พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516

พระราชบัญญัติแร่

(ฉบับที่ ๒)

พ.ศ. ๒๕๑๖

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

เป็นปีที่ ๒๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยแร่

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้

                “แร่” หมายความว่า ทรัพยากรธรณีที่เป็นอนินทรียวัตถุมีส่วนประกอบทางเคมีกับลักษณะทางฟิสิกส์แน่นอน หรือเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย ไม่ว่าจะต้องถลุงหรือหลอมก่อนใช้หรือไม่ และหมายความรวมตลอดถึงถ่านหิน หินน้ำมัน หินอ่อน โลหะและตะกรันที่ได้จากโลหกรรมหินซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทราย ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม ทั้งนี้ไม่รวมถึงน้ำ เกลือสินเธาว์ ลูกรัง หิน ดินหรือทราย

“สำรวจแร่” หมายความว่า การเจาะหรือขุด หรือกระทำด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี เพื่อให้รู้ว่าในพื้นที่มีแร่อยู่หรือไม่เพียงใด

                 “ทำเหมือง” หมายความว่า การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี แต่ไม่รวมถึงการขุดหาแร่รายย่อยหรือการร่อนแร่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ขุดหาแร่รายย่อย” หมายความว่า การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่โดยใช้แรงคนแต่ละคนตามชนิดของแร่ ภายในท้องที่และวิธีการขุดหาแร่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ร่อนแร่” หมายความว่า การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่โดยใช้แรงคนแต่ละคนตามชนิดของแร่ ภายในท้องที่และวิธีการร่อนแร่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“แต่งแร่” หมายความว่า การกระทำอย่างใด ๆ เพื่อทำแร่ให้สะอาด หรือเพื่อให้แร่ที่ปนกันอยู่ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปแยกออกจากกัน และหมายความรวมตลอดถึงบดแร่ หรือคัดขนาดแร่

“ซื้อแร่” หมายความว่า การรับโอนแร่ด้วยประการใดจากบุคคลอื่นนอกจากการตกทอดทางมรดก

“ขายแร่” หมายความว่า การโอนแร่ด้วยประการใดไปยังบุคคลอื่น

                “โลหกรรม” หมายความว่า การถลุงแร่หรือการทำแร่ให้เป็นโลหะด้วยวิธีอื่นใด และหมายความรวมตลอดถึงการทำโลหะให้บริสุทธิ์ การผสมโลหะ การผลิตโลหะสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปชนิดต่าง ๆ โดยวิธีหลอม หล่อ รีด หรือวิธีอื่นใด

“เขตเหมืองแร่” หมายความว่า เขตพื้นที่ซึ่งกำหนดในประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร

“เขตแต่งแร่” หมายความว่า เขตพื้นที่ซึ่งระบุในใบอนุญาตแต่งแร่

“เขตโลหกรรม” หมายความว่า เขตพื้นที่ซึ่งระบุในใบอนุญาตประกอบโลหกรรม

“สถานที่เก็บแร่” หมายความว่า สถานที่ซึ่งระบุในใบอนุญาตเก็บแร่

“สถานที่พักแร่” หมายความว่า สถานที่ซึ่งระบุในใบอนุญาตขนแร่ให้นำแร่ไปเก็บพักไว้ได้

“อาชญาบัตรสำรวจแร่” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อสำรวจแร่ภายในท้องที่ซึ่งระบุในหนังสือสำคัญนั้น

“อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อผูกขาดสำรวจแร่ภายในเขตที่กำหนดในหนังสือสำคัญนั้น

“อาชญาบัตรพิเศษ” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อผูกขาดสำรวจแร่เป็นกรณีพิเศษภายในเขตที่กำหนดในหนังสือสำคัญนั้น

“ประทานบัตรชั่วคราว” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อทำเหมืองก่อนได้รับประทานบัตรภายในเขตที่กำหนดในหนังสือสำคัญนั้น

“ประทานบัตร” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อทำเหมืองภายในเขตที่กำหนดในหนังสือสำคัญนั้น

                “ที่ว่าง” หมายความว่า ที่ซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน และมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมิใช่ที่ดินในเขตที่มีการคุ้มครองหรือสงวนไว้ตามกฎหมาย

“มูลดินทราย” หมายความรวมถึง เปลือกดิน ทราย กรวด หรือหินที่เกิดจากการทำเหมือง

“ตะกรัน” หมายความว่า สารประกอบหรือสารพลอยได้อื่นใดที่เกิดจากการประกอบโลหกรรม

“ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่” หมายความว่า ทรัพยากรธรณีอำเภอหรือทรัพยากรธรณีจังหวัด แล้วแต่กรณี ถ้าในจังหวัดใดไม่มีทรัพยากรธรณีจังหวัดให้หมายความว่าอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่และเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้”

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๖  คำขอตามพระราชบัญญัตินี้ให้ทำตามแบบพิมพ์ที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด

                คุณสมบัติของผู้ขอ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรและใบอนุญาต ตลอดจนการต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตร ใบอนุญาตแต่งแร่และใบอนุญาตประกอบโลหกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

                ผู้ยื่นคำขอต้องเสียค่าคำขอและวางค่าธรรมเนียมล่วงหน้าพร้อมกับการยื่นคำขอ และต้องออกค่าใช้จ่ายหรือวางเงินล่วงหน้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดดำเนินการและการออกหรือต่ออายุอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ด้วย ถ้าได้มีการสั่งยกคำขอหรือไม่ได้รับอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตด้วยประการใด ค่าใช้จ่ายสำหรับกิจการที่ยังไม่ได้ดำเนินการนั้น ให้คืนให้แก่ผู้ยื่นคำขอ แต่ถ้าดำเนินการไปแล้วเป็นบางส่วนให้คืนให้เฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ

               ค่าธรรมเนียมล่วงหน้าที่ผู้ยื่นคำขอวางไว้ ถ้าได้มีการสั่งยกหรือถอนคำขอนั้น ผู้ยื่นคำขอต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับกิจการที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระในอัตราหนึ่งในสี่ของเงินที่วางไว้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการสั่งยกคำขอโดยมิใช่ความผิดของผู้ยื่นคำขอหรือผู้ยื่นคำขอตาย”

มาตรา ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖ ทวิ และมาตรา ๖ ตรี แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“มาตรา ๖ ทวิ  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใด ๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้

ภายในเขตที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ผู้ใดจะยื่นคำขออาชญาบัตรหรือประทานบัตรไม่ได้จนกว่ารัฐมนตรีจะได้ยกเลิกประกาศดังกล่าวนั้น

มาตรา ๖ ตรี  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่กรมทรัพยากรธรณีในการกระทำเพื่อประโยชน์แก่การสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๗  ถ้าอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย ให้ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่ทราบการสูญหายหรือการถูกทำลาย

                มาตรา ๘  ถ้าผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร หรือผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะตั้งผู้ใดไว้เพื่อติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่แทนตน ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาตต้องทำหนังสือมอบอำนาจและจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

การทำหนังสือมอบอำนาจและการจดทะเบียนให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่อธิบดีกำหนด

                มาตรา ๙  ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะติดต่อส่งหนังสือหรือคำสั่งแก่ผู้ยื่นคำขอ ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาต ถ้าไม่พบตัวบุคคลดังกล่าว หรือไม่มีผู้ใดยอมรับแทน ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งข้อความในหนังสือหรือคำสั่งนั้นแล้ว ในเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้

(๑) ส่งหนังสือหรือคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือ

(๒) ปิดหนังสือหรือคำสั่งไว้ในที่เห็นได้ง่าย ณ สำนักงาน ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลดังกล่าว โดยมีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นพยานในการนั้น”

มาตรา ๗  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

               “มาตรา ๙ ทวิ  เมื่อปรากฏในภายหลังว่าได้ออกอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ อธิบดีหรือรัฐมนตรีผู้ออกอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาต แล้วแต่กรณี มีอำนาจเรียกอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตดังกล่าวมาแก้ไขให้ถูกต้อง หรือเพิกถอนอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตนั้นเสียได้

                ในกรณีที่มีการแก้ไขหรือเพิกถอนอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามความในวรรคหนึ่ง ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาตจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากการแก้ไขหรือเพิกถอนอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรหรือใบอนุญาตนั้นไม่ได้”

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๐  ในกรณีที่ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ได้กระทำโดยตัวแทนหรือลูกจ้างซึ่งได้กระทำเพราะเหตุเป็นตัวแทนหรือลูกจ้าง หรือกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาต ไม่ว่าตัวแทนหรือลูกจ้างนั้นจะได้เป็นตัวแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจและจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ ให้ถือว่าผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาต เป็นตัวการในการกระทำความผิดนั้น

                มาตรา ๑๑  ในการสำรวจแร่หรือทำเหมือง ถ้าได้พบโบราณวัตถุ ซากดึกดำบรรพ์ หรือแร่พิเศษอันมีคุณค่าเกี่ยวกับการศึกษาในทางธรณีวิทยา นอกจากจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บได้ซึ่งวัตถุนั้นแล้ว ผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว หรือผู้ถือประทานบัตรจะต้องแจ้งการพบนั้นต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่โดยพลัน

                มาตรา ๑๒  ในเขตอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรือเขตเหมืองแร่หรือในเขตที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายหรือในเขตที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้กำหนดเขตเพื่อการดังกล่าวแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาต เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพพื้นที่หรือทรัพยากรในเขตนั้น เว้นแต่ผู้นั้นมีสิทธิทำเช่นนั้นได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

               มาตรา ๑๓  การฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ นอกจากเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายอื่นแล้ว ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาต แล้วแต่กรณี”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๗  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวง

(๑) กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้

(๒) กำหนดแบบพิมพ์อาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรและใบอนุญาต

(๓) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตร การอนุรักษ์แร่ และการทำเหมือง

(๔) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการซื้อแร่ การขายแร่ การเก็บแร่ การครอบครองแร่และการขนแร่

(๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการแต่งแร่ การประกอบโลหกรรม และการนำแร่เข้าหรือการส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักร

(๖) กำหนดวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอก

(๗) กำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”

มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๘  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมป่าไม้ หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมดังกล่าวมอบหมาย และบุคคลอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการกอง กองสัมปทาน กรมทรัพยากรธรณี เป็นกรรมการและเลขานุการ”

มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๑ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) รัฐมนตรีให้ออก

(๔) เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่คดีที่เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้

กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามวรรคสองอยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งตนแทน”

มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๕  ห้ามมิให้ผู้ใดสำรวจแร่ในที่ใด ไม่ว่าที่ซึ่งสำรวจแร่นั้นจะเป็นสิทธิของบุคคลใดหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ หรืออาชญาบัตรพิเศษ

               มาตรา ๒๖  นอกจากค่าธรรมเนียมการออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ ผู้ถืออาชญาบัตรนั้นต้องเสียค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ซึ่งได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษอีกต่างหาก และต้องชำระล่วงหน้า

การชำระค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ล่วงหน้าอาจได้รับผ่อนผันให้ชำระเป็นงวดโดยมีประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๗  อาชญาบัตรสำรวจแร่ อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ ให้ใช้ได้เฉพาะตัวผู้ถืออาชญาบัตรและให้คุ้มถึงลูกจ้างของผู้ถืออาชญาบัตรด้วย

มาตรา ๒๘  ผู้ใดประสงค์จะขออาชญาบัตรสำรวจแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เป็นผู้ออกอาชญาบัตรสำรวจแร่

อาชญาบัตรสำรวจแร่ให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันออก

ผู้ถืออาชญาบัตรสำรวจแร่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรสำรวจแร่

มาตรา ๒๙  ผู้ใดประสงค์จะขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

คำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่แต่ละคำขอจะขอได้ไม่เกินสองพันห้าร้อยไร่ เว้นแต่คำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ในทะเล

รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่

อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันออก

ผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่

                มาตรา ๓๐  การออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ในทะเล รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจกำหนดเนื้อที่ให้แก่ผู้ขอแต่ละบุคคลได้ไม่เกินห้าแสนไร่และกำหนดอายุอาชญาบัตรได้ไม่เกินสองปีนับแต่วันออก

                มาตรา ๓๑  ผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ต้องลงมือสำรวจแร่ภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ และต้องยื่นรายงานผลการดำเนินงาน และการสำรวจที่กระทำไปในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ตามแบบที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นกำหนดนั้น และต้องยื่นรายงานผลการดำเนินงานและการสำรวจที่ได้กระทำไปภายหลังนั้น ภายในสามสิบวันก่อนอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่สิ้นอายุ

รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจสั่งเพิกถอนอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่เสียได้ เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่

มาตรา ๓๒  อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ให้สิ้นสุดลงก่อนอายุที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรนั้น ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตาย

(๒) เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ซึ่งเป็นนิติบุคคลสิ้นสภาพนิติบุคคล

(๓) เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ขาดคุณสมบัติ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๖ วรรคสอง

(๔) เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ไม่รายงานผลการดำเนินงานและการสำรวจที่กระทำไปในรอบหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นกำหนดนั้น

(๕) เมื่อรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีคำสั่งเพิกถอนอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่นั้น นับแต่วันรับแจ้งคำสั่งเพิกถอน

มาตรา ๓๓  ผู้ใดประสงค์จะขออาชญาบัตรพิเศษ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

                ผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษต้องกำหนดข้อผูกพันสำหรับการสำรวจ โดยระบุปริมาณเงินที่จะใช้จ่ายเพื่อการสำรวจสำหรับแต่ละปีตลอดอายุของอาชญาบัตรพิเศษ และจะเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐในกรณีที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษด้วยก็ได้

คำขออาชญาบัตรพิเศษแต่ละคำขอจะขอได้ไม่เกินหนึ่งหมื่นไร่

รัฐมนตรีเป็นผู้ออกอาชญาบัตรพิเศษ

อาชญาบัตรพิเศษให้มีอายุไม่เกินสามปีนับแต่วันออก

ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อผูกพันสำหรับการสำรวจของแต่ละปีที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรพิเศษ

                มาตรา ๓๔  เมื่อได้รับคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ หรืออาชญาบัตรพิเศษแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้กำหนดเขตพื้นที่อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ การกำหนดเขตพื้นที่ดังกล่าว จะกระทำโดยการรังวัดหรือวิธีอื่นก็ได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่มีการกำหนดเขตโดยการรังวัด ให้ผู้ยื่นคำขอหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้นำรังวัดตามวัน เวลา และสถานที่ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดเป็นหนังสือ

อธิบดีมีอำนาจสั่งยกคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรือคำขออาชญาบัตรพิเศษเสียได้ เมื่อผู้ยื่นคำขอ

(๑) ขาดนัดในการนำรังวัดตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๒) ละเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งในการดำเนินการตามความจำเป็นเพื่อออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ หรือ

(๓) กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติบทหนึ่งบทใดในหมวด ๓ หรือหมวด ๔ หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำเช่นว่านั้น

มาตรา ๓๕  อาชญาบัตรพิเศษจะออกทับเขตเนื้อที่ซึ่งมีผู้ได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรอยู่แล้วมิได้

                ถ้ามีเขตเนื้อที่ซึ่งมีผู้ได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรอยู่แล้วในเขตคำขอ การออกอาชญาบัตรพิเศษจะกระทำได้โดยกันเขตเนื้อที่ซึ่งมีผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรอยู่แล้วในเขตคำขอนั้นออก

                มาตรา ๓๖  เมื่อสิ้นรอบปีข้อผูกพันใด ถ้าผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษยังปฏิบัติตามข้อผูกพันตามมาตรา ๓๓ สำหรับการสำรวจในรอบปีนั้นไม่ครบถ้วน ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต้องจ่ายเงินเท่ากับจำนวนที่ยังมิได้ใช้จ่ายเพื่อการสำรวจในรอบปีข้อผูกพันนั้นให้แก่กรมทรัพยากรธรณีภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นรอบปีข้อผูกพันดังกล่าว

                ในการสำรวจถ้าผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษได้ใช้จ่ายในรอบปีข้อผูกพันใดเกินข้อผูกพันที่กำหนดไว้สำหรับรอบปีข้อผูกพันนั้น ให้มีสิทธิหักปริมาณเงินส่วนที่เกินออกจากข้อผูกพันสำหรับการสำรวจในรอบปีข้อผูกพันปีต่อไปได้

                 มาตรา ๓๗  ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษซึ่งได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการสำรวจเงื่อนไขและข้อผูกพันสำหรับการสำรวจตามที่กำหนดในอาชญาบัตรพิเศษทุกประการแล้ว จะขอต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษก็ได้ โดยยื่นคำขอก่อนอาชญาบัตรพิเศษสิ้นอายุไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน รัฐมนตรีจะต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษให้อีกก็ได้เป็นเวลาไม่เกินสองปีภายใต้ข้อกำหนด ข้อผูกพันและเงื่อนไขตามที่รัฐมนตรีกำหนด

ในการขอต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษ ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษอาจขอคืนพื้นที่บางส่วนที่ไม่ประสงค์จะสำรวจก็ได้”

มาตรา ๑๓  ให้ยกเลิกมาตรา ๓๘ และมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๔๐  ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต้องลงมือสำรวจแร่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับอาชญาบัตรพิเศษ และต้องรายงานผลการดำเนินงานและการสำรวจให้กรมทรัพยากรธรณีทราบทุกรอบระยะเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันได้รับอาชญาบัตรพิเศษนั้น

มาตรา ๔๑  รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนอาชญาบัตรพิเศษนั้นเสียได้ เมื่อผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ วรรคหก หรือมาตรา ๔๐”

มาตรา ๑๕  ให้ยกเลิกมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

มาตรา ๑๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๓  ห้ามมิให้ผู้ใดทำเหมืองในที่ใดไม่ว่าที่ซึ่งทำเหมืองนั้นจะเป็นสิทธิของบุคคลใดหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร

มาตรา ๔๔  ผู้ใดประสงค์จะขอประทานบัตรให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ พร้อมกับหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าพบแร่หรือมีแร่ชนิดที่ประสงค์จะเปิดการทำเหมืองอยู่ในเขตคำขอนั้น

คำขอประทานบัตรแต่ละคำขอจะขอได้เขตหนึ่งไม่เกินสามร้อยไร่ เว้นแต่คำขอประทานบัตรทำเหมืองในทะเล”

มาตรา ๑๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๔๖  ในเขตเนื้อที่ซึ่งได้มีผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ ผู้อื่นจะยื่นคำขอประทานบัตรมิได้ เว้นแต่ผู้อื่นนั้นเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา ๔๗  เมื่อได้รับคำขอประทานบัตรแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้กำหนดเขตพื้นที่ประทานบัตร การกำหนดเขตพื้นที่ดังกล่าวจะกระทำโดยการรังวัดหรือวิธีอื่นก็ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่มีการกำหนดเขตโดยการรังวัด ให้ผู้ยื่นคำขอหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้นำรังวัดตามวัน เวลา และสถานที่ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดเป็นหนังสือ

อธิบดีมีอำนาจสั่งยกคำขอประทานบัตรเสียได้เมื่อผู้ยื่นคำขอ

(๑) ขาดนัดในการนำรังวัดตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๒) ละเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งในการดำเนินการตามความจำเป็นเพื่อออกประทานบัตร

(๓) กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติบทหนึ่งบทใดในหมวด ๓ หรือหมวด ๔ หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำเช่นว่านั้น หรือ

(๔) เมื่อปรากฏว่าแร่ชนิดที่ประสงค์จะเปิดการทำเหมืองในเขตคำขอมีไม่เพียงพอที่จะเปิดการทำเหมืองได้”

มาตรา ๑๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๔๙  เมื่อได้กำหนดเขตแล้ว ให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ประกาศการขอประทานบัตรของผู้ยื่นคำขอ โดยปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ ที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ และที่ทำการกำนันแห่งท้องที่ซึ่งขอประทานบัตรแห่งละหนึ่งฉบับ เมื่อไม่มีผู้โต้แย้งภายในยี่สิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่จะได้ดำเนินการสำหรับคำขอนั้นต่อไป”

มาตรา ๑๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๑  เมื่อได้กำหนดเขตแล้ว ถ้าผู้ยื่นคำขอประทานบัตรประสงค์จะลงมือทำเหมืองก่อนได้รับประทานบัตร ให้ยื่นคำขอรับประทานบัตรชั่วคราวต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกประทานบัตรชั่วคราว

ประทานบัตรชั่วคราวให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันออก ในกรณีที่มีคำสั่งยกคำขอประทานบัตรตามมาตรา ๔๗ วรรคสาม ให้ประทานบัตรชั่วคราวสิ้นอายุนับแต่วันสั่งยกคำขอนั้น

ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้เช่นเดียวกับผู้ถือประทานบัตร

                การโอนประทานบัตรชั่วคราวจะกระทำมิได้ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถก็ให้ทายาทหรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี เป็นผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวต่อไป และให้นำมาตรา ๘๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อมีการออกประทานบัตร ก็ให้ออกประทานบัตรให้แก่ทายาท หรือให้แก่ผู้อนุบาลถือไว้แทนผู้ยื่นคำขอ”

มาตรา ๒๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๓  รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราวได้ในกรณีที่มีเหตุที่จะเพิกถอนประทานบัตรตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้น

เมื่อรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายได้สั่งเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราวรายใดแล้ว ให้คำขอประทานบัตรรายนั้นเป็นอันตกไป”

มาตรา ๒๑  ให้ยกเลิกความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ประทานบัตรให้มีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีนับแต่วันออก และในกรณีที่ผู้ขอประทานบัตรได้รับประทานบัตรชั่วคราวอยู่ก่อนแล้ว ให้นับอายุประทานบัตรเริ่มต้นแต่วันออกประทานบัตรชั่วคราวฉบับแรก

ในกรณีที่อายุของประทานบัตรชั่วคราวรายใดที่ได้ออกให้แล้วรวมกันมากกว่ากำหนดอายุของประทานบัตรที่จะออกให้ ก็ให้งดการออกประทานบัตรรายนั้น”

มาตรา ๒๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๕๕  นอกจากค่าธรรมเนียมการออกประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวหรือผู้ถือประทานบัตรต้องเสียค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ในการทำเหมืองตามจำนวนเนื้อที่ตลอดเขตเหมืองแร่อีกต่างหาก และต้องชำระล่วงหน้าแต่ละปี”

มาตรา ๒๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๕๘  การเตรียมการเพื่อการทำเหมือง เช่น การปลูกสร้างอาคาร ขุดทางน้ำ ทำทำนบหรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในเขตเหมืองแร่เพื่อประโยชน์แก่การทำเหมืองรวมถึงการก่อสร้างหรือติดตั้งเครื่องทุ่นแรง ให้ถือว่าเป็นการทำเหมือง”

มาตรา ๒๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ของมาตรา ๖๐ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ถือประทานบัตรในระยะเวลาหนึ่งปีแรกนับแต่วันได้รับประทานบัตร หากได้รับการยกเว้นตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา ๒๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๖๑  ถ้าผู้ถือประทานบัตรไม่สามารถทำเหมืองตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๐ เนื่องจากมีเหตุขัดข้องอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ก็ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตหยุดการทำเหมืองตลอดทั้งเขตหรือบางส่วนของเขตเหมืองแร่ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่จะออกใบอนุญาตหยุดการทำเหมืองให้ผู้ถือประทานบัตรได้คราวละไม่เกินหนึ่งปี”

มาตรา ๒๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗๕  ประทานบัตรให้ใช้ได้เฉพาะตัวผู้ถือประทานบัตรและให้คุ้มถึงลูกจ้างของผู้ถือประทานบัตรด้วย”

มาตรา ๒๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙๒  ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อแร่เพื่อประกอบธุรกิจ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตซื้อแร่จากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่

(๑) การซื้อแร่จากผู้รับใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย

(๒) การซื้อโลหะที่ได้จากโลหกรรม

(๓) การซื้อแร่ตามชนิดและสภาพของแร่ที่แต่งจนสามารถนำไปผสมกับวัตถุอื่น หรือนำไปประกอบกิจการสำเร็จรูปได้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

มาตรา ๒๘  ให้ยกเลิกความใน (๑) วรรคหนึ่งของมาตรา ๙๘ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “(๑) มอบเอกสารตามแบบพิมพ์ของกรมทรัพยากรธรณีให้เพื่อแสดงว่าแร่ที่ขายนั้นเป็นแร่ที่ได้มาโดยประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรเลขที่เท่าใด และมีลายมือชื่อของผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวหรือของผู้ถือประทานบัตรนั้น หรือของตัวแทนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ในเอกสารนั้น”

มาตรา ๒๙  ให้ยกเลิกความใน (๑) ของมาตรา ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “(๑) ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว หรือผู้ถือประทานบัตรหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าวซึ่งได้จดทะเบียนไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ ขายแร่ที่ได้มาจากการทำเหมืองตามประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรนั้น”

มาตรา ๓๐  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

                “มาตรา ๑๐๓ ทวิ  เมื่อรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดชนิดแร่ที่มีราคาต่ำหรือทั้งชนิดและปริมาณแร่ที่มีราคาต่ำ ที่จะให้ผู้ซื้อ ผู้ขายหรือผู้เก็บได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ได้ แต่ต้องเป็นแร่ที่ได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ครบถ้วนตามมาตรา ๑๐๔ แล้ว”

มาตรา ๓๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๔ และมาตรา ๑๐๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๐๔  ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ หรือผู้ประกอบโลหกรรม ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ให้ครบถ้วนตามปริมาณแร่ก่อนที่จะขนแร่ออกจากเขตเหมืองแร่

(๒) ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ได้ซื้อแร่จากผู้รับใบอนุญาตร่อนแร่ ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ที่ซื้อในเดือนที่แล้วมาภายในวันที่ห้าของเดือนถัดจากเดือนที่ซื้อ

              (๓) ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร หรือผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ที่ซื้อแร่จากผู้รับใบอนุญาตร่อนแร่ ขนแร่ไปยังเขตแต่งแร่หรือเขตโลหกรรมของตนเองหรือเขตแต่งแร่หรือเขตโลหกรรมของบุคคลอื่นซึ่งอธิบดีให้ความเห็นชอบแล้ว บุคคลดังกล่าวจะขอผัดการชำระค่าภาคหลวงแร่ไว้ก่อนจนกว่าจะแต่งแร่หรือประกอบโลหกรรมนั้นแล้วเสร็จก็ได้ แต่ต้องวางเงินประกันหรือจัดให้ธนาคารซึ่งอธิบดีเห็นชอบเป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าภาคหลวงแร่ไว้ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ ตามที่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่กำหนด

               (๔) ในกรณีที่ตะกรันมีสารชนิดอื่นที่ยังมิได้เรียกเก็บค่าภาคหลวงแร่มาก่อนเจือปนอยู่เกินปริมาณที่อธิบดีกำหนด ผู้ประกอบโลหกรรมต้องชำระค่าภาคหลวงแร่สำหรับสารที่เจือปนตามปริมาณที่คำนวณได้ให้ครบถ้วนก่อนที่จะขนตะกรันนั้นออกจากเขตโลหกรรม

มาตรา ๑๐๕  ห้ามมิให้ผู้ใดมีแร่ไว้ในครอบครองแต่ละชนิดเกินสองกิโลกรัม เว้นแต่

(๑) เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครอง หรือเป็นแร่ที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๑๐๓ ทวิ

(๒) เป็นแร่ที่ได้มาจากการสำรวจแร่เพื่อนำไปวิเคราะห์หรือวิจัยไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตร

(๓) ในเขตเหมืองแร่

(๔) ในสถานที่เก็บแร่ตามใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่

(๕) ในระหว่างขนแร่หรือในสถานที่พักแร่ตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตขนแร่

(๖) ในสถานที่ซื้อแร่ตามใบอนุญาตซื้อแร่

(๗) เป็นแร่ในเขตแต่งแร่หรือเขตโลหกรรมซึ่งได้มาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตแต่งแร่ หรือใบอนุญาตประกอบโลหกรรม

(๘) เป็นแร่ที่ได้มาตามใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย หรือใบอนุญาตร่อนแร่ หรือได้มาตาม (๓) วรรคสองของมาตรา ๙๒

(๙) เป็นแร่ที่มีไว้ในครอบครองเพื่อการศึกษาหรือวิจัยของสถานวิจัยของเอกชนที่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี ส่วนราชการ องค์การของรัฐหรือสถาบันการศึกษา

(๑๐) เป็นแร่ที่อธิบดีอนุญาตเป็นหนังสือให้มีไว้ในครอบครองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย หรือ

(๑๑) เป็นแร่ในสภาพวัตถุสำเร็จรูปที่เป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ ปฏิมากร หรือผลผลิตจากกรรมวิธีของโลหกรรมหรืออุตสาหกรรม”

มาตรา ๓๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๘ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๐๘ ห้ามมิให้ผู้ใดขนแร่ในที่ใด เว้นแต่

(๑) เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตขนแร่ หรือเป็นแร่ที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๑๐๓ ทวิ

(๒) เป็นแร่ที่ได้รับมาจากการสำรวจแร่เพื่อนำไปวิเคราะห์หรือวิจัยไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตร

(๓) เป็นการขนแร่ในเขตเหมืองแร่ เขตแต่งแร่ เขตโลหกรรม ภายในสถานที่ซื้อแร่ตามใบอนุญาตซื้อแร่ สถานที่เก็บแร่หรือสถานที่พักแร่

(๔) ในกรณีขนแร่ของผู้รับใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย หรือผู้รับใบอนุญาตร่อนแร่ หรือผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่นอกสถานที่

(๕) เป็นแร่ของเจ้าของแร่ ซึ่งแร่นั้นได้มาตาม (๑) หรือ (๓) วรรคสอง ของมาตรา ๙๒

(๖) เป็นแร่ที่ขนแต่ละชนิดไม่เกินสองกิโลกรัม

(๗) เป็นแร่เพื่อการศึกษาหรือวิจัยของสถานวิจัยของเอกชนที่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี ส่วนราชการ องค์การของรัฐหรือสถาบันการศึกษา

(๘) เป็นแร่ในสภาพวัตถุสำเร็จรูปที่เป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ ปฏิมากร หรือผลผลิตจากกรรมวิธีของอุตสาหกรรม

(๙) เป็นแร่ที่อธิบดีอนุญาตเป็นหนังสือให้ขนเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย หรือ

(๑๐) เป็นโลหะที่ได้จากโลหกรรม นอกจากเป็นการขนออกจากเขตโลหกรรม”

มาตรา ๓๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๔ และมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๑๔  ห้ามมิให้ผู้ใดแต่งแร่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ หรือเป็นผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว หรือผู้ถือประทานบัตรซึ่งแต่งแร่ภายในเขตเหมืองแร่

ให้นำมาตรา ๑๑๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๑๕  ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตแต่งแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตแต่งแร่และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ในใบอนุญาตก็ได้

ใบอนุญาตแต่งแร่ให้มีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาตแต่ไม่เกินสามปีนับแต่วันออก และจะต่ออายุก็ได้ครั้งละไม่เกินสามปีนับแต่วันต่อ

ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตแต่งแร่นั้น”

มาตรา ๓๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๓๓ ทวิ และมาตรา ๑๓๓ ตรี แห่งพระราชบัญญัติ แร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“มาตรา ๑๓๓ ทวิ  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๑๗ (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา ๑๓๓ ตรี  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๓๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๓๔  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่งหรือมาตรา ๔๐ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๒๘ วรรคสี่ หรือมาตรา ๓๓ วรรคหก ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท”

มาตรา ๓๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓๘ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๓๘  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๔ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๕๙ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ หรือมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรนั้นเสียได้”

มาตรา ๓๗  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๓๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“มาตรา ๑๓๘ ทวิ  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรนั้นเสียได้”

มาตรา ๓๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๓ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๓  การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบได้”

มาตรา ๓๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๕๔  บรรดาแร่ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มา ได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๓๓ มาตรา ๑๓๓ ตรี มาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๓๘ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๗ มาตรา ๑๔๘ หรือมาตรา ๑๕๒ ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด”

มาตรา ๔๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๕๕  ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๓๓ ตรี มาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๗ มาตรา ๑๔๘ หรือมาตรา ๑๕๒ เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับ และเงินรางวัลแก่ผู้จับ ร้อยละห้าสิบจากจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ แต่ในกรณีที่มิได้ริบของกลางหรือของกลางไม่อาจจำหน่ายได้ ให้หักจ่ายร้อยละห้าสิบจากเงินค่าปรับ ส่วนรายที่ไม่มีผู้นำจับ ให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลแก่ผู้จับร้อยละสามสิบ

ในกรณีที่คดีเสร็จเด็ดขาดโดยการเปรียบเทียบคดีอาญา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เปรียบเทียบดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลตามวรรคหนึ่ง

                การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลตามวรรคหนึ่ง ให้แบ่งจ่ายแก่ฝ่ายผู้นำจับและฝ่ายผู้จับฝ่ายละเท่า ๆ กัน ถ้าผู้นำจับหรือผู้จับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหลายคน ให้จ่ายเงินสินบนหรือเงินรางวัลแก่บุคคลในฝ่ายนั้นคนละเท่า ๆ กัน”

มาตรา ๔๑  ให้ยกเลิกบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้บัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

               มาตรา ๔๒  บรรดาคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีอำนาจออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ให้แก่ผู้ยื่นคำขอตามจำนวนเนื้อที่ที่ระบุไว้ในคำขอนั้นได้

               มาตรา ๔๓  บรรดาอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ที่มิใช่แร่เหล็กหรือใบอนุญาตทำเหมืองชั่วคราวที่ได้ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรือประทานบัตรชั่วคราวที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะสิ้นอายุ แม้ว่าเนื้อที่ตามอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ที่มิใช่แร่เหล็กนั้นจะเกินกว่าเนื้อที่สำหรับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่บนบกหรือในทะเลดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ก็ตาม

                ให้อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่เหล็กที่ได้ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุโดยให้นำมาตรา ๓๓ วรรคหก และมาตรา ๔๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ถือว่าเป็นอาชญาบัตรพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้

                ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ได้ออกตามกฎหมายว่าด้วยแร่และใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ถนอม  กิตติขจร

นายกรัฐมนตรี

บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม

เลขลำดับ

รายการ อัตราค่าธรรมเนียม

 

 

 

 

 

๑๐

 

 

 

 

 

๑๑

๑๒

๑๓

๑๔

 

๑๕

 

๑๖

๑๗

๑๘

๑๙

 

๒๐

 

๒๑

๒๒

 

๒๓

 

ค่าคำขอ                                                      ฉบับละ

ค่าอาชญาบัตรสำรวจแร่                                      ฉบับละ

ค่าอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่                              ฉบับละ

ค่าอาชญาบัตรพิเศษหรือค่าต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษ       ฉบับละ

ค่าประทานบัตรชั่วคราว                                     ฉบับละ

ค่าประทานบัตรหรือค่าต่ออายุประทานบัตร                แปลงละ

ค่าใบอนุญาตหรือค่าต่ออายุใบอนุญาต                       ฉบับละ

ค่าใช้เนื้อที่

(ก) ตามอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ

ทุก ๑ ไร่ หรือเศษของ ๑ ไร่                                ปีละ

(ข) ตามประทานบัตรหรือตามประทานบัตรชั่วคราว

ทุก ๑ ไร่ หรือเศษของ ๑ ไร่                                ปีละ

ค่ารังวัด ตามความยาวของระยะที่รังวัดทุก ๔๐ เมตร

หรือเศษของ ๔๐ เมตร

ค่าเขียนหรือจำลองแผนที่ ๕๐ ตารางเซนติเมตร แรก

หรือต่ำกว่า แต่ละแปลง

ทุก ๕๐ ตารางเซนติเมตรต่อไป หรือเศษของ

๕๐ ตารางเซนติเมตร

 

 

ค่าไต่สวน                                                     เรื่องละ

ค่าหลักหมายเขตเหมืองแร่                                    หลักละ

ค่าโอนประทานบัตร                                         แปลงละ

ค่าธรรมเนียมในค่าตอบแทนการโอนสิทธิทำเหมือง

ตามประทานบัตร                                              ร้อยละ

ค่าตรวจสอบ ทดลอง หรือวิเคราะห์ทางวิทยาการ

ตัวอย่างหนึ่ง ๆ แร่หรือธาตุหรือรายการละ

ค่าคัดสำเนาหรือถ่ายเอกสาร                                  หน้าละ

ค่ารับรองสำเนาเอกสาร                                      ฉบับละ

ค่าขอตรวจสอบเอกสารหลักฐาน                             เรื่องละ

ค่ากรอกแบบพิมพ์คำขอเมื่อผู้ประสงค์ยื่นคำขอ

ต้องการ                                                      ฉบับละ

ค่าใบแทนอาชญาบัตร ประธานบัตรชั่วคราว

ประทานบัตร หรือใบอนุญาต                                ฉบับละ

ค่าจดทะเบียนหนังสือมอบอำนาจ                            ฉบับละ

ค่าธรรมเนียมหยุดการทำเหมืองทุก ๑ ไร่

หรือเศษของ ๑ ไร่                                               ปีละ

ค่าธรรมเนียมการทดน้ำหรือชักน้ำ คำนวณตามปริมาณ

น้ำที่ใช้ทุกลูกบาศก์เมตร หรือเศษของลูกบาศก์เมตร

ต่อ ๑ นาที                                                       ปีละ

 

๒๐ บาท

๕๐ บาท

๓๐๐ บาท

๕๐๐ บาท

๕๐๐ บาท

๕๐๐ บาท

๕๐๐ บาท

 

 

๓ บาท

 

๑๐ บาท

 

๑๐ บาท

 

๒๐ บาท

 

๕ บาท

แต่ไม่เกินฉบับละ ๒๐๐ บาท

๕๐ บาท

๕๐ บาท

๑๕๐ บาท

 

๒ บาท

 

๕๐๐ บาท

๕ บาท

๑๐ บาท

๑๐ บาท

 

๕ บาท

 

๑๐๐ บาท

๒๐ บาท

 

๑๐ บาท

 

 

๑๐๐ บาท

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นเหตุให้ไม่อาจเร่งรัดและส่งเสริมการสำรวจแร่และการผลิตทรัพยากรธรณีอันมีค่าให้ได้ผลและอำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ และประกอบกับ ทั้งค่าธรรมเนียมบางรายการยังไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยแร่ให้รัดกุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

พรพิมล/แก้ไข

๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

ฐิติพร/ปรับปรุง

๑๖ มกราคม ๒๕๕๖

พจนา/ตรวจ

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๐/ตอนที่ ๙๕/หน้า ๒๖๕/๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๖