พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 พ.ศ. 2526

พระราชกำหนด

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

พ.ศ. ๒๕๒๖

                  

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖

เป็นปีที่ ๓๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยแร่

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ พ.ศ. ๒๕๒๖”

มาตรา ๒[๑]  พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                 มาตรา ๓  ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “สถานที่ฝากแร่” ระหว่างคำว่า “สถานที่เก็บแร่” และคำว่า “สถานที่พักแร่” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ ดังต่อไปนี้

““สถานที่ฝากแร่” หมายความว่า สถานที่ซึ่งรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นสถานที่ฝากแร่ตามมาตรา ๑๐๓ ตรี”

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙  หนังสือหรือคำสั่งที่มีถึงบุคคลใดเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งให้แก่บุคคลนั้นโดยตรง หรือส่งให้แก่

(๑) ผู้รับมอบอำนาจตามมาตรา ๘

(๒) ผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งอยู่ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักทำการงานของบุคคลนั้น หรือ

(๓) บุคคลนั้นโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานของบุคคลนั้น  ทั้งนี้ซึ่งได้จดแจ้งไว้ต่อทางราชการ

เมื่อได้ส่งหนังสือหรือคำสั่งให้แก่บุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือโดยวิธีการตาม (๓) ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รับหนังสือหรือคำสั่งนั้นแล้ว”

มาตรา ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐๓ ตรี แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

               “มาตรา ๑๐๓ ตรี  เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจในอันที่จะส่งเสริมการทำเหมืองและควบคุมการเก็บรักษาแร่ที่ผู้ทำเหมืองผลิตได้เกินปริมาณที่ทางราชการอนุญาตให้ส่งออกนอกราชอาณาจักรในขณะใดขณะหนึ่ง เมื่อผู้รับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ยื่นคำร้องเป็นหนังสือขอให้กำหนดสถานที่เก็บแร่ เขตแต่งแร่ หรือเขตโลหกรรมตามใบอนุญาตของตนเป็นสถานที่ฝากแร่ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้สถานที่หรือเขตของผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวเป็นสถานที่ฝากแร่ได้  ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความจำเป็นและปริมาณแร่ในแต่ละท้องที่ สภาพของสถานที่และความเหมาะสม และจะกำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำสถานที่ฝากแร่ หรือกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ให้ผู้รับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ซึ่งสถานที่เก็บแร่ เขตแต่งแร่ หรือเขตโลหกรรมของตน แล้วแต่กรณี เป็นสถานที่ฝากแร่ปฏิบัติด้วยก็ได้

ในการกำหนดสถานที่ฝากแร่ตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดได้ครั้งละไม่เกินหนึ่งปี

                 ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร หรือผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ที่ซื้อแร่จากผู้รับใบอนุญาตร่อนแร่ อาจนำแร่ที่ได้จากการทำเหมืองหรือแร่ที่มีไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่ทางราชการอนุญาตให้ส่งออกนอกราชอาณาจักรในขณะใดขณะหนึ่ง ไปฝากไว้ ณ สถานที่ฝากแร่ได้  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด”

มาตรา ๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“มาตรา ๑๐๔ ทวิ  ผู้ที่นำแร่ไปฝากไว้ ณ สถานที่ฝากแร่ตามมาตรา ๑๐๓ ตรี จะขอผัดการชำระค่าภาคหลวงแร่ไว้ก่อนก็ได้  ทั้งนี้ ตามระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา ๗  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๒) ของมาตรา ๑๐๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

“(๑๒) เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตขนแร่ให้ขนไปฝากไว้ ณ สถานที่ฝากแร่ตามมาตรา ๑๐๓ ตรี”

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๐๙ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๐๙  ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตขนแร่ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และต้องแสดงหลักฐานว่าแร่ที่ขอรับใบอนุญาตขนแร่นั้นได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ หรือได้รับอนุญาตให้ผัดการชำระค่าภาคหลวงแร่นั้นไว้ก่อนแล้ว”

มาตรา ๙  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

                “มาตรา ๑๔๗ ทวิ  ผู้รับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรมซึ่งสถานที่เก็บแร่ เขตแต่งแร่ หรือเขตโลหกรรมของตน แล้วแต่กรณี เป็นสถานที่ฝากแร่ ผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๑๐๓ ตรี วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๒ ตรี แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๕๒ ตรี  ในกรณีที่ปรากฏว่าแร่ขาดหายไปจากบัญชีแสดงการขุดแร่ได้ของผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว หรือผู้ถือประทานบัตรหรือบัญชีแสดงแร่คงเหลือของผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ผู้รับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ ผู้รับใบอนุญาตให้มีแร่ไว้ในครอบครอง ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ ผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม หรือผู้ซึ่งสถานที่เก็บแร่ เขตแต่งแร่ หรือเขตโลหกรรมของตนเป็นสถานที่ฝากแร่ โดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการขาดหายของแร่นั้นมิใช่เกิดจากความผิดของตน ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตร ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ผู้รับใบอนุญาตตั้งสถานที่เก็บแร่ ผู้รับใบอนุญาตให้มีแร่ไว้ในครอบครอง ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ ผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม หรือผู้ซึ่งสถานที่เก็บแร่ เขตแต่งแร่ หรือเขตโลหกรรมของตนเป็นสถานที่ฝากแร่ แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของมูลค่าแร่ที่ขาดหายไปตามราคาที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในวันกระทำความผิด และรัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนประทานบัตรชั่วคราว ประทานบัตรใบอนุญาต หรือสถานที่ฝากแร่นั้นเสียได้”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ป.  ติณสูลานนท์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากการส่งหนังสือหรือคำสั่งแก่บุคคลเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ จะต้องส่งโดยตรงเสียก่อน จึงจะส่งหนังสือหรือคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือปิดไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย ณ สำนักงาน ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลดังกล่าวได้ ทำให้ไม่สะดวกในการปฏิบัติ สมควรกำหนดวิธีการส่งหนังสือหรือคำสั่งเสียใหม่โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเลือกส่งโดยตรงหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนได้ นอกจากนั้นในปัจจุบันผู้ทำเหมืองผลิตแร่ได้เกินปริมาณที่ทางราชการอนุญาตให้ส่งออกนอกราชอาณาจักรและจำนวนแร่ที่เกินปริมาณดังกล่าวนี้ทางราชการยังไม่มีมาตรการที่จะควบคุมการเก็บรักษามิให้สูญหาย หรือถูกลักลอบไปจำหน่ายยังต่างประเทศ อันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ สมควรจัดให้มีสถานที่ฝากแร่เพื่อรับฝากแร่ที่เกินปริมาณดังกล่าว พร้อมทั้งให้มีมาตรการควบคุมการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม และให้สิทธิแก่ผู้ที่นำแร่ไปฝากไว้ ณ สถานที่ฝากแร่ที่จะขอผัดการชำระค่าภาคหลวงแร่ไว้ก่อนได้  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำเหมือง  จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

พรพิมล/แก้ไข

๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

ฐิติพร/ปรับปรุง

๑๖ มกราคม ๒๕๕๖

พจนา/ตรวจ

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๑๖๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๖