นั้นทราบ เพื่อดำเนินการจำหน่ายหุ้นที่เกินนั้นเสีย”

                มาตรา ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓) และ (๔) ของมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

                “ (๓) ดำเนินงานเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการบริหารจัดการแก่บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการ กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน รวมทั้งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบใดที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือชุมชนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การแปรรูป และการตลาด หรือเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจหรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

(๔) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์ เพื่อใช้ดำเนินงานภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์”

                มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“การให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามความในวรรคหนึ่ง (๑) (ข) (ค) และ (ง) รวมทั้งการดำเนินการตามความในวรรคหนึ่ง (๒) (๓) และ (๔) ให้กระทำได้เท่าที่กำหนดในกฎกระทรวง”

                 มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความใน (๑) และ (๒) ของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๑) ให้กู้เงินเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในมาตรา ๙

(๒) ค้ำประกันตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร”

                 มาตรา ๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๖/๑) ของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

“(๖/๑) ให้กู้เงินหรือออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ถือตราสารทางการเงินซึ่งออกโดยธนาคารหรือให้แก่บุคคลใดตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยใช้ตราสารทางการเงินซึ่งออกโดยธนาคารเป็นประกัน”

               มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความใน (๑๒) ของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๑๒) รับฝากเงินเพื่อสงเคราะห์ชีวิตของเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกรตามที่กำหนดในข้อบังคับของธนาคาร”

                 มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความใน (๑๔) และ (๑๕) ของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “(๑๔) จัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรมหรือธุรกิจที่เป็นประโยชน์โดยตรงแก่กิจการของธนาคารตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

(๑๕) ร่วมลงทุนกับนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์การดำเนินงานภายใต้ขอบเขตที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ”

                 มาตรา ๑๑  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๖/๑) และ (๑๖/๒) ของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

“(๑๖/๑) ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

(๑๖/๒) ให้สินเชื่อหรือบริการทางการเงินในรูปแบบอื่นที่เป็นประเพณีปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในมาตรา ๙ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”

                มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความใน (๑๗) ของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๑๗) กระทำกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของธนาคารตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี”

มาตรา ๑๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๒/๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙

                “มาตรา ๑๒/๑  ให้ธนาคารดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพัน และให้ธนาคารดำรงเงินสดสำรองและดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นอัตราส่วนกับเงินฝากและเงินกู้ยืม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”

               มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

              “กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอย่างน้อยต้องมีผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หนึ่งคน ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์หนึ่งคน ผู้แทนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหนึ่งคน ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยหนึ่งคน และผู้แทนสหกรณ์การเกษตรผู้ถือหุ้นหนึ่งคน”

                มาตรา ๑๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๔) ของมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙

“(๔) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ”

มาตรา ๑๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๘/๑ และมาตรา ๑๘/๒ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙

“มาตรา ๑๘/๑  คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริหารอื่นอีกไม่เกินสามคน และให้ผู้จัดการเป็นกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง

ให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งรองผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการคนหนึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการบริหาร

                ให้กรรมการบริหารซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ มาใช้บังคับแก่ลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งการพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของคณะกรรมการบริหารด้วยโดยอนุโลม

ให้กรรมการบริหารได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๑๘/๒  ให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใด ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ตามที่คณะกรรมการกำหนด”

                มาตรา ๑๗  ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๑  การให้กู้เงินหรือการให้สินเชื่อตามมาตรา ๑๐ (๑) (๖) (๖/๑) และ (๑๖/๒) ให้เป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร”

                มาตรา ๑๘  ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการซึ่งอยู่ในตำแหน่งในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการไปพลางก่อน

มาตรา ๑๙  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ รวมทั้งการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้การดำเนินกิจการของธนาคารมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบทไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงิน หรือการบริหารจัดการ ให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการพัฒนาชนบท นอกจากนั้นเพื่อให้มีการระดมเงินทุนในการดำเนินกิจการของธนาคาร สมควรเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของสถาบันการเงินและบุคคลอื่นด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พัชรินทร์/ผู้จัดทำ

๑๖ มีนาคม ๒๕๔๙

ปัญญา/ตรวจ

๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๒๕ ก/หน้า ๑/๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙