พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัติ

แร่ (ฉบับที่ ๔)

พ.ศ. ๒๕๓๔

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยแร่

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “แร่” และคำว่า “ทำเหมือง” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                ““แร่” หมายความว่า ทรัพยากรธรณีที่เป็นอนินทรียวัตถุ มีส่วนประกอบทางเคมีกับลักษณะทางฟิสิกส์แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย ไม่ว่าจะต้องถลุงหรือหลอมก่อนใช้หรือไม่ และหมายความรวมตลอดถึงถ่านหิน หินน้ำมัน หินอ่อน โลหะและตะกรันที่ได้จากโลหกรรม น้ำเกลือใต้ดิน หินซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทรายซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงน้ำ เกลือสินเธาว์ ลูกรัง หิน ดินหรือทราย

                  “ทำเหมือง” หมายความว่า การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี แต่ไม่รวมถึงการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินตามหมวด ๕ ทวิ และการขุดหาแร่รายย่อยหรือการร่อนแร่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา ๔  ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “น้ำเกลือใต้ดิน” ระหว่างคำว่า “แร่” และคำว่า “สำรวจแร่” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “ขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน” ระหว่างคำว่า “ทำเหมือง” และคำว่า “ขุดหาแร่รายย่อย” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ ดังต่อไปนี้

““น้ำเกลือใต้ดิน” หมายความว่า น้ำเกลือที่มีอยู่ใต้ดินตามธรรมชาติและมีความเข้มข้นของเกลือในปริมาณมากกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน” หมายความว่า การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำเกลือใต้ดิน แต่ไม่รวมถึงการทำเหมืองแร่เกลือหินด้วยวิธีเหมืองละลายแร่”

มาตรา ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓ ตรี) ของมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

“(๓ ตรี) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ได้มาซึ่งน้ำเกลือใต้ดินโดยการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินตลอดถึงการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน”

มาตรา ๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๕ ทวิ การขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน มาตรา ๙๑ ทวิ มาตรา ๙๑ ตรี มาตรา ๙๑ จัตวา มาตรา ๙๑ เบญจ มาตรา ๙๑ ฉ มาตรา ๙๑ สัตต และมาตรา ๙๑ อัฏฐ แห่งพระราชบัญญัติ แร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“หมวด ๕ ทวิ

การขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน

                  

 

มาตรา ๙๑ ทวิ  ห้ามมิให้ผู้ใดขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินลึกกว่าระดับที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน

                 เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยส่วนตัวของประชาชนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดระดับความลึกของการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินให้ลึกกว่าระดับที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งได้ โดยต้องระบุเขตท้องที่และระดับความลึกให้ชัดเจนและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                 ภายใต้บังคับมาตรา ๙๑ ตรี ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย และให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน ในการอนุญาต ผู้ออกใบอนุญาตจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในใบอนุญาตก็ได้และให้ใบอนุญาตดังกล่าวมีอายุไม่เกินสามปีนับแต่วันที่ออก

                มาตรา ๙๑ ตรี  เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้มีการทรุดตัวของดินและในการป้องกันมิให้มีผลกระทบทางสภาวะสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดท้องที่ใดท้องที่หนึ่งเป็นเขตควบคุมการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน พร้อมทั้งกำหนดระดับความลึกขั้นต่ำที่จะมีการอนุญาตให้ขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน ในเขตควบคุมดังกล่าวนอกเหนือไปจากระดับความลึกตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๑ ทวิได้

การกำหนด การยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเขตควบคุมการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน และการกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงระดับความลึกขั้นต่ำที่ประกาศกำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินในเขตควบคุมการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย และให้อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินในเขตควบคุมดังกล่าว ในการอนุญาต ผู้ออกใบอนุญาตจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในใบอนุญาตก็ได้ และให้ใบอนุญาตดังกล่าวมีอายุไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ออก

               มาตรา ๙๑ จัตวา  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเขตที่ได้รับอนุญาตให้ขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินได้ทุกเวลาเพื่อตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาต และให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ครอบครองเขตที่ได้รับอนุญาตให้ขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินนั้นอำนวยความสะดวกตามควรแก่กรณี ในการนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ครอบครองให้จัดการป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นได้

               มาตรา ๙๑ เบญจ  ในกรณีที่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เห็นว่า การดำเนินการของผู้รับใบอนุญาต อาจเป็นอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน ให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือหยุดการกระทำนั้นได้ตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายนั้น

มาตรา ๙๑ ฉ  ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๑ บททั่วไป และหมวด ๒ คณะกรรมการมาใช้บังคับกับการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินตามหมวดนี้ โดยให้ถือเสมือนหนึ่งว่าใบอนุญาตขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินเป็นประทานบัตร

มิให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ ถึงหมวด ๑๑ มาใช้บังคับกับการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน น้ำเกลือใต้ดินและเกลือที่ได้มาจากน้ำเกลือใต้ดินตามหมวดนี้

                มาตรา ๙๑ สัตต  คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ จำนวนเนื้อที่ของแต่ละคำขอ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน การออกใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาตขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

                มาตรา ๙๑ อัฏฐ  ผู้รับใบอนุญาตขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ก่อนที่จะขนน้ำเกลือใต้ดินหรือเกลือที่ได้มาจากน้ำเกลือใต้ดินออกจากเขตที่ได้รับอนุญาตให้ขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่จะเป็นการขนไปยังสถานที่ที่ได้รับอนุญาตตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือสถานที่ที่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ได้อนุญาตในภายหลังแต่ต้องวางเงินประกันหรือจัดให้ธนาคารเป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าภาคหลวงไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายกำหนด

               ในกรณีที่มีการซื้อขายน้ำเกลือใต้ดินหรือเกลือที่ได้มาจากน้ำเกลือใต้ดินที่ตกเป็นของแผ่นดินแต่ยังมิได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ ผู้ซื้อต้องชำระค่าภาคหลวงแร่สำหรับน้ำเกลือใต้ดินหรือเกลือที่ได้มาจากน้ำเกลือใต้ดินดังกล่าวในขณะที่ซื้อ”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๓๓ ทวิ  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๑๗ (๓) (๓ ตรี) (๔) (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๓๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ หรือมาตรา ๙๑ ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                 ในกรณีที่การฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ เกิดขึ้นในเขตควบคุมแร่ หรือการฝ่าฝืนมาตรา ๙๑ ทวิ เกิดขึ้นในเขตควบคุมการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓๖ และมาตรา ๑๓๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๓๖  ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๔๘ มาตรา ๗๐ มาตรา ๙๑ จัตวา มาตรา ๑๑๗ หรือมาตรา ๑๒๔ ถ้าการกระทำนั้นไม่ถึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

               มาตรา ๑๓๗  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ตามมาตรา ๗๑ หรือมาตรา ๙๑ เบญจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท และรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรหรือใบอนุญาตขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินนั้นเสียได้”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์  ปันยารชุน

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันปรากฏว่าการทำเกลือด้วยวิธีการสูบน้ำเกลือใต้ดินได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องควบคุมมิให้มีการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินเพิ่มมากขึ้นและวางมาตรการกำหนดให้การขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินและการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดินต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และป้องกันมิให้มีผลกระทบทางสภาวะสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินดังกล่าว สมควรกำหนดให้น้ำเกลือใต้ดินอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยแร่ แต่ได้วางมาตรการเป็นพิเศษให้ผ่อนคลายลง สำหรับการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินเพื่อให้แตกต่างไปจากวิธีการทำเหมืองโดยทั่วไป  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พรพิมล/แก้ไข

๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

ฐิติพร/ปรับปรุง

๑๗ มกราคม ๒๕๕๖

พจนา/ตรวจ

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๑๔๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ สิงหาคม ๒๕๓๔