พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509

พระราชบัญญัติ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

พ.ศ. ๒๕๐๙

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๙

เป็นปีที่ ๒๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

“ธนาคาร” หมายความว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

“ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

“เกษตรกร” หมายความว่า บุคคลผู้ประกอบอาชีพในการทำนา การทำไร่ การทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การประมง การเลี้ยงไหมและสาวไหม หรือการทำนาเกลือ

“กลุ่มเกษตรกร” หมายความว่า เกษตรกรซึ่งรวมกันเป็นกลุ่มโดยมีกฎหมายรับรองให้เป็นนิติบุคคลและมีวัตถุประสงค์ดำเนินการทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร

               “สหกรณ์การเกษตร” หมายความว่า สหกรณ์ที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดเป็นเกษตรกร และได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ กับให้หมายความรวมถึงสหกรณ์ดังกล่าวที่ได้รวมกันเป็นชุมนุมสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๑

การจัดตั้ง

                  

มาตรา ๕  ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเรียกว่า “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” และให้ธนาคารนี้เป็นนิติบุคคล

มาตรา ๖  ให้ธนาคารมีสำนักงานใหญ่ในจังหวัดพระนครและจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร เพื่อดำเนินธุรกิจของธนาคารก็ได้

              มาตรา ๗  ให้กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้หนึ่งพันล้านบาท แบ่งเป็นสิบล้านหุ้น มีมูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลังเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร

ในระยะเริ่มแรก หุ้นของธนาคารให้ประกอบด้วย

(๑) หุ้นที่กระทรวงการคลังและหุ้นที่สหกรณ์เป็นผู้ถือตามมาตรา ๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการสหกรณ์ พุทธศักราช ๒๔๘๖ พ.ศ. ๒๕๐๙

(๒) หุ้นที่กระทรวงการคลังซื้อในระยะเริ่มแรกสองแสนหุ้น

ให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นเพิ่มเติมอีกเป็นคราว ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๘  ความรับผิดของผู้ถือหุ้น ให้จำกัดเพียงเท่ามูลค่าของหุ้นที่ตนถือ

หมวด ๒

วัตถุประสงค์

                  

มาตรา ๙  ธนาคารมีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อส่งเสริมอาชีพหรือการดำเนินงานของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร

มาตรา ๑๐  ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ธนาคารมีอำนาจกระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ให้กู้เงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร

(๒) ค้ำประกันเงินกู้ที่บุคคลดังกล่าวใน (๑) กู้จากสถาบันการเงินอื่น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร

(๓) จัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของธนาคาร

               (๔) จัดให้ได้มา ถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิ์ ครอบครอง เช่าหรือให้เช่า เช่าซื้อหรือให้เช่าซื้อ โอนหรือรับโอนสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ จำนองหรือรับจำนอง จำนำหรือรับจำนำ ขายหรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่นใด ซึ่งสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์

(๕) รับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันมีกำหนด เว้นแต่ประเภทที่ใช้เช็คในการถอน

(๖) ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด รวมทั้งเก็บเงินตามตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมือดังกล่าว

(๗) มีบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารอื่นเท่าที่จำเป็นแก่การดำเนินธุรกิจของธนาคาร

(๘) ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล เช่น พันธบัตรหรือตั๋วเงินคลังตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

(๙) เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการให้กู้เงินหรือการค้ำประกันเงินกู้ และค่าบริการอื่น ๆ

(๑๐) จัดให้มีการสงเคราะห์ตามสมควรแก่ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว

(๑๑) กระทำกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร

มาตรา ๑๑  ห้ามมิให้ธนาคารกระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ให้กรรมการหรือผู้จัดการ หรือภริยาหรือสามีของกรรมการหรือผู้จัดการ กู้ยืมเงิน

(๒) รับหุ้นของธนาคารเองเป็นประกัน

               (๓) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กรรมการ ผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร เป็นค่านายหน้า หรือค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องแต่การกระทำหรือการประกอบธุรกิจใด ๆ ของธนาคาร  ทั้งนี้ นอกจากเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ซึ่งพึงจ่ายตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๖ และตามข้อบังคับของธนาคารที่ออกตามมาตรา ๑๘ (๖) และ (๘)

              (๔) ซื้อหรือมีไว้เป็นประจำซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินธุรกิจ หรือสำหรับผู้จัดการพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารใช้ประโยชน์ตามสมควร หรือเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จำนองไว้แก่ธนาคารจากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งของศาล

                บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารเนื่องจากการชำระหนี้ การประกันต้นเงินที่จ่ายให้กู้ยืมไป หรือเนื่องจากการที่ธนาคารได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จำนองไว้แก่ธนาคารจากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งของศาล จะต้องจำหน่ายภายในเก้าปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของธนาคาร หรือภายในกำหนดเวลากว่านั้นตามที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินธุรกิจ หรือสำหรับผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารใช้ประโยชน์

การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในวรรคก่อน ให้กระทำโดยวิธีขายทอดตลาด หรือโดยวิธีอื่นใดตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรและได้รับความเห็นชอบของรัฐมนตรี

หมวด ๓

การกำกับ การควบคุมและการจัดการ

                  

                มาตรา ๑๒  รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของธนาคารเพื่อประโยชน์ในการนี้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ธนาคารชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานเกี่ยวกับกิจการของธนาคาร และมีอำนาจตั้งบุคคลเพื่อตรวจสอบและรายงานกิจการและทรัพย์สินของธนาคาร แต่ไม่ว่าในกรณีใด รัฐมนตรีจะสั่งให้ตรวจสอบหรือรายงานเพื่อทราบกิจการหรือทรัพย์สินของเอกชนคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะที่มีหรือปรากฏอยู่ในธนาคารมิได้

               เมื่อรัฐมนตรีได้รับรายงานจากผู้ตรวจสอบแล้ว ถ้าเห็นว่าการดำเนินงานของธนาคารขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีหรืออยู่ในลักษณะอันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ธนาคารหรือแก่ประโยชน์ของประชาชน รัฐมนตรีมีอำนาจยับยั้งหรือสั่งแก้ไขการดำเนินงานของธนาคารได้

มาตรา ๑๓  ในกรณีที่ธนาคารจะต้องเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการนำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี

                มาตรา ๑๔  ให้มีคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบคน ในจำนวนนี้ให้มีผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงเกษตร และผู้แทนกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ รวมอยู่ด้วย  ทั้งนี้ ไม่รวมผู้จัดการซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ หรือกรรมการ ให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี ผู้ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระจะแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ หรือกรรมการอีกก็ได้

มาตรา ๑๕  ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ หรือกรรมการ

(๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร

(๒) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

(๓) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

มาตรา ๑๖  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๔ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕

                 เมื่อประธานกรรมการ รองประธานกรรมการหรือกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการหรือกรรมการแทน ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนนี้ให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน

               มาตรา ๑๗  การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าในการประชุมครั้งใดประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ (๔) มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๑๘  ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการของธนาคาร อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) การออกข้อบังคับว่าด้วยหุ้นของธนาคาร

(๒) การออกข้อบังคับว่าด้วยการค้ำประกันเงินกู้ตามมาตรา ๑๐ (๒)

(๓) การออกข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจของผู้จัดการให้แก่พนักงานของธนาคารตามมาตรา ๒๓

(๔) การออกข้อบังคับว่าด้วยการให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร กู้เงินธนาคารตามมาตรา ๓๑

(๕) การออกข้อบังคับว่าด้วยการขายหรือขายลดช่วงตั๋วเงินแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ตามมาตรา ๓๓

(๖) การออกข้อบังคับกำหนดอัตราตำแหน่ง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่ารับรองและเงินเพิ่มอย่างอื่นสำหรับพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร

(๗) การออกข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน การถอดถอน วินัย การสอบสวนและการลงโทษ สำหรับพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร

(๘) การออกข้อบังคับว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว

(๙) การตั้งสาขาหรือตัวแทนของธนาคาร

(๑๐) การออกข้อบังคับเกี่ยวกับธุรกิจอื่น ๆ ของธนาคาร

มาตรา ๑๙  ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา ๒๐  ให้ธนาคารมีผู้จัดการหนึ่งคน

                ผู้จัดการต้องมีสัญชาติไทย ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ มีความรู้หรือความจัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการธนาคาร การเศรษฐกิจ การเกษตร การสหกรณ์หรือกฎหมาย และสามารถทำงานให้แก่ธนาคารได้เต็มเวลา

ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้จัดการและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้จัดการด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

ผู้จัดการได้รับเงินเดือน ค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่ารับรอง หรือเงินเพิ่มอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๑  ผู้จัดการย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดจากสัญชาติไทยหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ หรือ

               (๔) คณะกรรมการให้ออกเพราะหย่อนความสามารถหรือบกพร่องต่อหน้าที่มีมลทินมัวหมองหรือทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ มติให้ผู้จัดการออกต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดนอกจากผู้จัดการ

การให้ผู้จัดการออกตาม (๔) ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐมนตรี

มาตรา ๒๒  ผู้จัดการมีหน้าที่บริหารกิจการของธนาคารให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับของธนาคาร และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของธนาคารทุกตำแหน่ง

ผู้จัดการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของธนาคาร

มาตรา ๒๓  ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้จัดการเป็นผู้แทนธนาคาร เพื่อการนี้ ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้พนักงานของธนาคารผู้ใดปฏิบัติกิจการใดแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร

มาตรา ๒๔  ผู้จัดการมีอำนาจ

               (๑) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่งหรือเงินเดือน ลงโทษทางวินัย หรือถอดถอนพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร  ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร แต่ถ้าเป็นพนักงานตำแหน่งรองผู้จัดการ ที่ปรึกษา หัวหน้าฝ่ายหรือตำแหน่งซึ่งเทียบเท่าต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน

(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับวิธีดำเนินการของธนาคารและการปฏิบัติงานของพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร ทั้งนี้โดยไม่ขัดหรือแย้งกับนโยบายหรือข้อบังคับของธนาคาร

                มาตรา ๒๕  เมื่อตำแหน่งผู้จัดการว่างลง หรือผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราว ให้รองผู้จัดการเป็นผู้รักษาการแทนหรือทำการแทนผู้จัดการ แต่ถ้าไม่มีรองผู้จัดการ หรือรองผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานของธนาคารคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนหรือทำการแทนผู้จัดการ แล้วแต่กรณี

ให้ผู้รักษาการแทนหรือทำการแทนผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้จัดการ

มาตรา ๒๖  ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ พนักงานและลูกจ้าง อาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

หมวด ๔

การประชุมใหญ่

                  

มาตรา ๒๗  ให้มีการประชุมใหญ่สามัญของผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้ง ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน เพื่อกิจการดังต่อไปนี้

(๑) พิจารณาอนุมัติงบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน

(๒) พิจารณาอนุมัติการจัดสรรกำไรสุทธิในปีหนึ่ง ๆ ของธนาคารตามที่คณะกรรมการเสนอ

(๓) พิจารณารายงานกิจการประจำปีของธนาคาร

(๔) พิจารณาตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี

(๕) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ

มาตรา ๒๘  คณะกรรมการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร

มาตรา ๒๙  องค์ประชุมใหญ่สามัญและวิสามัญ จะต้องประกอบด้วยผู้ถือหุ้นหรือผู้แทนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่ายี่สิบคนและมีจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนหุ้นที่มีผู้ถือแล้ว

                มาตรา ๓๐  ในการประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่เกี่ยวกับระเบียบการประชุม การลงคะแนน และสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมวด ๕

การให้กู้เงิน

                  

              มาตรา ๓๑  การให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร กู้เงินธนาคาร ให้เป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร ในข้อบังคับนั้นให้กำหนดลักษณะของผู้กู้ วัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาของการชำระเงินกู้ จำนวนขั้นสูงของเงินกู้ การให้มีหรือการยกเว้นหลักประกันเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การชำระหนี้เงินกู้และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๓๒  สังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ผู้กู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยใช้เงินกู้จากธนาคารและในเอกสารการกู้นั้นได้ระบุห้ามการโอน จำนองหรือจำนำไว้ ผู้กู้จะโอน จำนองหรือจำนำทรัพย์สินนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากธนาคาร

หมวด ๖

การจัดหาเงินทุน

                  

มาตรา ๓๓  ในการจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินงานของธนาคารให้ธนาคารมีอำนาจ

(๑) กู้ยืมเงินตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

                (๒) ออกหุ้นกู้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรและด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ในการนี้ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๒๓๓ มาตรา ๑๒๓๔ และมาตรา ๑๒๓๕แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่หุ้นกู้ของธนาคารโดยอนุโลมเว้นแต่การจดทะเบียน

(๓) ขายหรือขายลดช่วงตั๋วเงินแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ตามข้อบังคับของธนาคาร

มาตรา ๓๔  จำนวนหนี้สินทั้งหมดของธนาคารตามมาตรา ๓๓ (๑) และ (๒) ต้องไม่เกินยี่สิบเท่าของจำนวนเงินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว เงินสำรอง และกำไรสะสม

               ในการคำนวณหนี้สินตามความในวรรคก่อน ถ้าเป็นหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยโดยเทียบจากค่าเสมอภาคของเงินตราสกุลนั้นในวันใช้บังคับสัญญากู้ยืมเงินที่ก่อให้เกิดหนี้สินนั้น

หมวด ๗

การจัดสรรกำไร

                  

มาตรา ๓๕  กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรเพื่อจ่ายโบนัสตามมาตรา ๒๖ ให้โอนเข้าบัญชีกำไรสะสม

มาตรา ๓๖  ห้ามมิให้ธนาคารจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไรสะสม

มาตรา ๓๗  ทุกคราวที่ธนาคารจ่ายเงินปันผล ให้ธนาคารจัดสรรกำไรสะสมไว้เป็นเงินสำรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินปันผลที่จ่าย

เมื่อเงินสำรองตามวรรคก่อนมีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้วหรือมากกว่านั้น ธนาคารจะงดการจัดสรรหรือลดจำนวนเงินที่จะต้องจัดสรรเป็นเงินสำรองก็ได้

หมวด ๘

การสอบบัญชีและรายงาน

                  

มาตรา ๓๘  ให้คณะกรรมการจัดให้มีการสอบบัญชีของธนาคารอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการตั้งผู้สอบบัญชีเพื่อสอบบัญชีของธนาคารประจำปีปฏิทินแรก

                 มาตรา ๓๙  ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินให้คณะกรรมการเสนองบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน ซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณา และให้คณะกรรมการเสนอรายงานกิจการประจำปีของธนาคารต่อที่ประชุมใหญ่พร้อมกันด้วย

                มาตรา ๔๐  ให้ธนาคารเสนอรายงานกิจการประจำปี งบดุลบัญชีกำไรและขาดทุน ที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่แล้วต่อคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน รายงานนั้นให้กล่าวถึงผลงานของธนาคารในปีที่ล่วงแล้ว คำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของธนาคารและแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไป

หมวด ๙

บทเบ็ดเสร็จ

                  

มาตรา ๔๑  ให้ธนาคารได้รับยกเว้นการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

มาตรา ๔๒  ในการชำระบัญชีธนาคาร ให้จ่ายคืนค่าหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นอื่นก่อนกระทรวงการคลัง

หมวด ๑๐

บทกำหนดโทษ

                  

มาตรา ๔๓  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ถนอม  กิตติขจร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ในการส่งเสริมพัฒนาการเกษตรของประเทศ จำเป็นต้องจัดให้ความช่วยเหลือทางการเงินอันเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งเพื่อเกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้การเกษตร การให้ความช่วยเหลือเช่นนั้นควรจัดขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในด้านเกษตรกรโดยตรง และในด้านกลุ่มเกษตรกร กับสหกรณ์การเกษตรการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือทางการเงินในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ควรอยู่ภายใต้การควบคุมเป็นระบบเดียวกันเพื่อให้ได้ผลมั่นคงและสะดวกในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม ฉะนั้น จึงสมควรจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขึ้นเป็นสถาบันในระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวนี้

ดวงใจ/แก้ไข

๒๙ ต.ค. ๔๔

A+B (C)

ปัญญา/ตรวจ

๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๓/ตอนที่ ๖๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๒๐ กรกฎาคม ๒๕๐๙